เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินของไทย เดือนเมษายน 2559 ระบุว่ายังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแรงส่งที่ดีจากภาคบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังธุรกิจภัตตาคารและขนส่งด้วย ขณะที่ภาคการผลิตยังขยายตัวค่อนข้างต่ำ เพราะการส่งออกสินค้ายังคงซบเซาตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ประกอบกับกำลังซื้อภายในประเทศได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ส่งผลต่อเนื่องให้การลงทุนภาคเอกชนยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องอย่างชัดเจน สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐแผ่วลงเล็กน้อยหลังจากที่เร่งไปมากในเดือนก่อน
“โดยรวมเศรษฐกิจไทยคิดว่าถ้าเศรษฐกิจโลกไม่มีอะไรที่เกินคาด ก็คิดว่าไม่น่าจะถึงกับแย่ไปกว่าไตรมาสแรก ภาคการคลังยังทำงานอยู่ ภาคท่องเที่ยวจริงๆ ดีขึ้นกว่าที่คาด เรื่องบริการอื่นๆ ก็ยังขยายตัวอยู่ คิดว่าไม่น่าจะมีอะไรแย่ไปกว่าไตรมาสแรก แต่คงไม่เห็นอะไรที่ชัดเจนว่าจะทำให้ไตรมาสสองเติบโตอย่างโดดเด่น ซึ่งเป็นปกติที่ช่วงไตรมาสสองจะเติบโตต่ำกว่าไตรมาสอื่นๆ ที่มีปัจจัยหนุนอื่นๆ เช่น วันหยุดปีใหม่ มีตรุษจีน ดังนั้น ตอนนี้ไม่ได้มีอะไรที่ผิดจากที่ ธปท. คาดอย่างมีนัยสำคัญและยังสอดคล้องกับที่ประเมินก่อนหน้านี้ ส่วนคำถามว่ากังวลอะไรมากที่สุด เราก็กังวลหลายเรื่องและต้องติดตามดูทุกๆ เรื่อง แต่ตอนนี้ปัจจัยเสี่ยงด้านลบมากขึ้น ทั้งเรื่องจีน เรื่อง Brexit” ดร.รุ่งกล่าว
ทั้งนี้ การลงทุนของภาคเอกชนยังไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้น แม้มีการลงทุนบ้างในบางอุตสาหกรรมที่มีเหตุผลเฉพาะ เช่น ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและพลังงานทดแทน แต่โดยรวมยังไม่ลงทุนในลักษณะกระจายตัวไปทุกอุตสาหกรรม โดยเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากเอกชนยังมีกำลังการผลิตเหลือค่อนข้างมาก ซึ่งปัจจุบันใช้กำลังการผลิตเพียง 65% ของที่มีอยู่ ขณะเดียวกัน เอกชนยังรอโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบกับเศรษฐกิจไทยที่จะยกระดับเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศล่าช้าออกไปอีกจากที่ผ่านมาเอกชนไทยไม่ลงทุนมานานเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว
ส่วนมาตรการลงทุนที่อาจจะออกมาเพิ่มเติม ดร.รุ่งกล่าวว่าเป็นเรื่องของอุปสงค์ในสินค้า ถ้ามีอุปสงค์เพิ่มขึ้น การออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าจะสิทธิประโยชน์หรือช่วยต้นทุนการระดมทุน จะช่วยส่งเสริมการลงทุนได้มากกว่า
“ส่วนที่หลายคนมองว่าการลงทุนของเอกชนไม่โตเพราะการลงทุนโดยตรง หรือ FDI ไม่เข้ามาในประเทศไทย ต้องบอกว่าเป็นความจริงอยู่ แต่ FDI เข้ามาช่วยหลังมักจะเข้ามาซื้อกิจการที่มีอยู่แล้ว แตกต่างจากช่วง 20-30 ปีก่อนที่เป็นแบบญี่ปุ่นเข้ามาตั้งโรงงานการผลิต ดังนั้น ในแง่ที่ FDI จะเข้ามาสร้างการลงทุนใหม่ๆ แบบในอดีต ตอนนั้นมีมากกว่าจริงและเข้าไปในภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก ตอนนี้มาเข้าภาคบริการมากกว่า ดังนั้น ส่วนตัวต้องยอมรับว่าในอดีตที่ญี่ปุ่นมามากๆ อาจจะอยู่คนละเฟสกับตอนนั้นแล้ว เวลาคุยกับผู้ประกอบการญี่ปุ่นก็ชัดเจนว่าเขาไม่ได้มาเป็นคลื่นยักษ์แบบสมัยนั้น ถ้ามาก็มาเล็กๆ ต้องทำใจว่าการลงทุนจากส่วนนี้จะน้อยลง แปลว่าเราต้องการสิ่งอื่นๆ มาทดแทน มันคงไม่ไปเพิ่มการลงทุนในธุรกิจเดิมๆ ต้องหากลจักรใหม่ๆ ” ดร.รุ่งกล่าว
นอกจากนี้ ปัจจัยการส่งออกที่ดีขึ้นในไตรมาสแรก มาในเดือนเมษายนกลับมาหดตัวค่อนข้างมากที่ 7.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวในหลายหมวดสินค้าตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะจีนและอาเซียน ประกอบกับปัจจัยบวกชั่วคราวหมดไป ทั้งการส่งออกทองคำและการส่งออกเครื่องจักรเพื่อขุดเจาะน้ำมันไปยังประเทศบราซิลในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปญี่ปุ่นหดตัวเพราะโรงงานผลิตรถยนต์บางแห่งในญี่ปุ่นหยุดการผลิตชั่วคราวภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว
อย่างไรก็ดี การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไปกลุ่มประเทศอาเซียนขยายตัวดี โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติ รวมทั้งความต้องการสินค้าในตลาดเวียดนามเติบโตตามภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัว
“ส่วนตัวคิดว่าเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจที่เล็กและเปิด เราต้องพึ่งพาต่างประเทศอยู่ เราต้องรอให้ต่างประเทศเข้มแข็งมากกว่านี้ด้วย ถ้าดูตัวเลขดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่แบ่งในประเทศกับต่างประเทศ จะเห็นเหมือนกันว่าในประเทศก็พอขายได้ แต่ตัวที่รั้งอยู่คือส่วนที่ส่งออกไปต่างประเทศ ส่วนสัญญาณหรือจุดสังเกตว่าจะฟื้นตัวหรือไม่คงบอกไม่ได้ แต่ส่งออกก็เป็นตัวหนึ่งที่หดตัวมานานจนมีผลต่อความเชื่อมั่น ก็อยากให้กลับมาเข้มแข็งมากขึ้น แต่บอกไม่ได้ว่าต้องเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ กี่หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจริงๆ แล้วหลายๆ ครั้งพอเริ่มพลิกฟื้นดีขึ้นคนจะเริ่มลงทุน เริ่มขยายการจ้างงาน ไม่ต้องรอว่าส่งออกดีต่อเนื่องกี่เดือนๆ แบบนั้น” ดร.รุ่งกล่าว
ด้านอุปสงค์ในประเทศ เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนมีทิศทางขยายตัวได้ แต่ครัวเรือนยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย ส่วนหนึ่งจากกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังเปราะบาง ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่แม้ปรับดีขึ้นบ้างจากเดือนก่อนตามราคายางพาราแต่โดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำจากผลกระทบของภาวะภัยแล้ง ส่งผลให้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนยังคงลดลงจากเดือนก่อน และอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกเล็กน้อยที่ 0.07 เปอร์เซ็นต์ จากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสดและราคาน้ำมัน สำหรับอัตราการว่างงานทรงตัวจากเดือนก่อน โดยมีสัญญาณการจ้างงานต่ำระดับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยโดยเฉพาะในภาคเกษตร ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่ดีต่อเนื่อง และมูลค่าการนำเข้าที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 1) การขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างประเทศ 2) การชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นที่ครบกำหนดโดยเฉพาะของสถาบันรับฝากเงิน และ 3) การลงทุนโดยตรงของธุรกิจไทยในต่างประเทศ