
ขณะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ในระยะเวลาอีกไปไม่ถึง 10 ปี และจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นไปถึง 25% ของประชากรทั้งหมดในปี 2583 ทำให้ไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็น “การเข้าถึงสถานพยาบาล” ตามการศึกษาล่าสุดของธนาคารโลก แต่หากข้ามไปในประเทศญี่ปุ่นจะพบว่าได้เผชิญกับปัญหานี้มาเป็นเวลานาน มีบทเรียนและแนวทางจัดการต่างๆ ที่ไทยสามารถประยุกต์ใช้ได้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้พาคณะสื่อมวลชนเดินทางไปดูการจัดการสังคมผู้สูงอายุ 2 แห่ง ได้แก่ โครงการ Smart Community ณ เขตอินาเกะ จังหวัดชิบะ และ โครงการ Senior Park Support ซึ่งตอบสนองผู้สูงอายุที่แตกต่างกัน
นายซาวาโนะ มาซามิจิ ประธานบริหาร Smart Community Inage กล่าวว่า Smart Community สร้างขึ้นมาจากโมเดลทางธุรกิจที่มุ่งเน้นให้บริการแก่ผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงและมีวิถีชีวิตที่ไม่ต้องพึ่งพาบริการทางการแพทย์ (Medical Care Services) มากนัก โดยจะแบ่งพื้นที่ 33,000 ตารางกิโลเมตรภายในของ Smart Community เป็น 3 ส่วน คือ 1) พื้นที่สำหรับออกกำลังกาย (Sports Ground) 2) ที่อยู่อาศัย และ 3) พื้นที่กิจกรรมในร่ม (Club House)
“ต้องบอกว่าแนวคิดหลักของเรา Smart Community ไม่ใช่การให้บริการแบบ High quality nursing home แต่เป็นสังคมของผู้สูงอายุที่กระฉับกระเฉงมาอยู่ร่วมกัน หรือเป็น Active Retirement Community ที่จะช่วยยกระดับชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น” นายซาวาโนะ กล่าว
โดยเป้าหมายหลักของ Smart Community เป็นไปเพื่อลดความกังวลหลักของผู้สูงอายุ 3 ด้าน 1) ด้านการเงิน ทางโครงการจะจัดหาที่อยู่ในคอนโดมิเนียมของโครงการ ราคา 13 ล้านเยน หลังจากนั้นจะจ่ายค่าสมาชิกเดือนละ 90,000 เยน สำหรับค่าใช้จ่ายประจำวันและค่าบำรุงรักษาต่างๆ ภายในโครงการ ซึ่งเป็นระดับราคาที่ระบบบำนาญของรัฐบาลญี่ปุ่นสามารถจ่ายได้แม้แต่ชนชั้นกลาง
2) ด้านสุขภาพจิต มีแนวคิดว่าเมื่อผู้สูงอายุมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันจำนวนมากจะมีส่วนช่วยให้เกิดสังคมและกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถทำร่วมกันขึ้นมาภายใน Smart Community ที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละกลุ่มและลดความกังวลว่าจะถูกทอดทิ้งให้นอนอยู่บนเตียงเฉยๆ
3) ด้านสุขภาพกาย ภายในศูนย์จะมีเจ้าหน้าที่ดูแล 24 ชั่วโมง จึงไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย รวมไปถึงกรณีฉุกเฉินต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้


ขณะที่การให้บริการที่เป็นรูปธรรมของ Smart Community จะเน้นไปที่ 3 เรื่องหลักจากแนวคิดดังกล่าว 1) สนับสนุนความปลอดภัยและอบอุ่นใจเชื่อถือได้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ประจำ 24 ชั่งโมง ให้บริการส่งอาหาร, ประสานงานกับโรงพยาบาลกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน, บริการรับส่งไปยังโรงพยาบาลที่ประสานงานไว้ และรักษาความปลอดภัยที่สามารถเข้าถึงได้ 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังอาศัยความร่วมมือจากสมาชิกดูแลซึ่งกันและกันอีกทางหนึ่ง
2) สนับสนุนด้านอาหารและสุขภาพ มีบริการอาหาร 2 มื้อต่อวัน โดยจะพิจารณาโภชนาการตามสุขภาพของสมาชิกให้ได้สารอาหารที่สมดุลและเพียงพอ นอกจากนี้ Smart Community ยังเน้นเรื่องความสนุกของการรับประทานอาหารร่วมกันกับเพื่อนสมาชิก ช่วยให้สามารถรับประทานได้มากขึ้น ส่วนด้านสุขภาพจะเน้นไปที่การให้บริการสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Health Care) แต่หากเกิดเหตุฉุกเฉิน ทาง Smart Community พร้อมประสานงานกับสถานพยาบาลข้างเคียง
“เรื่องอาหาร ถ้าอยู่ที่บ้านทำอาหารรับประทานเอง ก็มักจะไม่คำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการ รวมไปถึงผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะประหยัดค่าใช้จ่ายด้านนี้ด้วย ตรงนี้ Smart Community จะมาช่วยตอบโจทย์ได้อย่างดี” นายซาวาโนะกล่าว
3) สนับสนุนการใช้ชีวิตประจำวันแบบแอคทีฟ ในคลับเฮ้าส์จะมีกิจกรรมต่างให้บริการประมาณ 50 กิจกรรม โดยแต่ละวัน Smart Community จะเสนอกิจกรรมประมาณ 7-8 กิจกรรมหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังมีชมรมที่จัดตั้งโดยสมาชิกอีกประมาณ 40 ชมรม ตามความต้องการของสมาชิกด้วย
โดยปัจจุบัน Smart Community เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจากต่ำกว่า 100 คนในปี 2554 เป็นมากกว่า 700 คนในปี 2559 มีอายุเฉลี่ย 72 ปี ต่ำสุด 54 ปี สูงสุด 92 ปี แบ่งเป็นชาย 42% และหญิง 58% เป็นคนโสดสูงถึง 59% และในอนาคตมีแผนที่จะขยายจำนวนสมาชิกให้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เกิดการลงทุนในสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มากขึ้น




ด้านโครงการ Senior Park Support จะเน้นไปที่ผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว หรือเป็นผู้ป่วยติดเตียง แตกต่างจาก Smart Community ที่จะเป็นผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรง โดยนายยามานากะ คาซุโนริ รองประธานกรรมการ โครงการ Senior Park Support กล่าวว่า ที่นี่จะให้การดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้สะดวก แบ่งเป็น 5 ระดับ ตั้งแต่เคลื่อนได้บ้างจนถึงเคลื่อนไหวไม่ได้เลย ซึ่งโรงพยาบาลจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกว่าผู้สูงอายุรายไหนควรจะพักอาศัยระดับไหน เนื่องจากไม่สามารถอยู่คนเดียวหรือพึ่งพาตนเองได้
โดยการให้บริการจะคล้ายกับ Smart Community คือ มีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง มีการจัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำร่วมกัน แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหวจึงอาจจะทำให้มีกิจกรรมน้อยกว่า ทั้งนี้ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน Senior Park Support ก็มีรถบริการพร้อมส่งถึงมือโรงพยาบาลทันที
จากการสัมภาษณ์ผู้ที่อยู่อาศัยใน Senior Park Support นางโยเมโกะ มายาโมโต อายุ 93 ปี เล่าให้ฟังว่าได้มาอยู่ที่ Senior Park Support ได้ประมาณ 1 ปีครึ่ง เป็นการตัดสินใจร่วมกับลูกสาวที่อายุประมาณ 63-64 ปี เดิมอยู่ที่บ้านกับลูกสาว แต่เห็นอายุมากแล้ว การอยู่ที่บ้านอาจไม่ปลอดภัย จึงตัดสินใจมาอยู่ที่บ้านพักผู้สูงอายุกับลูกสาว เพราะรู้สึกว่าที่นี่มีความปลอดภัย และมีคนดูแลตลอด อยู่แล้วสบายดี มีความสุข สำหรับเหตุผลที่เลือกอยู่ที่นี่ เพราะลูกสาวที่มาอยู่ด้วยเป็นคนเลือก และที่นี่ยังอยู่ใกล้กับบ้านลูกสาวคนอื่นๆ


