ห้องเรียนอนาคตเป็นแนวคิดที่ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาดำเนินการกับโรงเรียนต่างๆ โดยหวังว่าจะเป็นแนวทางสร้างครูและเด็กสู่ศตวรรษที่ 21 ให้เป็นห้องเรียนตัวอย่างหรือเป็นโครงการนำร่อง หากทำแล้วมีประสิทธิผลจริง ก็จะได้ขยายผลทำห้องเรียนแห่งอนาคตเพิ่มขึ้น ซึ่งห้องเรียนอนาคตมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามโครงการของแต่ละแห่ง
สำหรับโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา เป็นอีกหนึ่งในโมเดลการศึกษาที่สร้างเด็กนักเรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ผ่านโครงงานการวิจัย หรือที่เรียกว่า RBL (Research-Based Learning) สนับสนุนนักเรียนทำโครงงานวิจัยจากเรื่องราวใกล้ตัว หรือเรื่องราวในชุมชนของตนเองหรือพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้เด็กสามารถนำมาปรับใช้กับวิถีชีวิตตัวเองในอนาคต
โครงการเพาะพันธุ์ปัญญากับความพยายามเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนทั้งครูและเด็ก ให้ครูเป็นโค้ชแทนการสอนแบบเดิมๆ ขณะที่นักเรียนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจากโครงงานจริงๆ กระบวนการเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาด้านข้างในหรือจิตวิญญาณ และการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุและผล
โครงการนี้ดำเนินการมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว มีโรงเรียนเข้าร่วมกว่า 80 โรงเรียน เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งในปีนี้ได้ขยายความร่วมมือออกไปอีก 2 ปี
ล่าสุดได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงเรียนไพรบึงวิทยาคม ต.ไพรบึง อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ เป็นโรงเรียนตัวอย่างของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ภายใต้ชื่อโครงงานฐานวิจัย “SEEEM Project” โดยมีทีมพี่เลี้ยงจากนักวิจัย คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ช่วยเข้ามาพัฒนาครูแกนนำในโรงเรียน เพื่อถ่ายทอดทักษะ “ความคิดเชิงระบบ” ไปสู่เด็ก โดยนักเรียนมีส่วนร่วมคิดร่วมทำโครงงานด้วยตัวพวกเขาเอง
แต่กว่าจะทำห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญาได้หนึ่งห้อง ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม ตั้งแต่ระดับผู้บริหารโรงเรียน บรรดาคุณครูในโรงเรียน คุณครูแกนนำโครงการที่มาจากหลากหลายสาขาวิชา เด็กนักเรียน กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองและชุมชนที่สนับสนุนการเรียนรู้นอกห้องเรียนของเด็กๆ ที่จะต้องเข้าใจโจทย์ร่วมกันว่าต้องการผลลัพธ์อะไรในท้ายที่สุด
การออกแบบห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญา คือการสร้างเด็กให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์ และสามารถประยุกต์ใช้ได้กับชีวิตจริง เพื่อให้สอดรับกับโลกการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ยิ่งในต่างจังหวัด ใช่ว่าเด็กทุกคนจะมีโอกาสเท่ากันทุกคน หากเขาไม่ได้เรียนต่อในชั้นสูงต่อไป เด็กสามารถที่จะเลือกใช้ชีวิตในโลกที่เป็นจริง โดยอาศัยความรู้ที่ได้เพาะพันธุ์ไว้แล้ว ผสานกับทรัพยากรที่มีในชุมชนหรือละแวกใกล้เคียง เพื่อช่วยให้เขาสามารถมีอาชีพยืนหยัดได้ด้วยตนเอง ด้วยบริบทที่เขาคุ้นชิน พลิกการใช้วิถีชีวิตได้อย่างมั่นคงและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
“SEEEM Project” โดย SEEEM มาจาก STEM + SEP เป็นการบูรณาการแนวคิดสะเต็มศึกษาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้าด้วยกัน
STEM คือ ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และ คณิตศาสตร์ (Mathematics) มาบวกรวมกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) จึงออกมาเป็นแนวคิด SEEEM ที่นำมาใช้ขับเคลื่อนการทำโครงงาน
ที่ผ่านมาสะเต็มศึกษา (STEM) เป็นการเรียนการสอนด้านเดียว คือการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเพื่อเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้สร้างเกิดความยั่งยืนในกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ชีวิตความเป็นอยู่ ระหว่างชนบทและเมือง
ดังนั้นหลักการเรียนรู้จากโครงงานวิจัย RBL ภายใต้โครงงาน SEEEM จึงประกอบไปด้วย Science, Economics, Ecology, Engineering และ Mathematics โดยเป็นการฝึกเชื่อมทักษะเหล่านี้จากการปฏิบัติจริง เข้าด้วยกันกับบริบทที่เป็นจริงของชีวิต ของชุมชนและโลกที่ก้าวหน้า ให้สอดรับกัน จึงเป็นความท้าทายของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาว่าจะเพาะพันธุ์เด็กสู่ศตวรรษที่ 21 ได้แค่ไหน
ครูแกนนำ คุณครูวิเชียร ไชยโชติ โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม เล่าว่า โครงการ SEEEM ของโรงเรียน เป็นโครงการสวนเกษตรเกื้อกูล ที่เด็กคิดขึ้นมาโดยใช้พืชทุกชนิดมาเกื้อกูลกัน เอาส่วนที่เหลือมาทำน้ำหมัก ปุ๋ยหมัก เลี้ยงปลาดุก ปลานิล เอาน้ำที่เลี้ยงปลาไปรดพืชที่ปลูก เช่น ไผ่กิมซุย ผักบุ้ง กล้วย ทุกอย่างในแปลงเกษตร สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หมดไม่เหลือทิ้ง
“เด็กพัฒนาทักษะความคิด แสวงหาความรู้โดยตัวเอง มีความกล้ามากขึ้น กล้าพูด กล้าแสดงออก เด็กเป็นเจ้าของความรู้ มีการออกแบบเชิงพื้นที่ คิดเป็นระบบมากขึ้น ทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด หากใช้ STEM มาจับเด็กเปลี่ยนโดยกระบวนการ มีแง่คิดเชิงบวกมากขึ้น เมื่อก่อนมีโครงงาน เลิกเรียนก็กลับบ้าน ตอนนี้แบ่งหน้าที่กันทำงาน มีความเป็นผู้นำมากขึ้น วันนี้หมดยุคครูคือคนมีความรู้ มาเป็นเด็กคือคนที่มีองค์ความรู้ด้วยตนเอง”
ถ้าฟังจากเด็กผู้เรียน จะเห็นถึงพัฒนาการระหว่างทางที่ชัดเจน เพราะไม่ใช่แค่ความรู้ แต่เป็นการเปลี่ยนจากข้างในของเด็กเอง นางสาวณัฐชา เพ็งบุญมา เด็กนักเรียน ม.4 โรงเรียนไพรบึงวิทยา เล่าว่าปีนี้เป็นแรกที่เขาแยกห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญาออกมา พวกหนูก็ไม่รู้ว่าเพาะพันธุ์ปัญญาคืออะไร ก็ลองเข้ามาดู เข้ามาแล้วสนุก สนุกมาก แต่พอทำโครงงานจริงๆ ก็เหนื่อยเพราะต้องลงพื้นที่ ท้อบ้าง แต่ได้รู้จักกระบวนการทำงาน คิดวิเคราะห์ แยกแยะ สังเกต จากคนที่ไม่เคยมีความรับผิดชอบอะไรเลย เรียนอย่างเดียว ไม่สนใจเรื่องพวกนี้
‘พอเข้ามาแล้วมีความคิดในแง่บวกมากขึ้น ไม่คิดลบ อย่างทำไมต้องมาทำอะไรแบบนี้ ทำทำไมโครงงาน คุณมีหน้าที่เรียน ทำไมไม่เรียนอย่างเดียว พอเข้ามาในเพาะพันธุ์ปัญญาก็จะสอนในด้านปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี’
ถ้าถามว่าได้อะไรจากการปฏิบัติ จากที่ทำอะไรไม่เป็นเลย เริ่มตั้งแต่ศึกษาหาข้อมูลการเลี้ยงปลา ปลาชนิดนี้พันธุ์อะไร กินอะไร ต้องใช้ขนาดบ่อเท่าไหร่ ใส่น้ำเท่าไหร่ ต้องให้อาหารเท่าไหร่ ศึกษาลึกขึ้น จากอินเทอร์เน็ต จากผู้คนรอบข้างที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว
“หนูมีลุงที่เลี้ยงปลาอยู่แล้ว ไปบอกลุงว่าหนูสนใจจะเลี้ยงปลานิล หนูเห็นลุงไปซื้ออาหารปลาจากข้างนอก ไม่รู้ว่ามีสารเคมีตกค้างหรือเปล่า ต้องใช้เงินทุนเท่าไหร่ และหนูก็อยากลดต้นทุน จึงนำมาทดลองกับโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ปลานิลเป็นปลาที่คนนิยมกิน มีโปรตีนสูง ตอนนี้เราทำสูตรอาหารหลายสูตร แต่จากข้อสรุปเบื้องต้นพบว่าสูตรอาหารที่สอง คือ รำข้าวบวกกับฝรั่ง ได้ผลดีที่สุด เพราะฝรั่งมีโปรตีนสูง ปลาในบ่อนี้มีการเจริญเติบโตดีกว่าบ่ออื่นๆ โดยดูจากขนาดตัว น้ำหนัก เอามาเฉลี่ยแต่ละสัปดาห์มีน้ำหนักเท่าไหร่”
ส่วนการทำงานกับเพื่อนๆ ก็มีทะเลาะกันบ้าง มีความเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่หนูคิดว่าการที่เราทะเลาะกันมันดี เพราะเราจะได้ชุดความคิดทั้งสองคนมารวมกัน เป็นความคิดใหม่ อาจจะทะเลาะแดกดันด้วยคำพูด แต่ไม่ได้แบบขั้นรุนแรง แค่ทะเลาะด้านความคิดเท่านั้น
“หนูอยากบอกว่าห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญาดีกับหนูมากๆ เพราะเราได้ทำอะไรในสิ่งที่เราไม่เคยทำพอมองในจุดๆ นี้ ณ วันนี้ พอย้อนกลับไปที่เราเริ่มก้าวเข้ามาในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา คือมันแตกต่างกันมากเลย จากตอนแรกไม่รู้เรื่อง ไม่มีความรับผิดชอบ เรียนอย่างเดียว กลับบ้านไปก็อาบน้ำกินข้าว ทำการบ้าน นอน แค่นั้น แต่ตอนนี้เลิกเรียน เราต้องมาที่แปลงเกษตรเราก่อน มาให้อาหารปลา มาเปลี่ยนน้ำปลา มาสังเกตเขาก่อนกลับบ้าน และหนูก็เอาไปคุยกับลุงว่าสูตรอาหารหนู มันช่วยลดต้นทุน เศษอาหารที่เราเหลือใช้ เอากลับมาใช้ใหม่ อาจจะต่อยอดเป็นสูตรอาหารของเรา นี่คือ E ตัวแรก Economic …”
ขณะที่นางสาวนรวรรณ สารวัน นักเรียน ม.4 กล่าวว่า “หนูไม่รู้ว่าเพาะพันธุ์ปัญญาคืออะไร เพื่อนบอกว่ามันแค่ปลูกต้นไม้เฉยๆ แต่ก็สมัครเข้าโครงการ พอเข้ามาก็เอ๊ะ… คืออะไร ทำอย่างไร เสาร์อาทิตย์ต้องมาทุกวัน แม่ก็ด่า ว่ามาโรงเรียนทุกวัน แม่ไม่เชื่อว่ามาโรงเรียน คิดว่าไปที่อื่นๆ ก็บอกแม่ว่าทำโครงงานกับคุณครูวิเชียร แม่ก็ไปถามคุณครูว่ามาทำจริงไหม ตอนหลังแม่รู้สึกว่าหนูดีขึ้น หนูล้างจานเอง เพราะพอมาทำเพาะพันธุ์ปัญญาหนูขยันมากขึ้น จากเดิมที่อยู่บ้านไม่ค่อยทำอะไร ชอบดูโทรศัพท์ เล่นมือถือ ตอนนี้เล่นมือถือน้อยลง เสาร์อาทิตย์มาทำแปลงเกษตร ได้ความรู้มากขึ้น”
ขณะที่คุณครูไสว อุ่นแก้ว โรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ จังหวัดศรีสะเกษ หนึ่งในครูแกนนำที่มาร่วมลงพื้นที่ดูงานที่นี่ด้วย เล่าให้ฟังว่าห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญาเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กค้นพบตัวเอง โดยผ่านโครงงานวิจัย ด้วยสองมือของเขาทำอะไรได้บ้าง หัวใจ สมองของเขารู้สึกอย่างไร เพื่อให้เขาเห็นต้นทุนของตัวเองหรือรู้ว่าตัวเองถนัดอะไร แต่เขาไม่มีต้นทุน เขาต้องขวนขวายเพื่อสร้างมันขึ้นมา ซึ่งเรามีวิดีโอ 32 อาชีพให้เขาดู ดูแล้วว่ายังชอบอาชีพที่ตัวเองเลือกไหม เขาต้องไปตรวจสอบตัวเอง
เด็กนักเรียนจะช่วยกันคิดโครงงานกันเอง ถ้ายังไม่เพียงพอก็พาไปยังแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ให้เขาได้เห็นวิสัยทัศน์ที่กว้างขึ้น แม้บางครั้งจะไปไม่ถึงเป้าหมาย แต่ในมุมของเด็กนักเรียนเขาทำได้แค่นั้นก็เป็นพัฒนาการของเขา ขณะที่ห้องเรียนปกติ เด็กคิดสร้างสรรค์ได้น้อยมาก แต่เพาะพันธุ์ปัญญา เด็กได้ฝึก เมื่อเขาคิด ลงมือทำตั้งแต่คิดชื่อโครงงาน การหาคำตอบว่าจะหาแบบไหน ซึ่งมีหลายคำตอบ ให้เด็กออกแบบคำตอบเอง ให้เขาสะสมประสบการณ์ เด็กอาจจะเจอความล้มเหลว แต่อย่างน้อยเขาจะได้เรียนรู้จากความล้มเหลวได้
“ห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญา ก่อนจะลงมือทำโครงงาน เราจะมีการทำจิตตปัญญา เพื่อให้เห็นอารมณ์ เห็นความรู้สึก เพื่อให้เขาสำรวจตัวเอง ด้วยการแบ่งกลุ่ม กลุ่มละ 3 คน เด็กเขาได้พูด แม้ว่าเขาจะเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย ได้แสดงความคิดเห็น เขามีเสียงของเขา เวลาทำกิจกรรมเสียงของเขาไม่ได้ถูกโยนทิ้ง คนที่ไม่เก่งไม่ใช่ว่าเขาคิดไม่ได้ ไม่ได้บอกว่าเขาคิดไม่เป็น และที่สำคัญในการแสดงความคิดเห็น เขาต้องฟังให้เป็นด้วย จิตตปัญญาเป็นการเปิดพื้นที่ให้เขาได้พูดได้เล่าในสิ่งที่เขารู้สึก เพราะการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ เด็กลงไปชุมชน ต้องมีปฏิสัมพันธ์ ตั้งแต่ชุมชน ผู้ปกครอง เพื่อน ครู ดังนั้น เด็กจะมีเรื่องราวมากมายที่เขาอยากจะเล่าอยากจะบอก”
คุณครูไสวเล่าต่อว่า พัฒนาการที่เห็นชัดเจนของเด็กในการแสดงความคิดเห็น ช่วงแรกๆ เขามักจะก็อปปี้ความเห็นกัน ไม่ค่อยได้ช่วยกันเต็มที่ แต่ในตอนท้ายโครงงาน สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวกับตัวเขาเองได้ ไม่เคอะเขิน มีความคิดเห็นที่หลากหลายขึ้น จากที่แค่เรียนในห้องเรียนแล้วกลับบ้าน เมื่อเข้าสู่ห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญาเขาต้องทำงานหลายอย่าง เขาจะมีภูมิคุ้มกันของเขาเอง มีจิตอาสา มีทักษะเพิ่มขึ้น อย่างเด็กบางกลุ่มทำหลายโครงงาน บางกลุ่มทำได้เล่มเดียว แต่เมื่อเขาทำเล่มที่ 1 ได้ พอเล่มที่ 2 เขาก็มีวินัยในการจัดการตัวเอง เวลาลงพื้นที่ เวลาเขียนโครงงาน เอางานที่เสร็จมาให้ครูอ่าน ซึ่งเด็กหลายคนเขาระเบิดจากข้างในของเขาเอง นี่คือความอดทน ทักษะทางสังคมที่มันจะติดตัวเด็ก และจะช่วยต่อยอดการใช้ชีวิตของเขาในอนาคต
คุณครูไสวกล่าวย้ำว่า การเรียนการสอนในปัจจุบันยังไม่มีวัฒนธรรมแบบนี้ ถ้าทำได้เราจะได้เด็กที่มีความเข้มแข็ง โครงการนี้เป็นเครื่องมือพัฒนาและสร้างคน เพราะให้เด็กๆ ลงมือทำ คิดสร้างสรรค์ ขณะที่การเรียนการสอนในห้องเรียนทั่วไปไม่ใช่เจอแล้วบอก อ่านแล้วเข้าใจ มันไม่ใช่
คุณครูไสวเล่าต่อว่า “พัฒนาการจากห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญาไม่เพียงเด็กเท่านั้นได้เรียนรู้ ครูเองก็เห็นตัวเองชัดเจนขึ้น เช่น เวลาที่ไม่ได้ดังใจ ครูก็ปรี๊ด เราก็มีอารมณ์เปราะบางเหมือนกัน ครูก็คุยกับเด็กเลย เราก็ให้เด็กเห็นอีกด้านว่าครูมีโอกาสทำผิด เด็กมีโอกาสทำผิด เพราะเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน แล้วจะหาทางออกด้วยกันอย่างไร เรากล้าบอกเด็กตรงๆ เด็กรู้เวลาที่เราอ่อนแอ เรามีความทุกข์ เด็กช่วยเราได้ โครงการนี้จึงเป็นการเยียวยาครูเยียวยาเด็ก”