ThaiPublica > เกาะกระแส > ญี่ปุ่นร่วมลงทุนโครงการทวาย หนุนใช้เงินสกุล “บาท-จ๊าด” เฟสแรกวงเงิน 400,000 ล้าน

ญี่ปุ่นร่วมลงทุนโครงการทวาย หนุนใช้เงินสกุล “บาท-จ๊าด” เฟสแรกวงเงิน 400,000 ล้าน

15 ธันวาคม 2015


jhc5_1
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (กลาง) รองนายกรัฐมนตรี, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ (ซ้าย) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายปรเมธี วิมลศิริ (ขวา) เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2558 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงหลังจากการประชุมคณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างเมียนมาและไทย เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 5 (JHC 5th) ว่า การประชุมครั้งนี้มีความคืบหน้าที่สำคัญ 2 ประการ 1) ประเทศญี่ปุ่น โดยธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JBIC) ได้ตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนในบริษัทนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) คือบริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ในสัดส่วนเท่ากับไทยและเมียนมา ฝ่ายละ 6 ล้านบาท รวม 18 ล้านบาท เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหลักให้กับคณะกรรมการบริหารโครงการเขตเศรษฐกิจทวาย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประเทศเมียนมาในด้านการลงทุน 2) ที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้สกุลเงินบาทไทยและจ๊าดเมียนมา เป็นสกุลเงินที่สามารถลงทุนในโครงการต่างๆ ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน

“ทวายเป็นโครงการที่เมียนมาเอาจริงเอาจังและให้ความสำคัญสูงมาก เพราะโครงการนี้ไม่เพียงก่อประโยชน์แก่เมียนมา แต่จะก่อประโยชน์ให้กับประเทศในย่านนี้ทั้งหมด สินค้าที่ผลิตในแถบนี้สามารถส่งออกไปในทะเลอีกด้านหนึ่งได้ทันที โดยเฉพาะที่สามารถเชื่อมต่อไทย กลายเป็น east-west corridor ได้ จึงเป็นโครงการสำคัญและลงทุนสูง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะเป็นคนลงทุน คือ รัฐบาล 3 ฝ่ายจะทำหน้าที่บริหารและจะให้เอกชนเข้ามาลงทุนมากกว่า จริงๆ โครงการทวาย แต่ไหนแต่ไรเมียนมากังวล เพราะห่วงว่าญี่ปุ่นจะเข้ามาร่วมหรือไม่ ฉะนั้น จุดเริ่มต้นจึงทำเป็น 2 ระยะ ระยะแรก ทำโครงการขนาดเล็ก ถนน 2 เลน โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ทุกอย่างเล็กไปหมด แต่พอวันนี้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมด้วย ทำให้โครงการทวายลักษณะ full scale เป็นจริงขึ้นมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น ท่าเรือน้ำลึก อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พวกนี้จะช่วยให้เกิดการพัฒนาในเมียนมาได้” ดร.สมคิดกล่าว

jhc5_4

สำหรับรายละเอียดของการร่วมทุนในบริษัทนิติบุคคลเฉพาะกิจ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ญี่ปุ่นจะมีฐานะเป็นสมาชิกเต็ม (full member) และมีที่นั่งในบริษัท 3 ที่นั่งเท่ากับไทยและเมียนมา รวมทั้งหมด 9 คน โดยบริษัทจะมีบทบาท 3 ประการ คือ

1) บริหารโครงการต่างๆ โดยบริษัทจะเป็นผู้ถือสัญญาโครงการต่างๆ ที่ได้รับจากรัฐบาลเมียนมาผ่านคณะกรรมการบริหารโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (DSEZMC)

2) ลงทุนโครงการต่างๆ โดยบริษัทฯ สามารถเข้าไปร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและนิคมอุตสาหกรรมเอง ไม่ว่าจะเป็นถนน ท่าเรือ โรงไฟฟ้า เขื่อน หรืออาจจะให้ทางเอกชนเข้ามาลงทุนแทนทั้งหมดก็ได้ ซึ่งต้องตกลงเป็นรายโครงการต่อไป

3) วางแผนแม่บทการพัฒนาของโครงการโดยรวม ซึ่งปัจจุบันได้จัดทำแล้วเสร็จ โดยสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ NEDA ได้ว่าจ้าง Roland Berger เป็นที่ปรึกษา และที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบแผนแม่บทในการประชุมครั้งนี้แล้ว แต่เมื่อญี่ปุ่นได้เข้าร่วมลงทุนจึงจะต้องทบทวนแผนแม่บทกันอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงต้นปี 2559

ส่วนความร่วมมือการใช้สกุลเงินบาทไทยและจ๊าดเมียนมา นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า ในระยะแรกจะเป็นเรื่องการอำนวยความสะดวกของการค้าและการลงทุนที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกลางของเมียนมาได้หารือและคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ขณะที่ระยะต่อไปอาจจะขยายความร่วมมืออื่นๆ เช่น เรื่องกลไก swap เงินบาทและจ๊าด ซึ่งจะช่วยเรื่องสภาพคล่องของโครงการได้ เป็นต้น

“สมคิด” มั่นใจ ลุยเฟสต่อไปทันที

ดร.สมคิดกล่าวต่อไปถึงเรื่องหลังจากที่ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนแล้วว่า ตนได้เสนอที่ประชุมให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการวางแผนร่วมในโครงการระยะสมบูรณ์ เพื่อร่วมกันวางแผนว่าจะทำโครงการอะไรบ้าง แยกออกจากโครงการในระยะแรก ซึ่งมีแผนงานและกำลังดำเนินการอยู่แล้ว เพื่อให้โครงการในระยะสมบูรณ์เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและสอดคล้องกันทั้งหมด อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของโครงการในระยะสมบูรณ์ จะต้องรอการประชุมครั้งถัดไปในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2559 เนื่องจากต้องรอให้ทางเมียนมามีรัฐบาลใหม่เสียก่อน

ด้านนายปรเมธี กล่าวเพิ่มเติมถึงการลงทุนในระยะสมบูรณ์ ว่าจะมีพื้นที่ 169 ตารางกิโลเมตร เทียบกับโครงการระยะแรกที่ 27 ตารางกิโลเมตร โดยจะเป็นการลงทุนในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่, ลงทุนในอุตสาหกรรมหนัก เช่น เหล็ก, ปุ๋ยเคมี, มีการลงทุนถนน 4 เลน, มีทางรถไฟเชื่อมไปยังท่าเรือน้ำลึกทวาย ขณะที่มูลค่าการลงทุนระยะสมบูรณ์ยังคงต้องรอการประชุมตกลงในรายละเอียดต่อไป เทียบกับมูลค่าการลงทุนในระยะแรกที่ประมาณ 400,000 ล้านบาท

“เรื่องกระบวนการลงทุนในระยะสมบูรณ์ ทางบริษัท SPV ที่ตั้งขึ้นมาจะเข้ามาดูเรื่องของการบริหารโครงการ แต่พอเข้าไปสู่ขั้นลงทุนจะมีรัฐลงทุน เอกชนลงทุน สัดส่วนอย่างไร จะประมูลอย่างไร ค่อยว่ากันอีกที แล้วแต่ในอนาคต แล้วแต่โครงการ แต่ตอนนี้จะต้องทำมาช่วยทำแผน มาขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ให้ได้ ซึ่งแต่ก่อนเป็น 2 ประเทศ แต่ตอนนี้เป็น 3 ประเทศแล้ว” นายปรเมธีกล่าว

jhc5_3

โครงการระยะแรกคืบหน้าตามกำหนด

ขณะที่ความคืบหน้าของโครงการระยะแรก นายอาคมกล่าวว่ายังเป็นไปตามกำหนดการและคาดว่าจะเริ่มลงทุนได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดยคณะกรรมการบริหารโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (DSEZMC) ในฐานะเจ้าของสัมปทานโครงการของประเทศเมียนมา และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัทผู้พัฒนา ในฐานะผู้รับสัมปทาน ยังอยู่ระหว่างปฏิบัติตามเงื่อนไขตามสัญญาสัมปทานโรงการระยะแรก ซึ่งกำหนดให้ต้องเริ่มโครงการในระยะเวลา 7 เดือน ภายหลังการลงนามเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 และมีอายุรวมของสัมปทาน 5 ปี

ตัวอย่างเช่น เจรจาหาข้อสรุปข้อตกลงสัมปทานสถานีรับก๊าซ LNG เพื่อการผลิตไฟฟ้า, จัดทำแผนการย้ายถิ่นฐานและการจ่ายค่าชดเชยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติขององค์กรระหว่างประเทศ, จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างยั่งยืน, การจัดตั้งศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (OSSC) เพื่อให้บริการแก่นักลงทุนนานาชาติในอนาคต และการเร่งออกใบอนุญาตทำเหมืองหินก่อสร้างจากรัฐบาลเมียนมา เป็นต้น

นอกจากนี้ ในส่วนของแผนแม่บทฯ ของโครงการระยะแรก ทางญี่ปุ่นได้ตั้งข้อสังเกตหลายประการ ซึ่งทางคณะกรรมการฯ จะต้องนำมาหารือเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้งหนึ่ง เช่น การก่อสร้างถนน ญี่ปุ่นเสนอให้แบ่งระยะการพัฒนาเป็น 2-3 ช่วง และอาจจะต้องปรับรูปแบบการก่อสร้างบางช่วงที่มีความชันสูงเกินไปจนเป็นอุปสรรคต่อการเดินรถบรรทุก รวมถึงอาจจะต้องปรับเส้นทางถนนโดยรวมให้สามารถเดินรถได้เร็วขึ้น, ปรับผังการใช้พื้นที่ของท่าเรือ หรือปรับแบบโครงการต่างๆ ที่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายก่อนหน้านี้เคยออกแบบไว้, เรื่องไฟฟ้าที่เบื้องต้นอาจจะต้องส่งไฟจากไทยไปใช้ในโครงการก่อน โดยต้องให้กระทรวงพลังงานไทยและเมียนมาหารือรูปแบบการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า ขณะที่ภายหลังที่สร้างโรงไฟฟ้าในโครงการเสร็จและมีกำลังการผลิตเหลืออาจจะขายไฟกลับมาที่ฝั่งไทย เป็นต้น

“เมียนมา” รับปากดูแลประชากรย้ายถิ่น

นายปรเมธีกล่าวเพิ่มเติมเรื่องการดูแลประชาชนในพื้นที่ว่า รัฐบาลเมียนมาได้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากเหมือนกับในทุกประเทศที่ต้องชดเชยเมื่อต้องมีการย้ายถิ่น โดยจะอาศัยประสบการณ์ในการทำโครงการที่ผ่านมาและแนวทางที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าสามารถดูแลได้

“เรื่องย้ายถิ่นฐานตามที่รายงานในที่ประชุม คือบอกว่าจะเอามาตรฐานสากลมาจับทั้งหมด ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของทางฝั่งรัฐบาลเมียนมาที่จะต้องเวนคืนที่ดิน ย้ายคนออก รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่มีตัวเลขรายงานมาที่ที่ประชุม” นายปรเมธีกล่าว

jhc5_2