เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จ.นนทบุรี นายไพสิฐ อิ่มเจริญกุล ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากกิจการร่วมค้า NVPSKG อดีตผู้ทำสัญญาดำเนินโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษพื้นที่ จ.สมุทรปราการ (คลองด่าน) กับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เดินทางมายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผ่านทางนายสุทธิ บุญมี ผู้อำนวยการสำนักการข่าวและกิจการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช. ขอให้ไต่สวนเอาผิดกับนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อดีตอธิบดี คพ. และพวก รวม 7 คน ในความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 157 และมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กรณียกเลิกสัญญาโครงการคลองด่านกับกิจการร่วมค้า NVPSKG โดยมิชอบ เมื่อปี 2546
นายไพสิฐกล่าวว่า สำหรับพยานหลักฐานสำคัญที่มายื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เอาผิดนายประพัฒน์กับพวก มีด้วยกัน 3 รายการ ประกอบด้วย
- คำให้สัมภาษณ์ของนายประพัฒน์ที่ระบุว่าการยกเลิกสัญญาโครงการดังกล่าวเพื่อต้องการเล่นงานอดีตรัฐมนตรีบางคน
- คำเบิกความของนายประพัฒน์ในชั้นศาลที่ระบุว่าการย้ายนายอภิชัยมาเป็นอธิบดี คพ. เพื่อมาทำให้สัญญาโครงการคลองด่านเป็นโมฆะ
- คำสั่ง คพ. ที่ 115-117/2259 ที่ให้เรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายประพัฒน์กับพวกเท่ากับจำนวนที่ คพ. ต้องชำระให้กับกิจการร่วมค้า NVPSKG ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
“เหตุผลสำคัญที่กิจการร่วมค้า NVPSKG มายื่นคำร้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เอาผิดนายประพัฒน์กับพวก ก็เนื่องมาจากที่ผ่านมามีการปล่อยข่าวว่า กิจการร่วมค้า NVPSKG มีส่วนร่วมในการทุจริตโครงการคลองด่าน ทั้งๆ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยมีมติไม่ชี้มูลกิจการร่วมค้า NVPSKG ไปแล้ว หากผลการไต่สวนคำร้องล่าสุดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกมาอย่างไร ก็เชื่อว่าจะทำให้สังคมได้เห็นว่าใครกันแน่ที่เป็นคนที่กระทำผิดตัวจริง” นายไพสิฐกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจแค่ไหนว่าจะเอาผิดนายประพัฒน์กับพวกได้ เพราะก่อนหน้านี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดคดีที่เกี่ยวกับโครงการคลองด่าน ทั้งในส่วนการเสนอโครงการและในส่วนการรวบรวมที่ดินว่ามีการทุจริตจริง นายไพสิฐกล่าวว่า คดีคลองด่านในส่วนของการเสนอโครงการ เดิมมีผู้ถูกกล่าวหาถึง 36 คน ซึ่งรวมถึงกิจการร่วมค้า NVPSKG ด้วย แต่สุดท้าย คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลผู้ถูกกล่าวหาเพียง 3 คนเท่านั้น คือนายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดี คพ. กับพวก ส่วนกิจการร่วมค้า NVPSKG ไม่ถูกชี้มูล แต่ในเมื่อสังคมยังตั้งข้อสงสัยกับกิจการร่วมค้า NVPSKG อยู่ จึงมายื่นเรื่องให้ไต่สวนเพิ่มเติมเพื่อให้สังคมสิ้นข้อสงสัย
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 84 ได้กำหนดอายุความในการยื่นคำร้องให้ไต่สวนเอาผิดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือไม่เกิน 10 ปี นับจากวันที่พ้นจากตำแหน่ง ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐคือไม่เกิน 5 ปี นับจากวันที่พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งน่าจะเกินระยะเวลาดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะทำให้ถูกยกคำร้องเพราะขัดกับข้อกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ นายไพสิฐกล่าวว่า ก็คงต้องอยู่ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เหตุที่เราเพิ่งมายื่นคำร้องก็เนื่องจากเพิ่งมีพยานหลักฐานบางอย่าง
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะนำคำร้องที่ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์ในการต่อสู้คดีในกระบวนการต่างๆ หรือไม่ นายไพสิฐกล่าวว่า คงไม่ เพราะเราต้องการแค่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิสูจน์ว่าความจริงเป็นอย่างไร คงจะไม่นำไปใช้ประโยชน์ในทางคดีอื่นๆ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีมติอายัดเงินที่จะจ่ายให้กับกิจการร่วมค้า NVPSKG ตามมติ ครม. ในงวดที่ 1 (บางส่วน) งวดที่ 2 และงวดที่ 3 รวมเป็นเงินกว่า 6 พันล้านบาท โดยอ้างคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เมื่อปลายปี 2558 ที่ตัดสินให้จำคุกนายปกิตกับอดีตข้าราชการระดับสูงใน คพ. รวมจำนวน 3 คน ซึ่งส่วนหนึ่งของคำพิพากษาระบุว่ากิจการร่วมค้า NVPSKG มีส่วนร่วมในการทุจริตโครงการคลองด่านด้วย นายไพสิฐกล่าวว่า มติของ ปปง. ดังกล่าวไม่เป็นธรรมกับกิจการร่วมค้า NVPSKG เนื่องจากเงินที่จะได้รับทั้ง 3 งวด เป็นเงินที่จ่ายตามมติ ครม. และคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ไม่ใช่เงินที่เกิดจากการทำธุรกรรม นอกจากนี้ ในคดีดังกล่าว กิจการร่วมค้า NVPSKG ไม่ได้เป็นจำเลยในชั้นศาล และเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะพยานที่เข้าไปเล่าความเป็นมาของโครงการเท่านั้น การเอาบางส่วนของคำพิพากษามาใช้จึงไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ กิจการร่วมค้า NVPSKG ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางขอให้เพิกถอนมติ ปปง. กรณีสั่งอายัดเงินงวดที่ 2 และงวดที่ 3 ไปแล้ว ส่วนงวดที่ 1 (บางส่วน) ปปง. เพิ่งมีมติไปเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา ตามกฎหมายยังมีเวลาให้กิจการร่วมค้า NVPSKG ชี้แจงภายใน 30 วัน หากยังไม่ได้คืนมา ก็ต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนมติ ปปง. ดังกล่าวต่อไป
“ตามกฎหมาย มติ ปปง. ที่ให้อายัดเงินงวดที่ 2 และงวดที่ 3 จะครบกำหนดระยะเวลา 90 วัน ในต้นเดือนสิงหาคม 2559 หลังจากนั้น ถ้า ปปง. ต้องการอายัดก็ต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต่อไป ซึ่งกิจการร่วมค้า NVPSKG ก็คงจะต้องไปต่อสู้คดีทุกทางเท่าที่จะทำได้” นายไพสิฐกล่าว