ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : ใช้ “ม.44” อนุมัติโครงการเร่งด่วนไม่ต้องรออีไอเอ – คนทำหนังโอดอาจอยู่ยาก หากเมเจอร์บังคับซื้อโฆษณา นสพ. เพิ่ม

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : ใช้ “ม.44” อนุมัติโครงการเร่งด่วนไม่ต้องรออีไอเอ – คนทำหนังโอดอาจอยู่ยาก หากเมเจอร์บังคับซื้อโฆษณา นสพ. เพิ่ม

12 มีนาคม 2016


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 6-12 มี.ค. 2559

-แก๊สระเบิด “เรือโดยสารคลองแสนแสบ” เจ็บอื้อ
-รื้อ “ตอบโจทย์” ปี 2556 อาจ “หมิ่นฯ” 9 ราย
-รับมือภัยแล้ง “คน.” คุมเข้มราคาน้ำดื่ม
-คนทำหนังโอดอาจอยู่ยาก หากเมเจอร์บังคับซื้อโฆษณา นสพ. เพิ่ม
-ใช้”ม.44″ อนุมัติโครงการเร่งด่วนไม่ต้องรออีไอเอ

แก๊สระเบิด “เรือโดยสารคลองแสนแสบ” เจ็บอื้อ

ที่มาภาพ: เว็บไซต์เดลินิวส์ (http://www.dailynews.co.th/crime/383858)
ที่มาภาพ: เว็บไซต์เดลินิวส์ (http://www.dailynews.co.th/crime/383858)

เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 5 ม.ค. ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นในเรือโดยสารคลองแสนแสบลำหนึ่ง โดยเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นบริเวณท่าเรือวัดเทพลีลา และตามรายงานของนายออมสิน ชีวะพฤกษ์http://www.dailynews.co.th/crime/383858 มีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 66 ราย ในจำนวนนี้อาการสาหัส 3-4 ราย ไม่มีผู้สูญหายหรือเสียชีวิต ทั้งนี้ ทางบริษัท ครอบครัวขนส่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้เดินเรือโดยสารคลองแสนแสบ ยืนยันว่าจะรับผิดชอบเต็มที่ โดยจากที่ทำประกันไว้ หากมีผู้เสียชีวิตจะได้รับการชดเชย 1 แสนบาท บาดเจ็บ 15,000 บาท และยังจะมีเงินชดเชยค่ารักษาพยาบาลและชดเชยรายได้ระหว่างรักษาตัว และหากมีส่วนเกินจากเงินประกัน บริษัทยินดีชดเชยเพิ่มให้ทั้งหมด

ทั้งนี้ เรือโดยสารคลองแสนแสบมีทั้งหมด 71 ลำ ใช้น้ำมันดีเซล 45 ลำ ใช้แก๊สแอลเอ็นจีร่วมกับน้ำมันดีเซล 25 ลำ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุดังกล่าว ทำให้มีการสั่งการhttps://thaipublica.org/2016/03/khlong-saen-saeb-boat-explosion/ให้เลิกใช้แก๊ส และใช้แต่น่ำมันดีเซลเพียงอย่างเดียวทั้ง 71 ลำ โดยจะทำการตรวจสอบสาเหตุการระเบิดทร่แท้จริงต่อไป โดยมีการตั้งคณะตรวจสอบขึ้นในวันที่ 6 มี.ค. 2559 (1 วันหลังเกิดเหตุ) และคาดว่าจะรู้ผลภายใน 10 วัน

ขุด “ตอบโจทย์” ปี 2556 อาจ “หมิ่นฯ” 9 ราย

ที่มาภาพ: เว็บไซต์มติชน (http://www.matichon.co.th/news/64977)
ที่มาภาพ: เว็บไซต์มติชน (http://www.matichon.co.th/news/64977)

มติชนออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีรายการตอบโจทย์ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ออกอากาศเมื่อปี 2556 ว่า พนักงานสอบสวนมีความเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายฉบับ จึงเห็นควรส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องคือ การทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานในองค์การของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 11 ก่อน

พล.ต.อ. ศรีวราห์ กล่าวว่า หาก ป.ป.ช. มีความเห็นประการใด พนักงานสอบสวนจะรับมาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรณีความผิดอาญา มาตรา 112 เบื้องต้นพบว่ามีความผิดชัดเจน ในส่วนของรายการตอนที่ 2, 4 และ 5 ตามที่คณะกรรมการ กสทช. เคยตรวจสอบและมีข้อยุติ สั่งปรับเงินไทยพีบีเอสไปแล้วก่อนหน้า คาดว่าจะสามารถส่งเรื่องให้ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. พิจารณาให้ความเห็นก่อนส่งให้ ป.ป.ช. ภายใน 15 วัน

“สำหรับผู้ที่เข้าข่ายถูกดำเนินคดี ประกอบด้วย นิติบุคคล 2 ราย และบุคคล 9 คน เช่น นายสมชัย สุวรรณบรรณ อดีตผู้บริหารไทยพีบีเอส นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ผู้ดำเนินรายการ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นต้น” พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าว

รับมือภัยแล้ง “คน.” คุมเข้มราคาน้ำดื่ม

7 มี.ค. 2559 เว็บไซต์ครอบครัวข่าวรายงานว่าน.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 9 มีนาคมนี้ ได้นัดผู้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด 11 แบรนด์ สมาคมผู้ผลิตน้ำดื่ม และชมรมผู้ผลิตน้ำดื่ม เข้าหารือ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนว่าช่วงหน้าแล้งนี้จะไม่ขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภค และล่าสุดได้ดึงน้ำดื่ม ซึ่งเป็นสินค้าควบคุม ให้มาอยู่ในกลุ่มสินค้าที่จะต้องติดตามราคาทุกวันแล้ว เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสขึ้นราคา เอาเปรียบผู้บริโภค พร้อมทั้งคุมเข้มน้ำบรรจุขวดขาวขุ่น ในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งเบื้องต้นพบว่า บางรายไม่มีเครื่องหมายรับรอง อย. ซึ่งหากพบเห็น สามารถแจ้งข้อมูลผ่านสายด่วนผู้บริโภค กรมการค้าภายใน หมายเลข 1569 เพื่อที่จะประสานกับ สคบ.เข้าตรวจสอบ

อย่างไรก็ดี ภัยแล้งที่มาร็วและรุนแรงกว่าทุกปี ส่งผลให้สินค้าเกษตรบางรายการ ราคาเริ่มขยับขึ้นแล้ว เช่น มะนาว ราคาปรับขึ้นลุกละ 1–1.50 บาท และถั่วฝักยาว ปรับขึ้นกิโลกรัมละ 10 บาท ขณะที่ราคากลุ่มเนื้อสัตว์ยังไม่น่าห่วง และยืนยันจะไม่ขาดแคลนต่อการบริโภคอย่างแน่นอน

คนทำหนังโอดอาจอยู่ยาก หากเมเจอร์บังคับซื้อโฆษณา นสพ. เพิ่ม

ที่มาภาพ: บีบีซีไทย (https://goo.gl/prh68k)
ที่มาภาพ: บีบีซีไทย (https://goo.gl/prh68k)

9 มี.ค. 2559 เฟซบุ๊กบีบีซีไทยรายงานว่า คนทำหนังรายย่อยระบุ อยู่ยากในระบบธุรกิจฉายหนังแบบปัจจุบัน ซึ่งคนทำหนังได้ส่วนแบ่งรายได้จากการฉายเพียง 45 เปอร์เซ็นต์ และอาจจะต้องซื้อโฆษณาในสื่อหนังสือพิมพ์ซึ่งบริหารโดยค่ายใหญ่เพิ่ม โดยบรรดาคนทำหนังรายย่อยกำลังจับตาว่า จะเป็นการบังคับซื้อหรือไม่ ด้านเครือเมเจอร์ตอบข้อสงสัยไม่บังคับซื้อโฆษณา แต่อยากให้บรรยากาศโรงภาพยนตร์ไทยคึกคัก

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของคนทำภาพยนตร์รายย่อยที่ไม่ได้สังกัดค่ายใหญ่นั้น ตกอยู่ในภาวะที่ไม่น่าจะอยู่รอดได้ เนื่องจากมีต้นทุนสูงมาก ทั้งค่าฉายหนังและส่วนแบ่งรายได้จากหนังได้รับในสัดส่วนที่น้อยกว่าค่ายใหญ่ อีกทั้งล่าสุด มีกรณีที่อาจต้องซื้อโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ที่บริหารโดยค่ายโรงภาพยนตร์ใหญ่อีกด้วย ทำให้ต้นทุนการฉายหนังสูงขึ้นมาก โดยคาดว่าต่อไปภาพยนตร์ที่ผลิตโดยผู้ผลิตรายย่อยไม่น่าจะคุ้มกับต้นทุน

ธัญญ์วารินระบุว่า ปัจจุบันนี้ สัดส่วนการแบ่งรายได้จากการฉายภาพยนตร์ จะแบ่งให้กับโรงฉาย 55 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด อีก 45 เปอร์เซ็นต์เป็นของเจ้าของภาพยนตร์ แต่เมื่อหักค่าฉายหนังด้วยระบบดิจิทัล ที่เรียกกันสั้น ๆ ว่าค่าวีพีเอฟแล้วในราคาประมาณ 24,000 บาทต่อเรื่องต่อโรง ก็ถือว่าแทบจะไม่ได้กำไรเลย แต่ขณะนี้ เครือโรงภาพยนตร์รายใหญ่ของตลาดอย่างเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ได้เริ่มชักชวนให้ค่ายหนังที่ต้องการฉายกับทางเครือเมเจอร์ฯ ลงโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ทางเครือซื้อมาบริหารด้วย ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับค่ายเล็กมากขึ้น

“การทำหนังเล็ก ๆ ขนาดว่าไม่ต้องซื้อโฆษณาวันละหมื่นนะ หนังเกย์ที่ทำออกมาฉายปีที่แล้วได้รายได้สองล้าน พอแบ่งกับโรงหนัง โรงได้ 55 เราได้ 45 โรงหักค่าวีพีเอฟ แทบไม่เหลืออะไร บอกตรง ๆ ว่ารอดยาก แล้วเราเป็นเจ้าเล็ก ๆ ไม่รู้จะไปทางไหน เพราะว่าโรงหนังไม่ได้ช่วยอะไรเราเลย” ธัญญ์วาริน กล่าว

สุภาพ หริมเทพาธิป ผู้ก่อตั้งนิตยสาร BIOSCOPE ระบุว่า แนวคิดเรื่องการเปิดหน้าโฆษณาภาพยนตร์ในไทยรัฐนั้น อาจจะไม่ตอบโจทย์ค่ายหนังเล็ก ซึ่งระยะหลังเน้นการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดียมากกว่า ทำให้หลายค่ายไม่ได้เตรียมงบประมาณเพื่อลงโฆษณากับทางหนังสือพิมพ์ เขาตั้งข้อสังเกตว่าค่ายเล็กนั้นอาจจะถูกบังคับให้ต้องซื้อโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ด้วย หากต้องการฉายภาพยนตร์ในโรงของเครือใหญ่

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ระบุว่าในฐานะผู้บริโภคนั้น เห็นว่าขณะนี้ธุรกิจภาพยนตร์ของไทยถูกชี้นำโดยเครือภาพยนตร์ใหญ่เพียง 2 ค่ายเท่านั้น และหากกรณีดังกล่าวเป็นการบังคับให้คนทำหนังค่ายเล็กต้องซื้อโฆษณา เพื่อแลกกับการพิจารณาให้ภาพยนตร์ได้เข้าโรงฉาย ก็เป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคด้วย ที่ไม่มีโอกาสได้เลือกชมภาพยนตร์ที่มีความหลากหลายได้

ทางด้านธนกร ปุลิเวคินทร์ กรรมการและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจฟิล์มภาพยนตร์ เครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กล่าวว่าแนวคิดของการทำโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐนั้น เกิดจากการที่สถานการณ์ธุรกิจภาพยนตร์ของไทยไม่คึกคัก และเห็นว่าสื่อหนังสือพิมพ์ยังมีบทบาทและช่วยให้เกิดการสื่อสารที่คึกคักขึ้นได้ แม้ว่าส่วนใหญ่ ค่ายภาพยนตร์รายเล็กจะเน้นสื่อโฆษณาออนไลน์กันแล้ว แต่ตลาดต่างจังหวัดยังรับสื่อหนังสือพิมพ์ โดยค่าโฆษณานั้นคิดใน ราคา 1,600 บาทต่อกรอบ 1 ตารางนิ้ว ซึ่งเป็นอัตราปกติของทางไทยรัฐ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าเครือเมเจอร์ไม่ได้บังคับค่ายหนังเล็กว่าจะต้องลงโฆษณา หรือเอามาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาว่า ต้องลงโฆษณากับทางเมเจอร์เท่านั้นจึงจะให้ฉายได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับคนทำหนังก็ต้องเตรียมงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ไว้เป็นปกติอยู่แล้ว

นายธนกรระบุว่า ทางเครือเมเจอร์ฯ ได้เริ่มบริหารพื้นที่โฆษณาภาพยนตร์ในหน้าโฆษณาของไทยรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา และจะประเมินดูอีกครั้งว่า การเพิ่มช่องทางสื่อสารนี้ ได้ผลในแง่การสร้างบรรยากาศธุรกิจภาพยนตร์ให้มีความเคลื่อนไหวมากขึ้นหรือไม่

“ม.44” อนุมัติโครงการเร่งด่วนไม่ต้องรออีไอเอ

ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/index.php?view=category&catid=10520&option=com_joomgallery&Itemid=21&lang=th
ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/index.php?view=category&catid=10520&option=com_joomgallery&Itemid=21&lang=th

สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา 8 มี.ค.59 เผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ระบุว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อให้การดําเนินโครงการหรือกิจการของรัฐในการจัดให้มีสาธารณูปโภคอันจําเป็นต่อการดํารงชีวิตของประชาชน หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะสามารถดําเนินการได้โดยรวดเร็ว อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศ ในด้านเศรษฐกิจและสังคม อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสี่ ของมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 “ในกรณีที่มีความจําเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการดําเนินโครงการหรือกิจการด้านการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย ในระหว่างที่รอผลการพิจารณา รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามวรรคหนึ่ง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการนั้น อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดําเนินการ เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดําเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญา หรือให้สิทธิกับเอกชนผู้รับดําเนินการตามโครงการหรือกิจการไม่ได้”

ข้อ 2 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2559 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ