ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาล รธน. มติเอกฉันท์ “กม.ประชามติ” มาตรา 61 วรรคสอง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ – ไอลอว์ยันขัดหลักเสรีภาพ

ศาล รธน. มติเอกฉันท์ “กม.ประชามติ” มาตรา 61 วรรคสอง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ – ไอลอว์ยันขัดหลักเสรีภาพ

30 มิถุนายน 2016


เอกสารประชาสัมพันธ์ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่คำวินิจฉัยขององค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง มีเนื้อหาที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ
เอกสารประชาสัมพันธ์ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่คำวินิจฉัยขององค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง มีเนื้อหาที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2559 เวลา 13.30 น. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (ศาล รธน.) องค์คณะศาล รธน. ได้นัดพิจารณาและลงมติในคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งมาให้พิจารณาวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติ) มาตรา 61 วรรคสอง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 4 หรือไม่

ทั้งนี้ องค์คณะศาล รธน. ได้ประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องดังกล่าวนานถึง 2 ชั่วโมง ก่อนจะเผยแพร่มติผ่านทางเอกสารประชาสัมพันธ์ของสำนักงานศาล รธน. ซึ่งมีสาระสำคัญเพียง 4 บรรทัด มีใจความว่า “ศาล รธน. โดยมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2557 มาตรา 4 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2557”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มาของคำร้องดังกล่าวเกิดขึ้นจากกรณีที่มีประชาชนกลุ่มหนึ่ง นำโดยนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) มายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาล รธน. พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสองและวรรคสี่ เนื่องจากเห็นว่ามีเนื้อหาที่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2557 มาตรา 4 จึงเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ไม่ได้ (ดูคำร้องของนายจอนและคณะฉบับเต็ม)

โดยที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ส่งเรื่องดังกล่าวไปให้ศาล รธน. พิจารณาวินิจฉัยเฉพาะ พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง “เนื่องจากมีเนื้อหาไม่ชัดเจน คลุมเครือ อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนจนไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นต่อเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. ที่จะมีการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 และอาจมีการใช้เนื้อหาดังกล่าวไปดำเนินการกับประชาชนได้” ส่วนกรณี พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสี่ ให้คำร้องตกไป

พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง ที่คณะผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่า มีเนื้อหาไม่ชัดเจน คลุมเครือ อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสน
พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง ที่คณะผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่ามีเนื้อหาไม่ชัดเจน คลุมเครือ อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสน

สำหรับ พ.ร.บ.ประชามติ ได้รับการยกร่างขึ้นโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อมาใช้ในการกำกับดูแลการควบคุมการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ โดยผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 15 มีนาคม 2559 ก่อนเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา โดยที่ประชุม สนช. เห็นชอบวาระแรกในวันที่ 18 มีนาคม 2559 และมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.วิสามัญ) จำนวน 21 คน โดยมี พล.อ. สมเจตน์ บุญถนอม เป็นประธาน ขึ้นมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเนื้อหา แต่ กมธ.วิสามัญไม่ได้แตะต้อง พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง แม้แต่ตัวอักษรเดียว ยึดตามที่ ครม. เห็นชอบตามที่ กกต. และกฤษฎีกาฯ ยกร่างขึ้นมา ก่อนจะส่งกลับไปให้ที่ประชุม สนช. เห็นชอบในวาระสองและวาระสาม ในวันที่ 7 เมษายน 2559 และถูกบังคับใช้เป็นกฎหมาย หลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บทบัญญัติใน พ.ร.บ.ประชามติ โดยเฉพาะมาตรา 61 วรรคสอง สร้างปัญหาในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่จะมีการลงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความกำกวมและผู้มีอำนาจตีความไม่ตรงกัน สร้างความสับสนในหมู่ประชาชน จนหลายคนไม่กล้าออกมาแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฯ เพราะเกรงว่าจะทำผิดกฎหมาย(ดูความแตกต่างของบรรยากาศการรณรงค์ก่อนทำประชามติ เทียบระหว่างกรณี Brexit ของอังกฤษ และร่างรัฐธรรมนูญฯ ของไทย)

อย่างไรก็ตาม เมื่อคำวินิจฉัยของศาล รธน. ออกมาเช่นนี้ จะทำให้ พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง มีผลบังคับใช้ต่อไป

ไอลอว์ ยืนยัน พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 ขัดหลักเสรีภาพ

iLawConfirm

ด้านไอลอว์ออกแถลงข่าวว่าเนื่องจากขณะนี้เรายังไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงในคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ในประเด็นนี้ เราทราบเพียงผลคำวินิจฉัยจากข่าวประชาสัมพันธ์ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี 2557

ไอลอว์ขอยืนยันตามที่ได้ยื่นคำร้องไปแล้วว่า พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติห้ามการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมีอัตราโทษจำคุกสูงถึง 10 ปีนั้น เป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักเสรีภาพการแสดงออกซึ่งเป็นหลักการที่อยู่คู่กับการเมืองการปกครองไทยมาทุกยุคสมัยและเป็นหลักการพื้นฐานที่มนุษยชาติยอมรับกันโดยทั่วไป

การที่มาตรา 61 วรรคสอง บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิดโดยใช้ถ้อยคำที่กว้างและคลุมเครือ เช่น คำว่า “รุนแรง” “ก้าวร้าว” “ปลุกระดม” ซึ่งเป็นคำที่ไม่เคยมีนิยามอยู่ในกฎหมายฉบับใดมาก่อน ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการแสดงออกอย่างใดจะผิดกฎหมายหรือไม่ ขัดต่อหลักการของกฎหมายอาญาที่ต้องชัดเจนแน่นอน ส่วนการแสดงออกด้วยถ้อยคำที่ “หยาบคาย” นั้น ตามปกติแล้วแม้จะเป็นสิ่งที่ไม่สมควร แต่ก็ไม่ใช่การกระทำที่ต้องมีโทษทางกฎหมาย ขณะที่บทกำหนดโทษของความผิดตามมาตรา 61 วรรคสอง ก็เป็นโทษที่รุนแรงเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำที่เป็นเพียงแค่การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสงบ อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีนั้น เทียบได้กับความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท หรือฐานทำให้หญิงแท้งลูกและถึงแก่ความตาย การบัญญัติมาตรา 61 วรรคสองเช่นนี้ จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินขอบเขต โดยไม่มีเหตุอันสมควร

“เราเห็นว่า บรรยากาศการพูดคุยเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ และการทำประชามติทุกวันนี้เป็นไปอย่างเงียบเหงาผิดปกติ ทั้งที่ใกล้ถึงเวลาลงประชามติแล้ว โดยที่ประชาชนที่มีความคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห้นด้วยต่างไม่กล้าแสดงออก ถกเถียง หรือทำกิจกรรม ดังที่มีตัวอย่าง การจับกุมดำเนินคดีกับนักกิจกรรมที่แจกเอกสารแสดงเหตุผลไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ และมีผู้ถูกคุมขังอยู่อย่างน้อย 7 คนในปัจจุบัน บรรยากาศเช่นนี้ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการทำประชามติที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 และมีแต่จะทำให้ผลการลงประชามติไม่เป็นที่ยอมรับทั้งโดยประชาชนชาวไทยและประชาคมโลก”

“เราไม่มีความประสงค์จะสร้างความไม่สงบเรียบร้อยในการทำประชามติ และไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองจนนำไปสู่ความรุนแรง แต่เรายืนยันที่จะทำกิจกรรมทางสังคมและใช้ช่องทางตามกฎหมายทุกวิถีทางที่มีอยู่ต่อไป เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการจัดทำประชามติได้อย่างเสรี เพื่อให้การจัดทำประชามติที่จะเกิดขึ้นสามารถสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้อย่างแท้จริง”

ในระหว่างที่พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 ยังไม่ถูกยกเลิกโดยศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยังเป็นไปได้ที่บรรยากาศการทำประชามติจะดีขึ้น หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง คสช. และ กกต. เปิดให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและทำกิจกรรมรณรงค์ได้อย่างเต็มที่ ไม่บังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีความชอบธรรม ยกเลิกการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทุกรูปแบบ เลิกจับกุมประชาชนจากการแสดงความคิดเห็น ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังและยุติการดำเนินคดีที่กำลังเกิดขึ้นด้วย