ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สผ.- บริษัทที่ปรึกษางานล้น ปี’59 ขอบัตรผ่านอีไอเอ -อีเอชไอเอ 1,759 โครงการ ระบุคชก.พิจารณาเฉลี่ย 2.6 เล่ม/วัน บริษัทที่ปรึกษา 23 โครงการ/ปี

สผ.- บริษัทที่ปรึกษางานล้น ปี’59 ขอบัตรผ่านอีไอเอ -อีเอชไอเอ 1,759 โครงการ ระบุคชก.พิจารณาเฉลี่ย 2.6 เล่ม/วัน บริษัทที่ปรึกษา 23 โครงการ/ปี

15 มีนาคม 2017


ด้วยกฏหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 67 ทำให้เกิดการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ตามที่บัญญัติว่า “สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม”

และตามมาด้วยการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรืออีเอชไอเอ ตามมาตรา 67 วรรค 2 ที่บัญญัติว่า “การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว” ซึ่งก็คือคณะกรรมการอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ที่เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบอีเอชไอเอและกำหนดแนวทางทางการทำอีเอชไอเอตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม กระบวนการพิจารณาผ่านความเห็นชอบอีไอเอหรืออีเอชไอเอ เป็นเพียง”บัตรผ่าน”เท่านั้น ขณะนี้นักลงทุนมองว่าเป็นปัญหาในการลงทุน และเป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายในราคาที่แพงขึ้นเพื่อให้ได้ “บัตรผ่าน” ทั้งที่กระบวนการทำอีไอเอหรืออีเอชไอเอไม่มีคำว่าไม่อนุมัติ แต่ต้องทำประชาพิจารณ์หลายรอบ บางรายทำ 3 ครั้ง ประชาชนในพื้นที่ทั้งหมดกว่า 10 หมู่บ้านเห็นด้วยที่จะให้สร้างโรงงาน แต่ปรากฏว่าบริษัทที่ปรึกษาและผู้พิจารณายังขอเอกสารเพิ่มเติมโดยไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ “บัตรผ่าน”

“เราไม่ได้ห้ามทำโครงการที่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ว่ามีหลักการคือจะลด บรรเทา เยียวยา และแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร รายละเอียดของหลักการนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ว่าเป็นทะเล ป่าชายเลน ป่าไม้ ฯลฯ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีลักษณะของผลกระทบต่างกัน ฉะนั้น การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจึงเหมือนกับการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ นั่นก็คือพอศึกษาแล้วพบว่าโครงการดังกล่าวมีโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น แต่โครงการศึกษาไม่ได้บอกผลกระทบหรือแนวทาง เป็นเพียงทางเลือกในการลงทุนเท่านั้นว่าทางเลือกไหนได้ผลประโยชน์สูงสุด ประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุด ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แต่ผลกระทบดังกล่าวก็จะพูดในวงกว้าง ไม่ได้เจาะจง เป็นเรื่องทั่วๆ ไป เช่น เกิดน้ำเสีย มีฝุ่น มีเสียงรบกวน กล่าวได้ว่าอีไอเอคือเครื่องมือจริงๆ”ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส อดีตเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ.เคยกล่าวกับ”ไทยพับลิก้า”

สำหรับการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรืออีเอชไอเอนั้น มีผู้เกี่ยวข้องตลอดกระบวนการ คือ เจ้าของโครงการ บริษัทที่ปรึกษา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) เป็นผู้พิจารณา แต่สำหรับโครงการของรัฐและรัฐวิสาหกิจต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) และคณะรัฐมนตรีด้วย

ปี’59 สผ.รับ 1,759 โครงการ

จากการสำรวจผลการพิจารณาอีไอเอและอีเอชไอเอของ สผ. พบว่า ในปีงบประมาณ 2555-2559 มีอีไอเอและอีเอชไอเอส่งให้ สผ. พิจารณาเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี แต่ลดลงในปี 2558 หลังเกิดรัฐประหาร โดยประเภทโครงการที่ส่งให้ สผ. พิจารณาเห็นชอบสูงสุดของทุกปี คือ บริการชุมชนและที่พักอาศัย ได้แก่ การก่อสร้างคอนโดมิเนียม อาคารพาณิชย์ โรงแรม ฯลฯ รองลงมาคือโครงการเหมืองแร่ พลังงานและอุตสาหกรรม คมนาคมและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และการพัฒนาแหล่งน้ำและการเกษตร

จากจำนวนรับเข้าอีไอเอและอีเอชไอเอปี 2559 พบว่า มีโครงการที่ส่งเล่มให้ สผ. รวม 1,759 โครงการ โดยคชก. พิจารณาเห็นชอบรวม 589 โครงการ และพิจารณาไม่เห็นชอบรวม 379 โครงการ

สำหรับประเภทโครงการที่ส่งเข้ามาสผ. พิจารณาใหม่มากที่สุด คือ บริการชุมชนและที่พักอาศัย เหมืองแร่ คมนาคม อุตสาหกรรม พลังงาน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และพัฒนาแหล่งน้ำและเกษตรกรรม ตามลำดับ ส่วนประเภทโครงการที่คชก. พิจารณาเห็นชอบมากที่สุด คือ บริการชุมชนและที่พักอาศัยจำนวน 443 โครงการ รองลงมาคือ เหมืองแร่ 65 โครงการ พลังงาน 36 โครงการ อุตสาหกรรม 20 โครงการ คมนาคม 16 โครงการ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี 9 โครงการ

ทั้งนี้โครงการกลุ่มเหมืองแร่และพลังงาน มีจำนวนโครงการเพิ่มขึ้นจากปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด โดยกลุ่มพลังงานเห็นชอบจำนวน 36 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 19 โครงการหรือกว่าเท่าตัว ส่วนกลุ่มเหมืองแร่เห็นชอบจำนวน 65 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 17 โครงการ(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

บริษัทที่ปรึกษางานล้น 23 โครงการ/ปี

ส่วนบริษัทที่ปรึกษาเป็นอีกกลไกหนึ่งที่สำคัญในการจัดทำอีไอเอหรืออีเอชไอเอของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน โดยจะเปิดดำเนินกิจการนี้ได้บริษัทต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับอนุญาตจาก สผ. เสียก่อนอย่างน้อย 1 คน ซึ่งจากข้อมูลของ สผ. โดยสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงเมื่อ 7 มีนาคม 2560 ระบุว่า รายชื่อนิติบุคคลผู้มีสิทธิทำ EIA/EHIA มีทั้งหมด 3 กลุ่ม รวม 76 บริษัท ดังนี้ 1. รายชื่อนิติบุคคลผู้ได้รับใบอนุญาต 3 ปี จำนวน 52 แห่ง โดยไม่ใช่บริษัท 5 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2. รายชื่อนิติบุคคลผู้ได้รับใบอนุญาต 2 ปี จำนวน 23 แห่ง โดยไม่ใช่บริษัท 2 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลับบูรพา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ 3. รายชื่อนิติบุคคลผู้ได้รับใบอนุญาต 1 ปี จำนวน 1 แห่ง

ด้าน คชก. คือผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งจาก ทส. มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 3 ปี โดยมีหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการพิจารณา 3 ข้อ ดังนี้ 1. เป็นผู้ชำนาญการฯ ที่เชี่ยวชาญในสาระที่เกี่ยวเนื่องกับผลกระทบจากโครงการ หรือกิจการประเภทโครงการที่จะพิจารณาอีไอเอหรืออีเอชไอเอ 2. สามารถเข้าร่วมประชุมได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถเข้าร่วมตรวจสถานที่ตั้งของโครงการที่จะพิจารณาอีไอเอหรืออีเอชไอเอ กรณีที่ได้รับมอบหมายจาก คชก. และ 3. ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดทำอีไอเอหรืออีเอชไอเอ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ปัจจุบัน กก.วล. ได้แต่งตั้ง คชก. รวม 17 คณะ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. คชก. พิจารณาผู้มีสิทธิขอรับใบอนุญาตทำอีไอเอ/อีเอชไอเอ 2. คชก. ที่พิจารณาเล่มอีไอเอ/อีเอชไอเอ ประกอบด้วย ด้านเหมืองแร่ ด้านพัฒนาปิโตรเลียม ด้านอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และแยกหรือแปรสภาพก๊าซธรรมชาติ ด้านอุตสาหกรรมและระบบสาธารณูปโภคที่สนับสนุน ด้านอาคาร การจัดสรรที่ดินและบริการชุมชน ด้านโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ ด้านพัฒนาแหล่งน้ำ โครงการบ้านเอื้ออาทรชุดที่ 1 และโครงการบ้านเอื้ออาทรชุดที่ 2 และ 3. คชก. พิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม 5 แห่ง คือ จังหวัดภูเก็ต เมืองพัทยาจังหวัดชลบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดสุราษฎร์ธานี

อย่างไรก็ตามจากจำนวนอีไอเอและอีเอชไอเอที่ สผ. รับเข้าใหม่ในปี 2559 รวม 1,759 โครงการ และจำนวนบริษัทที่ปรึกษารวม 76 แห่ง สามารถอนุมานได้ว่า แต่ละบริษัทที่ปรึกษาต้องจัดทำอีไอเอและอีเอชไอเอ เฉลี่ยบริษัทละ 23 โครงการต่อปี

ด้านภาระงานในการพิจารณาของ คชก. เมื่อคิดจากจำนวนอีไอเอและอีเอชไอเอที่คชก. พิจารณาเห็นชอบจำนวน 589 โครงการ รวมกับที่พิจารณาไม่เห็นชอบจำนวน 379 โครงการ อนุมานได้ว่า คชก. พิจารณาอีไอเอและอีเอชไอเอเฉลี่ย 2.6 เล่มต่อวัน (กรณีคิดจาก 365 วันทำการต่อปี)

ด้าน กก.วล. ชุดปัจจุบันแต่งตั้งโดยคำสั่ง คสช. ที่ 90/2557 ให้มีคณะกรรมการรวม 24 คน ประกอบด้วย หัวหน้า คสช. เป็นประธาน รองหัวหน้า คสช. ฝ่ายสังคมจิตวิทยา เป็นรองประธานที่ 1 ปลัด ทส. เป็นรองประธานที่ 2 ด้านกรรมการมี 11 ท่าน คือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ รองปลัด ทส. หัวหน้ากลุ่มอำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ เลขาธิการ สผ. เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

ในขณะที่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 8 ท่าน ได้แก่ สัตวแพทย์หญิง นันทริกา ชันซื่อ, นายชัชชม อรรฆภิญญ์, นายพิจิตต รัตตกุล, นายสุวิชญ์ รัศมิภูติ, นายอนรรฆ พัฒนวิบูลย์, นายแพทย์สุรศักดิ์ ฐานีพาณิชสกุล, นายประเสริฐ ตปนียางกูร และนายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

หากพิจารณาเฉพาะโครงการที่ต้องทำอีเอชไอเอ โดยอ้างอิงข้อมูล สผ. ณ วันที่ 31 มกราคม 2560 พบว่า โครงการที่ต้องทำอีเอชไอเอทั้งหมดที่เข้ามาใน สผ. มี 43 โครงการ ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมี 8 โครงการ ได้รับความเห็นชอบครบแล้ว กลุ่มเหมืองแร่ 1 โครงการ ได้รับความเห็นชอบ กลุ่มคมนาคม 7 โครงการ ได้รับความเห็นชอบ 1 โครงการ ไม่เห็นชอบ 1 โครงการ ที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณา กลุ่มพลังงาน 10 โครงการ ได้รับความเห็นชอบ 2 โครงการ ไม่เห็นชอบ 1 โครงการ ที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณา กลุ่มแหล่งน้ำ 1 โครงการคือเขื่อนแม่วงก์ อยู่ระหว่างการพิจารณา กลุ่มอุตสาหกรรม รวม 17 โครงการ ได้รับความเห็นชอบ 9 โครงการ ไม่เห็นชอบ 6 โครงการ ที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณา

โครงการที่ต้องทำอีไอเอทั้งหมด 36 ประเภท

ประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำอีไอเอ 36 ประเภท ประกอบด้วย 1. การทำเหมืองแร่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ 2. การพัฒนาปิโตรเลียม (สำรวจโดยวิธีการเจาะสำรวจ/ผลิต) 3. ระบบขนส่งปิโตรเลียมและน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อ 4. นิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรม หรือโครงการที่มีลักษณะเดียวกัน หรือการจัดสรรที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรม 5. อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มีกระบวนการผลิตทางเคมี 6. อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม 7. อุตสาหกรรมแยกหรือแปรสภาพก๊าซธรรมชาติ

8. อุตสาหกรรมคลอ-แอลคาไลน์ (chlor-alkaline) ที่ใช้โซเดียมคลอไรด์ (NaCl) เป็นวัตถุดิบในการผลิต 9. อุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ 10. อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ 11. อุตสาหกรรมที่ผลิตสารออกฤทธิ์หรือสารที่ใช้ป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือสัตว์โดยใช้กระบวนการทางเคมี 12. อุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยเคมีโดยกระบวนการทางเคมี 13. อุตสาหกรรมประกอบกิจการเกี่ยวกับน้ำตาล 14. อุตสาหกรรมเหล็กหรือเหล็กกล้า 15. อุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่หรือหลอมโลหะ

16. อุตสาหกรรมผลิตสุรา แอลกอฮอล์ เบียร์ และไวน์ 17. โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมเฉพาะสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน 18. โรงไฟฟ้าพลังความร้อน 19. ระบบทางพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการทางพิเศษ หรือโครงการที่มีลักษณะเช่นเดียวกับทางพิเศษ 20. ทางหลวงหรือถนน ซึ่งมีความหมายตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ตัดผ่านพื้นที่ที่กำหนด

21. ระบบขนส่งมวลชนที่ใช้ราง 22. ท่าเทียบเรือ 23. ท่าเทียบเรือสำราญกีฬา 24. การถมที่ดินในทะเล 25. การก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างบริเวณหรือในทะเล 26. โครงการระบบขนส่งทางอากาศ 27. อาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร 28. การจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหรือเพื่อประกอบการพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน 29. โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล 30. โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม

31. อาคารที่อยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร 32. การชลประทาน 33. โครงการทุกประเภทในพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้เป็นพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 34. การผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ 35. ประตูระบายน้ำในแม่น้ำสายหลัก และ 36.อุตสาหกรรมผลิตถ่านโค้ก ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประกาศเพิ่มเมื่อ 25 ธันวาคม 2557

โครงการที่ต้องทำอีเอชไอเอ ทั้งหมด 11 ประเภท

1. การถมทะเลหรือทะเลสาบ นอกแนวเขตชายฝั่งเดิม ขนาด 300 ไร่ขึ้นไป ยกเว้นการถมทะเลเพื่อฟื้นฟูสภาพชายหาด

2. การทำเหมืองแร่ 4 กลุ่ม คือ 1. เหมืองแร่ใต้ดินทุกขนาด ที่ออกแบบโครงสร้างให้ยุบตัวภายหลังการทำเหมืองโดยไม่มีค้ำยันและไม่มีการใส่คืนวัสดุทดแทนเพื่อป้องกันการยุบตัว 2. เหมืองแร่ตะกั่ว เหมืองแร่สังกะสี หรือเหมืองแร่โลหะอื่นที่ใช้ไซยาไนด์ หรือปรอท หรือตะกั่วไนเตรต ในกระบวนการผลิต หรือเหมืองแร่โลหะอื่นที่มีอาร์เซโนไพไรต์เป็นแร่ประกอบทุกขนาด 3. เหมืองถ่านหินที่ลำเลียงออกนอกพื้นที่โครงการด้วยรถยนต์ ขนาดตั้งแต่ 200,000 ตันต่อเดือน หรือตั้งแต่ 2,400,000 ตันต่อปี ขึ้นไป 4. เหมืองแร่ในทะเลทุกขนาด

3. นิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นิคมฯ ที่จัดตั้งเพื่อรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีหรืออุตสาหกรรมถลุงแร่เหล็กมากกว่า 1 โรงงานขึ้นไปทุกขนาด และนิคมฯ ที่ขยายพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีหรืออุตสาหกรรมถลุงแร่เหล็กทุกขนาด

4. โรงงานปิโตรเคมี 2 กลุ่ม คือ 1. อุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้นน้ำ (upstream) ทุกขนาด หรือที่มีการขยายกำลังการผลิตตั้งแต่ร้อยละ 35 ของกำลังการผลิตเดิมขึ้นไป 2. อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลาง (intermediate) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ผลิตสารเคมี หรือใช้วัตถุดิบที่เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 ขนาดกำลังการผลิต 100 ตันต่อวันขึ้นไป หรือที่มีการขยายขนาดกำลังการผลิตรวมกันแล้วมากกว่า 100 ตันต่อวัน ขึ้นไป และผลิตหรือใช้สารเคมีที่ก่อมะเร็งกลุ่ม 2A ขนาดกำลังการผลิต 700 ตันต่อวันขึ้นไป หรือที่มีการขยายขนาดกำลังการผลิตรวมกันแล้วมากกว่า 700 ตันต่อวันขึ้นไป

5. อุตสาหกรรมถลุงแร่หรือหลอมโลหะ 5 กลุ่ม คือ 1. อุตสาหกรรมถลุงแร่เหล็กที่มีปริมาณแร่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตตั้งแต่ 5,000 ตันต่อวันขึ้นไป 2. อุตสาหกรรมถลุงแร่เหล็กที่ผลิตถ่านโค้กหรือมีกระบวนการ sintering ทุกขนาด 3. อุตสาหกรรมถลุงแร่ทองแดง ทองคำ หรือสังกะสี ที่มีปริมาณแร่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตตั้งแต่ 1,000 ตันต่อวันขึ้นไป 4. อุตสาหกรรมถลุงแร่ตะกั่วทุกขนาด 5. อุตสาหกรรมหลอมโลหะ (ยกเว้นเหล็กและอลูมิเนียม) ขนาดกำลังการผลิตตั้งแต่ 50 ตันต่อวันขึ้นไป 6. อุตสาหกรรมหลอมตะกั่ว ขนาดกำลังการผลิตตั้งแต่ 10 ตันต่อวันขึ้นไป

6. โครงการการผลิต กำจัด หรือปรับแต่งสารกัมมันตรังสีทุกขนาด

7. โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม หรือโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่มีการเผาหรือฝังกลบของเสียอันตราย ยกเว้นการเผาในหม้อเผาซีเมนต์ที่ใช้ของเสียอันตรายเป็นวัตถุดิบทดแทนหรือเป็นเชื้อเพลิงเสริมทุกขนาด

8. โครงการระบบขนส่งทางอากาศที่มีการก่อสร้าง ขยายหรือเพิ่มทางวิ่งของอากาศยานตั้งแต่ 3,000 เมตรขึ้นไป

9. ท่าเทียบเรือ 3 กลุ่ม คือ 1. มีความยาวหน้าท่าที่เรือเข้าเทียบได้ ตั้งแต่ 300 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ท่าเทียบเรือตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร ขึ้นไป ยกเว้นท่าเรือที่ชาวบ้านใช้สอยในชีวิตประจำวัน และการท่องเที่ยว 2. ขุดลอกร่องน้ำตั้งแต่ 100,000 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป 3. ขนถ่ายวัตถุอันตรายหรือกากของเสียอันตรายซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 มีปริมาณรวมกันตั้งแต่ 25,000 ตันต่อเดือนขึ้นไป หรือมีปริมาณรวมกันทั้งปีตั้งแต่ 250,000 ตันต่อปีขึ้นไป

10. เขื่อนเก็บกักน้ำ หรืออ่างเก็บน้ำ 2 กลุ่ม คือ มีปริมาตรเก็บกักน้ำตั้งแต่ 100 ล้านลูกบาศก์เมตรขึ้นไป และมีพื้นที่เก็บกักน้ำตั้งแต่ 15 ตารางกิโลเมตรขึ้นไป

11. โรงไฟฟ้า 4 กลุ่ม คือ 1. โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงขนาดกำลังผลิตกระแสไฟฟ้ารวมตั้งแต่ 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป 2. โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดกำลังผลิตกระแสไฟฟ้ารวมตั้งแต่ 150 เมกะวัตต์ขึ้นไป 3. โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นระบบพลังความร้อนร่วมชนิด combined cycle หรือ cogeneration ขนาดกำลังผลิตกระแสไฟฟ้ารวมตั้งแต่ 3,000 เมกะวัตต์ขึ้นไป และ 4. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกขนาด