ครม. ชง กมธ.ยกร่างฯ แก้รัฐธรรมนูญ 100 ประเด็น “วิษณุ” เผยขอทบทวนเรื่องสำคัญเพียบ ยันทำประชามติแน่ – “ประยุทธ์” ชงหากลไกสานต่อสิ่งที่รัฐบาลนี้ทำไว้
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาถึงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนเสนอความเห็นไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) เพื่อให้มีการแก้ไข ซึ่งวันเดียวกันนี้ถือเป็นวันสุดท้ายตามกรอบเวลาที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557
หลังการประชุมซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง เสร็จสิ้น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องที่ ครม. เป็นกังวลต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือ มีอะไรที่จะเป็นสิ่งรับประกันว่า สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำมาจะได้รับการสานต่อ ไม่ว่าจะอยู่รูปแบบองค์กรหรือกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องของการการปฏิรูป ซึ่งเวลานี้ถือว่ายังอยู่ในแค่ขั้นตอนเริ่มต้นเท่านั้น
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย กล่าวว่า ครม. ได้เสนอความเห็นต่อเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญไปยัง กมธ.ยกร่างฯ ภายในเวลา 16.30 น. ของวันนี้(25 พฤษภาคม 2558)ตามกรอบเวลาเรียบร้อยแล้ว โดยมีการเสนอความเห็นให้ปรับแก้ประมาณ 100 ประเด็น เหตุที่เสนอเป็นประเด็น เพราะบางมาตราอาจมีหลายประเด็น ทั้งนี้ สิ่งที่ ครม. เสนอไปราว 50% ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เป็นการขอแก้ไขถ้อยคำ พวกคำเชื่อมอย่าง กับ แก่ แต่ ต่อ และ หรือ แต่อีก 50% เป็นเรื่องของการขอแก้ไขเนื้อหา ที่อาจกระทบต่อหลักใหญ่ของร่างรัฐธรรมนูญ โดย ครม. พร้อมเข้าไปชี้แจงต่อ กมธ.ยกร่างฯ ถึงเหตุผลที่มีข้อเสนอแบบนั้น อาทิ 1. การเพิ่มองค์กรขึ้นมาใหม่ 30 องค์กร บางเรื่องใส่ไว้ในกฎหมายลูกก็ได้ หากเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญจะตึงเกินไป 2. ของเดิมดีกว่าที่เขียนมาใหม่ เช่น การที่ให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทนรัฐมนตรีในระหว่างที่มีการยุบสภา ซึ่งจะขอให้ตัดออก และ 3. ปฏิบัติตามได้ยาก เช่น การเขียนให้นักการเมืองและภาครัฐต้องปฏิบัติตามให้เหมาะสม ซึ่งจะทำให้เกิดการฟ้องร้องตามมามากมาย ควรจะเขียนไว้ในที่อื่นมากกว่า เช่น ประมวลจริยธรรม
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ ครม. จะเสนอให้ กมธ.ยกร่างฯ ทบทวนเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อาทิ ให้ ส.ว. เสนอร่างกฎหมายได้, เลือกตั้งโอเพ่นลิสต์, ให้กลุ่มการเมืองลงเลือกตั้งได้, ให้ กจต. จัดการเลือกตั้งแทน กกต. เป็นต้น ส่วนเรื่องนายกฯ คนนอกไม่มีการพูดคุยกัน
“แต่สิ่งที่ ครม. เสนอไม่มีอะไรแหวกแนวจาก 315 มาตราที่ กมธ.ยกร่างฯ เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญมากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่เท่านั้น เพราะหากเสนอเพิ่มเติมเข้าไปแล้ว กมธ.ยกร่างฯ รับ ก็จะถูกหาว่ามีพิมพ์เขียวมาอยู่แล้ว เรื่องที่ ครม.เสนอเพิ่มจึงเป็นข้อเสนอขององค์กรอิสระ ที่เสนอผ่าน ครม. ให้แก้ไข เพื่อให้องค์กรเหล่านั้นทำงานได้สะดวกขึ้นเท่านั้น”
นายวิษณุยังกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้แสดงความกังวลต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้ 3 ประเด็น ประเด็นแรก คือสิ่งที่นายกฯ พูดไปแล้วเรื่องการสานต่อสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำไว้ ประเด็นที่ 2 ทำอย่างไรไม่ให้ประเด็นกลัวไปสู่ความขัดแย้ง เกิดเหตุการณ์เช่นก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อีก และประเด็นที่ 3 ทำอย่างไรให้การเมืองในอนาคตมีความก้าวหน้า เป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งความกังวลทั้ง 3 ประเด็นนี้ควรมีคำตอบอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายวิษณุยังกล่าวถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อเปิดทางให้มีการทำประชามติ ว่า หลังจากเสนอความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปแล้ว คงจะได้มีเวลามานั่งคิด เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ขณะนี้ได้ข้อสรุปเพียง 3 ประเด็น คือ แก้รัฐธรรมนูญเปิดทางให้มีการทำประชามติ ให้ กกต. เป็นผู้จัดทำประชามติ และขยายเวลาการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ ไปอีก 30 วัน ส่วนประเด็นอื่นๆ เช่น หน่วยงานไหนจะเป็นผู้ตัดสินใจทำประชามติ หรือจะใช้คำถามแบบใดในการทำประชามติ ฯลฯ ยังไม่ได้ข้อสรุป ต้องไปหารือกันอีกครั้ง
“แต่ทำมาขนาดนี้ ยังมีบางคนคิดว่าจะไม่ทำประชามติอีก ก็ไม่รู้ว่าจะอย่างไรแล้ว” นายวิษณุกล่าว