ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์มั่นใจศก.ปีนี้ไปได้ 3.7% – อานิสงส์ “ส่งออก-ภาคเกษตร” ฟื้นตัวชัดเจน ส่งสัญญาณเอกชนลงทุนตามห่างๆ

สภาพัฒน์มั่นใจศก.ปีนี้ไปได้ 3.7% – อานิสงส์ “ส่งออก-ภาคเกษตร” ฟื้นตัวชัดเจน ส่งสัญญาณเอกชนลงทุนตามห่างๆ

21 สิงหาคม 2017


นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2560 นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 ว่าเศรษฐกิจเติบโตได้ 3.7% เร่งขึ้นจากไตรมาสแรกที่ 3.3% และทำให้ครึ่งแรกของปี 2560 เศรษฐกิจเติบโตได้ 3.5% ส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยมีปัจจัยหลักมาจากภาคส่งออกที่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่กลับมา และการเติบโตของภาคเกษตรหลังจากเผชิญภาวะภัยแล้งในปีที่ผ่านมา

ส่งออกฟื้นกลับมาโต 8%

ทั้งนี้ ภาคส่งออกของไทยในไตรมาสที่ 2 มีมูลค่า 56,145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวสูงและเร่งขึ้นจาก 6.8% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็น 8.0% ในไตรมาสนี้ ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2.9% ในไตรมาสแรก และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น 2.8%

กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ส่วนกลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น รถยนต์นั่ง เครื่องปรับอากาศ และมันสำปะหลัง

ในแง่ตลาด การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน และอาเซียนยังขยายตัว แต่การส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลียและตะวันออกกลางลดลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 9.9% เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น 4.9%

การส่งออกยังสอดคล้องกับการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 49,523 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.8% เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคานำเข้า 4.5% และปริมาณการนำเข้า 8.9% โดยปริมาณการนำเข้าสินค้าขยายตัวเร่งขึ้นในทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกและการขยายตัวต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ

“การส่งออกช่วงหลังเติบโตได้ดีกว่าที่คาดมาทุกๆ เดือน เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตัวเลขไตรมาส 2 ออกมาสูงกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้ ส่วนประเด็นค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ยังบอกว่าเศรษฐกิจโลก ส่งออกยังไปได้ในทิศทางที่ดีต่อไป ค่าเงินก็ยังไม่ได้จะเป็นปัจจัยหลักในระยะนี้ อีกด้านขึ้นอยู่กับเอกชนแต่ละแห่งด้วยว่าสามารถรับความเสี่ยงได้แค่ไหน แต่ตอนนี้ไม่ได้มีปัจจัยหรือแนวโน้มอะไรที่จะเพิ่มความเสี่ยงเข้ามาจากที่เป็นอยู่” นายปรเมธีกล่าว

ในด้านการผลิตสาขาเกษตรกรรมขยายตัวสูงและเร่งขึ้นเป็น 15.8% เทียบกับการขยายตัว 5.7% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากภัยแล้งสิ้นสุดลง โดยผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าวเปลือกนาปรัง ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ (เช่น ทุเรียน สับปะรด ลำไย มังคุด และลิ้นจี่ เป็นต้น) เช่นเดียวกับการเพิ่มขึ้นของผลผลิตหมวดปศุสัตว์และหมวดประมง (เฉพาะกุ้งขาวแวนนาไม) ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวลดลง 1.9%ตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นหลังจากภัยแล้งสิ้นสุดลงทั้งในและต่างประเทศ

โดยราคาพืชเกษตรสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด มันสำปะหลัง เช่นเดียวกับราคาหมวดปศุสัตว์และหมวดประมง (เฉพาะกุ้งขาวแวนนาไม) ที่ปรับตัวลดลง ในขณะที่ราคายางพาราและอ้อยเพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ที่ 14.6%

จับตาการลงทุนฟื้นตัวตามมาห่างๆ

นายปรเมธีกล่าวต่อไปว่า สำหรับการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องจักรหลักที่ติดตามกันมานานว่าจะฟื้นตัวเมื่อไหร่ ได้เห็นสัญญาณฟื้นตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาสที่การเติบโต 3.2% สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าทุนที่เติบโต 5.3% การที่พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างทั้งที่อยู่อาศัยและโรงงานที่เติบโตสูงถึง 16.7% และ 111% ตามลำดับ และการขอรับส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้น 7% จากที่หดตัวในไตรมาสก่อนหน้า

“ถามว่าการลงทุนจะต่อเนื่องได้หรือไม่ เพราะปรับขึ้นๆลงๆ แต่เราดูจากแนวโน้มปัจจัยพื้นฐาน เศรษฐกิจมีกำลังซื้อ การบริโภค ภาคส่งออกกำลังดี มีการก่อสร้างภาครัฐที่ขับเคลื่อนต่อเนื่อง การลงทุนเอกชนน่าจะฟื้นตัวไปต่อเนื่องได้ ส่วนการลงทุนของรัฐบาลก็จะค่อยๆ ผ่อนลงไปได้บ้าง แต่ยังไม่ถึงกับปล่อยมือ แต่ผ่อนลงเทียบจากปีที่ผ่านมาที่ลงไปเยอะกว่า” นายปรเมธีกล่าว

มั่นใจเศรษฐกิจโตถึง 3.7% แน่

นายปรเมธีกล่าวว่า สภาพัฒน์ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจทั้งปีเพิ่มขึ้นเป็น 3.5-4.0 หรือค่ากลางที่ 3.7% ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มประมาณการจากร้อยละ 3.3-3.8 หรือค่ากลางที่ 3.5% ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560

“จะถึง 4% ไหมยังไม่แน่ใจ อาจจะสุดเอื้อม แต่ 3.7% มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยทำได้แน่” นายปรเมธีกล่าว

โดยมีปัจจัยสนับสนุนได้แก่ 1) การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกตามการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก 2) การลงทุนภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 3) การขยายตัวเร่งขึ้นของสาขาการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาอุตสาหกรรม และสาขาการก่อสร้าง 4) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ครัวเรือนในภาคการเกษตร การส่งออก การท่องเที่ยว และบริการที่เกี่ยวเนื่อง

ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยเสี่ยงหลัก ได้แก่ 1) สถานการณ์อุทภภัยและภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งอาจจะทำให้การผลิตในภาคเกษตรกรรมชะลออย่างรวดเร็วและกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ในพื้นที่ 2) เศรษฐกิจโลก ราคาสินค้าในตลาดโลก การเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่อง เช่น นโยบายการลงทุนของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 5.7% การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัว 3.2% และ 3.4%ตามลำดับ(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่)

ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัว 3.7% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน หรือ 1.3% จากไตรมาสก่อน สูงกว่าที่ ธปท. ประเมินไว้ โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัวเร่งขึ้น สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้น และการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวดีกว่าที่ ธปท. ประเมินไว้

ในระยะต่อไป คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ควรติดตาม ได้แก่ ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้า และความต่อเนื่องของการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ

กำลังซื้อครัวเรือนยังอ่อนแอ-บาทแข็งค่ามากสุดในเอเชีย

ด้านอีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์หลังสภาพัฒน์รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 2 ปี 2017 ขยายตัว 3.7% YOY (เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า) หรือเติบโต 1.3% หากเทียบกับไตรมาสก่อนแบบปรับฤดูกาล ทำให้ GDP ของไทยในครึ่งปีแรกขยายตัวได้ที่ 3.5%YOY

ทางอีไอซีมองว่าการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวหนุนเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง การส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องที่ 5.2% YOY เติบโตสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี จากการขยายตัวในทุกหมวดสินค้า และเติบโตได้ดีในเกือบทุกตลาดส่งออก ยกเว้นการส่งออกรถยนต์นั่งไปยังตลาดตะวันออกกลาง ทั้งนี้ การฟื้นตัวของภาคการส่งออกได้รับแรงสนับสนุนจากทั้งปัจจัยด้านราคาและปริมาณ โดยราคาน้ำมันดิบโลกที่ยังเติบโตในไตรมาส 2 ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันเติบโตสูงถึง 27%YOY

นอกจากนี้ ภาคการผลิตโลกที่ฟื้นตัวทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมหลักจากไทย ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เติบโตตามไปด้วย ในขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่องภายหลังจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายและการกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย ส่งผลให้การส่งออกภาคบริการขยายตัวกว่า 8.8%YOY เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโตเพียง 3.2%YOY ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นกว่า 7.6%YOY ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนและรัสเซียเพิ่มขึ้น 0.1%YOY และ 19.2%YOY ตามลำดับ

การบริโภคภาคเอกชนกระจุกตัว สะท้อนกำลังซื้อโดยรวมไม่เข้มแข็ง โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ 3.0% ชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ซึ่งปัจจัยสนับสนุนหลักยังคงมาจากการบริโภคสินค้าคงทนโดยเฉพาะรถยนต์ที่ขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องที่ 13.6%YOY ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่ายรถยนต์ต่างๆ มีการออกรายการส่งเสริมการขายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคสินค้าไม่คงทนค่อนข้างทรงตัวจากไตรมาสก่อน เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้า เป็นต้น สะท้อนว่ากำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อยในประเทศยังไม่ได้ฟื้นตัวชัดเจนนัก

การลงทุนภาคเอกชนกลับมาฟื้นตัวได้เกินคาด ขณะที่การลงทุนภาครัฐหดตัว การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ 3.2%YOY โดยเป็นการขยายตัวในเกือบทุกหมวด ทั้งการลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะคอนโดมิเนียม และการก่อสร้างที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย เช่น โรงแรมและโรงพยาบาล รวมถึงการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรก็กลับมาขยายตัวได้

อย่างไรก็ตาม การลงทุนก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมยังลดลงต่อเนื่องที่ 9.1%YOY สะท้อนว่าภาคการผลิตยังไม่ได้ฟื้นตัวมากนัก ขณะที่การลงทุนภาครัฐหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ไตรมาส ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเร่งเบิกจ่ายไปในช่วงก่อนหน้านี้แล้วและไม่ได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 2 หลังมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กได้เสร็จสิ้นโครงการไปแล้ว

ทั้งนี้ทางอีไอซีปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2017 เติบโต 3.6% จากเดิมที่ 3.4% ตามมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น ซึ่งช่วยหนุนการส่งออกสินค้าให้ฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี เศรษฐกิจคู่ค้าหลักทั้ง สหรัฐฯ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน ที่มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นตลอดปี 2017 และความกังวลทางการเมืองในยุโรปที่ลดลง จะช่วยเสริมความเชื่อมั่นให้กับการค้าและการลงทุน และส่งผลต่อเนื่องถึงความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมหลักจากไทยให้ฟื้นตัวได้ต่อในช่วงที่เหลือของปี

อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงอาจทำให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องไม่สามารถขยายตัวได้สูงเทียบเท่ากับในช่วงครึ่งปีแรก อีกทั้งเงินบาทที่แข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคอาจกระทบความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาของผู้ส่งออก โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ยังคงเป็นอีกความเสี่ยงสำคัญของการค้าโลกที่ต้องติดตาม

กำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อยมีแนวโน้มอ่อนแอ หวังแรงกระตุ้นภาครัฐช่วยหนุน โดยกำลังซื้อของภาคครัวเรือนในประเทศยังค่อนข้างอ่อนแอ เห็นได้จากตัวเลขการจ้างงานในช่วงครึ่งแรกของปีหดตัวลง 0.2%YOY โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิตลดลงถึง 3%YOY แสดงให้เห็นว่าการฟื้นตัวของการส่งออกอาจไม่ได้ส่งผ่านไปสู่การจ้างงานในอุตสาหกรรมต่างๆ มากนัก เนื่องจากอุตสาหกรรมที่ได้รับผลดีจากการส่งออกส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานน้อย

ขณะเดียวกันรายได้ภาคเกษตรก็มีแนวโน้มชะลอตามราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดที่เริ่มปรับตัวลดลงจากในช่วงต้นปี เช่น ราคายาง ราคามันสำปะหลัง ราคาปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ทั้งนี้ มาตรการภาครัฐจะเข้ามาเป็นแรงสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศที่สำคัญในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งเม็ดเงินอัดฉีดจากงบกลางปี 2017 มูลค่า 1.9 แสนล้านบาทซึ่งจะกระจายสู่พื้นที่จังหวัดต่างๆ มากขึ้น และมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐที่จะเริ่มแจกจ่ายในเดือนตุลาคม

ส่วนเงินบาทแข็งค่ากว่าสกุลเงินภูมิภาคกระทบการส่งออกสินค้า โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ ความเสี่ยงสำคัญในช่วงที่เหลือของปีคือ เงินบาทที่แข็งค่ามากที่สุดในเอเชียในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจกระทบความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาของผู้ส่งออก ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าสินค้าที่ไทยส่งออกคล้ายกับกลุ่มประเทศในเอเชีย และมีตลาดส่งออกหลักเดียวกัน คือ สินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะข้าวและยางพารา โดยเงินบาทที่แข็งค่ายังมีส่วนกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในประเทศ เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในประเทศมีแนวโน้มลดต่ำลงตามส่วนต่างอัตรากำไรขั้นต้นของผู้ส่งออกที่ลดลงจากเงินบาทที่แข็งค่า ดังนั้น เงินบาทที่แข็งค่าเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรในประเทศและกำลังซื้อในประเทศในระยะต่อไปอีกด้วย