ThaiPublica > เกาะกระแส > รมช.ศึกษา “ธีระเกียรติ” โต้ สมศ. เกณฑ์ประเมินคุณภาพการศึกษา แค่ติ๊กถูกปล่อยให้ “กระดาษเป็นนาย” ไม่ได้อีกแล้ว

รมช.ศึกษา “ธีระเกียรติ” โต้ สมศ. เกณฑ์ประเมินคุณภาพการศึกษา แค่ติ๊กถูกปล่อยให้ “กระดาษเป็นนาย” ไม่ได้อีกแล้ว

2 ตุลาคม 2015


นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงขอให้ สมศ. ประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 ที่จะเริ่มดำเนินการในเดือนมกราคม 2559 โดยปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2553 ยืนยันปัจจุบัน สมศ. ประกาศใช้เกณฑ์การประเมินและตัวบ่งชี้ใหม่ ทั้งๆ ที่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เผยกำลังแก้กฎกระทรวงใหม่เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งและความผิดพลาดในการประเมินอย่างที่เป็นมา

นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการ
นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการ

การศึกษาไทยมีปัญหาต่อเนื่องมาตลอดในทุกด้านซึ่งสะท้อนออกมาที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เคยกล่าวถึงงานวิจัยในงานสัมมนาหัวข้อ “ประเทศไทยกับอนาคตใหม่ทางการศึกษา” เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 ในงานสัมมนา “Education for the Future: ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต” ผ่าทางตันวิกฤติการศึกษาไทย ชูทางออกอนาคตการศึกษาศตวรรษที่ 21 ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลการเรียนของนักเรียนต่ำ คือ ครูใช้เวลาจำนวนมากนอกห้องเรียนใน 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ การใช้เวลาการประเมินจากหน่วยงานภายนอก ทั้งการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) การประเมินตัวครูเพื่อให้ได้เลื่อนตำแหน่ง และการประเมินนักเรียนโดยการให้นักเรียนไปสอบแข่งขันต่างๆ โดยเฉลี่ยแล้วเวลาของครูหายไปรวมแล้ว 80 วันต่อปี อาทิ 9 วันหายไปกับการประเมินของสมศ., 2 วันไปกับการประเมินวิทยฐานะ, 2 วันไปกับการประเมินของเขตพื้นที่, 2 วันกับการประเมินของโรงเรียน, 2 วันไปกับประเมินโรงเรียนพระราชทาน ฯลฯ ซึ่งระบบการประเมินสถานการศึกษาที่ตรวจเอกสารเป็นหลักทำให้ครูต้องใช้เวลานานมากในการต้องเตรียมเอกสารต่างๆ ทำให้ความสำคัญในห้องเรียนไม่สำคัญเท่ากับเขียนลงไปในกระดาษ อีกทั้งยังเป็นกระดาษที่หลอกกันไปกันมาด้วย

ที่ผ่านมา ประเด็นการประเมินของ สมศ. เป็นที่ถกเถียงกันมานานว่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ดึงครูออกจากห้องเรียน สำหรับบทบาทของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2543 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2543 เป็นต้นมา เพื่อทำหน้าที่พัฒนาเกณฑ์และวิธีการประเมินคุณภาพภายนอก และประเมินผลการจัดการศึกษาเพื่อตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษา โดยคำนึงถึงความมุ่งหมาย หลักการ และแนวทางการจัดการศึกษาในแต่ละระดับตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้ต้องประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อย 1 ครั้งในทุก 5 ปี นับตั้งแต่การประเมินครั้งสุดท้าย และเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน

ในช่วงที่ผ่านมา สมศ. ได้ประเมินคุณภาพภายนอกมาแล้ว 3 รอบ คือ รอบแรก ในปี 2544-2548 รอบ 2 ในปี 2549-2553 และรอบ 3 ในปี 2554-2558 ซึ่งผลสรุปการประเมินทั้ง 3 ครั้ง พบว่า สถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ได้รับการรับรองจำนวนหลายพันแห่ง เนื่องจากไม่ผ่านการประเมินในตัวบ่งชี้พื้นฐานด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน เช่น การประเมินในรอบที่ 3 มีสถานศึกษากว่า 2,000 แห่งที่ไม่ได้รับรอง ส่วนสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษาไม่รับรอง 20 แห่ง เนื่องจากไม่ผ่านการประเมินในตัวบ่งชี้ที่เกี่ยวกับการผลิตผลงานที่เป็นโครงงานวิชาชีพ นวัตกรรม หรือสิ่งประดิษฐ์ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ล่าสุด สมศ. ได้ประกาศการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 (ปี 2559-2563) เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2558 โดยจะเริ่มประเมินสถานศึกษาทุกระดับทั่วประเทศรวมกว่า 60,000 แห่ง ตั้้งแต่เดือนมกราคม 2559

ด้านนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวเรื่องการประเมินสถานศึกษารอบ 4 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 เพื่อตอบโต้การประกาศของ สมศ. ว่า การประกาศของ สมศ. โดยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบ ถือว่าสร้างความเข้าใจผิดให้กับบุคลากรในกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้น ขอให้การประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 ที่จะเกิดขึ้นเป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากการประเมินที่ผ่านมามีความขัดแย้งพอสมควร โดยครูซึ่งเป็นผู้ถูกประเมินคิดว่าการประเมินไม่ยุติธรรม มีปัญหา และใช้เวลามาก

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การประเมินทั้งจาก สมศ. และการประเมินภายในโดยกระทรวงศึกษาธิการต้องเป็นไปตามที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กำหนด คือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ หมวด 6 มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา “มาตรา 47 ให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ประกอบด้วย ระบบการประกันคุณภาพภายในและระบบการประกันคุณภาพภายนอก ระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษาให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง” ซึ่งกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2553 ในหมวด 3 การประกันคุณภาพภายนอก

“ข้อ 37 การประกันคุณภาพภายนอกให้คำนึงถึงจุดมุ่งหมายและหลักการดังต่อไปนี้ (1) เพื่อให้มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษา (2) ยึดหลักความเที่ยงตรง เป็นธรรม และโปร่งใส มีหลักฐานข้อมูลตามสภาพความเป็นจริงและมีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ (3) สร้างความสมดุลระหว่างเสรีภาพทางการศึกษากับจุดมุ่งหมายและหลักการศึกษาของชาติ โดยให้มีเอกภาพเชิงนโยบาย ซึ่งสถานศึกษาสามารถกำหนดเป้าหมายเฉพาะและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เต็มตามศักยภาพของสถานศึกษาและผู้เรียน (4) ส่งเสริม สนับสนุน และร่วมมือกับสถานศึกษาในการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา (5) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการประเมินคุณภาพ และพัฒนาการจัดการศึกษาของรัฐเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น (6) ความเป็นอิสระ เสรีภาพทางวิชาการ เอกลักษณ์ ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายของสถานศึกษา” ระบุไว้ชัดเจนว่า สมศ. มีหน้าที่อะไร

นายแพทย์ธีระเกียรติกล่าวต่อว่า จากจุดมุ่งหมายและหลักการข้างต้นตามกฎกระทรวงฯ มี 4 ข้อที่เกิดคำถามว่า สมศ. ปฎิบัติหน้าที่เป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนดหรือไม่ คือ ข้อ 1 “เพื่อให้มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษา” แต่ที่ผ่านมาวิธีการที่ สมศ. ใช้ประเมินเป็นไปตามกฎกระทรวงนี้หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นไปตามหลักการนี้จริงคุณภาพการศึกษาก็ต้องดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ข้อเท็จจริงที่ทราบกันอยู่การศึกษาของไทยไม่ได้เป็นอย่างนั้น ซึ่งอาจไม่ใช่ความผิดของ สมศ. คุณภาพการศึกษาแย่ลงไม่ใช่เพราะวิธีการประเมินไม่ดี เพียงแต่ว่าหลังจากการประเมินแล้วทำไมคุณภาพการศึกษาถึงยังไม่ดีขึ้น

ต่อมาข้อ 2 “ยึดหลักความเที่ยงตรง เป็นธรรม และโปร่งใส มีหลักฐานข้อมูลตามสภาพความเป็นจริงและมีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้” แต่ความเที่ยงตรงที่ สมศ. ใช้นั้นเป็นวิธีการประเมินที่ตรงกับสิ่งที่ต้องการประเมินแล้วหรือ โดยเฉพาะการประเมินที่ใช้เอกสารจำนวนมากๆ นั้นสามารถให้ความเที่ยงตรงได้หรือไม่

นอกจากนี้ ในข้อ 3 “สร้างความสมดุลระหว่างเสรีภาพทางการศึกษากับจุดมุ่งหมายและหลักการศึกษาของชาติ โดยให้มีเอกภาพเชิงนโยบาย ซึ่งสถานศึกษาสามารถกำหนดเป้าหมายเฉพาะและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เต็มตามศักยภาพของสถานศึกษาและผู้เรียน” นั้นวันนี้ชัดเจนแล้วว่า มีนโยบายต้องการลดภาระครู โดยเฉพาะภาระที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนและภาระที่ทำให้ครูต้องใช้เวลามาก ซึ่งที่ผ่านมาก็เกิดความขัดแย้งระหว่างครูและ สมศ. มาตลอด โดยฝ่ายครูและสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ที่เคยศึกษาเรื่องการประเมินยืนยันตลอดมาว่าใช้เวลาและเป็นภาระมาก ในขณะที่ฝ่าย สมศ. บอกว่าใช้เวลาน้อย

“ชัดเจนว่านโยบายไม่มีเอกภาพ และผมเองก็ชัดเจนว่าต้องเลิกทาสในยุคนี้ กระดาษ คือ เราต้องเป็นนายกระดาษ โดยกระดาษทุกแผ่นที่เรามีต้องตอบโจทย์เรา ไม่ใช่ว่าเราตั้งหน้าตั้งตาติ๊กไปเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้สิ่งที่ครูทุกระดับบ่นที่สุดคือ กระดาษที่ให้มาท่วมบ้านท่วมเมืองแล้ว” รัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการกล่าว

สำหรับข้อ 4 ระบุว่า “ส่งเสริม สนับสนุน และร่วมมือกับสถานศึกษาในการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา” แต่ขณะนี้ ทีมภายในของกระทรวงศึกษาธิการยืนยันแล้วว่าการประเมินไม่ได้ส่งเสริม สนับสนุน และไม่ได้ไปด้วยกันเลย เพราะว่ากระทรวงศึกษาธิการไม่เห็นด้วยกับการประเมินในหลายตัวบ่งชี้และหลายมาตรฐาน

นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการ

รัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการกล่าวต่อว่า อีกปัญหาที่สำคัญคือการประกาศใช้มาตรฐานของ สมศ. ซึ่งตามกฎกระทรวงใน ข้อ 38 กำหนดให้ “ในการประกันคุณภาพภายนอก ให้สำนักงานทำการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาแต่ละแห่งตามมาตรฐานการศึกษาของชาติและครอบคลุมหลักเกณฑ์ในเรื่องดังต่อไปนี้ (1) มาตรฐานที่ว่าด้วยผลการจัดการศึกษาในแต่ละระดับและประเภทการศึกษา (2) มาตรฐานที่ว่าด้วยการบริหารจัดการศึกษา (3) มาตรฐานที่ว่าด้วยการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (4) มาตรฐานที่ว่าด้วยการประกันคุณภาพภายใน ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องทำการประเมินคุณภาพภายนอกจากมาตรฐานอื่นเพิ่มเติมจากมาตรฐานที่กำหนดในวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานประกาศกำหนดมาตรฐานอื่นได้โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี”

“แต่ฝ่ายประเมินคุณภาพภายในและส่วนตัวเองคิดว่า สมศ. ไม่ได้ทำตรงตามที่ระบุไว้ข้อ 38 แน่นอน โดยเฉพาะจากข้อความที่ว่า “ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องทำการประเมินคุณภาพภายนอกจากมาตรฐานอื่นเพิ่มเติมจากมาตรฐานที่กำหนดในวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานประกาศกำหนดมาตรฐานอื่นได้โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี” นั้น ในขณะนี้ยังไม่มีรัฐมนตรีคนไหนให้ความเห็นชอบ ซึ่งในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการประเมินนี้ก็ยังไม่ให้ความเห็นชอบในสิ่งที่ สมศ. เสนอเลย” นายแพทย์ธีระเกียรติกล่าว

สำหรับการแก้ปัญหา ขณะนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการกำลังแก้ไขกฎกระทรวงใหม่เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งและความผิดพลาดอย่างที่เกิดขึ้นมานานหลายปี ซึ่งใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะได้ประกาศใช้ แต่ในระยะสั้นคงต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงที่มีอยู่เดิม ซึ่งใครก็ตามที่ประเมินทั้งภายในและภายนอกต้องปฏิบัติตามกฎหมายและเป็นไปตามกฎกระทรวง หากมีข้อขัดแย้งใดก็ขอให้มาคุย ไม่ใช่ประกาศทางสาธารณชนออกไปแล้วทำให้ครูในกระทรวงศึกษาธิการเดือดร้อน อย่างน้อยตอนนี้ก็เดือดร้อนใจ

นายแพทย์ธีระเกียรติกล่าวต่อว่า การแก้ไขกฎกระทรวงใหม่จะมีลักษณะเนื้อหาเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ประเมินและผู้ถูกประเมิน มีการประเมินตรงสภาพความเป็นจริง มีหลักการที่ถูกต้องสากล และไม่กำกวมอย่างที่ผ่านมา อีกทั้งแก้ไขเรื่องการพัฒนาหรือคัดเลือกผู้ประเมินด้วย เนื่องจากที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนว่าผู้ประเมินไม่มีคุณภาพ รวมถึงปัญหามาตรฐานและตัวบ่งชี้ด้วยที่ทาง สมศ. ยังสับสนระหว่างคำว่ามาตรฐานและตัวบ่งชี้

“สมศ. ทำหน้าที่ประเมินคุณภาพภายนอกตาม พ.ร.บ.การศึกษาฯ มาตรา 49 ผมก็ไม่ว่า แต่ต้องทำตามมาตรา 47 ให้ถูกต้องด้วย ซึ่งในวันนี้ผมมาประกาศว่า สมศ. ทำตามมาตรา 47 ไม่ถูกต้องเท่านั้นเอง มิฉะนั้นคนจะเข้าใจว่า สมศ. สามารถประเมินอะไรได้ตามที่ประกาศ แต่กฎหมายไม่ได้ให้ทำอย่างนั้น ซึ่งในวันนี้ สมศ. มาประเมินผมไม่ได้เพราะผมยังไม่ได้เห็นชอบ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าว