ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธนาคารโลกคาดปี 2559 หวั่นตลาดเกิดใหม่ฉุดการเติบโตเศรษฐกิจโลก

ธนาคารโลกคาดปี 2559 หวั่นตลาดเกิดใหม่ฉุดการเติบโตเศรษฐกิจโลก

7 มกราคม 2016


เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2559 – รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของธนาคารโลก พบว่าการที่ประเทศหลักในกลุ่มตลาดเกิดใหม่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2559 อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะช่วยพยุงให้เศรษฐกิจโลกเติบโตที่ร้อยละ 2.9 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.4 ในปี 2558 เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

รายงานฉบับนี้ยังพบว่า การที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญหลายประเทศยังคงมีเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดความกังวลในการบรรลุเป้าหมายการลดความยากจนและกระจายความมั่งคั่ง เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกตลอดทศวรรษที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เติบโตขึ้นและยังมีส่วนช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจนซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จ

นายจิม ยอง คิม ประธานกลุ่มธนาคารโลกกล่าวว่า“คนยากจนมากกว่าร้อยละ 40 อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีเศรษฐกิจซบเซาตลอดปี 2558 ที่ผ่านมา ประเทศกำลังพัฒนาควรมุ่งเน้นการสร้างความพร้อมในการรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และคุ้มครองกลุ่มคนที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ การดำเนินการจากการปฏิรูปไปจนถึงการบริหารจัดการที่ดีและการสร้างบรรยากาศในการประกอบธุรกิจจะมีประโยชน์อย่างมาก และสามารถช่วยทดแทนผลกระทบจากการชะลอตัวของประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่”

การเติบโตของเศรษฐกิจโลกต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในปี 2558 เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ การค้าและเงินทุนหมุนเวียนน้อยลง ตลอดจนความผันผวนของตลาดการเงินที่ส่งผลลบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลก การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งในอนาคตนั้น ขึ้นอยู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของประเทศที่มีรายได้สูง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีเสถียรภาพ และการที่ประเทศจีนสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศที่พึ่งพิงการเติบโตจากการบริโภคและการบริการภายในประเทศ

เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 4.8 ในปี 2559 น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า แต่ยังสูงกว่าช่วงหลังวิกฤติในปี 2558 ที่เศรษฐกิจเติบโตร้อยละ 4.3 โดยประมาณการว่าเศรษฐกิจของจีนจะยังคงชะลอตัว ขณะที่เศรษฐกิจของรัสเซียและบราซิลจะยังคงอยู่ในภาวะถดถอยภายในปี 2559 ในภูมิภาคเอเชียใต้คาดว่าอินเดียจะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจสดใส นอกจากนี้การเจรจากรอบความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) จะสามารถช่วยกระตุ้นการค้าระหว่างประเทศได้

นายคาซิค บาซู รองประธานและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกลุ่มธนาคารโลกกล่าวว่า “เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่มีรูปแบบที่หลากหลายมาก ความเสี่ยงยังคงเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับหกเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงที่เศรษฐกิจของประเทศหลักในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ จะชะลอตัวลงอย่างไร้แบบแผน การผสานนโยบายด้านการคลังและนโยบายของธนาคารแห่งชาติเข้าด้วยกันจะช่วยลดผลกระทบและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจได้”

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะเกิดขึ้นได้ยาก แต่หากเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เกิดการชะลอตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ จะทำให้มีผลกระทบต่อตลาดโลก โดยความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง คือความตึงเครียดด้านการเงินในการดำเนินนโยบายแบบหดตัวของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา และความเครียดจากภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่นายอาญาณ โคส ผู้อำนวยการกลุ่มแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของกลุ่มธนาคารโลกกล่าวว่า “การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการลดความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่อ่อนแออย่างต่อเนื่องของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ได้ รวมทั้งความเสี่ยงด้านความโกลาหลทางการเงินในยุคที่ค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมสูงขึ้นนั้น จะยังคงอยู่”

ตลาดหุ้นจีนในสัปดาห์แรกของปี 2559 ที่มาภาพ : http://static.independent.co.uk/s3fs-public/styles/story_large/public/thumbnails/image/2015/12/27/22/47-China-stock-market-EPA.jpg
ตลาดหุ้นจีนในสัปดาห์แรกของปี 2559 ที่มาภาพ : http://static.independent.co.uk/s3fs-public/styles/story_large/public/thumbnails/image/2015/12/27/22/47-China-stock-market-EPA.jpg

แนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาค

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ภูมิภาคนี้คาดว่าเศรษฐกิจจะยังคงชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.3 ในปี 2559 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 6.4 เมื่อปี 2558 โดยคาดว่าปี 2559 เศรษฐกิจของจีนจะเติบโตที่ร้อยละ 6.7 ลดลงจากปี 2558 ที่ร้อยละ 6.9 ทั้งนี้ หากไม่นับรวมจีนแล้ว ในปี 2558 เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ จะเติบโตที่ร้อยละ 4.6 ซึ่งไม่แตกต่างจากปี 2557 เท่าใดนัก เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ได้แก่ อินโดนีเซีย และมาเลเซียลดตัวลง แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของเวียดนามและเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของไทยช่วยให้เศรษฐกิจในภูมิภาคยังคงไปได้ ความเสี่ยงสำหรับปี 2559 ประกอบไปด้วย เศรษฐกิจจีนชะลอตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ความเป็นไปได้ในการเกิดความปั่นป่วนในตลาดเงิน และตลาดการเงินเกิดสภาวะตึงตัวอย่างกะทันหัน

ยุโรปและเอเชียกลาง การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3 ในปี 2559 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ร้อยละ 2.1 ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำมันลดลงอย่างช้าๆ หรือคงที่ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหพันธรัฐรัสเซีย และยูเครน ประมาณการว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในรัสเซียจะหดตัวลงอีกร้อยละ 0.7 ในปี 2559 หลังจากที่หดตัวไปร้อยละ 3.8 ในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศในฝั่งตะวันออกของภูมิภาคได้แก่ ยุโรปตะวันออก คอเคซัสตอนใต้ และเอเชียกลางจะกลับมาเติบโตระดับปานกลางหากราคาสินค้าโภคภัณฑ์กลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง ในขณะที่ทางฝั่งตะวันตกของภูมิภาค ได้แก่ บัลกาเรีย โรมาเนีย ตุรกี และบอลข่านตะวันตกควรจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับปานกลางในปีพ.ศ. 2559 โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยุโรป

ละตินอเมริกาและแคริบเบียน ภูมิภาคนี้คาดว่าจะฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในปี 2559 นี้ หลังจากที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวลงร้อยละ 0.9 ในปี 2558 ที่ผ่านมา เนื่องจากภูมิภาคนี้ต้องเผชิญกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำและความท้าทายของเศรษฐกิจในประเทศซึ่งส่งผลต่อประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ประเทศในอนุภูมิภาคนี้มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ โดยประเทศกำลังพัฒนาในอเมริกากลางและอเมริกาเหนือและแคริบเบียนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งกว่าสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอในอเมริกาใต้ โดยบราซิลจะยังคงประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่องไปในปี 2559 แต่จะสามารถฟื้นตัวได้ภายในปี 2560 สำหรับเม็กซิโก แม้ว่าราคาน้ำมันจะต่ำลงและแรงกดดันทางการคลังที่เกี่ยวข้องจะเป็นปัจจัยลบ แต่คาดว่าเศรษฐกิจของเม็กซิโกจะกระเตื้องขึ้น ซึ่งเป็นผลจากนโยบายปฏิรูปโครงสร้างและการสร้างความแข็งแกร่งในอุปสงค์จากตลาดสหรัฐ

ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5.1 ในปี 2559 เร่งขึ้นจากเดิมที่ร้อยละ 2.5 ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะมีการยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ซึ่งจะทำให้อิหร่านมีบทบาทมากขึ้นในตลาดพลังงานโลก นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอื่นๆ จะดีขึ้นด้วย โดยมีสมมติฐานว่าราคาน้ำมันจะมีเสถียรภาพ ภูมิภาคนี้มีความเสี่ยงอย่างรุนแรงจากการยกระดับความขัดแย้ง ราคาน้ำมันตกต่ำลง ความล้มเหลวในการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งประเด็นเหล่านี้สามารถนำไปสู่ความไม่สงบในสังคมได้

เอเชียใต้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มสดใส โดยจะมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 7.3 ในปี 2559 จากเดิมร้อยละ 7 ในปีที่ผ่านมา ภูมิภาคนี้เป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิและจะได้ประโยชน์จากการที่ราคาพลังงานโลกลดลง และการที่ภูมิภาคนี้มีการเชื่อมโยงในระดับโลกน้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ ทำให้ปลอดภัยจากความผันผวนทางเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ในปี 2559-2560 อินเดียจะเป็นประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้โดยคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 7.8 และการเติบโตทางเศรษฐกิจของปากีสถาน (ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านค่าใช้จ่าย) จะเติบโตขึ้นเป็นร้อยละ 4.5
แอฟริกาใต้ซาฮารา ภูมิภาคนี้คาดว่าจะเศรษฐกิจจะเติบโดขึ้นถึงร้อยละ 4.2 ในปี 2559 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.4 เมื่อปี 2558 เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีเสถียรภาพ กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความหลากหลายทั่วทั้งภูมิภาค ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันจะมีการบริโภคในประเทศต่ำเนื่องจากค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงมีสูงขึ้น ในขณะที่ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันมีอัตราเงินเฟ้อต่ำลงซึ่งส่งผลดีต่อการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคในประเทศ คาดการณ์ว่าไนจีเรียจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 4.6 หลังจากเติบโตที่ร้อยละ 3.3 เมื่อปีที่ผ่านมา ในขณะที่แอฟริกาใต้คาดว่าจะเติบโตเพียงแค่ร้อยละ 1.4 เทียบกับร้อยละ 1.3 เมื่อปีที่ผ่านมา

ดูเพิ่มเติมที่นี่