ThaiPublica > เกาะกระแส > เปิดข้อเสนอแม่น้ำสี่สาย ดันตั้ง ส.ว. สรรหา 250 คน ไม่ต้องชงชื่อนายกฯ – ครม. ผ่านกม. ประชามติ – เว้นภาษี “ธุรกิจเพื่อสังคม”

เปิดข้อเสนอแม่น้ำสี่สาย ดันตั้ง ส.ว. สรรหา 250 คน ไม่ต้องชงชื่อนายกฯ – ครม. ผ่านกม. ประชามติ – เว้นภาษี “ธุรกิจเพื่อสังคม”

15 มีนาคม 2016


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

“ประยุทธ์” กดดัน กรธ. ตั้ง ส.ว. สรรหาให้ได้

ภายหลังการประชุม พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่องค์กรแม่น้ำ 4 สาย ประกอบด้วย ครม. คสช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) มีการประชุมร่วมกันในวันที่ 7 มีนาคม 2559 ก่อนจัดทำข้อเสนอในการปรับแก้เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญส่งให้กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานว่า ตนอยากชี้แจงว่าเหตุที่ กรธ. ไม่มาร่วมประชุมด้วยไม่ใช่เพราะขัดแย้งหรือดื้อดึงอะไร แต่ตนไม่ได้เชิญ แล้วเขาจะมาได้อย่างไร เพราะ กรธ. มีหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวเป็นมติขององค์กรแม่น้ำ 4 สาย มีอยู่หลายประเด็น เช่น กำหนดบทเฉพาะกาลให้ ส.ว. ชุดแรก 250 คน มาจากการสรรหาทั้งหมด

เมื่อถามว่า เหตุใดถึงต้องส่งข้อเสนอในการปรับแก้เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญให้ กรธ. อีก ทั้งๆ ที่ ครม. เคยส่งข้อเสนอไปแล้ว 16 ข้อ จะเป็นการกดดัน กรธ. หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ทำไมล่ะ มันสั่งกี่ทีก็ได้ จะกดดันอะไร วันนี้เป็นประชาธิปไตย 100% หรือเปล่า เป็นสากลหรือไม่ เข้าใจเสียบ้าง”

เมื่อถามว่าหาก กรธ. ไม่ทำตามข้อเสนอขององค์กรแม่น้ำ 4 สาย จะทำอย่างไร พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เขาคงทำแหละ อาจจะมีข้อเสนอเพิ่มเติมอีกก็ได้ ถ้าไม่ทำตามตนก็จะเขียนส่งไปใหม่ ทำจนกว่า กรธ. จะพิจารณา เพราะวันนี้ใครล่ะที่เป็นคนรับผิดชอบ กรธ. หรือตน

ลั่น “ผมมีอำนาจ” ไม่กลับไปใช้ประชาธิปไตยแบบเดิม

เมื่อถามถึงเหตุผลในการกำหนดให้ ส.ว. ทั้งหมดมาจากการสรรหา พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็เพื่อให้บ้านเมืองมีความสุขความสงบไง หรืออยากให้กลับไปตีกันแบบเดิม เพราะเดิมถึงจะมี 2 สภา หรือ ส.ส. และ ส.ว. แต่มันก็คล้อยตามกันไปเรื่อย เพราะมาจากการเลือกตั้งด้วยกันทั้งคู่ เสนออะไรไปก็ผ่านหมด ถ้ามีสักสภามาจากการสรรหา จะได้มีคนทักท้วงได้บ้าง จากนั้นจะได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาโดยกระบวนการรัฐสภา ตนไม่ได้อยากให้เขียนให้ ส.ว. เลือกนายกฯ หรือไปปลดใครก็ได้ รัฐสภามีอำนาจนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่มีใครทำ ส.ว. สรรหาคงไม่เข้าไปทำให้อะไรเสียหายหรอก และยืนยันว่าไม่ใช่การสืบทอดอำนาจอะไร

“นี่เป็นวิธีการดูแลไม่ให้คนไทยกว่า 60 ล้านคนต้องกลับมาที่เดิม ถามว่าแล้วมันผิดตรงไหน มีวิธีการที่ดีกว่านี้หรือไม่ ถ้ามีก็เสนอมา ถ้ายังคิดไม่ออกอย่าเพิ่งมาถามผม ผมคิดได้แค่นี้ ถ้าคุณฉลาดกว่าผมก็บอกมา แต่ถ้าจะคุณจะกลับไปใช้ประชาธิปไตยแบบเดิม ผมไม่ยอม” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า เกรงหรือไม่ว่ากรณี ส.ว. สรรหาทั้งหมดจะกลายเป็นจุดเสี่ยงให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการจัดทำประชามติ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนไม่กลัว ถ้าไม่ดีก็ร่างใหม่ เพราะตนมีอำนาจในการทำให้บ้านเมืองปลอดภัย

วอนประชาชนชายแดนใต้ช่วยแจ้งเบาะแสคนร้าย

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงมาตรการป้องกันเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังเกิดเหตุระเบิดหลายครั้งในช่วงหลังว่า จริงๆ ก็เป็นมาตรการเดิมอยู่แล้ว คือขอความร่วมมือจากประชาชนในการเป็นหูเป็นตาช่วยแจ้งข้อมูลข่าวสารเพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทำลายเครือข่ายผู้ก่อความไม่สงบ โดยบุคคลใดที่มีข้อมูลสามารถส่งเป็นจดหมายมาให้กับตนได้โดยตรง ตนจะมีรางวัลพิเศษรวมถึงมีมาตรการดูแลคุ้มครองให้

ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองในประเทศ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็มีอยู่บ้างในหลายจังหวัดที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ใต้ดิน เพื่อไม่ให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งเรื่องประชาธิปไตยบ้าง เรื่องประชามติร่างรัฐธรรมนูญบ้าง แต่ส่วนตัวขออย่าไปให้ความสนใจกับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง รวมไปถึงความเคลื่อนไหวของบางคนในต่างประเทศ อยากให้คนมาให้ความสนใจกับสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ว่าดีจริงหรือไม่ หากยังมีสิ่งใดต้องปรับปรุงก็ขอให้เสนอมา เช่น เรื่องการทุจริต ถ้ามีหลักฐานก็ขอให้ส่งมา

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงวันครบรอบวันเกิดปีที่ 62 ในวันที่ 21 มีนาคม 2559 ว่า ตนไม่ต้องการของขวัญอะไร นอกจากทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี อย่าให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีกเลย เพราะตนอยากให้ประชานมีความสุข และประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ครม. เว้นภาษี “ธุรกิจเพื่อสังคม”

สำหรับวาระการประชุม ครม. อื่นที่น่าสนใจ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีสำหรับกำไรสุทธิแก่ “ธุรกิจเพื่อสังคม” หรือ Social Enterprise (SE) ซึ่งนิยามว่าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นเพื่อมุ่งส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่นที่วิสาหกิจตั้งอยู่ หรือมีเป้าหมายโดยชัดเจนตั้งแต่แรกในการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก มิได้มุ่งสร้างกำไรสูงสุดต่อผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน โดยมีเงื่อนไขต้องแบ่งกำไรของบริษัท “ไม่น้อยกว่า 70%” ไปลงทุนในกิจการของตนเอง หรือใช้เพื่อประโยชน์ของเกษตรกร ผู้ยากจน คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมอื่นๆ ตามประกาศของกระทรวงการคลังต่อไป โดยเงื่อนไขการยกเว้นภาษีให้กับ SE จะให้เฉพาะผู้ที่นำผลกำไรทั้งหมดไปใช้ลงทุนตามนิยามดังกล่าว และไม่ได้จ่ายเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรแก่ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนแต่อย่างใด

นอกจากนี้ สำหรับผู้สนับสนุน SE ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กำหนดให้ 1. กรณีนำเงินไปลงทุนในวิสาหกิจชุมชนของบริษัทที่สนับสนุน SE สามารถนำไปหักเงินเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีได้ทั้งหมด 2. กรณีจ่ายเงินหรือโดยทรัพย์สินให้วิสาหกิจโดยไม่มีค่าตอบแทน หรือบริจาค สามารถนำไปหักรายจ่ายได้จำนวน 1 เท่า แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะและเพื่อสาธารณประโยชน์แล้ว จะต้องไม่เกิน 2% ของกำไรของบริษัทที่ให้การสนับสนุน

ปลดล็อก บสย. ค้ำประกันเอสเอ็มอี

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบให้แก้ไข พ.ร.บ.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พ.ศ. 2534 โดย บสย. เป็นรัฐวิสาหกิจสาขาสถาบันการเงิน ทำหน้าที่ค้ำประกันเงินกู้ยืมของธุรกิจขนาดย่อมหรือ SMEs จากสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เพื่อช่วยให้ธุรกิจ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้นจากเดิม โดยแก้ไขใน 3 ประเด็น คือ

  1. แก้ไขให้ บสย. สามารถค้ำประกันเงินกู้ยืมจากนิติบุคคลอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงินและสหกรณ์ จากเดิมที่ บสย. จะค้ำประกันให้แก่ SMEs ได้เฉพาะเงินที่กู้ยืมจากสถาบันการเงินและสหกรณ์ โดยให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการ บสย. ประกาศกำหนดรายละเอียดต่อไป
  1. แก้ไขสถานะของ บสย. ให้เป็นสถาบันการเงินภาครัฐตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งจะทำให้ บสย. ไม่ต้องเสนอแผนการกู้ยืมเงินเข้าแผนการบริหารหนี้สาธารณะอีกต่อไป ช่วยสร้างความคล่องตัวและประสิทธิภาพการบริหารมากขึ้น เนื่องจาก บสย. ในปัจจุบันประกอบธุรกรรมที่คล้ายกับสถาบันการเงินและสามารถกู้ยืมเงินภายใต้กฎหมายจัดตั้งของตนเองอยู่แล้ว
  1. แก้ไขประเด็นการบริหารจัดการอื่นๆ เช่น สามารถสวมสิทธิดำเนินคดีในฐานเจ้าหนี้ เพื่อความรวดเร็วของการดำเนินคดีต่างๆ, เพิ่มอำนาจการโอน รับ รับโอน หรือดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน, เพิ่มค่าธรรมเนียมและค่าบริการ, เพิ่มการลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของ บสย., แก้ไขจำนวนและที่มาของกรรมการบริหาร เป็นต้น

ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ – คุมวินัยรัฐบาล

นายอภิศักดิ์ยังกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. …. เพื่อกำหนดหลักการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐ ใน 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1. การจัดทำงบประมาณ 2. การจัดหารายได้ 3. การใช้จ่าย 4. การบริหารการเงิน การคลัง สินทรัพย์ 5. การบริหารเงินนอกงบประมาณ และ 6. การก่อหนี้

โดยให้ 4 หน่วยงานหลักทางเศรษฐกิจ ได้แก่ สำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ และกระทรวงการคลัง ร่วมกันจัดทำ “กรอบการคลังระยะปานกลาง” เพื่อให้เป็นแผนแม่บทหลักสำหรับวางแผนการคลังและการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี โดยมีรายละเอียดในบางประเด็นที่สำคัญ ได้แก่

  1. การดำเนินกิจกรรมหรือโครงการตามนโยบายที่มีภาระการคลังมากกว่า 1 ปี หรือมีการสูญเสียรายได้ หน่วยงานนั้นๆ จะต้องจัดทำแผนบริหารจัดการประมาณการรายจ่าย พร้อมแหล่งเงินที่จะใช้ ขณะที่กรณีการสูญเสียรายได้จะต้องทำประมาณการสูญเสียรายได้และรายงานเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้จากโครงการหลังจากดำเนินการแล้วกับรายได้ที่เสียไปต่อคณะรัฐมนตรีด้วย
  1. หากรัฐบาลมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินงานนอกเหนือภารกิจหลัก จะทำได้เฉพาะกรณีช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย การก่อวินาศกรรม ฟื้นฟูกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต โดยจะต้องรวมกันทั้งหมดไม่เกิน 5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และหน่วยงานรัฐต้องจัดทำบัญชีแยกต่างหาก พร้อมทั้งประมาณการต้นทุนทางการเงินและการบริหารจัดการที่รัฐต้องรับภาระทั้งหมดด้วย
  1. กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งงบประมาณในประเด็นต่างๆ เช่น ต้องตั้งงบลงทุนไม่ต่ำกว่าส่วนที่ขาดดุลงบประมาณ ต้องตั้งงบประมาณเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้อย่างน้อย 3% ของงบประมาณประจำปี ตั้งงบกลางไม่เกิน 2.5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นต้น

เปิดข้อเสนอแม่น้ำสี่สาย เพิ่มบทเฉพาะกาล รธน. 3 เรื่อง – ผ่าน กม. ประชามติ

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างการประชุม ครม. วันนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย ได้รายงานสรุปผลการประชุมองค์กรแม่น้ำ 4 สาย เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในส่วนของการจัดทำข้อเสนอปรับปรุงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญส่งไปยัง กรธ. โดยให้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล รวม 3 ประเด็น ประกอบด้วย

  1. ให้มี ส.ว. จำนวน 250 คนที่มาจากการสรรหาทั้งหมด โดยมี ส.ว. ที่เป็นโดยตำแหน่ง 6 ตำแหน่ง ประกอบด้วยปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.เหล่าทัพ และ ผบ.ตร. มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ แต่มีอำนาจในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ รวมถึงขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนกลั่นกรองกฎหมาย รวมไปถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
  1. ในการเลือกตั้งครั้งแรก ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ สำหรับ ส.ส. เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ทั้งนี้ เพื่อเปิดให้พรรคการเมืองขนาดเล็กที่ไม่มีกำลังในการส่ง ส.ส. เขตทั้งประเทศสามารถเข้าแข่งขันกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้
  1. ในการเลือกตั้งครั้งแรก ให้แต่ละพรรคการเมืองยังไม่จำเป็นต้องเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกฯ จำนวนพรรคละ 3 คน เพื่อป้องกันปัญหาแต่ละพรรคการเมืองไม่สามารถหาข้อยุติได้ว่าจะเลือกใครมาเป็นนายกฯ รวมถึงเป็นการผ่าทางตันกรณีที่ไม่สามารถนำคนนอกมาเป็นนายกฯ ได้

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. …. ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอ มีสาระสำคัญ อาทิ ให้การรณรงค์ก่อนการจัดทำประชามติมีขึ้นในเวทีที่ กกต. จัดให้เท่านั้น, ห้ามจัดทำโพลก่อนถึงวันประชามติอย่างน้อย 7 วัน ฯลฯ เป็นต้น โดยการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 นี้

แก้กฎหมายค้ามนุษย์ รับ EU ตรวจสอบ

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิมเมื่อปี 2551 ให้มีความชัดเจนมากขึ้นและครอบคลุมกับนวัตกรรมการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ในทุกประเด็น เช่น คำว่า “แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” ให้เพิ่มเติมการกระทำที่เป็นการขู่เข็ญหรือใช้กระบวนการทางกฎหมายไม่เป็นธรรม เพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้อื่น ให้ถือว่าผู้นั้นแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วย หรือเพิ่มเติมว่า ผู้ที่เป็นธุระจัดหา ซื้อขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยัง หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย ใช้จ้างวาน จัดให้หรือรับไว้ ซึ่งเด็กที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี ให้ทำงานหรือให้บริการที่อาจจะเป็นอันตรายร้ายแรงทั้งต่อร่างกาย จิตใจ การเจริญเติบโต หรือการพัฒนาการของบุคคลนั้น ให้ถือว่าเป็นการกระทำความผิดฐานค้ามนุษยด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบกระทรวงมหาดไทยเสนอให้ทั้งเหยื่อและพยานจากการค้ามนุษย์สามารถอยู่ในราชอาณาจักรไทยได้นานขึ้น จาก 6 เดือนเป็น 1 ปี และขอขยายเวลาได้อีก 1 ปี ทั้งนี้ เพื่อให้สะดวกต่อการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์

“มติ ครม. ทั้งสองวาระดังกล่าว มีเพื่อรองรับการที่สหภาพยุโรป (EU) จะเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยในอนาคต” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

บูรณาการ “ฐานข้อมูล” ภาครัฐ อำนวยความสะดวกประชาชน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ทั้งนี้เพื่อลดอุปสรรคในการติดต่อราชการของประชาชน โดยเฉพาะการขอเอกสารที่ส่วนราชการมีอยู่แล้ว ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประชาชน โดยให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

  • ให้สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง มท. เป็นหน่วยงานกลางในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลประชาชนของส่วนราชการ (Population Information Linkage Center) และทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการข้อมูล ตามที่ส่วนราชการร้องขอ
  • ให้หน่วยงานอื่นๆ จัดทำฐานข้อมูลโดยใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เป็นดัชนีในการจัดเก็บข้อมูลและมีหน้าที่ปรับปรุงฐานข้อมูลให้ครบถ้วน ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน
  • ให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ให้บริการประชาชนปรับปรุงระบบการบริการประชาชนเพื่อรองรับการใช้บัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card)
  • เชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์กับสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เพื่อเรียกใช้ข้อมูลในการให้บริการประชาชนจากระบบฐานข้อมูลประชาชนของหน่วยงานต่างๆ ผ่านระบบคอมพิวเตอร์

ตั้ง “ธีธัช สุขสะอาด” เป็นผู้ว่าฯ กยท. คนแรก

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติแต่งตั้งให้นายธีธัช สุขสะอาด ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) คนแรก โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในอัตราเดือนละ 113,520 บาท ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้าง

นอกจากนี้ ยังมีมติแต่งตั้งกรรมการการไฟฟ้านครหลวง (บอร์ด กฟน.) จำนวน 2 ตำแหน่ง ประกอบด้วย 1. นายกฤษฎา บุญราช เป็นประธานบอร์ด กฟน. แทน พล.อ. พิรุณ แผ้วพลสง ที่อายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ และ 2. นายมนัส แจ่มเวหา เป็นบอร์ด กฟน. แทนนายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ลาออก ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2559 เป็นต้นไป

เว้นค่าขึ้นทางด่วน 2 สาย ช่วงสงกรานต์

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด พ.ศ. …. เพื่อยกเว้นการเสียค่าผ่านทางทางหลวงทั้ง 2 สายดังกล่าวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9-17 เมษายน 2559 เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับภูมิลำเนาของประชาชน