ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลปกครอง พิพากษาเพิกถอนการสรรหา “สมมาตร์ มีศิลป์” เป็น ผอ.องค์การค้าของ สกสค. มีผลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2555

ศาลปกครอง พิพากษาเพิกถอนการสรรหา “สมมาตร์ มีศิลป์” เป็น ผอ.องค์การค้าของ สกสค. มีผลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2555

3 มีนาคม 2016


นายสมมาตร์ มีศิลป์ อดีตผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.
นายสมมาตร์ มีศิลป์ อดีตผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.

เมื่อปลายเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา มีคำพิพากษาของศาลปกครองคดีหนึ่งที่น่าสนใจ โดยศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2215/2555, 2389/2555 คดีหมายเลขแดงที่ 83-84/2558 ที่นายชวลิต ลีลาศิวพร อดีตผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงาน สกสค., คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. และบอร์ด สกสค. รวม 3 ราย เป็นจำเลย

ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่ประกาศให้นายสมมาตร์ มีศิลป์ เป็นผู้ผ่านคุณสมบัติเข้ารับการสรรหาผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. และประกาศให้นายสมมาตร์ได้รับเลือกเป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. คนใหม่ เมื่อปี 2555 ทั้งๆ ที่คุรุสภาเคยมีคำสั่งเลิกสัญญาจ้างกับนายสมมาตร์ จากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา (เดิมองค์การค้าอยู่กับคุรุสภาก่อนย้ายมาอยู่กับ สกสค.) เมื่อปี 2541 ตามประกาศ สกสค. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ข้อ 1.10 กำหนด “ลักษณะต้องห้าม” ของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. “ไม่เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก ไล่ออก หรือถูกเลิกจ้างจากหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือจากหน่วยงานเอกชน แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการเลิกจ้างเมื่อสิ้นสัญญาจ้าง”

โดยผู้ฟ้องขอให้ยกเลิกประกาศ มติ หรือคำสั่งทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาและแต่งตั้งให้นายสมมาตร์เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. เมื่อปี 2555

สำหรับลำดับเหตุการณ์ที่ปรากฏตามคำฟ้อง

  • วันที่ 4 กรกฎาคม 2555 สำนักงาน สกสค. ได้ออกประกาศ สกสค. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. โดยมีการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติทั่วไปและลักษณะต้องห้าม รวมถึงคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งของผู้มีสิทธิเข้ารับการสรรหาเป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.
  • วันที่ 7 สิงหาคม 2555 คณะกรรมการสรรหาฯ ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. จำนวน 3 คน (จากผู้สมัครจำนวน 7 คน) ประกอบด้วย 1. นายสมมาตร์ มีศิลป์ 2. นายชวลิต ลีลาศิวพร (ผู้ฟ้องคดีนี้) และ 3. นายปิติ นุชอนงค์
  • วันที่ 14 สิงหาคม 2555 นายชวลิตได้ยื่นหนังสือคัดค้านคุณสมบัติของนายสมมาตร์ต่อประธานคณะกรรมการสรรหาฯ โดยเห็นว่านายสมมาตร์ขาดคุณสมบัติในการสมัครเข้ารับการสรรหามาตั้งแต่ต้น เนื่องจากเคยถูกคุรุสภาเลิกจ้างในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภามาก่อน เมื่อปี 2541
  • วันที่ 25 สิงหาคม 2555 ก่อนที่นายสมมาตร์จะเข้าแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหาฯ นายชวลิตก็ได้ยื่นหนังสือคัดค้านคุณสมบัติของนายสมมาตร์อีกครั้ง แต่การยื่นหนังสือของนายชวลิตต่อคณะกรรมการสรรหาฯ ทั้ง 2 ครั้ง ไม่มีผลใดๆ นายสมมาตร์ยังคงเข้ารับการสรรหาเป็นผู้อำนวยการองค์กรค้าของ สกสค. ได้ต่อไป
  • วันที่ 11 กันยายน 2555 บอร์ด สกสค. ได้ประชุมเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. โดยมีมติเลือกนายสมมาตร์ด้วยคะแนน 19 เสียง นายชวลิต 2 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง
  • วันที่ 12 กันยายน 2555 สำนักงาน สกสค. ได้ออกประกาศว่านายสมมาตร์ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. พร้อมกับทำสัญญาจ้าง
  • วันที่ 25 กันยายน 2555 บอร์ด สกสค. ออกคำสั่งให้นายสมมาตร์เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. คนใหม่

ศาลพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า คดีนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยรวม 2 ประเด็น

1. การประกาศให้นายสมมาตร์มีสิทธิ์เข้ารับการสรรหาเป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ของคณะกรรมการสรรหาฯ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อปี 2541 คุรุสภาได้มีคำสั่งเลิกสัญญาจ้างนายสมมาตร์จากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา แม้เมื่อพิจารณาเนื้อความของคำสั่งดังกล่าวจะมิได้ระบุสาเหตุเอาไว้ แต่การที่นายสมมาตร์ได้ร้องทุกข์และฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้สั่งเลิกจ้างมาโดยลำดับ อันเป็นการโต้แย้งเรื่องอำนาจการสั่งเลิกจ้าง ซึ่งแม้จะยังไม่ยุติก็ตาม แต่เข้าใจได้ว่า การที่คุรุสภามีคำสั่งเลิกจ้างนายสมมาตร์นั้น มิได้มีสาเหตุมาจากการที่สัญญาจ้างระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายสิ้นสุดลง

นายสมมาตร์จึงเป็นบุคคลผู้ที่มี “ลักษณะต้องห้าม” ที่จะเข้ารับการสรรหาเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ตามข้อ 1.10 ของประกาศ สกสค. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.

การที่คณะกรรมการสรรหาฯ ประกาศให้นายสมมาตร์เป็นผู้ผ่านคุณสมบัติเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2. มติของบอร์ด สกสค. ในวันที่ 11 กันยายน 2555 ที่คัดเลือกนายสมมาตร์เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่านายสมมาตร์เป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการเข้ารับการสรรหาเป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. การที่บอร์ด สกสค. มีมติเลือกนายสมมาตร์เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

“พิพากษาเพิกถอนการประกาศรายชื่อผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค., มติของบอร์ด สกสค. ที่เลือกนายสมมาตร์เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค., ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. และคำสั่งแต่งตั้งให้นายสมมาตร์ มีศิลป์ เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีประกาศ มติและคำสั่งดังกล่าวข้างต้น ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก” คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 24 หน้า ระบุ

ทั้งนี้ ตามกฎหมาย หากไม่พอใจคำตัดสินของศาลปกครองกลาง คู่ความสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ ภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ซึ่งคดีนี้ก็คือภายในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า คู่ความในคดีนี้ โดยเฉพาะสำนักงาน สกสค. กับพวก ไม่ติดใจยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ทำให้คดีนี้ถึงที่สุด และถือว่านายสมมาตร์ไม่เคยได้รับการสรรหาให้เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. เมื่อปี 2555

ภารกิจสำคัญขององค์การค้าของ สกสค. นอกจากพิมพ์ตำราเรียนและผลิตสื่อการสอนแล้ว ยังรวมถึงการบริหารจัดการร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ทั้ง 9 สาขา ที่มาภาพ : http://www.suksapan.or.th/
ภารกิจสำคัญขององค์การค้าของ สกสค. นอกจากพิมพ์ตำราเรียนและผลิตสื่อการสอนแล้ว ยังรวมถึงการบริหารจัดการร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ทั้ง 9 สาขา ที่มาภาพ: http://www.suksapan.or.th/

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมมาตร์เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าถึง 2 ครั้ง คือระหว่างปี 2539-2541 และระหว่างปี 2555-2558 ซึ่งครั้งหลัง นายสมมาตร์ถูกสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 7/2558 ก่อนจะถูกบอร์ด สกสค. ลงมติเลิกจ้างช่วงปลายปี 2558 เนื่องจากไม่ผ่านการประเมินผลงาน โดยระหว่างที่นายสมมาตร์เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ได้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย ทั้งการขาดทุนสะสมกว่า 5,000 ล้านบาท รวมถึงปัญหาการจ้างเอกชนเข้ามาช่วยพิมพ์ตำราเรียน