ThaiPublica > เกาะกระแส > “วิเชียร พงศธร” อดีตบอร์ด สสส. แจงวัน-เวลา ทำงาน ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนมูลนิธิที่ได้เงินสนับสนุน

“วิเชียร พงศธร” อดีตบอร์ด สสส. แจงวัน-เวลา ทำงาน ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนมูลนิธิที่ได้เงินสนับสนุน

13 มกราคม 2016


คุณวิเชียร พงศธร 2
นายวิเชียร พงศธร อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส., ประธานกรรมการ มูลนิธิเพื่อคนไทย และอดีตประธานกรรมการ มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม

จากกรณี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ปลดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 7 ราย โดยหลายฝ่ายคาดว่าเป็นผลจากประเด็นที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่ากรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิบางรายของ สสส. มีส่วนเกี่ยวข้องกับมูลนิธิที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก สสส. โดยคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3,000 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 8 ปี

ล่าสุด นายวิเชียร พงศธร อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 กรรมการที่ถูกปลดตามมาตรา 44 ได้ชี้แจงถึงบทบาทการทำงานของตนเองในฐานะประธานกรรมการ มูลนิธิเพื่อคนไทย และอดีตประธานกรรมการ มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ซึ่งเป็น 2 มูลนิธิที่ปรากฏชื่อว่าได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก สสส. โดยยืนยันว่าในเบื้องต้นทาง สสส. มีระเบียบการทำงานที่กำหนดห้ามไม่ให้กรรมการมีส่วนร่วมในการอนุมัติงบประมาณแก่โครงการที่เกี่ยวข้องหรือมีฐานะในโครงการนั้นอยู่ ซึ่งช่วยคัดกรองเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในระดับหนึ่งอยู่แล้ว

นายวิเชียรกล่าวว่า ตามกรอบเวลาของการนั่งในตำแหน่งประธานมูลนิธินวตกรรมทางสังคม และการเป็นกรรมการสสส.นั้น โดยสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขที่ นร 0505/13320 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2557 แต่งตั้งเป็นกรรมการสสส. และจดหมายมาถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2557 และตนได้ลาออกจากการเป็นประธานกรรมการมูลนิธินวตกรรมทางสังคมในวันที่ 13 สิงหาคม 2557 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ได้รับหนังสือแต่งตั้งเป็นกรรมการสสส.

ดังนั้นในส่วนมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ตนเองจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุมัติโครงการใดๆ ทั้งช่วงก่อนและหลังการรับตำแหน่ง โดยมีรายละเอียดโครงการที่ สสส. สนับสนุนเงินทุนแก่มูลนิธินวัตกรรมทางสังคมทั้งหมด เรียงตามลำดับเวลาจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

1) โครงการพัฒนาความรู้และเครื่องมือปฏิบัติการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม อนุมัติโครงการ 4 ธันวาคม 2555 สิ้นสุดโครงการ 31 ธันวาคม 2558

2) โครงการรณรงค์ขับเคลื่อนการสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ อนุมัติโครงการ 15 กันยายน 2556 สิ้นสุดโครงการ 30 กันยายน 2558

3) โครงการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการทำงานของผู้พิการนิคมอุตสาหกรรมอมตะ อนุมัติโครงการ 17 ธันวาคม 2556 สิ้นสุดโครงการ 30 พฤศจิกายน 2557

4) โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแบบครบวงจร อนุมัติโครงการ 27 กรกฎาคม 2557 สิ้นสุดโครงการ 31 สิงหาคม 2560

5) โครงการสถานีสร้างสุข อนุมัติโครงการ 24 สิงหาคม 2557 สิ้นสุดโครงการ 31 ธันวาคม 2558

ส่วนมูลนิธิเพื่อคนไทย แม้ตนเองยังนั่งเป็นประธานมูลนิธิอยู่ แต่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวกับกับการอนุมัติโครงการของมูลนิธิในฐานะกรรมการ สสส. เนื่องจากโครงการทั้งหมดของมูลนิธิที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก สสส. ได้รับการอนุมัติและดำเนินการเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้วก่อนที่ตนเองจะเข้ามารับตำแหน่ง ขณะที่หลังจากที่ตนเองรับตำแหน่ง มูลนิธิก็ไม่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนในโครงการใดๆ จาก สสส. อีก โดยมีรายละเอียดโครงการที่ สสส. สนับสนุนเงินทุนแก่มูลนิธิเพื่อคนไทยทั้งหมด เรียงตามลำดับเวลาจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

1) โครงการคนไทยขอมือหน่อย ครั้งที่ 1 วงเงินรวม 10.8 ล้านบาท เป็นวงเงินสนับสนุนจาก สสส. 4.6 ล้านบาท อนุมัติโครงการเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2556 สิ้นสุดโครงการเมื่อ 3 มีนาคม 2556

2) โครงการต่างใจไทยเดียว วงเงินรวม 3 ล้านบาท เป็นวงเงินสนับสนุนจาก สสส. 1.5 ล้านบาท อนุมัติโครงการเมื่อ 13 กรกฎาคม 2557 สิ้นสุดโครงการเมื่อ 17 กรกฎาคม 2557

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ สสส. ไม่ได้สนับสนุนเงินทุนแก่มูลนิธิเพื่อคนไทย แต่ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนให้ด้านอื่นๆ ได้แก่ โครงการคนไทยขอมือหน่อย ครั้งที่ 2 โดยจะจัดงานในวันที่ 14-17 มกราคม 2559

นายวิเชียรกล่าวถึงสาเหตุที่ลาออกจากมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมเพียงมูลนิธิเดียวว่า เนื่องจากโครงการในส่วนของมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ยังมีโครงการที่เป็นโครงการต่อเนื่องอยู่ ทำให้อาจจะมีประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนในอนาคตได้ จึงตัดสินใจลาออก ขณะที่มูลนิธิเพื่อคนไทย โครงการที่รับการสนับสนุนทั้งหมดได้อนุมัติและดำเนินการแล้วเสร็จก่อนที่จะรับตำแหน่งอยู่แล้ว ส่วนโครงการต่างๆ ในอนาคต ตามระเบียบของ สสส. ได้จำกัดไม่ให้กรรมการ สสส. ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการมามีส่วนร่วมในการอนุมัติโครงการอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหาเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนและต้องลาออกแต่อย่างใดในขณะนั้น

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความสัมพันธ์ของนายวิเชียรกับกรรมการอื่น ซึ่งอาจจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจสนับสนุนโครงการที่นายวิเชียรเคยมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ นายวิเชียรกล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะ สสส. มีระเบียบการอนุมัติโครงการในลักษณะคณะกรรมการ ไม่ใช่การตัดสินใจด้วยเสียงของกรรมการท่านใดท่านหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการแผนงานหรือคณะกรรมการชุดใหญ่ เสียงของตนเองจึงเป็นเหมือนกับการให้คำปรึกษามากกว่าจะมีผลต่อการอนุมัติโครงการโดยตรง

ทั้งนี้ ตนเองได้พูดคุยเบื้องต้นและเตรียมนัดเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงกับ พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และประธานกรรมการ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการติดต่อวันเวลาเข้าให้ข้อมูลที่ชัดเจนต่อไป

“ส่วนการเป็นกรรมการสสส. เอาจริงๆ กำลังจะลาออกจาก สสส. อยู่แล้ว แต่ถูกขอว่าให้ประชุมบอร์ดวันที่ 15 มกราคมนี้ก่อน ก็โดนปลดไปก่อน ซึ่งผมตั้งใจมาสักพักว่าจะไม่รับตำแหน่งที่ สสส. แล้ว เพราะด้วยความที่เป็นหน่วยงานของรัฐ มีกฎระเบียบเยอะแยะ มันค่อนข้างไม่คล่องตัวสำหรับความเป็นนักธุรกิจแบบผมนะ ไม่คุ้นเคยกับระบบแบบนี้ แล้วด้วยฐานะที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถช่วยงานได้อยู่แล้ว ก็ไม่เห็นความจำเป็นอะไรที่ต้องมีตำแหน่ง แล้วถามว่าการปลดนี้กระทบอะไรบ้าง จะบอกว่าไม่ได้รับการกระทบทางจิตใจเลยก็คงจะไม่ได้ ก็มีบ้าง แต่กังวลความน่าเชื่อถือและการยอมรับในการทำงานต่อไปมากกว่า จึงต้องมาชี้แจงรายละเอียด” นายวิเชียรกล่าว

นายวิเชียรกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ในฐานะกรรมการ สสส. ได้มีบทบาทเป็นกรรมการชุดต่างๆ ขององค์กรต่างๆ ถือเป็นการทำงานเพื่อส่วนรวมและมีคุณค่า จึงไม่เคยรับผลตอบแทนจากองค์กรใด ไม่ว่าในรูปแบบใด ในทุกตำแหน่ง รวมทั้งตำแหน่งต่างๆ ใน สสส. ที่นอกจากเป็นอดีตคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและเป็นกรรมการในชุดต่างๆ แล้ว ยังเป็นอดีตประธานอนุกรรมการ คณะอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Governance) ซึ่งเพิ่งมีการแต่งตั้งขึ้นใหม่ไม่ถึง 1 ปี โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้ได้ดำเนินการในโครงการสำคัญๆ ให้เกิดขึ้นกับ สสส. ได้แก่

1) การปรับปรุงและพัฒนาคู่มือจรรยาบรรณ หรือ Code of Conduct เพื่อใช้กับ สสส. และขยายผลสู่องค์กรผู้รับทุนนำไปปฏิบัติ 2) พัฒนาระบบเปิดเผยข้อมูลของ สสส. ที่ไม่จำกัดแค่งบประมาณต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถติดตามข้อมูลโครงการต่างๆ ที่ได้รับอนุมัติทุนจาก สสส. อย่างสะดวกผ่านระบบออนไลน์และแอปพลิเคชัน คาดว่าจะใช้งานได้ภายในปีนี้ 3) จัดตั้งกรรมการอิสระสามารถตรวจสอบการทำงานของ สสส. ได้ภายใต้แนวคิดของข้อตกลงด้านคุณธรรม (Integrity Pact) โดยคณะกรรมการชุดนี้ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่แล้ว เป็นต้น

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า บนความหลากหลายของการขับเคลื่อนงานภาคสังคม ทุนหรือทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ ไม่ได้มีเฉพาะเงิน แต่ยังมีทุนประเภทอื่นที่มีมูลค่ามากกว่า นั่นคือทุนมนุษย์ ที่มีความรอบรู้ความเชี่ยวชาญ สละเวลามาเป็นอาสาสมัครช่วยทำงานเพื่อสังคมโดยไม่คิดมูลค่า ที่ผ่านมางานที่ได้ขับเคลื่อนเพื่อสังคมในประเด็นต่างๆ นอกจากการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันแล้ว ยังมีปัญหาเยาวชนไปจนถึงปัญหาผู้สูงอายุ คนพิการ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เกษตรยั่งยืน และการศึกษา ฯลฯ ด้วยแหล่งทุนที่มาจากภาคเอกชนทั้งในส่วนของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ส่วนบุคคล ผู้มีจิตกุศล และพัฒนากลไกเพื่อการระดมทุนรูปแบบต่างๆ เช่น ร้านปันกัน เว็บไซต์เทใจ.คอม กองทุนรวมคนไทยใจดี (BKIND) ด้วยเป้าหมายหลักเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้ผู้คนในสังคมสามารถช่วยกันแก้ปัญหาสังคมขนาดใหญ่ได้ อันจะนำมาสู่การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย