ThaiPublica > คอลัมน์ > Outliers…พวกอัจฉริยะแหกคอก

Outliers…พวกอัจฉริยะแหกคอก

27 เมษายน 2016


บรรยง พงษ์พานิช

เมื่อสองสามวันก่อน ระหว่างนั่งฟังประชุมอยู่ (คนส่วนใหญ่ในที่ประชุมนั้นมีหน้าที่ “ฟัง” อย่างเดียวจริงๆ ครับ …การแสดงความเห็นไม่เป็นที่นิยม …การคัดค้านยิ่งเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ) ใจผมก็เลยเกิดแว่บสมาธิหลุด ไพล่ไปคิดถึงบทหนึ่งในหนังสือ Outliers: The Story of Success ของ Malcolm Gladwell ที่โด่งดังเป็น Best Sellers ในช่วงประมาณสิบปีที่แล้ว

ที่มาภาพ : http://layer.intlumtechnology1.netdna-cdn.com/wp-content/uploads/2016/02/book-mockup-06989.jpg
ที่มาภาพ: http://layer.intlumtechnology1.netdna-cdn.com/wp-content/uploads/2016/02/book-mockup-06989.jpg

เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ…

ในบทที่เจ็ด (Chapter 7: The Ethnic Theory of Plane Crash) Gladwell วิเคราะห์อธิบายถึงสาเหตุที่เครื่องบินพาณิชย์ของเกาหลีใต้เกิดอุบัติเหตุตกบ่อยในช่วงทศวรรษ 80s และ 90s ทั้งๆ ที่สภาพเครื่องบินก็ใหม่ ทันสมัย สภาพอากาศที่เผชิญก็ไม่เลวร้ายมากจนน่าจะเกิดอุบัติเหตุ (เช่น Korean Air Flight 801 ที่ตกที่เกาะกวม เมื่อ 6 ส.ค. 97) สรุปเลยว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องของ Human Errors คือเป็นความบกพร่องของนักบิน

พอวิเคราะห์ลงไปลึกๆ จากการสื่อสารในช่วงก่อนเครื่องบินตก ระหว่าง Cockpit กับหอบังคับการบิน และการสื่อสารใน Cockpit กันเอง ก็เลยพบว่า ”วัฒนธรรม” (Culture) มีส่วนอย่างมากในการทำให้เกิดข้อผิดพลาดจนเกิดหายนะใหญ่หลวงขนาดเครื่องบินตกขึ้นมา กล่าวคือ วัฒนธรรมของเหล่านักบินเกาหลีในขณะนั้นเป็นวัฒนธรรมแบบทหาร (ก็เกาหลีเคยเป็นรัฐทหารมานานนี่ครับ) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เรียกว่า “high power-distance culture” ที่ผู้น้อย ผู้ใต้บังคับบัญชา จะให้ความเคารพผู้บังคับบัญชา ผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส อย่างเคร่งครัด อย่างมากจนเกินเลย ไม่เคยกล้าขัด ไม่กล้าโต้แย้ง ไม่กล้าแม้จะเสนอความเห็นที่แตกต่าง ไม่เสนอความเห็นที่กลัวจะไม่เป็นที่พอใจ หรือถ้าจะเสนออะไรที่ไม่แน่ใจว่าก้าวล่วงความเห็นผู้นำก็อ้อมค้อมเสียจนบางทีฟังไม่รู้เรื่อง ผู้นำพูดอะไร สั่งอะไร ทั้งๆ ที่เห็นชัดๆ ว่าไม่ถูกต้อง ไม่ได้มีความเข้าใจ แต่ก็ไม่กล้าทักท้วง แถมส่วนใหญ่ก็ทำตามไปเลยซะอีก

ที่ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงอีก ก็เป็นเพราะเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ มักจะถูกออกแบบไว้สำหรับ “low power-distance culture” ซึ่งหมายถึง กัปตัน นักบินผู้ช่วย และช่างเทคนิคการบิน จะต้องทำงานร่วมกัน ร่วมมือกันมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ไม่ปกติ ต้องปรึกษาหารือกัน ไม่ใช่รับคำสั่งในแนวตั้งแต่อย่างเดียว ซึ่งเรื่องนี้ก็เหมือนกับการบริหารองค์กร บริหารบ้านเมืองในปัจจุบัน ที่มีความซับซ้อน มีเงื่อนไขยุ่งยากมากขึ้น เกินที่ผู้นำคนเดียวจะรู้รายละเอียดความซับซ้อนได้ทั้งหมด ต่อให้หวังดี ตั้งใจดี และขยันสักเพียงใด ก็ไม่มีทางที่จะล่วงรู้ตัดสินใจถูกในรายละเอียดได้ด้วยลำพังตนไปทุกเรื่อง จำเป็นจะต้องรับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องให้มาก และให้ครบทุกด้าน ซึ่ง high power-distance culture จะไม่ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศแบบนั้น ทั้งนี้ไม่ได้เป็นความผิดของทั้งผู้นำหรือผู้ตามโดยเฉพาะ แต่มันเป็นวัฒนธรรมความคุ้นชินของบางสังคม บางหมู่เหล่า

เรื่องปัญหาที่ทำให้เครื่องบินตกแบบนี้ ไม่ได้เกิดแต่กับสายการบินเกาหลีเท่านั้น กรณีเครื่องบินของสายการบินโคลัมเบีย Avianca Flight 052 ที่บินวนจนนำ้มันหมดตกที่ JFK นิวยอร์ก เมื่อ 25 ม.ค. 1990 ก็มีสาเหตุทำนองเดียวกัน กล่าวคือ นักบินชาวโคลัมเบีย ที่มีวินัยเหล็กแบบทหารเช่นกัน ไม่ได้สื่อสารให้เด็ดขาดมากพอว่าปริมาณนำ้มันไม่พอแล้ว พอหอการบิน JFK ซึ่งขึ้นชื่อว่าค่อนข้างกักขฬะหยาบคายสั่งให้บินวนต่อก็ไม่กล้าเถียง ดันทำตามบินวนจนเครื่องตกตายไปครึ่งลำ (79 คน) ฟังดูไม่น่าเชื่อเลยนะครับ (นี่ถ้าเป็นนักบินฝรั่งไอ้กัน มันคงเถียงด่าโวยวายอุตลุด แล้วก็ดื้อเอาเครื่องลงจนได้ ไม่ยอม “สละชีพเพื่อคำสั่งนาย” อย่างนี้แน่)

เรื่องปัญหาเครื่องบินที่เล่ามานั้น วันนี้มันกลายเป็นอดีตไปแล้วครับ เพราะพอปี 2000 ทางการเกาหลีก็พบปัญหานี้ มีการแก้ปัญหาอย่างเป็นกระบวนการ มี Retrain กันอย่างหนัก ละลายพฤติกรรม ละลายวัฒนธรรมเก่าๆ ไปจนหมด จนเดี๋ยวนี้สายการบินเกาหลีมีสถิติความปลอดภัยสูงระดับต้นๆ ของโลก (ผมเองก็ใช้บริการบ่อยๆ ครับ)

นั่งประชุมอยู่ดีๆ ใจดันลอยไพล่ไปคิดถึงเรื่องทฤษฎีเครื่องบินตกได้ยังไงก็ไม่รู้ …ก็ได้แต่หวังว่า เราจะไม่อยู่ในสถานการณ์อย่างนั้นนะครับ ปัญหาเครื่องบินมันมีเวลาแก้แค่ไม่กี่สิบวินาที ถ้าแก้ผิดก็หายนะเกินแก้ ของเรายังพอมีเวลา ….หวังว่าในแวดวงใกล้ชิด จะมีผู้เข้าใจประเด็น คอยแก้คอยคานวัฒนธรรมแบบนี้ ไม่ปล่อยให้ผู้นำพาเราลงเหวไป …ทั้งๆ ที่ตั้งใจดี …ทั้งๆ ที่ขยันขันแข็ง …ทั้งๆ ที่ฉลาดเฉลียว …ทั้งๆ ที่ซื่อสัตย์สุจริต เพราะทั้งสี่ทั้งๆ ที่ว่ามานั้น มันยังไม่พอพาเครื่องบินลำนี้ผ่านมรสุมใหญ่ไปได้หรอกครับ (ขอเรียนว่า ปัญหานี้ไม่ได้เพิ่งเกิดกับผู้นำปัจจุบันนะครับ ในแวดวงการเมืองปกติก็มีปัญหานี้ตลอดมา ผู้นำหัวโต๊ะมักทำตัวรู้ดีที่สุดทุกเรื่อง สั่งรายละเอียดทุกอย่าง จนเป็นวัฒนธรรมการปกครองการบริหารประเทศไปแล้ว)

ช่วยกันแก้ ช่วยกันแย้ง ช่วยกันปรับ …อย่าทำเครื่องบินเราตกเลยนะครับ…..

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 26 เมษายน 2559