ThaiPublica > คอลัมน์ > มองปัญหาการจัดสรรทรัพยากรในวันที่ JAS ทิ้งคลื่น 4G

มองปัญหาการจัดสรรทรัพยากรในวันที่ JAS ทิ้งคลื่น 4G

12 เมษายน 2016


ทศพล อภัยทาน [email protected]
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

บทความนี้กลั่นกรองเนื้อหาจากบทความ aBRIDGEd ฉบับเต็มเรื่อง “ยักษ์เล็กไล่(ทัน)ยักษ์ใหญ่: การแข่งขัน การจัดสรรทรัพยากร และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจไทย” เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (www.pier.or.th)

ที่มาภาพ :  https://www.pier.or.th/?post_type=abridged&p=994
ที่มาภาพ : https://www.pier.or.th/?post_type=abridged&p=994

จากกรณีที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ไม่สามารถชำระค่าใบอนุญาตประมูล 4 จี คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในที่สุดก็ดับฝันใครหลายๆ คนที่หวังจะเห็นผู้เล่นรายใหม่เกิดขึ้นในสนามธุรกิจโทรคมนาคมของไทย บทความนี้ไม่ได้กำลังจะพูดถึงประเด็นร้อนต่างๆ เช่น จะประมูลใหม่เมื่อใด อย่างไร แบบไหน หรือแจสจะโดนขึ้นบัญชีดำหรือไม่ ผู้เขียนอยากใช้กรณีนี้จุดประเด็นวิเคราะห์เรื่องพัฒนาการของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยในบางมิติ เพื่อเป็นบทเรียนให้กับประเทศต่อไป

ในระบบตลาดเสรี การแข่งขันถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยในการจัดสรรทรัพยากรการผลิตไปสู่ผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง หากผู้ที่เข้าสู่ธุรกิจเป็นผู้ที่มีประสิทธิภาพสูงหรือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ แล้วได้รับทรัพยากรการผลิตไปดำเนินธุรกิจ ในขณะที่ผู้เล่นเก่าที่ไม่สามารถแข่งขันได้ต้องออกจากธุรกิจไป ทรัพยากรการผลิตก็จะถ่ายเทไปยังผู้ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า เศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมโดยรวมจึงมีการเติบโตต่อไป แนวคิดของการที่สิ่งใหม่เข้ามาทดแทนสิ่งเก่าในทางเศรษฐศาสตร์ได้ถูกนำเสนอมานานแล้วโดย Joseph Schumpeter ภายใต้นิยามของการ “ทำลายอย่างสร้างสรรค์” หรือ “Creative Destruction” อันถือเป็นกลไกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับผลิตภาพการผลิตภายใต้ระบบทุนนิยม

งานวิจัยของผู้เขียนใช้ข้อมูลของผู้ประกอบการกว่าเจ็ดแสนรายในช่วงระยะเวลาสิบกว่าปี เพื่อศึกษาการแข่งขันและการจัดสรรทรัพยากรระหว่างผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆ พบว่า ภาคธุรกิจไทยมีการกระจุกตัวค่อนข้างสูง โดยหากเรานำผู้ประกอบการทั้งหมดมาเรียงลำดับตามมูลค่าสินทรัพย์ ในปี 2012 ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ 5% แรกจะมีส่วนแบ่งตลาดถึง 80% เลยทีเดียว และหากแบ่งธุรกิจออกเป็นหมวดย่อย จะพบว่าผู้ประกอบการ 5% แรกในหมวด ‘ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร’ ครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 90% ซึ่งถือเป็นหมวดที่มีการกระจุกตัวสูงที่สุด นอกจากนี้ พัฒนาการในอดีตของผู้ประกอบการในหมวดดังกล่าวยังสะท้อนข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ ซึ่งสรุปในรูปภาพประกอบถัดไป (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

Creative Destruction for Thai Publica (รูป)

รูปซ้ายมือแสดงถึงระดับประสิทธิภาพเฉลี่ยของผู้ที่ประกอบธุรกิจในหมวด ‘ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร’ ตั้งแต่ปี 2002 ถึง 2012 โดยแบ่งผู้ประกอบการออกเป็น 3 กลุ่ม ขนาดของวงกลมในแต่ละจุดแสดงขนาดสินทรัพย์ซึ่งสะท้อนปริมาณทรัพยากรของกลุ่มนั้นๆ หากพิจารณารูปดังกล่าวจะพบว่า ทรัพยากรส่วนใหญ่ถูกจัดสรรให้กับกลุ่มผู้ประกอบการเดิมที่อยู่รอด (สีเขียว) ในขณะที่กลุ่มผู้เล่นที่มีประสิทธิภาพสูงจำนวนหนึ่ง (สีส้ม) ได้รับทรัพยากรในสัดส่วนที่น้อยมาก และต้องออกจากธุรกิจไปในที่สุด โดยในระหว่างทาง แม้จะมีผู้เล่นรายใหม่ (สีเทา) เพิ่มเติมเข้ามาและได้รับทรัพยากรไม่น้อย แต่ก็เป็นผู้เล่นที่มีประสิทธิภาพด้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ ส่งผลให้ระดับประสิทธิภาพรวมของธุรกิจ ‘ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร’ (เส้นประสีดำ) ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากอย่างที่ควรจะเป็น อาการเหล่านี้กำลังบ่งชี้กลไกอันบกพร่องของการแข่งขันที่ไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรไปยังผู้ที่เก่งที่สุดได้

แล้วลักษณะของการจัดสรรทรัพยากรที่ดีเป็นอย่างไร ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับธุรกิจในหมวด ‘การขายส่งและการขายปลีก’ ในรูปด้านขวามือ จากรูปจะเห็นได้ว่า กลุ่มผู้ที่มีประสิทธิภาพต่ำ (สีส้ม) ไม่สามารถพัฒนาได้ทันกลุ่มที่อยู่รอด (สีเขียว) จะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ และถูกขจัดออกไปจากธุรกิจ ในขณะที่ผู้เล่นรายใหม่ (สีเทา) สามารถก้าวแซงผู้ที่อยู่เดิมได้และได้รับจัดสรรทรัพยากรมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อระบบเลือกผู้ชนะที่ถูกต้อง ประสิทธิภาพโดยรวมของธุรกิจจึงเพิ่มขึ้น

จากข้อมูลสนับสนุน กล่าวได้ว่า กลไก Creative Destruction ของภาคธุรกิจไทยมีปัญหาในบางส่วน แต่ก็ประสบความสำเร็จในบางส่วนเช่นกัน การวางนโยบายที่เอื้อให้เกิดการแข่งขันอย่างเหมาะสมจะช่วยกระตุ้นกลไกนี้ได้ หากย้อนกลับมาดูในกรณีของแจส ซึ่งอยู่ในธุรกิจ ‘ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร’ การหมดโอกาสแข่งขันของแจสทำให้ในวันนี้เราไม่มีโอกาสทราบว่าเขาจะกลายเป็นผู้เล่นแบบใด จะมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน จะได้รับการจัดสรรทรัพยากรหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ จากมุมมองด้านประสิทธิภาพ ธุรกิจนี้กำลังต้องการการแข่งขันมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

หมายเหตุ: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์