ThaiPublica > เกาะกระแส > สหกรณ์คลองจั่นแจงแผนฟื้นฟู-เตรียมพร้อมประชุมเจ้าหนี้ 18,827 ราย 21ธ.ค. นี้ – คาด 7 ปีแรกจ่ายคืนได้ปีละ 1,252 ล้านบาท

สหกรณ์คลองจั่นแจงแผนฟื้นฟู-เตรียมพร้อมประชุมเจ้าหนี้ 18,827 ราย 21ธ.ค. นี้ – คาด 7 ปีแรกจ่ายคืนได้ปีละ 1,252 ล้านบาท

16 ธันวาคม 2015


นายประกิต พิลังกาสา ประธานกรรมการบริหารลูกหนี้/ผู้ทำแผน
นายประกิต พิลังกาสา ประธานกรรมการบริหารลูกหนี้/ผู้ทำแผน

นายประกิต พิลังกาสา ประธานกรรมการบริหารลูกหนี้/ผู้ทำแผน สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเปิดเผยรายละเอียดการเตรียมประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 21 ธันวาคม 2558 เพื่อลงมติโหวตรับหรือไม่รับแผนฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ฯ คลองจั่น รวมทั้งชี้แจงฐานะการเงินและแผนฟื้นฟูกิจการว่า ตามแผนฟื้นฟูมีเจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้ทั้งสิ้น 18,827 ราย เป็นเงิน 17,556 ล้านบาท และมีทุนเรือนหุ้นอีก 4,460 ล้านบาท

ตามแผนฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ฯ คลองจั่นได้แบ่งกลุ่มเจ้าหนี้ออกเป็น 12 กลุ่ม มีแผนการชำระหนี้คืนเงินต้นทั้งหมดในเวลา 26 ปี สาเหตุที่ต้องใช้เวลานานเนื่องจากเจ้าหนี้ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ ที่นำเงินออมมาฝาก ใช้เงินส่วนนี้เพื่อยังชีพ และอีกส่วนหนึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่เป็นสหกรณ์อื่นๆ ที่มาฝากเงิน ซึ่งสหกรณ์เหล่านี้ก็มีสมาชิกของเขาที่มาฝากเงินเช่นกัน ดังนั้น หากจะตัด/ลดหนี้ ก็ไม่สามารถทำได้ จึงคงหนี้ในส่วนที่เป็นเงินฝากหรือเงินต้นทั้งหมดไว้ แต่สามารถลดหนี้ในส่วนที่เป็นดอกเบี้ย ซึ่งเจ้าหนี้ยอมที่จะตัดในส่วนดอกเบี้ยออกไป ขณะที่ในส่วนทุนเรือนหุ้นที่สมาชิกใส่เป็นทุน ถือว่ามีส่วนเป็นเจ้าของ ในส่วนนี้ไม่สามารถคืนได้ และก็ไม่ได้ลดทุนหรือแปลงหนี้เป็นทุนได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ระยะเวลาในการชำระหนี้คืนต้องใช้เวลานาน

“จากเจ้าหนี้ 18,827 ราย มีเจ้าหนี้กลุ่มใหญ่ๆ ที่เป็นสหกรณ์อื่นๆ ที่มาฝากเงิน รวมทั้งเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ รวมเป็นหนี้ทั้งหมด 9,371 ล้านบาท คิดเป็น 40% ของหนี้ทั้งหมด และเจ้าหนี้ที่เป็นสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 8,179 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 37%”

นายประกิตกล่าวต่อว่า ก่อนที่ศาลล้มละลายกลางจะมีคำพิพากษาให้ฟื้นฟูกิจการได้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 นั้น ฐานะทางการเงินของสหกรณ์ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการมีทรัพย์สินเหลืออยู่ 4,335 ล้านบาท ลดลงจากเดิมที่มีมูลค่าทรัพย์สินอยู่กว่า 20,000 กว่าล้านบาท มีหนี้สิน 17,960 ล้านบาท ทุนติดลบ 13,621 ล้านบาท ทำให้สหกรณ์ต้องฟื้นสภาพฐานะการเงินขึ้นมาใหม่ทั้งทรัพย์สินต้องเพิ่มขึ้น หนี้สินต้องลดลง ทุนจะต้องเพิ่มขึ้น

ตามแผนฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ต้องการเงินจำนวนมากมาใช้ในการหมุนเวียนเพื่อสร้างรายได้ และเอารายได้นั้นมาชำระหนี้คืนให้เจ้าหนี้สหกรณ์ โดยจะมีแหล่งเงินที่เข้ามาหมุนเวียน 3 แหล่งได้แก่ 1. รายได้จากธุรกิจของสหกรณ์เอง ทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งจะนำมาหารายได้ 2. เสนอขอให้ภาครัฐจัดหาแหล่งเงินกู้ให้ 10,000 ล้านบาท ขณะนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีแนวทางในการช่วยเหลือที่ชัดเจนแล้ว 3. เงินที่ได้คืนจากการฟ้องคดีจากผู้ที่ยักยอกออกไป จากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร และพวก

“เงินเหล่านี้จะนำไปใช้ในการปล่อยกู้ให้สมาชิกและลงทุนในธุรกิจใหม่ รวมทั้งปล่อยกู้ให้สหกรณ์อื่นๆ และสมาชิก แต่เงินที่ได้จากการติดตามทรัพย์ในคดีต่างๆ เงินก้อนนี้จะไม่นำมาทำธุรกิจ จะชำระหนี้คืนเจ้าหนี้ทั้งจำนวน อย่างวันนี้ (15 ธันวาคม 2558) เราได้เงินคืนจากวัดธรรมกายครบถ้วน 684 ล้านบาท เงินจำนวนนี้เราพร้อมจะจ่ายคืนให้เจ้าหนี้เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการผ่าน” นายประกิตกล่าว

จากเงินทุนเหล่านี้ ตามแผนการฟื้นฟูคาดว่าในปีที่ 1-7 (ปี 2559-2565) จะมีรายได้จากค่าเช่าทรัพย์สินและดอกเบี้ยปีละประมาณ 250 ล้านบาท ส่วนเงินที่กู้ยืมมา 10,000 ล้านบาท หากนำไปปล่อยกู้คาดว่าจะมีรายได้เข้ามา 450-500 ล้านบาทต่อปี ขณะนี้มีหลายสกรณ์ที่ติดต่อพร้อมที่จะขอกู้แล้ว ส่วนรายได้จากการติดตามหนี้ในคดีต่างๆ คาดว่าจะได้ปีละ 500-600 ล้านบาท หลังจากนั้นก็ต้องดูว่าจะสามารถติดตามหนี้ได้เพิ่มอีกหรือไม่

“เงินที่นำมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้มาจาก 1) 33% เป็นรายได้จากการดำเนินกิจการจากทรัพย์สินของสหกรณ์ 2) 46% เป็นรายได้ดอกเบี้ยจากเงินกู้ยืม 10,000 ล้านบาทที่นำมาปล่อยกู้ต่อ 3) 21% มาจากการเรียกคืนจากคดีต่างๆ โดยสรุปในปี 2559-2565 จะชำระหนี้คืนได้เฉลี่ยปีละ 1,252 ล้านบาท หลังปี 2565 ไปแล้วขึ้นอยู่กับว่าจะติดตามเงินจากคดีต่างๆ ได้คืนมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น ในปีที่ 8 การชำระหนี้จะลดลงเหลือปีละ 500 ล้านบาท ทั้งนี้การบริหารแผนในปีแรกเราจะชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้ 7% ปีที่ 2 = 33% ปีที่ 3 = 40% จะทยอยเพิ่มขึ้นตามลำดับ จนหมดปีที่ 7 เปอร์เซ็นต์การชำระหนี้จะลดลง” นายประกิตกล่าว

สำหรับการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้แต่ละกลุ่ม เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬา เป็นสัญญาเงินกู้โดยมีตึกยูทาวเวอร์จำนองเป็นหลักประกัน จะชำระตามสัญญาเดิม 13 ปีชำระทุกเดือนพร้อมดอกเบี้ย (ดอกเบี้ยลดปรับจาก 5.5% เหลือ 3%) เจ้าหนี้มีประกันอีกรายคือชมรมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทยจำนวน 34 ล้านบาท จะชำระให้หมดใน 5 ปี

กลุ่มเจ้าหนี้ที่ไม่มีประกันจะชำระคืน 26 ปี ปีละ 2 ครั้ง เป็นการชำระเฉพาะเงินต้น ส่วนเจ้าหนี้การค้า ชำระภายใน 5 ปี และกลุ่มสุดท้ายที่เป็นเจ้าหนี้ไม่เกิน 10,000 บาท จะชำระให้ทันทีภายในเดือนมิถุนายน 2559 มีเจ้าหนี้ 13,000 กว่าราย เป็นเงิน 19 ล้านบาท ชำระได้ทั้งหมดเลยทันที

อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายล้มละลาย การฟื้นฟูกิจการต้องใช้เวลาไม่เกิน 5 ปี ต้องออกจากแผนหรือต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี รวมเป็นไม่เกิน 7 ปี หากทำไม่ได้ก็ต้องออกจากแผนแบบล้มละลายไป แต่ตามแผนฟื้นฟูสหกรณ์ฯ คาดว่าจะออกจากแผนได้ก่อน 5 ปี หรือ 7 ปี และก่อนที่จะออกจากแผนฟื้นฟูฯ ผู้บริหารแผนจะต้องแก้ไขระเบียบข้อบังคับสหกรณ์ใหม่เพื่อให้สหกรณ์ต้องผูกพันกับแผนชำระหนี้ต่อไป เบี้ยวไม่ได้ เป็นข้อบังคับเอาไว้ว่าเมื่ออกจากแผนกลับไปสู่การเป็นสหกรณ์ฯ ตามปกติ การชำระหนี้ยังผูกพันอยู่กับแผนจนเจ้าหนี้ได้เงินครบ
(ดูเพิ่มเติม สรุปแผนฟื้นฟูกิจการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น, สรุปประเด็นสำคัญเพื่อสร้างความเข้าใจแผนฟื้นฟูกิจการ)

นางประภัสสร พงศ์พันธุ์พิศาล เลขานุการกรรมการบริหาร/ผู้ทำแผน
นางประภัสสร พงศ์พันธุ์พิศาล เลขานุการกรรมการบริหาร/ผู้ทำแผน

เป้าทวงและติดตามหนี้ 8 ปี 4,781 ล้านบาท

นางประภัสสร พงศ์พันธุ์พิศาล เลขานุการกรรมการบริหาร/ผู้ทำแผน กล่าวเพิ่มเติมในส่วนคดีและการติดตามหนี้ว่า เนื่องจากเงินหายไปจากระบบของสหกรณ์ฯ คลองจั่น 17,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นการให้กู้ยืมแก่นิติบุคคลที่ไม่มีตัวตน และเงินยืมทดรองจ่ายของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร 3,000 ล้านบาท จากการตามคดีในปีที่ผ่านมาและความต่อเนื่องการทำคดี ใน 8 ปีแรก สหกรณ์ตั้งเป้าหมายที่ 4,781 ล้านบาท หรือประมาณ 30% ของความเสียหาย มาจาก 5 คดี และที่เป็นคดีสาขาที่โยงไปยัง 27 นิติบุคคลที่สหกรณ์ปล่อยกู้ซึ่งไม่มีฐานะในการกู้ยืมเงินและหลักทรัพย์ไม่คุ้มค่า [5 คดี ประกอบด้วย คดีดำ 16745/2557 คดีดำที่ พ.4462/2557 พ.3628/2557 คดีดำที่ พ.590/2557 (คดีสาขาแดง ฟ.10/22558)] ได้ทำการยึดทรัพย์ของจำเลยในคดีทั้งหมด ทั้งของนายศุภชัยและพวกใน 5 คดีหลัก สหกรณ์ฯ ได้ยึดทรัพย์ไว้ทั้งหมด 1,623 รายการ คิดเป็นเงิน 10,600 กว่าล้านบาท แต่คุณภาพของหลักทรัพย์ที่ยึดมาได้ เป็นหุ้นบริษัทเอกชนกับส่วนสังหาริมทรัพย์ เช่น รถยนต์ เครื่องประดับ มีราคาน้อย แต่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเมินราคาออกมา 4,600 ล้านบาท (ดูรายละเอียดคดีเพิ่มเติม)

นอกจากนี้ มีการติดตามเงินคืนจากวัดพระธรรมกายได้มาแล้ว 684 ล้านบาท และการประนีประนอม 1 ใน 27 นิติบุคคล ได้มาอีก 157.3 ล้าน ขณะนี้จึงมีเงินจากการติดตามหนี้ได้มาแล้ว 800 กว่าล้านบาท ทันทีที่แผนฟื้นฟูกิจการผ่าน ปีแรกของการชำระหนี้มิถุนายน 2559 จ่ายได้ 3.5% ธันวาคม 2559 อีก 3.5% รวมเป็น 7% ในปีแรก ซึ่งเป็นเงินที่มาจากการตามคดีอย่างเดียว

“ส่วนคดีสาขาของกรณีคดีของมงคลเศรษฐีเอสเตท มีที่ดินอีก 21 แปลง มั่นใจว่าจะมีเงินเข้ามาอีก และเงินจากบริษัทช้างแก้วการเกษตร ซึ่งเป็น 1 ใน 27 นิติบุคคล ได้เข้ามาขอเจรจาชำระหนี้ จึงคาดว่าในปี 2559 จะมีเงินตามที่เราตั้งเป้าไว้ ส่วนใน 27 นิติบุคคลที่เหลือ แม้สัญญากู้ยืมจะไม่มีความสมบูรณ์ ก็ยังมีปัญหาว่าจะบังคับคดีได้หรือไม่ แต่ในสัญญาจำนองเขาได้นำทรัพย์มาจำนอง ทางสหกรณ์ฯ ได้ส่งให้กรมบังคับคดี ซึ่งมีหน้าที่รวบรวมติดตามทรัพย์สินลูกหนี้ให้ มีอีกประมาณ 149 ล้านบาท กำลังอยู่ระหว่างเจรจาในการขายที่ดิน หรือสหกรณ์ขายทอดตลาด ดังนั้น เราประเมินจากคุณภาพของทรัพย์ 1,623 รายการ มูลหนี้ 10,600 ล้านบาท เราประเมินแค่ 4,000 กว่าล้านบาท” นางประภัสสรกล่าว

นายประกิตได้กล่าวเสริมว่า “จากข้อมูลของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ยึดทรัพย์ของนายศุภชัย ยังมีที่ดิน 1,000 กว่าไร่ เป็น น.ส.3ก เป็นกรรมสิทธิ์ของสหกรณ์ฯ คลองจั่น ที่ผ่านมาไม่ได้ลงบันทึกเป็นทรัพย์สินของสหกรณ์ เพราะนายศุภชัยเก็บไว้ส่วนตัว เมื่อไปดูที่ดิน ทำเลมีอนาคต อาจจะเอาไปทำมาหากินได้ เพราะเมืองกาญจนบุรีเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายรัฐบาลชุดนี้ เชื่อมทวายมามาบตาพุด ที่ดินผืนนี้อยู่ในแนวเส้นทางดังกล่าว และบริเวณนี้เป็นพื้นที่สีม่วงและสีแดง ทำอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม หากผู้บริหารแผนที่จะเข้ามานำไปบริหารจัดการได้ดี ก็จะสร้างรายได้กลับมา รวมทั้งที่ดินที่ จ.ปทุมธานี ที่ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เป็นต้น” (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

การตามหนี้สคล.

มงคลเศรษฐีเอสเตท

ลูกหนี้ 27 ราย

นางประภัสสรกล่าวต่อว่า “หากเปรียบเทียบในกรณีที่ไม่สามารถฟื้นฟูกิจการได้ จำเป็นต้องทำการขายทอดตลาดทรัพย์สินทั้งหมด การขายทรัพย์สินทุกชิ้นใช้เวลาประมาณ 9 ปี และเจ้าหนี้จะได้รับการชำระหนี้แค่ 3.55% ซึ่งประเด็นนี้เป็นสาระสำคัญให้เจ้าหนี้พิจารณาว่าการฟื้นฟูกิจการกับการล้มละลายอะไรดีกว่ากัน แต่แผนการฟื้นฟูนี้ไม่โดนใจเจ้าหนี้ เพราะใช้ระยะเวลาการชำระหนี้ยาวมาก เนื่องจากไม่มีการตัดหนี้ของลูกหนี้ ปกติการฟื้นฟูเจ้าหนี้จะต้องถูกแฮร์คัตหนี้ตามแต่จะตกลงกัน แต่สหกรณ์ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะเจ้าหนี้คือสมาชิกสหกรณ์ เงินที่เอามาลงทุนมาฝากคือเงินที่ออมมา เป็นเงินยังชีพของเขา หากเราตัดเงินที่เขาออม รายได้เขาหายไปทันที นอกจากนี้ เจ้าหนี้เป็นสหกรณ์ด้วยกันเองก็รับฝากเงินของสมาชิกของเขามา หากตัดหนี้ไปก็จะกระทบสมาชิก จึงเป็นข้อจำกัดในการปรับลดหนี้ ส่วนหุ้นจะลดหุ้นก็ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อแปลงหนี้เป็นทุนก็ไม่ได้ แฮร์คัตก็ไม่ได้ ทำได้อย่างเดียวคือ เจ้าหนี้ไม่เอาดอกเบี้ย จึงต้องใช้ระยะเวลาที่ยาว ทำให้เจ้าหนี้บางคนบอกว่าฉันตายไปแล้วยังชำระหนี้ไม่หมดเลย ดังนั้น ในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ ถ้าเจ้าหนี้ไม่ยอมรับแผน ก็เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย แต่ถ้าผ่านจะไปสู่การไต่สวนของศาลล้มละลายกลาง ในวันที่ 21 มกราคม 2559 เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการในชั้นศาล หลังจากนั้นการกำหนดการชำระหนี้จะเกิดขึ้นทันที”

พร้อมกันนี้ ได้ขอให้เจ้าหนี้ที่จะเดินทางมาประชุมในวันที่ 21 ธันวาคม 2558 มาด้วยรถขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะด้วยรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ลงที่สถานีหัวหมาก จะมีรถสองแถวรับส่ง หรือรถประจำทางอื่นๆ ทั้งนี้คาดว่าจะมีเจ้าหนี้เข้าร่วมประชุม 5,000-8,000 คน ขณะที่จอดรถที่อาาคารยูทาวเวอร์จอดได้ 500 คัน (ดูคำแนะนำประชุมเจ้าหนี้)