ThaiPublica > เกาะกระแส > รายงานธนาคารโลกชี้ “เทคโนโลยีดิจิทัล” โอกาสในการพัฒนายังคงมืดมน ประชากรกว่า 4,000 ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

รายงานธนาคารโลกชี้ “เทคโนโลยีดิจิทัล” โอกาสในการพัฒนายังคงมืดมน ประชากรกว่า 4,000 ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

8 มีนาคม 2016


digital6

รายงานฉบับใหม่ของธนาคารโลกระบุว่า ในขณะที่อินเทอร์เน็ตโทรศัพท์มือถือ และเทคโนโลยีดิจิทัลอื่นๆ กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วโลกกำลังพัฒนา ผลตอบแทนทางดิจิทัลที่ควรส่งผลต่อการเติบโต การจ้างงาน และการให้บริการสาธารณะที่ดีขึ้นกลับต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ยิ่งไปกว่านั้น ประชากรโลกร้อยละ 60 ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบเศรษฐกิจยุคดิจิทัลที่กำลังขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง

ผู้อำนวยการร่วม นายดีปัค มิชรา นายอูเว ไดค์แมน และคณะ กล่าวถึงรายงานการพัฒนาโลกประจำปี 2559 “ผลตอบแทนทางดิจิทัล” ว่าประโยชน์จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของระบบดิจิทัลมีความโน้มเอียงไปยังประชากรโลกที่มีฐานะ ทักษะและอิทธิพล โดยประชากรเหล่านี้อยู่ในสถานภาพที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ นอกจากนี้ แม้ว่าจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในโลกจะพุ่งสูงขึ้นถึงกว่า 3 เท่าตัวนับตั้งแต่ปี 2548 แต่ยังคงมีประชากรอีกราว 4,000 ล้านคนที่ยังคงไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้

นายจิม ยอง คิม ประธานกลุ่มธนาคารโลก กล่าวว่าเทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเปลี่ยนโฉมโลกธุรกิจ การทำงาน และรัฐบาล เราจำเป็นต้องเดินหน้าเชื่อมต่อประชากรทุกคน และไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง เพราะความเสียหายจากการเสียโอกาสนั้นใหญ่หลวง แต่เพื่อให้ทุกคนในสังคมได้มีส่วนแบ่งในผลตอบแทนทางดิจิทัล ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องปรับปรุงบรรยากาศในการดำเนินธุรกิจของตน ลงทุนในการศึกษาและสุขภาพของประชากร รวมถึงส่งเสริมระบบธรรมาภิบาล

แม้ว่าเรื่องราวความสำเร็จมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่อความสามารถในการผลิตของโลก การขยายโอกาสไปยังประชากรผู้ยากจนและชนชั้นกลาง ตลอดจนการขยายตัวของสถาบันภาครัฐที่เชื่อถือได้ยังคงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ในขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว – การเติบโต การจ้างงาน และการให้บริการ ยังคงล้าหลัง

digital

นายคาชิค บาสู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกลุ่มธนาคารโลกกล่าวว่า “การปฏิวัติเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนโฉมของโลก โดยช่วยให้การส่งผ่านข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น และช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์สามารถผงาดขึ้นมาได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น นี่คือการเปลี่ยนโฉมอันน่าอัศจรรย์ที่ทุกวันนี้ประชากรร้อยละ 40 ของโลกสามารถเชื่อมต่อกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต และแม้เราควรเฉลิมฉลองให้กับความสำเร็จนี้แต่เราก็ควรใช้โอกาสนี้พึงระลึกไว้เช่นกันว่า เราจะไม่สร้างประชากรระดับล่างให้เพิ่มมากขึ้นไปอีก ยังคงมีประชากรโลกอีกเกือบร้อยละ 20 ที่ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ การขยายตัวของเทคโนโลยีดิจิทัลเพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถสะกดคำว่า ‘จุดจบ’ ให้กับช่องว่างทางความรู้นี้ได้”

เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถส่งเสริมให้เกิดความมีส่วนร่วม ประสิทธิภาพ ตลอดจนนวัตกรรมขึ้นได้ประชากรวัยผู้ใหญ่กว่าร้อยละ 40 ในแอฟริกาตะวันออกจ่ายค่าสาธารณูปโภคโดยใช้โทรศัพท์มือถือ ประเทศจีนมีผู้ประกอบการ 8 ล้านคน โดย 1 ใน 3 เป็นเพศหญิงที่ขายและจัดส่งสินค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซไปทั่วประเทศและยังส่งออกไปยังอีกกว่า 120 ประเทศ อินเดียได้ดำเนินการออกข้อมูลประจำตัวทางดิจิทัลให้กับประชากรกว่า 1 พันล้านคน ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณะและลดการฉ้อราษฎร์บังหลวงในการให้บริการสาธารณะลงด้วย นอกจากนี้ ในการให้บริการด้านสาธารณสุข การส่งข้อความสั้น (SMS) ก็ยังเป็นวิธีง่ายๆ ที่ได้ผลในการแจ้งเตือนให้ประชากรที่ติดเชื้อ HIV รับประทานยาอีกด้วย

เพื่อให้สามารถดำเนินการตามพันธสัญญาด้านการพัฒนาแห่งยุคดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ ธนาคารโลกได้เสนอให้มีการดำเนินการหลัก 2 ประการ ได้แก่ การปิดช่องว่างทางดิจิทัลโดยการให้อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงได้ เปิดเผย และปลอดภัยสำหรับประชากรทุกคน และการสร้างความแข็งแกร่งให้กับระเบียบข้อบังคับเพื่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างธุรกิจ โดยมีการปรับทักษะของแรงงานตามความต้องการของระบบเศรษฐกิจใหม่ ตลอดจนส่งเสริมสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นมาตรการที่รายงานของธนาคารโลกเรียกว่า “ส่วนเสริมอะนาล็อก” ในการลงทุนด้านดิจิทัล

ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านดิจิทัลจำเป็นจะต้องครอบคลุมมากกว่ายุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประเทศต่างๆ ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับเทคโนโลยี กล่าวคือ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่เอื้อต่อการแข่งขันและการเข้าสู่ตลาด ทักษะที่ช่วยให้แรงงานสามารถประสบความสำเร็จในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้ รวมไปถึงสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ และในทางกลับกัน เทคโนโลยีดิจิทัลก็สามารถผลักดันให้การพัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้นได้อีกด้วย

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ ลดกำแพงการค้า อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการหน้าใหม่ สร้างความแข็งแกร่งให้กับหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนส่งเสริมการแข่งขันในรูปแบบดิจิทัลที่หลากหลาย นับเป็นมาตรการที่นำเสนอไว้ในรายงานของธนาคารโลก เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิผลและสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น

digital4

นอกจากนี้ แม้ว่าการอ่านออกเขียนได้จะยังคงมีความสำคัญต่อเด็กๆ แต่การสอนทักษะด้านตรรกะและการคิดวิเคราะห์ขั้นสูง รวมถึงการฝึกอบรมพื้นฐานเกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขั้นสูง จะเป็นกุญแจสำคัญเมื่ออินเทอร์เน็ตแผ่ขยายตัวออกไป การสอนทักษะเหล่านี้ตั้งแต่อายุยังน้อยและเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เข้าถึงเทคโนโลยี จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยี ตลอดจนมีอิทธิพลต่อการเลือกประกอบอาชีพของเด็กๆ ต่อไปในอนาคต

รายงานของธนาคารโลกยังได้นำเสนอข้อควรระวังไว้ว่า แม้เทคโนโลยีดิจิทัลจะสามารถเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจ สังคม และสถาบันภาครัฐได้ แต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่เป็นที่แน่นอนและไม่สามารถเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ประเทศที่ลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลและส่วนเสริมอะนาล็อกจะสามารถเก็บเกี่ยวผลตอบแทนมหาศาลนี้ได้

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีแนวโน้มจะล้าหลัง เทคโนโลยีที่ปราศจากพื้นฐานอันดี จะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะสร้างช่องว่างทางเศรษฐกิจ ความไม่เสมอภาค และการรุกล้ำของรัฐให้เกิดขึ้นได้ ในทศวรรษที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้ลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 12,600 ล้านเหรียญสหรัฐ

ดูเพิ่มเติมวิดิโอ