ThaiPublica > คนในข่าว > ปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์: “เรื่องเล่าในบ้านอึ๊งภากรณ์” จากโต๊ะกับข้าวถึงผู้ว่าแบงก์ชาติ คนเป็น “พ่อ” ในสายตา “ลูก”

ปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์: “เรื่องเล่าในบ้านอึ๊งภากรณ์” จากโต๊ะกับข้าวถึงผู้ว่าแบงก์ชาติ คนเป็น “พ่อ” ในสายตา “ลูก”

16 มกราคม 2016


เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2559 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เนื่องในวาระรำลึก 100 ปี ชาตกาลของศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นครั้งที่ 10 ในหัวข้อ “เรื่องเล่าในบ้านอึ๊งภากรณ์” โดยมี  “จอน อึ๊งภากรณ์” ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ฐานะบุตรชายคนโตของศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย เป็นผู้บรรยาย และมี “ปกป้อง จันวิทย์” อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ซักถาม
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2559 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เนื่องในวาระรำลึก 100 ปี ชาตกาลของศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นครั้งที่ 10 ในหัวข้อ “เรื่องเล่าในบ้านอึ๊งภากรณ์” โดยมี  “จอน อึ๊งภากรณ์” ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ฐานะบุตรชายคนโตของศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย เป็นผู้บรรยาย และมี “ปกป้อง จันวิทย์” อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ซักถาม

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2559 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เนื่องในวาระรำลึก 100 ปี ชาตกาลของศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นครั้งที่ 10 ในหัวข้อ “เรื่องเล่าในบ้านอึ๊งภากรณ์” โดยมี  “จอน อึ๊งภากรณ์” ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ฐานะบุตรชายคนโตของศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย เป็นผู้บรรยาย และมี “ปกป้อง จันวิทย์” อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ซักถาม(ดูเพิ่มเติม “เทคโนแครตกับการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจไทย”,“จะต่อสู้กับคอร์รัปชั่นอย่างไรดี?”,ความคิด ชีวิต และจิตวิญญาณของอาจารย์ป๋วย)

ปกป้อง: อาจารย์ป๋วยตัวจริงเป็นคนอย่างไร

ในมุมมองผม อาจจะต่างจากที่คนรู้จักจากคนในสังคม คุณพ่อเป็นคนไม่ค่อยพูด อยู่ที่บ้านคุณแม่จะพูดมากกว่าเยอะ คุณพ่อจะนั่งทำงาน เวลาพักงานก็ไปเดินเล่นในสวน แต่ไม่ค่อยจะคุยเท่าไร คุณแม่เป็นคนตั้งกฎ ซึ่งกฎระเบียบที่สำคัญหนึ่งคือเวลาทานข้าวเย็นคือเวลาศักดิ์สิทธิ์ เป็นเวลาที่ครอบครัวคุยกัน ต้องทานเสร็จทุกคนจึงจะลุกจากโต๊ะได้ ส่วนใหญ่คุณแม่จะเล่าเรื่องราวของคุณพ่อให้ฟังที่โต๊ะอาหาร คุณแม่จะถามคุณพ่อว่าใช่ไหม คุณพ่อจะพยักหน้า

ปกป้อง: ฟังดูพูดน้อยมาก ทั้งที่ถ้าฟังจากผู้ใหญ่จะบอกว่าอาจารย์ป๋วยเป็นคนที่มนุษยสัมพันธ์ดี ชอบคุยกับคน

อยู่ในบ้านก็ไม่ใช่ว่าคุณพ่อไม่คุยเลย เพียงแต่พูดคุยไม่มาก และเป็นคนใจเย็น ถ้าถึงจุดเดือดจะเดือดจริงๆ คือเวลาที่ผมทะเลาะกับแม่ ผมทะเลาะกับแม่เป็นประจำ ทะเลาะไปมาก็แรงขึ้น คุณพ่อจะลุกขึ้นมา ผมก็จะรู้ว่าผมต้องหนีแล้ว บางทีคุณพ่อไปคว้าไม้มาไล่ผมรอบบ้าน

ปกป้อง: ทำไมที่บ้านอึ๊งภากรณ์ไม่มีโทรทัศน์

คุณแม่รู้สึกว่าโทรทัศน์ทำให้ลูกเสียการเรียน เสียการอ่านหนังสือ อยากให้อ่านหนังสือมากกว่า

ปกป้อง: มีอะไรที่คุณแม่ไม่ได้ให้คุณค่า ที่ต่างจากคุณแม่ไทยทั่วๆ ไป

ที่บ้านผมจะมีเพื่อนมาสูบบุหรี่กัน โตแล้วอยากสูบ ก็สูบไป แต่นั่นก็สมัยมัธยมปลาย เรื่องการเรียน อย่างที่บอก จะสอบก็ไม่บอกว่าต้องดูหนังสือ ตั้งแต่สมัยไปอยู่อังกฤษก็ให้เลือกโรงเรียนเอง ปี 2498 ตอนนั้นคุณพ่อต้องไปทำงานที่สถานทูตไทยในอังกฤษ ในฐานะที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง เป็นผู้แทนไทยในสภาดีบุกโลก คุณแม่ก็ถามผมว่าอยากไปโรงเรียนแบบไหน เขาให้เลือก 2 โรงเรียน โรงเรียนแรก สอนแบบตามธรรมเนียม ค่อนข้างดีทางวิชาการ อีกโรงเรียนแหวกแนวหน่อย ที่กินอาหารมังสวิรัติ และไม่บังคับเรียนเท่าไร ที่สำคัญไม่มีการตีเด็ก ผมก็เลือกโรงเรียนที่ไม่มีการตีเด็ก แล้วโรงเรียนที่ผมเลือกนั้นก็อยู่นอกลอนดอน ห่างไปประมาณ 50 กิโลเมตร คุณพ่อก็เลยไปซื้อบ้านอยู่แถวนั้น พวกเรานั่งใช้เวลานั่งรถเมล์ประมาณ 10 นาทีไปโรงเรียน แต่คุณพ่อต้องนั่งรถไฟใต้ดิน 1 ชั่วโมงครึ่งไปที่ทำงาน

ที่ผมประทับใจถึงทุกวันนี้ คือ เอาโรงเรียนของลูกเป็นตัวตั้ง ลูกเลือกเรียนที่ไหนก็ไปตั้งรกรากอยู่ที่นั่น

ปกป้อง: เหมือนอาจารย์จอนจะรู้จักหรือสนิทคุณพ่อผ่านสายตาของคุณแม่ คุณแม่เป็นคนดูแลหลักในบ้าน

คุณแม่เป็นคนดูแลเป็นหลัก และเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของคุณพ่อ เช่น จะบอกว่าคืนนี้คุณพ่อจะไปพูดที่สมาคมธนาคาร จะเล่าที่โต๊ะอาหารต่อหน้าคุณพ่อ

ปกป้อง: ตัวลูกๆ เอง อย่างตัวอาจารย์จอน สนิทกับอาจารย์ป๋วยไหม

สนิทครับ แต่สนิทกับคุณแม่มากกว่า ในความรู้สึกของผม ก็เหมือนกับหลายๆ ครอบครัว แต่คุณพ่อเป็นคนที่พึ่งได้มากในบางเรื่อง เช่น ครั้งหนึ่งผมต้องหาพืชแปลกๆ มาส่งเป็นการบ้าน ผมเก็บต้นหญ้าแปลกๆ แบบหนึ่งมาไว้ แล้วผมก็ไปถามคุณพ่อ คุณพ่อก็เลยเอาไปให้เพื่อนที่เป็นนักพฤกษศาสตร์ คือสามารถวอนคุณพ่อได้ทุกเรื่อง ช่วยซื้อของให้ หรือให้คุณพ่อช่วยรับหลังทำกิจกรรมเสร็จ

ปกป้อง: ถ้าอยู่ด้วยกันเวลาคุยกับอาจารย์ป๋วยโดยไม่ผ่านคุณแม่ คุยเรื่องอะไร

ที่คุยมากหน่อยอาจจะเป็นช่วงหลังเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นการแลกเปลี่ยนทางการเมือง ช่วงนั้นคุณพ่อคิดว่าผมเป็นฝ่ายซ้ายเกินไป คือได้รู้ว่าผมคบกับเพื่อนอาจารย์ สมัยนั้นมันมีกลุ่มอาจารย์ 6 สถาบัน เป็นกลุ่มที่สนับสนุนขบวนการนักศึกษา แล้วสมัยนั้นทั้งกลุ่มอาจารย์ที่ผมสังกัดอยู่ ก็สนใจแนวคิดแบบมาร์กซิสต์ ซึ่งคุณพ่อไม่เห็นด้วย สมัยนั้นคุณพ่อมีความเห็นทั้งต่อฝ่ายนักศึกษาด้วย

ปกป้อง: อาจารย์ป๋วยคิดอย่างไรกับช่วง 6 ตุลาฯ ต่างจากอาจารย์จอนอย่างไร

ก่อน 6 ตุลาฯ คุณพ่อเครียดมาก คือถูกโจมตีจากฝ่ายทหาร ฝ่าย กอ.รมน. โดยอาศัยเครื่องมือต่างๆ เครือข่ายสถานีวิทยุยานเกราะ ตั้งแต่องค์กรจัดตั้งต่างๆ กลุ่มนวพล กระทิงแดง แต่คุณพ่อจะเป็นคนที่พูดสนับสนุนประชาธิปไตยตลอด

ผมมาอ่านทีหลังที่คุณพ่อพูดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2519 เป็นการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน อาจารย์ และนักศึกษาธรรมศาสตร์ ในเรื่องที่ถูกโจมตี ถูกวิจารณ์ หาว่าเป็นคอมมิวนิสต์บ้าง เขาจะหาว่าปลุกระดมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมที่เป็นลูกชายคนโตปลุกระดมในมหาวิทยาลัยมหิดล และน้องผม ไมตรี (อึ๊งภากรณ์ บุตรชายคนกลาง) ปลุกระดมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนนั้นอาจารย์ใจ (อึ๊งภากรณ์ บุตรชายคนเล็ก) ไม่อยู่ไทย อยู่อังกฤษ

ในด้านหนึ่งมันมีกระแสเรื่องรัฐประหาร อีกด้านมันเหมือนขบวนการนิสิตนักศึกษาเองก็คิดว่าระบอบประชาธิปไตยแบบหลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 มันไม่สร้างความเท่าเทียมทางสังคม อยากเห็นสังคมแบบสังคมนิยม หรืออะไรแบบนี้ สมัยนั้นจิตวิทยาสูงนะ เขาเชิญประชาชนทั่วไปขึ้นมาด่าคุณพ่อหรือด่าคนอื่น นอกจากด่าคุณพ่อ ก็ด่าพวกพรรคประชาธิปัตย์-ฝ่ายซ้ายสมัยนั้นด้วย หาว่าทำลายสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ทำนองนี้

รัฐธรรมนูญหลัง 14 ตุลาฯ คุณพ่อเองก็มีส่วนร่าง เพราะตอนนั้นคุณพ่อเคยเป็นสมาชิกสภาสนามม้า คุณพ่อบอกว่า “มันเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่ผมทำด้วยมือ แล้วจะลบด้วยเท้า ทำไม่ได้แน่ๆ อย่างไรก็ต้องช่วยกันป้องกันรัฐธรรมนูญนี้ แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นเห็นด้วย จะให้ระบบปกครองด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยรัฐสภา เปลี่ยนไปนั้น ไม่เห็นชอบด้วยเลย ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการฝ่ายซ้าย หรือฝ่ายขวา”

 “จอน อึ๊งภากรณ์” ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
 “จอน อึ๊งภากรณ์” ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

ถ้าไปอ่านจดหมายของนายเข้ม (เย็นยิ่ง นามปากกาของอาจารย์ป๋วย ซึ่งเขียนถึงนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึงจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีไทยขณะนั้น) แล้วก็จะเห็นว่าต้องการเสรีภาพ ระบบการปกครองของประเทศคอมมิวนิสต์ใช้เสรีภาพทางเศรษฐกิจก็จริง แต่ไม่ให้เสรีภาพทางการเมือง เพราะฉะนั้น จะเป็นฟาสซิสต์หรือคอมมิวนิสต์ ก็เป็นการกำจัดเสรีภาพทั้งนั้น ผมต้องขอยืนหยัดในข้อนี้ว่า ให้รักษาเสรีภาพให้ตลอดไป ถึงแม้จะมีความยุ่งยากในสภาผู้แทนราษฎร จะมีสมาชิกที่เลว ที่ทำความปั่นป่วนยุ่งยากให้แก่เรา ผมก็คิดว่ายังเป็นลักษณะการปกครองที่เลวน้อยกว่าอย่างอื่น ผมอยากจะฝากกับนักศึกษาที่ยังเป็นหนุ่มๆ สาวๆ จงตระหนักถึงเรื่องภัยที่จะเกิดจากการคุกคามเสรีภาพและระบอบประชาธิปไตย ขอให้พยายามรักษาเรื่องนี้ เพราะว่าจะเป็นอันเดียวที่จะทำให้เกิดเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ความยุติธรรมในสังคมได้ ถ้าขาดเสรีภาพแล้ว ความยุติธรรมในสังคม ในทางกระจายอำนาจ ผมว่าจะสลายไป

ผมคิดว่าสิ่งที่คุณพ่อจะสะท้อนตลอดก็คือ คุณพ่อเชื่อในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ไม่เห็นด้วยกับระบอบการปกครองแบบสังคมคมนิยมแบบจีนหรือรัสเซีย และไม่ได้เห็นด้วยกับระบบเผด็จการใดๆ รวมถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ คุณพ่อถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก คุณพ่อพูดหลายเรื่อง มีเรื่องหนึ่งที่พูดถึงในตอนบันทึกเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็พูดคล้ายๆ กัน ผมขออ่านที่คุณพ่อเขียนหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา พูดถึงยุครัฐประหารหลัง 6 ตุลา คุณพ่อพูดถึงว่าอะไรเกิดขึ้น เมื่อถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ เมื่อระบอบประชาธิปไตยไม่มีแล้ว

“เมื่อกรรมกรไม่มีสิทธิ์โต้แย้งกับนายจ้าง เมื่อการพัฒนาชนบทแต่ละชนิดเป็นการปลุกระดมมวลชน เมื่อมองว่าการปฏิรูปที่ดิน เป็นสังคมนิยม เมื่อราคาข้าวจะต้องถูกกดต่ำลง เมื่อไม่มีสภาราษฎรเป็นปากเสียงให้ราษฎร เมื่อผู้ปกครองประเทศเป็นนายทุนและขุนศึก การพัฒนาประเทศและการดำเนินงานเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ คงจะเป็นไปอย่างเดิมตามระบบที่เคยเป็นมาก่อนปี 2516 ฉะนั้น พอจะเดาได้ว่าปัญหาเศรษฐกิจของประชาชนจะมีมากขึ้นทุกที โดยช่องว่างระหว่างคนมีกับคนจนจะกว้างขึ้น ชนบทและแหล่งเสื่อมโทรมจะถูกทอดทิ้งยิ่งขึ้น ส่วนชาวกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ ที่ร่ำรวยอยู่แล้วจะรวยขึ้น ความฟุ้งเฟ้อจะมากขึ้นตาม ส่วนการปฏิรูปการศึกษา การกระจายสาธารณสุขไปสู่ชนบท การกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่น อย่างดีก็จะหยุดชะงัก ปัญหาสังคมของประเทศจะมีแต่รุนแรงขึ้น”

ปกป้อง: ในยุคก่อน 6 ตุลาฯ สังคมไทยแบ่งขั้วอย่างรุนแรง อาจารย์ป๋วยอยู่ตรงกลาง ระหว่างซ้ายจัดกับขวาจัด ตอนนั้นท่านประเมินสถานการณ์อย่างไร ห้ามนักศึกษาเพราะกังวลเรื่องอะไร แล้วอาจารย์จอนจัดการปัญหาเขาควายของอาจารย์ป๋วยอย่างไร

ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ผมไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับคุณพ่อ คนที่อยู่กับคุณพ่อคือไมตรี แต่ผมก็ไปเยี่ยมบ่อยที่ซอยอารีย์ แล้วไมตรีบอกว่าอาการของคุณพ่อก็น่าเป็นห่วง เพราะว่าคุณพ่อดื่มเยอะ เครียด กลับมาบ้านก็ดึก บางครั้งก็กลับมาอยู่ในสภาพมึนเมา น่าเป็นห่วงเรื่องการขับรถ ผมคิดว่าการโจมตีทางสื่อมวลชนทั้งเครือข่ายวิทยุ หนังสือพิมพ์ ดาวสยาม และอื่นๆ ที่เอาแนวโฆษณาชวนเชื่อของ กอ.รมน. มาโจมตีตลอดเวลา มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจคุณพ่อพอสมควร

ผมเองก็รู้สึกว่าคุณพ่อเครียดในช่วงนั้น ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่คุณพ่อไปอยู่อังกฤษ คุณพ่อดูมีกำลังและผ่อนคลาย แม้ว่าเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร แต่ดูคุณพ่อก็อยู่แบบสบายใจ คือไม่เครียดเหมือนก่อน 6 ตุลาฯ

ปกป้อง: อาจารย์ป๋วยกังวลเรื่องอะไรในตอนนั้น

ถ้าถามรายละเอียดว่าคุณพ่อคิดอย่างไร มองอย่างไร บางทีมันไม่ค่อยได้คุย คือที่แลกเปลี่ยนกับคุณพ่อ ผมจะพยายามโฆษณาชวนเชื่อให้คุณพ่อเปลี่ยนมาเป็นสังคมนิยมมากขึ้น แล้วคุณพ่อก็จะเตือนให้ผมระวัง

ปกป้อง: อาจารย์ป๋วยกับอาจารย์ปีเตอร์ (ไมตรี อึ๊งภากรณ์) จะคิดคล้ายๆ กัน แล้วอาจารย์จอนจะอยู่อีกฟากหนึ่ง ช่วงนั้นเถียงอะไรกัน

ผมจำรายละเอียดไม่ได้ ผมเถียงกับทั้งคู่ เรื่องสังคมนิยม คือผมพยายามล้างสมองคุณพ่อมากกว่า ส่วนคุณพ่อก็จะมีความต้านทานสูง คือคุณพ่อก็ยังเชื่อในระบอบประชาธิปไตย และจะบอกว่าสังคมคอมมิวนิสต์มันไม่เป็นประชาธิปไตย

ปกป้อง: สมาชิกแต่ละคนมีความคิดต่างกัน แล้วความเป็นประชาธิปไตยในครอบครัวนั้นถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร

ไม่มีใครบังคับใครว่าจะต้องคิดอย่างไร ตั้งแต่เรื่องศาสนา อย่างคุณพ่อนับถือศาสนาพุทธในเชิงปรัชญา ไม่ใช่เชิงพิธีกรรม คุณแม่เป็น agnostic คือคนที่ไม่รู้ว่าพระเจ้ามีจริงหรือไม่ แต่เชื่อว่าคนเราควรจะมีคุณธรรม ไม่ได้เชื่อเรื่องศาสนา

ผมคิดว่าจริงๆ บรรยากาศในครอบครัวเรื่องความเป็นธรรมในสังคมเป็นบรรยากาศหลัก เพราะว่าทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นคนเชื่อเรื่องความเป็นธรรมในสังคม

ปกป้อง: แล้วลูกๆ ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากอาจารย์ป๋วยและคุณแม่อย่างไร

คิดว่าได้รับอิทธิพลเรื่องความคิดทางสังคมนิยม-ประชาธิปไตย คุณแม่เป็น socialist มีความเชื่อว่าคนเราควรเท่าเทียมกัน คุณแม่มีกลุ่มเพื่อนซึ่งเป็นกลุ่มที่คุมรายได้ตัวเองไม่ให้เกินรายได้เฉลี่ยของคนอังกฤษทั้งหมด คือคุณแม่เป็นกลุ่มนักกิจกรรมที่จัดการชีวิตตัวเองให้เป็นไปตามความเชื่อ ซึ่งคุณแม่มีข้อขัดแย้งมากกับการมาอยู่ในสังคมไทย เพราะว่าหลายอย่างที่คุณแม่เชื่อทำได้ยากในทางปฏิบัติ

คุณแม่ไม่เชื่อเด็ดขาดเรื่องการมีคนรับใช้ในบ้าน เพราะเชื่อว่ามันคือการกดขี่คน แต่พอมาอยู่ในเมืองไทย คุณแม่ก็ต้องมีคนมาช่วย คุณแม่เลยให้เขาไป-กลับ มีหน้าที่ชัดเจน และให้เงินเดือนพอเหมาะ คือพยายามประนีประนอมกับหลักการตัวเองที่จะไม่มีคนรับใช้

ปกป้อง: ฟังดูคุณแม่จะเรียบง่ายสมถะ ไม่อยากข้องเกี่ยวกับคนนอกมาก แต่คุณพ่อจะมีตำแหน่งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ถึง 12 ปี

คุณพ่อเป็นคนที่เข้าสังคมเก่งมาก มีเพื่อนฝูงเยอะมาก มันก็จะขัดแย้งกัน คุณแม่ไม่ค่อยชอบให้มีคนมาหาคุณพ่อที่บ้าน ถ้าจะมาต้องนัดไว้ก่อน คือธรรมเนียมไทย คนจะมากดกริ่งเลย ยิ่งสนิทกับคุณพ่อ คุณแม่ไม่ชอบ อยากรู้ว่าใครจะมา แล้วจะมาเมื่อไร อันนี้คุณแม่เป็นจนกระทั่งคุณพ่อเสียชีวิต อยู่อังกฤษก็เหมือนกัน ใครอยู่ดีๆ จะมากดกริ่งโดยไม่นัดล่วงหน้า และถ้านัดล่วงหน้าก็จะดูว่าเป็นเพื่อนสนิทหรือเป็นคนไม่รู้จัก ผมว่าคุณพ่อกับคุณแม่ต่างกันตรงนี้ ซึ่งคุณพ่อก็เคารพการตัดสินใจของคุณแม่ แต่คุณพ่อจะไปเยี่ยมเพื่อนสนิทหรือญาติ วันเสาร์-อาทิตย์ ถ้าสนิทพอ คุณแม่จะไปด้วยทุกครั้ง แล้วจะพาลูกๆ ไปด้วย

ปกป้อง: อาจารย์จอนเคยเล่าให้ผมฟังว่าคุณแม่ไม่ค่อยมีความสุขเท่าไร สาเหตุก็เพราะเรื่องเหล่านั้น และกรณีที่มีคนอยากเอาของมาให้อาจารย์ป๋วยที่บ้าน บางทีก็โดนคุณแม่ไล่ตะเพิดไปก็มี

แต่อันนี้คุณพ่อก็เห็นด้วยนะ อย่างตอนที่คุณพ่อมีตำแหน่งเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ ก็จะมีพวกธนาคารต่างๆ เอาของขวัญมาให้ ซึ่งก็เป็นข้อตกลงระหว่างคุณพ่อกับคุณแม่อยู่แล้วว่าไม่รับ อย่างเช่นตอนนั้นน่าจะเป็นธนาคารศรีอยุธยา มารู้ว่าที่บ้านไม่มีโทรทัศน์ วันหนึ่งก็เอาโทรทัศน์หิ้วมาให้ที่บ้าน หลังจากนั้นคุณแม่ก็ไล่กลับไป

ปกป้อง: คุณแม่เองก็จะไม่ค่อยยุ่งกับงานของคุณพ่อ ไม่ค่อยออกงานด้วยกัน

ถ้าเป็นเพื่อนสนิทคุณพ่อ กลุ่มเสรีไทย คุณแม่จะไปด้วย แล้วคุณแม่ก็เริ่มจะสนิทสนมกับเพื่อนคุณพ่อ เพื่อนสนิทคุณพ่อ ผมเองก็รู้จัก เช่น พ่อของอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ (สว่าง สามโกเศศ)

ปกป้อง: คุณพ่อได้รับอิทธิพลทางความคิดอะไรจากคุณแม่

ผมแยกไม่ออก แต่คิดว่าคุณพ่อได้รับเยอะ ความคิดเรื่องความเป็นธรรมในสังคม ผมคิดว่าคุณพ่อมีมาเดิมแล้ว ประเด็นที่คุณแม่น่าจะมีอิทธิพลมากพอสมควร น่าจะเป็นเรื่องสันติวิธี คุณพ่อเลือกที่จะเป็นเสรีไทย สมัครเป็นทหารอังกฤษ ที่จะต่อสู้เพื่อกู้ประเทศกลับมาจากการปกครองของญี่ปุ่น ผมเชื่อว่าคุณแม่ไม่เห็นด้วยที่คุณพ่อไปรบอย่างนั้น และผมไม่เคยถามทั้งคุณพ่อและคุณแม่ว่าคุยกันเรื่องนี้อย่างไร

คุณแม่ไปขึ้นศาลเพราะว่าไม่ยอมเป็นกองหลัง คือสมัยนั้นผู้หญิงเองก็ถูกเกณฑ์ไปช่วยงานในกองหลัง เพื่อนคุณแม่กลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มสันติวิธี คือไม่เห็นด้วยกับประเทศอังกฤษที่เข้าร่วมสงคราม และผมจะถามคุณแม่บ่อยว่า ไม่เห็นด้วย แล้วถ้าเขามาบุกยึดประเทศจะอยู่อย่างไร คุณแม่จะพูดตลอดว่าต้องต่อต้านโดยสันติวิธี เราไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง

จอน6

ปกป้อง: แล้วเรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิทธิเสรีภาพ ความคิดของอาจารย์ป๋วยเหล่านี้มาจากไหน

คิดว่ามันมาจากบรรยากาศในครอบครัว ในกลุ่มเพื่อนเสรีไทยก็มีความเชื่อเรื่องประชาธิปไตยกันหลายคน ผมคิดว่าอย่างนั้น และเพื่อนคุณพ่อที่มีความคิดทางสังคมนิยมประชาธิปไตยก็มี คือคุณพร้อม วัชรคุปต์ และคุณพ่อก็เป็นเพื่อนกับเพื่อนสายสังคมนิยมของไทย อย่างคุณสมคิด ศรีสังคม คือผมคิดว่าไม่ใช่เฉพาะคุณแม่ แต่คุณพ่อเองก็คลุกคลีในแวดวงนักเรียนไทยในต่างประเทศที่เป็นเสรีไทยบ้าง ผมคิดว่าความเชื่อในระบอบประชาธิปไตย ความเป็นธรรมในสังคม คงมีส่วนผสมทั้งในของคุณแม่ และในส่วนของสังคมแวดล้อม ในเพื่อนฝูงของคุณพ่อ

ปกป้อง: ถ้าสรุปรวมทั้งหมด ในตัวตนของอาจารย์ป๋วย ที่ท่านเป็นอย่างที่ท่านเป็น มาจากไหน มีใครอื่นๆ อีก นอกจากคุณแม่และเพื่อนฝูง

ถามผม มันก็ไม่แฟร์เท่าไร หนึ่ง คุณพ่อเป็นคนเรียนเก่ง แล้วก็ฐานะทางบ้านก็มีปัญหา เนื่องจากคุณปู่ผมเสียตั้งแต่คุณพ่อยังเป็นเด็ก เพราะฉะนั้น การอยู่กันแบบลำบาก เศรษฐกิจก็ลำบาก แล้วคุณพ่อเป็นนักเรียนทุน ผมคิดว่านั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของความคิด สอง คุณพ่อเป็นปัญญาชน เป็นนักอ่าน คุณพ่อไปเรียนที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economics and Political Science: LSE) คงได้กระแสความคิดจากสังคม นักเขียนในอังกฤษทั้งหลาย ทั้งนักเศรษฐศาสตร์ นักสังคม อย่างเบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ หรือคนอื่นๆ ซึ่งคงจะเป็นกลุ่มเดียวกับที่คุณแม่อ่าน เพราะฉะนั้น การคุยกันระหว่างคุณพ่อคุณแม่ก็ไปด้วยกันได้ในหลายเรื่อง อันนี้เป็นการคาดเดานะ เพราะผมไม่ได้อยู่ด้วยตอนนั้น

ปกป้อง: มรดกทางความคิดของอาจารย์ป๋วยที่ทิ้งไว้ในสังคมไทยนั้นอยู่อย่างไร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของไทย มันปรับตัวอย่างไร อะไรที่ล้าสมัยไปแล้ว อะไรที่ยังมีน้ำยาอยู่ในการจัดการปัญหาใหม่ๆ ของสังคมไทย อาจารย์จอนเคยบอกว่า ชีวิตของอาจารย์ป๋วยต่อสู้กับ 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ หนึ่ง ประชาธิปไตยและเสรีภาพ สอง คอร์รัปชัน และสาม ความเป็นธรรมในสังคม อยากให้อาจารย์ขยายความหน่อย

จริงๆ อาจจะเป็น 4 เรื่องด้วยซ้ำไป ถ้าผมคิดตอนนี้ ผมว่าบทบาทสำคัญประการหนึ่งของคุณพ่อคือการพยายามสร้างระบบเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานของคุณพ่อ แต่ตลอดเวลาผมคิดว่าคุณพ่อตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมในสังคมไทย เพราะฉะนั้น การพยายามสร้างสังคมที่เป็นธรรม คุณพ่อจะเชื่อเรื่องระบบรัฐสวัสดิการ หรือสวัสดิการสังคม ผมคิดว่าได้รับอิทธิพลจากอังกฤษด้วย แล้วคุณแม่เองก็เชื่อเรื่อง welfare state อันนี้เห็นจากความคิดของคุณพ่อที่เขียนเรื่อง “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” และบทบาทคุณพ่อในเรื่องของการพัฒนาชนบท การทำงานเรื่องมูลนิธิ หรือว่าโครงการบัณฑิตอาสาสมัครก็ตาม

โครงการแม่กลองก็เป็นความคิดของคุณพ่อที่ต้องมีการพัฒนาชนบทให้เกิดความเท่าเทียมกัน หลังๆ คุณพ่อพูดถึงปัญหาเรื่องค่าจ้างของกรรมกร ปัญหาความยากจนของชาวไร่ชาวนา ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ เรื่องความเท่าเทียมเป็นเรื่องที่คุณพ่อให้ความสำคัญ หลังจากทำงานเรื่องเศรษฐกิจมานาน

ส่วนเรื่องระบอบประชาธิปไตย ผมคิดว่าคุณพ่อคิดอย่างนี้มาตลอดอยู่แล้ว ถึงผลออกมาจากการเขียนจดหมายนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึงจอมพลถนอม ตอนที่จอมพลถนอมทำรัฐประหารตัวเองเมื่อปี 2514 หลังจากร่างรัฐธรรมนูญมาเป็นสิบปี พอมีการเลือกตั้งแล้วก็มาล้มระบอบรัฐสภาของตัวเอง คุณพ่อก็คงจะเสียใจมาก ที่เขียนจดหมายฉบับนั้น แล้วก็เท่าที่ทราบ ผมคิดว่าคุณพ่อตื่นเต้นกับเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และน่าจะรู้สึกมีความหวัง คือหลัง 14  ตุลาฯ ผมเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยมหิดล พวกนักศึกษาหลายคนมาติดป้ายในนั้นว่า ดร.ป๋วยจะกลับมาจากต่างประเทศเพื่อมาเป็นนายกฯ พวกนักศึกษาจะหาว่าคุณพ่อมักใหญ่ใฝ่สูง ผมบอกกับนักศึกษาว่า ผมไม่เชื่อ ผมรู้ว่าคุณพ่อไม่ได้คิดแบบนั้น

เรื่องคอร์รัปชัน ที่สำคัญคือคุณพ่อกล้าพูด จุดเด่นของคุณพ่อคือกล้าพูด และประกาศต่อสาธารณะด้วยว่าคุณพ่อพูดกับผู้นำที่คอร์รัปชัน แต่ในขณะเดียวกัน คุณพ่อเป็นคนมองคนในแง่ดี เช่น คุณพ่อมองจอมพลถนอมเป็นคนสะอาด หวังดีต่อประเทศ แต่คุณพ่อจะไปเตือนจอมพลถนอมเรื่องจอมพลประภาส (จารุสเถียร รองนายกฯ ขณะนั้น) และ พ.อ. ณรงค์ (กิตติขจร บุตรชายจอมพลถนอม) คือมองแยกแยะ แม้เป็นเผด็จการก็มองเป็นตัวบุคคลที่แตกต่างกันไป

อย่างเช่น ถ้าเทียบกับจอมพลสฤษดิ์ (ธนะรัชต์ นายกฯ ไทย คนที่ 11) คุณพ่อก็รู้ว่าจอมพลสฤษดิ์โกง แต่คุณพ่อก็เตือน แสดงความเห็น แต่ในขณะเดียวกัน คุณพ่อก็ทำงานในฐานะข้าราชการกับจอมพลสฤษดิ์ได้ แต่ไม่ได้ทำงานในตำแหน่งเป็นนักการเมือง คือคุณพ่อจะไม่รับตำแหน่งทางการเมือง

จอน5

ปกป้อง: ความสัมพันธ์กับผู้นำรัฐบาล ซึ่งขณะนั้นก็อยู่ภายใต้เผด็จการรัฐประหาร เวลาเราพูดถึงอาจารย์ป๋วย ก็จะมีคนมองอาจารย์ป๋วยหลากหลาย บางคนก็จะมองว่า อาจารย์ป๋วยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย พูดถึงแนวคิดประชาธิปไตย แต่บางคนก็จะมองว่า แล้วอาจารย์ป๋วยทำงานกับระบอบเผด็จการตั้งนานได้อย่างไร

ตอนนั้นมันไม่มีทางเลือก ผมว่าคุณพ่อมองแยกแยะอย่างที่ผมบอก ไม่ได้ชอบระบอบเผด็จการ แต่รู้ว่าขณะนั้นต้องอยู่ในระบอบเผด็จการ แต่ก็พยายามที่จะวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะเรื่องคอร์รัปชัน คุณพ่อจะเกลียดคนที่ใช้อำนาจแบบป่าเถื่อนมาก ผมเชื่อว่าคุณพ่อที่รับกับสมัยจอมพล ป. (พิบูลสงคราม นายกฯ ไทย คนที่ 3) ไม่ค่อยได้ ที่ร้าย ที่พูดถึง พล.ต.อ. เผ่า (ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ) ว่าฆ่าคนเยอะ มีคนถูกลอบสังหารเยอะ หรือว่าในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ก็คือจอมพลสฤษดิ์ก็โกงกินเอง จอมพลประภาส แต่คุณพ่อจะมองจอมพลประภาสร้าย อาจจะร้ายกว่าจอมพลสฤษดิ์

ปกป้อง: สมัยจอมพลสฤษดิ์ก็มีการใช้อำนาจป่าเถื่อนเยอะ เช่น มาตรา 17 ที่สั่งจัดการผู้คนที่เห็นต่าง

คุณพ่อคงไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว แต่ผมคิดว่า อาจเป็นเพราะคุณพ่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเพื่อนบ้านเรา พล.อ. เนตร เขมะโยธิน ซึ่งมีความสนิทกับจอมพลสฤษดิ์ นี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง

ผมคิดว่าคุณพ่อมองจอมพลสฤษดิ์  2 ด้าน ด้านหนึ่ง ถ้าจะให้ไปพูดกับจอมพลฤษดิ์เรื่องการพัฒนาสังคมหรือพัฒนาเศรษฐกิจ จอมพลสฤษดิ์ก็ฟังหรือให้โอกาสที่จะทำ แต่ในขณะเดียวกันคุณพ่อก็รู้ ขณะที่คุณพ่ออยู่ในสภาดีบุกโลก ประเทศไทยก็ถูกกล่าวหาว่ามีการลักลอบขายดีบุก ปรากฏว่าเป็นฝีมือของจอมพลสฤษดิ์เอง และคุณพ่อก็ต้องไปแก้ไข ไปพูดกับจอมพลสฤษดิ์ แต่ผมคิดว่าที่สำคัญคุณพ่อเป็นคนตรงไปตรงมา ไม่กลัวที่จะวิพากษ์วิจารณ์ หรือที่มีโอกาสประชุม คุณพ่อมีโอกาสพูดในที่สาธารณะหรือแต่งกลอนก็จะวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่น รัฐมนตรีถือหุ้นในธนาคารหรือเป็นเจ้าของในธนาคาร เป็นต้น

ปกป้อง: ในยุคปัจจุบันมีคนที่เข้าไปรับใช้เผด็จการ และเขาก็ชอบอ้างอาจารย์ป๋วย บริบทในสมัยนั้นและสมัยนี้ต่างกันอย่างไร หรือคนอย่างอาจารย์ป๋วยที่ทำงานราชการกับระบอบตอนนั้น กับนักรับใช้เผด็จการตอนนี้ มีความเหมือนหรือต่างอย่างไร

“มันเริ่มจะเข้าความเห็นของผมนะ ซึ่งจริงๆ ถ้าคุยเรื่องคุณพ่อผมจะพยายามยึดเรื่องความคิดของคุณพ่อ ไม่อยากจะเอาความคิดตัวเองไปสวม แต่ผมคิดว่า ถ้าใครบอกว่า หากเป็นยุคปัจจุบันคุณพ่อจะรับตำแหน่งรัฐมนตรี สมมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมาตั้งเป็นรัฐมนตรีคลัง ผมเชื่อหัวชนฝาว่าไม่มีทางเลย “

ผมคิดว่า ความเชื่อคุณพ่อที่มีมาตลอดคือไม่ยอมรับระบอบเผด็จการ ไม่ได้ต้องการสนับสนุน แต่ถ้าถามว่าถ้าคุณพ่อเป็นข้าราชการภายใต้ คสช. จะลาออกจากการเป็นข้าราชการไหม ก็อาจจะไม่ใช่ อาจจะยังทำหน้าที่เดิม แต่ไม่รับตำแหน่งทางการเมือง อีกอย่างคือ ในปัจจุบัน ผมไม่เห็นว่าคนที่ไปรับใช้ คสช. นั้นได้วิพากษ์วิจารณ์ คสช. อย่างไร ไม่รู้สึกว่ามีบรรยากาศแบบนั้น ทั้งที่ข้ออ้างของการไปรับใช้เผด็จการมักเป็นว่า ที่ผมไปอยู่ตรงนั้น ผมจะไปทำให้สถานการณ์มันดีขึ้น แต่ไม่ปรากฏว่าคนที่ไปรับใช้นั้นเขาทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร แต่เรื่องนี้เป็นความเห็นผมนะ

ผมพยายามหาข้อเขียนคุณพ่อที่ว่า “ไม่ว่านักการเมืองจะเลวอย่างไร ระบอบประชาธิปไตยก็ดีกว่าระบอบเผด็จการ” หรือการที่บอกว่า “คุณไม่มีทางจะสร้างความเป็นธรรมทางสังคมได้ ภายใต้การจำกัดสิทธิเสรีภาพ” ผมก็เชื่ออย่างนั้น ผมว่า ตลอดชีวิตคุณพ่อก็เชื่ออย่างนั้น ผมคิดว่าในยุคนี้เผด็จการอยู่ได้ก็ต้องอาศัยพลเรือน และคนที่มีความชำนาญพลเรือนมาสนับสนุน มารับใช้ ถ้าไม่มีคนเหล่านั้น เผด็จการก็อยู่ยาก

ปกป้อง: ในช่วงหลัง อาจารย์ป๋วยเคยทบทวนตัวเองให้อาจารย์จอนฟังไหม ในช่วงที่ทำงานแบงค์ชาติ อะไรที่ถือว่าสำเร็จ อะไรที่ล้มเหลว อะไรที่ถ้าย้อนกลับไปแล้วอยากทำ

นี่ไม่ใช่สิ่งที่คุณพ่อจะพูดในครอบครัว ไม่ค่อยมีการแชร์เรื่องแบบนี้ จริงๆ แต่ว่าสิ่งที่แชร์คือข้อเขียนของคุณพ่อใน 6 ตุลาฯ คุณพ่อให้อ่าน แล้วผมก็รู้สึกว่าคุณพ่อความคิดก้าวหน้าขึ้น หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ คือคุณพ่อเริ่มใช้ศัพท์ซ้ายๆ เช่น ขุนศึก คือผมว่าคุณพ่อได้รับอิทธิพลจากขบวนการนักศึกษาด้วย ในขณะที่พยายามแลกเปลี่ยนกับขบวนการนักศึกษาว่าไม่เห็นด้วยกับระบอบสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ แบบพรรคคอมมิวนิสต์ไทย โดยเฉพาะเรื่องความไม่เป็นธรรมของผู้ใช้แรงงานหรือเกษตรกร ซึ่งคุณพ่อก็คงเห็นด้วยจากการทำงานพัฒนาชนบท คิดว่าบรรยากาศในยุคนั้น คุณพ่อจะรับรู้เยอะเรื่องเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานว่ายากลำบากอย่างไร

ปกป้อง: อาจารย์จอนเคยพูดในที่สาธารณะว่าโกรธคนที่เอาอาจารย์ป๋วยไปอ้างในการรับใช้เผด็จการ แต่ไม่เคยโกรธคนอย่างอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์) ที่มักวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของอาจารย์ป๋วยในระบอบสฤษดิ์เสมอ คำถามคือทำไม

ผมคิดว่าคุณพ่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ แล้วก็มีความชอบธรรมที่คุณพ่อจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ผมพูดหลายเวทีแล้วว่าผมไม่ชอบเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์คุณพ่อ อนุสาวรีย์คือการรำลึกถึงคนตายแบบตายไปแล้ว แต่ว่าอ่านหนังสือคุณพ่อ วิพากษ์วิจารณ์ บอกว่าไม่เห็นด้วยกับความคิดหรือการทำงาน อันนั้นทำให้คุณพ่อมีชีวิตอยู่ยั่งยืน และทำให้คุณพ่อถูกมองเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่น่าสนใจ มีผลงานที่อาจจะทำดีหรือเลวบ้าง อันนี้คือความจริงของมนุษย์ ผมสังเกตว่าสังคมไทยชอบบูชาคนโดยไม่รู้

เนื่องจากมันกลายเป็นธรรมเนียมยกย่องคุณพ่อ ผมจะเจอบ่อยมาก คนที่อีเมลมาด่าผม ถ้าคุณพ่อเห็นสิ่งที่ผมทำตอนนี้ คุณพ่อคงจะตายไม่หลับสนิท คือทุกคนเอาภาพคุณพ่อไปใส่ แม้แต่ในตำราเรียนก็มีพ่อผมอยู่ตอนนี้ เราอยู่ในสังคมที่เชื่ออะไรง่ายๆ ถ้าสังคมบอกว่าคนนี้น่ายกย่อง คนก็เชื่อไปหมด แต่คุณไม่ได้รู้จริงๆ ว่าเขาทำอะไร คิดอะไร ทุกคนก็วาดคุณพ่อในแบบอุดมการณ์ของเขาเอง

ดังนั้น ถ้าเขาจะชอบเผด็จการ คุณพ่อก็จะเป็นคนที่เห็นด้วย แต่อย่าเอาคุณพ่อผมมาสนับสนุนความคิดตัวเอง เอาคุณพ่อผมมาวิพากษ์วิจารณ์ดีกว่า ที่อยากให้เกิดในปีนี้มากที่สุดคือการอ่านหนังสือคุณพ่อ

ผมก็ดีใจที่มีการพิมพ์เผยแพร่มากขึ้น และต้องยอมรับว่าปีนี้เป็นการอ่านหนังสือคุณพ่อเป็นครั้งแรก คือก่อนหน้านี้ไม่ค่อยได้อ่าน เคยอ่านจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เพราะว่าสนใจ 6 ตุลาฯ อ่านแต่ไม่ได้อ่านซ้ำ แต่ปีนี้เนื่องจากมีการพิมพ์หนังสือออกมาใหม่ๆ หลายเล่ม แล้วก็บางเล่มให้ผมเขียนคำรำลึกด้วย ก็เลยได้อ่าน มีคนส่งมาให้ผมดูด้วยว่าคุณพ่อพูดอะไรก่อน 6 ตุลาฯ ก็เลยเริ่มสนใจ คือเริ่มรู้จักคุณพ่อมากขึ้นในทางความคิดก็คือในช่วงนี้

ปกป้อง: วิธีการรำลึกป๋วยที่ดีที่สุด คือการอ่าน

อ่าน และไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย

ปกป้อง: อาจารย์ทำงานเพื่อสังคมมายาวนาน อาจารย์ป๋วยพูดถึงสวัสดิการสังคม เขียนบทความ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” อยากให้อาจารย์จอนวิพากษ์ความคิดเรื่องสังคมสวัสดิการและรัฐสวัสดิการของอาจารย์ป๋วยหน่อย ภาพฝันของอาจารย์ป๋วยยังเป็นภาพที่สังคมไทยปัจจุบันยังควรฝันถึงอยู่ไหม มีอะไรที่ควรไปถึง และอะไรที่ควรไปให้ไกลกว่า ในเรื่องสวัสดิการสังคม

ตอนที่คุณพ่อเขียนจากครรภ์มารดาฯ ตอนนั้นเรายังไม่มีระบบประกันสังคม ยังไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผมคิดว่าคุณพ่อยังมองในเชิงเป็นอุดมการณ์ ถ้าผมวิจารณ์ผมจะบอกว่าคุณพ่อเน้นหนักเรื่องของงานพัฒนาชนบท เช่น การทำมูลนิธิ มันก็อาจจะดี แต่ว่าจะแก้ปัญหาจริงๆ มันอยู่ที่นโยบายระดับประเทศ

แน่นอนว่าตอนนั้นคุณพ่อก็ไม่ได้เกี่ยวข้อง และระยะหลังก็มาอยู่ในส่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหลัก ผมอาจจะตั้งคำถามว่า ในฐานะที่ทำงานด้านสวัสดิการสังคม และอยู่ในเครือข่ายรัฐสวัสดิการ สิ่งที่พบตอนนี้คือนักวิชาการที่สามารถพึ่งได้ในเรื่องของการทำอย่างไรให้พัฒนาระบบรัฐสวัสดิการในประเทศไทยมีจำกัดมาก ก็อาจจะตั้งคำถามว่า ทำไมคุณพ่อตอนนั้น ไม่ส่งคนไปเรียนทางนี้ คืออาจจะตั้งคำถามว่า คุณพ่อเอง ผลงานในเรื่องการสร้างความเป็นธรรมในสังคมยังไม่มากเท่าไร

จอน 3

ปกป้อง: ถ้าประเมินชีวิต 83 ปี ของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อะไรคือความสำเร็จ อะไรคือความล้มเหลว จุดแข็ง-จุดอ่อน

ผมคิดว่าความสำเร็จที่สุดของคุณพ่อคือการสร้างคน ทั้งในแบงก์ชาติและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ ได้มีความคิด เป็นตัวของตัวเอง และมาทำงานทางวิชาการ ผมคิดว่าคุณพ่อเองให้ความสำคัญมากที่สุดกับบทบาทในสถาบันการศึกษา เป็นความสำเร็จในสายตาผม

ส่วนความล้มเหลวในชีวิตการทำงานด้านเศรษฐกิจ คุณพ่อยังไม่สามารถจะนำความคิดเรื่องความเท่าเทียม ระบบรัฐสวัสดิการหรือสวัสดิการทางสังคม เท่าที่ผมรับรู้นะ ยังไม่มีเท่าไร