ThaiPublica > เกาะกระแส > “สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานทีดีอาร์ไอชี้ “ประเทศไทยกับอนาคตใหม่การศึกษา” เด็กอยู่ในห้องเรียน 1,000-1,200 ชม./ปี – แต่ครูหายไปไหน 84 วัน/ปี – สมศ.ประเมินครูที่”กระดาษ”

“สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานทีดีอาร์ไอชี้ “ประเทศไทยกับอนาคตใหม่การศึกษา” เด็กอยู่ในห้องเรียน 1,000-1,200 ชม./ปี – แต่ครูหายไปไหน 84 วัน/ปี – สมศ.ประเมินครูที่”กระดาษ”

25 มีนาคม 2015


ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์  ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด, คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ร่วมกันจัดสัมมนา “Education for the Future : ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต” ผ่าทางตันวิกฤติการศึกษาไทย ชูทางออกอนาคตการศึกษาศตวรรษที่ 21 โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ประเทศไทยกับอนาคตใหม่ทางการศึกษา”

ดร.สมเกียรติได้กล่าวถึงข้อเสนอในการปรับห้องเรียน ที่จะปฏิรูปประเทศไทยในการสร้างอนาคตใหม่ให้กับการศึกษาว่าควรมีแนวทางอย่างไร โดยเริ่มต้นจากปัญหาการศึกษาในประเทศไทย 10 ปีที่ผ่านมา ไทยใช้เงินกับการศึกษาเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในเวลาเดียวกันเงินเดือนของครูก็ได้เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนใกล้ๆ กันด้วย

แต่เดิมประเทศไทยเคยมีปัญหาเรื่องการขาดทรัพยากรในการจัดการการศึกษา การศึกษาของไทยจึงมีคุณภาพไม่ดี แต่วันนี้เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเปลี่ยนไปแล้ว เงินเดือนของครูได้เพิ่มขึ้นจากในอดีตที่เคยด้อยกว่าหลายอาชีพ เมื่อมีการแยกฐานเงินเดือนของครูหรือบัญชีเงินเดือนของครูแต่ละคนที่รับราชการ จะมีผลตอบแทนไม่ได้ด้อยกว่าอาชีพอื่นอีกแล้ว ถือเป็นข่าวดีสำหรับระบบการศึกษาของไทย

ดร.สมเกียรติกล่าวต่อว่า เด็กไทยเองเป็นเด็กที่ขยันเรียน หรือหลักสูตรการศึกษาไทยบังคับให้เด็กๆ ขยันเรียนหรือเปล่าไม่อาจทราบได้ แต่เด็กไทยใช้เวลาอยู่ในห้องเรียนไม่น้อยกว่าเด็กชาติอื่นๆ ในโลก ถ้าเปรียบเทียบแล้วเด็กเล็กของเราจะต้องอยู่ในห้องเรียน 1,000 ชั่วโมง/ปี ในขณะที่เด็กชาติอื่นๆ ในโลก หากเปรียบเทียบดู เฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วที่เรียกว่าประเทศ The Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD คือ ประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์กรเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ จะมีเวลาอยู่ในห้องเรียนน้อยกว่าประเทศไทยคือไม่ถึง 800 ชั่วโมง/ปี

และเด็กของประเทศที่ถือได้ว่ามีการศึกษาดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลกคือประเทศฟินแลนด์นั้นอยู่ในห้องเรียนน้อยลงไปอีก ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เด็กไทยเองก็ขยันเรียนดีนะ แล้วหากเป็นเด็กไทยในระดับมัธยมศึกษา จะมีชั่วโมงเรียนสูงถึง 1,200 ชั่วโมง/ปี ซึ่งก็ถือเป็นระดับที่สูงกว่าระดับเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้ว และเป็นระดับที่สูงกว่าประเทศฟินแลนด์อย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน

การศึกษากับอนาคต1

แต่ทำไมเมื่อดูผลการสอบไม่ว่าจะเป็นการสอบในประเทศไทย คือการสอบเพื่อการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Education Test) หรือรู้จักกันในชื่อ O-NET กลับมีคะแนนต่ำลงเรื่อยๆ และในการสอบแต่ละปีมีผู้สอบผ่านเกินครึ่งน้อยมาก ส่วนใหญ่ตกกันจนมีคนไปล้อกันว่า หากเอาลิงไปสอบยังได้คะแนนสูงกว่านี้ ฟังดูแล้วก็รู้สึกอ่อนอกอ่อนใจอย่างยิ่ง

การสอบ O-NET ที่ผ่านมามีคนได้คะแนนเต็ม 100 จำนวนหนึ่ง ในเวลาเดียวกันก็มีคนได้ 0 คะแนน ซึ่งการได้ 0 คะแนนในหลายวิชานั้นเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าน่าจะทำได้ยากกว่าทำได้ 100 คะแนนเต็มอีก การได้ 0 คะแนนนั้นแปลว่าทำไม่ถูกเลยแม้แต่ข้อเดียว เป็นไปได้อย่างไร สิ่งนี้อาจจะสะท้อนได้ว่าการศึกษาไทยอาจจะมีปัญหา

น้องๆ บางคนที่ไปสอบ O-NET มา อาจจะบอกว่า “มาโทษพวกเราอาจจะไม่ค่อยแฟร์” เพราะจริงๆ แล้วข้อสอบ O-NET เองก็มีปัญหา และเป็นเรื่องที่ถูกนำมาล้อกันทุกปี แต่ว่าเมื่อไปดูข้อสอบที่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากลอย่างข้อสอบ โครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกันนานาชาติ (Programme for International Student Assessment: PISA) ที่เป็นการจัดสอบเทียบประเทศไทยกับ 30 ประเทศในโลก คะแนนของเราก็อยู่ในระดับที่ไม่ดีเลย และมีแนวโน้มต่ำลงไม่ว่าจะเป็นการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์

เพราะฉะนั้นมันเกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาของประเทศไทย การสอบ PISA ครั้งล่าสุดดูเหมือนว่าประเทศไทยจะมีผลคะแนนดีขึ้นเล็กน้อย และทำให้เกิดคำถามว่า เรากำลังมีอนาคตที่รุ่งเรืองเพราะการศึกษาไทยกำลังจะดีขึ้นใช่หรือไม่

หากดูผลการสอบโดยรวม วิชาคณิตศาสตร์มีเพิ่มขึ้นคะแนนจาก 419 คะแนน เป็น 427 คะแนน วิทยาศาสตร์ยิ่งเพิ่มขึ้นชัดเจนจาก 425 คะแนน เป็น 444 คะแนน ในขณะที่การอ่านก็เพิ่มขึ้นบ้าง จาก 421 คะแนนเป็น 441 คะแนน สัดส่วนผู้ได้คะแนนสูงในการสอบ PISA ของประเทศไทยเทียบกับประเทศอื่นแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่ผู้ได้รับคะแนนต่ำลงในบางวิชามีปัญหา

คำถามก็คือ การศึกษาประเทศไทยกำลังดีขึ้นอยู่แล้วจนเป็นสิ่งที่ไม่ต้องเป็นห่วงหรือเปล่า เพราะคะแนนสอบ PISA คล้ายกับบอกเราว่าคะแนนของเราดีขึ้น แต่การดีขึ้นนั้นต้องดูสาเหตุว่าดีขึ้นมากน้อยเพียงใดอย่างไร ส่วนใหญ่การดีขึ้นมาไม่ได้มีนัยสำคัญทางสถิติ พูดง่ายๆ ก็คือ การสอบก็มีขึ้นมีลง หากค่าคะแนนที่เปลี่ยนเพียงนิดเดียวก็แปลว่าไม่ได้มีนัยยะมากพอที่จะบอกว่าดีขึ้นจริง

ที่สำคัญ การที่เราได้คะแนนสอบดีขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเด็กไทยที่ไปสอบ PISA รอบล่าสุดนั้นเก่งกว่า มีภูมิหลังทางครอบครัวที่ดีกว่ารุ่นก่อนหน้านั้น ยกตัวอย่างเช่น มีจำนวนนักเรียนจากโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์ เข้าสอบกันทุกโรงเรียน

คือ PISA ส่วนใหญ่ที่จัดสอบมาจะทำการสุ่ม หมายความว่าจะได้ตัวแทนของนักเรียนที่คล้ายกับตัวแทนของนักเรียนทั้งประเทศจริงๆ แต่รอบที่ผ่านมาโรงเรียนจุฬาภรณ์อาสาเข้าไปสอบด้วย เพื่ออยากจะรู้ว่าการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนเป็นอย่างไร น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่ง

นักเรียนที่เข้าสอบรอบนี้มีภูมิหลังทางครอบครัวที่ดีกว่า และเป็นที่ทราบกันดีในวงการการศึกษาว่า หากเด็กมาจากครอบครัวที่ดี ความเป็นอยู่ที่ดี มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี เด็กก็จะมีผลการเรียนที่ดี ซึ่งอาจไม่ได้แปลว่าโรงเรียนสอนได้ดีขึ้นก็ได้

เพราะฉะนั้น หากหัก 2 ปัจจัยนี้ออกไป ก็คือมีโรงเรียนจุฬาภรณ์ฯ เข้าไปสอบมากขึ้น และมีเด็กมีภูมิหลังจากครอบครัวที่ดีขึ้นไป คะแนนที่เราคิดว่าดีขึ้นนั้นมันจะดีขึ้นน้อยลงกว่าที่เราคิดว่าดีจริงๆ คือยังคงดีขึ้นอยู่แต่ไม่ได้ดีขึ้นเหมือนกันภาพที่แสดงออกมา

โดยสรุป การศึกษาของไทยใช้เงินเยอะมาก ใช้เวลาเยอะมาก คุณครูก็ตั้งใจ นักเรียนก็ตั้งใจ แต่ทำไมการศึกษาของไทยจึงมีปัญหา เราจะสามารถปรับห้องเรียนเปลี่ยนอนาคตประเทศไทยกันได้อย่างไร

ครูหายไปไหน 84 วัน :คืนครูสู่ห้องเรียน

การศึกษากับอนาคต2

ประเด็นแรกที่ขอกล่าวถึงก่อนคือ เราต้องปรับห้องเรียนโดยการ “คืนครูกลับสู่ห้องเรียน” ปัญหาใหญ่ของการศึกษาไทยก็คือ จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย แม้ว่าจะมีเด็กอยู่ในห้องเรียนปีละ 1,000-1,200 ชั่วโมง คุณครูก็ตั้งใจจะสอน แต่คุณครูไม่มีโอสาสอยู่ในห้องเรียนอย่างที่ควรจะอยู่

การเรียนรู้ของนักเรียนจะเกิดขึ้นได้เมื่อนักเรียนได้เจอกับครู อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมาว่าต้องเป็นอย่างนี้แหละ แต่ในความเป็นจริงก็คือของที่ดูง่ายๆ ว่าจะเกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดขึ้น

จากการสำรวจพบว่าเวลาที่ครูใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้ครูไม่สามารถอยู่ในห้องเรียนได้มีถึง 84 วัน/ปี ปีหนึ่งมี 365 วัน มีวันเสาร์ วันอาทิตย์ หักวันหยุดต่างๆ ออกไปจะเหลือเวลาประมาณ 200 กว่าวัน

เพราะฉะนั้น เมื่อครูต้องไปอยู่นอกห้องเรียนถึง 84 วันที่ต้องทำการเรียนการสอนกันแล้ว ก็แปลว่าเวลาที่ครูจะได้เจอนักเรียนหายไป 42% ดังนั้น หากเราคิดว่านักเรียนไทยอยู่ในห้องเรียน 1,000 ชั่วโมง แต่ได้เจอครูเพียง 60% เวลา 1,000 ชั่วโมง ก็เหลือเพียง 600 ชั่วโมง นี่คือปัญหาสำคัญ ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของการปรับห้องเรียนประการแรก จะต้องคืนครูสู่ห้องเรียนให้ได้

ครูใช้เวลาทำอะไรกันเมื่อไม่อยู่ในห้องเรียน มี 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ การใช้เวลาการประเมินจากหน่วยงานภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการประเมินตัวโรงเรียนเองโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานการประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. การประเมินตัวครูเพื่อให้ได้เลื่อนตำแหน่ง และการประเมินนักเรียนโดยการให้นักเรียนไปสอบแข่งขันต่างๆ เหล่านี้ใช้เวลาถึง 43 วัน/ปี อีก 29 วัน/ปี ใช้ไปกับการแข่งขันทางวิชาการ และอีก 10 วัน/ปี ใช้ไปกับเรื่องของการจัดกิจกรรมต่างๆ

การศึกษากับอนาคต3

จากรายละเอียดปฏิทินจะเห็นว่าในแต่ละปีเวลาของครูสูญหายไปในส่วนไหนบ้าง สำหรับ 9 วันหายไปกับการประเมินของสมศ., 2 วันไปกับการประเมินวิทยฐานะ, 2 วันไปกับเขตพื้นที่, 2 วันประเมินโรงเรียน, 2 วันไปกับประเมินโรงเรียนพระราชทานม ประเมิน 5 ส. อีก 1 วัน ฯลฯ หากนับไปเรื่อยๆ ทีละวันสองวันสะสมไปเรื่อยๆ ปีหนึ่งก็ครบ 80 วัน นี่ก็คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เวลาของครูที่ตั้งใจจะมาสอนนักเรียน ส่วนนักเรียนก็ตั้งใจมาหาความรู้ในโรงเรียน หายไปเพราะว่าครูไม่ได้อยู่ในห้องเรียน

กิจกรรมต่างๆ ที่ครูต้องไปทำนอกห้องเรียนบางอย่างมีประโยชน์และสมควรทำ ส่วนบางอย่างก็มีเครื่องหมายคำถามว่าสมควรต้องไปทำมากมายขนาดนั้นหรือไม่ กิจกรรมที่อยู่ในการสำรวจ ที่ครูตอบว่ามีประโยชน์ คือ การไปแข่งขันด้านวิชาการ โดยครู 40% คิดว่ากิจกรรมนี้มีประโยชน์ การสอบ O-NET มีประโยชน์ การไปอบรมของครู ครู 15% คิดว่ามีประโยชน์

“แต่กิจกรรมที่ครูคิดว่าไม่มีประโยชน์ 3 อันดับแรก คือ การประเมินโรงเรียนจาก สมศ. ตอบข้อนี้ประมาณ 46% ครูที่นั่งอยู่ในที่นี้ท่านก็คงเห็นด้วยนะครับว่าเป็นกิจกรรมที่ทรมาน และไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาการศึกษา”

การอบรมต่างๆ เมื่อสักครู่ที่บอกว่าการอบรมมีประโยชน์มี 15% แต่ขณะเดียวกัน 20% บอกว่าการอบรมโดยเฉพาะของกระทรวงศึกษานั้นไม่มีประโยชน์ เช่น การที่เชื่อว่าครู ถ้าสามารถสอนการศึกษาที่ไปสู่ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 นั้นจะต้องทำโปรเจกต์หรือโครงงานต่างๆ ซึ่งการจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ครูจะต้องผ่านการฝึกสอนให้ทำ แต่การอบรมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทุกท่านคงเห็นด้วยใช่ไหมว่าเป็นการอบรมที่พาคนเข้ามาอยู่ในห้องเดียวกัน แล้วสอนแบบเล็คเชอร์เพื่อให้ครูไปสอนแบบใช้โครงงานเป็นฐาน (Project based learning) หากเปรียบเทียบกันแล้วเหมือนกับจะสอนว่ายน้ำ หรือสอนปั่นจักรยาน แล้วสอนโดยการเล็คเชอร์ ว่าวิธีว่ายน้ำต้องชูแขนอย่างไร วิธีปั่นจักรยานจะต้องทรงตัวอย่างไร โดยที่ไม่มีโอกาสลองกับสระว่ายน้ำหรือลองกับจักรยานจริงๆ แล้วจะให้ครูสอนแบบใช้โครงงานเป็นฐานได้อย่างไร นี่คือสาเหตุที่ครู 20% ตอบว่าไม่มีประโยชน์

สมศ. ใช้เงินประเมินโรงเรียน 5 ปี 1,800 ล้าน

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดสิ่งหนึ่งก็คือ การประเมินโรงเรียนโดย สมศ. สิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีปัญหามากทำให้การประเมินโรงเรียนที่ควรจะเป็นการประเมินภายในไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ในเวลาเดียวกันก็เป็นกิจกรรมที่ใช้เวลาและเงินทุนมาก ลำพังการจ้างผู้ที่ไปตรวจสอบคุณภาพโรงเรียนในแต่ละรอบตลอด 5 ปีนั้น ใช้งบประมาณสูง 1,800 ล้านบาท เสียเวลาไปมาก และที่สำคัญก็คือได้อะไรมาจากการประเมินเหล่านี้

สิ่งที่ทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอทำการศึกษามาน่าตกใจมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพดีมาก ดี หรือพอใช้ ประเมินออกมา ไม่ว่าโรงเรียนดีไม่ดีแค่ไหน ข้อเสนอแนะออกมาคล้ายๆ กันก็คือ “โรงเรียนควรส่งเสริมให้นักเรียนคิดเป็น ควรส่งเสริมให้สามารถใช้กับชีวิตประจำวันได้ และพัฒนาทักษะการคิด ทำให้เกิดความสุขในชีวิต” ซึ่งผลการประเมินแบบนี้ไม่ต้องไปทำการเยี่ยมโรงเรียนก็สามารถเขียนได้ตั้งแต่ก่อนไปแล้ว แล้วโรงเรียนแตกต่างกันแค่ไหน ผลการประเมินต่างกัน แต่คำแนะนำยังเหมือนกันได้

ของแบบนี้เวลานักเรียนทำการบ้านกัน เขามีวิธีที่เรียกว่า Cut and Paste ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าการประเมินโรงเรียนใช้วิธี Cut and Paste ด้วยหรือเปล่า ด้วยเหตุนี้หรือเปล่าทำให้การประเมินโรงเรียนไม่มีประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น

เพราะฉะนั้น อย่างแรกที่จะปรับห้องเรียนเปลี่ยนอนาคตคือการคืนครูสู่ห้องเรียนโดยการต้องเปลี่ยนระบบการประเมินสถานการศึกษา แทนที่จะประเมินอย่างที่เป็นอยู่ คือ ประเมินโดยการตรวจเอกสารเป็นหลัก ทำให้ครูต้องใช้เวลานานมากในการต้องเตรียมเอกสารต่างๆ ของอย่างนี้จึงกลายเป็นว่าห้องเรียนจริงจะเป็นอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับเขียนลงไปในกระดาษว่าห้องเรียนเป็นอย่างไร ก็เป็นการใช้กระดาษหลอกกันไปกันมา

และเราอยากเห็นครูเป็นคนดี สอนให้นักเรียนเป็นคนดี แต่สำหรับระบบประเมินนั้นถ้าจะผ่านไม่ว่าเราดีหรือไม่ดี พร้อมหรือไม่พร้อม สิ่งที่ต้องทำก็คือเขียนลงกระดาษให้ดูดี นี่คือสิ่งที่สวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น

นอกจากการลดภาระของครูจากการประเมินแล้ว แทนที่จะเป็นการดูกระดาษให้มาดูความเป็นจริง หลายๆ เรื่องสามารถช่วยคืนครูกลับสู่ห้องเรียนได้ เช่น การจัดการอบรม ถ้าเป็นการจัดการอบรมในช่วงปิดภาคเรียนหรือช่วงวันหยุดก็จะทำให้ครูไม่เสียเวลากับการเรียนการสอน จัดเนื้อหากับการฝีกอบรมให้ตรงกับความต้องการ ถ้าเราจะเป็นการศึกษาศตวรรษที่ 21 จริงๆ นั้นต้องใช้การศึกษาที่ครูสามารถสอนให้นักเรียนคิดเป็นทำเป็น ตามทักษะศตวรรษที่ 21 ได้จริงๆ เช่น สอนให้ครูทำโปรเจกต์เป็นจริงๆ ไม่ใช่สอนโดยการเล็คเชอร์

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์  ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต

เรื่องที่สองในการปรับห้องเรียนก็คือ นอกจากการคืนครูสู่ห้องเรียนแล้ว เราจะต้องคืนครูที่พร้อม คืนครูที่เก่ง กลับสู่ห้องเรียนด้วย เพราะฉะนั้น หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาอีกอันหนึ่งก็คือคัดเลือกครูที่ดีออกมาให้ได้การศึกษา

ครูที่ดีที่สอนเก่งจะช่วยให้นักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด งานวิจัยพบว่า เมื่อจัดนักเรียนเป็นกลุ่มให้เหมือนกัน 2 ห้องเรียน ห้องเรียนหนึ่งเรียนกับครูที่เก่ง อีกห้องเรียนหนึ่งเรียนกับครูที่ไม่เก่ง ปรากฏว่าภายในระยะเวลา 3-5 ปี ผลการเรียนของนักเรียน 2 ห้องนี้แตกต่างกันมากมายมหาศาล ดังนั้น การได้ครูที่เก่ง ครูที่พร้อม ครูที่อยากจะสอน เป็นเรื่องจำเป็นกับการยกระดับคุณภาพการศึกษา

แต่เดิมที่เราคุยกัน คนไม่อยากเป็นครูเนื่องจากมีรายได้น้อย ระบบการเรียนการสอนมีคุณภาพต่ำ ไม่มีการให้รางวัลกับครูที่สอนดี แต่เหตุการณ์เช่นนี้หลายเรื่องได้เปลี่ยนไปแล้ว ข่าวร้ายกลายเป็นข่าวดีหลายอย่าง ข่าวดีประการแรกคือ ใน 10 ปีข้างหน้าจะมีครูเกษียณออกไปเป็นจำนวนถึง 200,000 คน และจะมีการรับครูใหม่เข้ามา

เพราะฉะนั้น หากเราคิดว่า การได้ครูดีคือการปฏิรูปการศึกษาการปรับห้องเรียนเพื่อเปลี่ยนอนาคตได้จริง การรับครูนั้นจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากในช่วง 10 ปีข้างหน้า

การที่จะมีครูเกษียณเยอะก็เป็นเพราะว่า ประเทศไทยมีโครงสร้างประชากรที่ไม่เป็นธรรมชาติ ยุคหนึ่งมีเด็กเกิดเยอะ เนื่องจากเชื่อว่ามีเด็กเกิดเยอะช่วยพัฒนาประเทศ และเปลี่ยนมาอีกยุคหนึ่ง เป็นยุคที่เชื่อว่าลูกมากจะยากนาน และมีการรณรงค์การคุมกำเนิดกัน เพราะฉะนั้นคนไทยจึงเกิดลดลง และการที่ประเทศไทยพัฒนาไปมากขึ้น คนก็มีลูกน้อยลงโดยธรรมชาติ

เพราะฉะนั้นก็จะมีบางช่วงที่มีเด็กเยอะ ครูเยอะ และช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ไทยเข้าสู่ยุคที่จำนวนเด็กลดลง และครูที่เป็นครูในระบบจะเกษียณกันไปเป็นจำนวนมาก

ครูล้น – โรงเรียนไม่มีสิทธิ์เลือกครูเอง

การสอบแข่งขันเป็นครูทุกวันนี้มีการแข่งขันในระดับที่สูงมากเนื่องจากผลตอบแทนของครูได้เพิ่มสูงขึ้น และเป็นธรรมดาเมื่ออาชีพครูเป็นอาชีพที่มีผลตอบแทนสูงขึ้นและเป็นอาชีพที่มีเกียรติในสังคม จึงมีนักศึกษาหรือนักเรียนที่อยากเป็นครูเพิ่มขึ้น การสอบแข่งขันเป็นครูจึงแข่งขันกันมาก

ในปี 2557 ที่ผ่านมา มีผู้ที่สอบบรรจุเป็นครูประมาณ 100,000 คน และมีการรับครูจำนวนไม่มากเท่าไร เพราะฉะนั้น การแข่งขันที่เกิดขึ้นก็คือจากคน 100 คนที่มาสอบแข่งขัน จะได้เป็นครูเพียง 2-3 คน หรือไม่เกิน 10 คน เรียกว่าแข่งขัน 10 เอา 1 หรือ 100 เอา 2 แตกต่างกันไปแล้วแต่ข้อมูลที่ใช้ ข้อมูลไม่เคยนิ่ง แต่โดยหลักแล้วการแข่งขันจะหนักหน่วงมาก

ในปี 2562 คือในอีก 4-5 ปีจากนี้ จะมีครูที่จบใหม่อีกประมาณ 300,000 คน และมีผู้ที่มีใบอนุญาตเป็นครูได้อยู่แล้วอีกประมาณ 300,000 คน เพราะฉะนั้น ประเทศไทยจะมีคนที่พร้อมเป็นครู 600,000 คน ในขณะที่จะมีการรับครูประมาณ 40,000-50,000 คน เพราะฉะนั้น การแข่งขันแบบ 10 เลือก 1 ก็จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต นี่ก็เป็นโอกาสดีที่จะต้องคัดเลือกครูสู่ห้องเรียนที่ได้ให้ได้

ปัญหาก็คือ หากใช้การคัดเลือกครูแบบปัจจุบัน ไม่ว่าจะมีการแข่งขันสูงแค่ไหน เราจะไม่ได้ครูที่ดีเข้าสู่ห้องเรียน เพราะปัญหาของการคัดเลือกที่มีอยู่หลายประการ อันดับแรกคือ การคัดเลือกครูยังคงใช้การสอบข้อเขียนเป็นหลัก เพราะฉะนั้น ครูที่เข้าไปสอนอาจจะมีความรู้ แต่ว่ามีทักษะการสอนดีหรือไม่ มีทัศนคติดีพอหรือไม่ ไม่ได้ถูกคัดเลือกมาด้วยวิธีนี้ ไม่มีการดูผลงานดูประวัติ มีการสัมภาษณ์เพื่อเลือกครูก็จริงแต่ก็ไม่ได้ใช้ผลของการสัมภาษณ์จริงๆ

การออกข้อสอบของเขตการศึกษาก็มีปัญหาอยู่ไม่น้อย ระบบปัจจุบันเป็นระบบที่เขตการศึกษาที่มีหลายร้อยเขตในประเทศไทยต่างออกข้อสอบกันเองเพื่อให้ได้ครู และบางเขตก็ออกข้อสอบล่วงหน้าเพียง 2-3 วันเท่านั้น บางเขตก็ตั้งใจออกข้อสอบให้ง่ายเป็นพิเศษเพราะกลัวว่าจะมีผู้ผ่านการสอบคัดเลือกมาเป็นครูไม่เพียงพอ และที่สำคัญที่สุดคือ โรงเรียนไม่มีสิทธิ์ในการคัดเลือกครู

การศึกษากับอนาคต4

ปรากฏการณ์ที่โรงเรียนไม่มีสิทธิ์ในการคัดเลือกครูเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดมาก และทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างในระบบการศึกษา ปีที่แล้วมีภาพยนตร์ ที่พูดถึงชีวิตครู ชื่อ “คิดถึงวิทยา” เรื่องนี้แม้จะดูเป็นเรื่องในนิยาย แต่ผลการวิจัยของเราพบว่าคล้ายกันอย่างน่ามหัศจรรย์ ก็คือประเทศไทยขาดแคลนครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษอย่างมาก ในขณะที่ผลิตครูพละศึกษามากมาย

ดังนั้น ในภาพยนตร์คิดถึงวิทยาจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราได้ครูสอนมวยปล้ำไปสอนคณิตศาสตร์ ซึ่งครูมวยปล้ำนั้นเองก่อนจะสอนคณิตศาสตร์ก็ต้องเข้าห้องน้ำไปแก้สมการด้วยตัวเองก่อน เพราะกลัวว่าจะไม่สามารถมาสอนนักเรียนได้ และเนื่องจากครูชื่อสอง แก้สมการไปมาอย่างไรก็ได้คำตอบเดิมอยู่ดี นี่คือปัญหาที่ว่าเราผลิตครูไม่ตรงกับความต้องการ ในเวลาเดียวกัน โรงเรียนก็ไม่มีโอกาสคัดเลือกครู กลายเป็นครูเป็นผู้คัดเลือกโรงเรียนที่จะไปสอน

สิ่งที่เราควรต้องทำก็คือการต้องเพิ่มมาตรฐานการสอบคัดเลือกครู โดยออกข้อสอบครูให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น แทนที่จะสอบแต่ละเขตให้ต่างคนต่างออกข้อสอบและทำกันไป ควรจะเป็นการปรับให้ออกข้อสอบแบบ “รวมศูนย์” เพื่อให้ได้มาตรฐานสูง ได้ครูสอบผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด

ส่วนครูก็มาขึ้นทะเบียนเพื่อที่จะให้โรงเรียนมาทำการสัมภาษณ์ ใช้วิธีนี้ในการคัดเลือกครูต่อไปว่าอยากจะได้ครูแบบไหน โรงเรียนที่มีความพร้อมแล้วอาจจะได้ครูที่เก่งในแต่ละวิชาไป แต่ในโรงเรียนที่ขาดแคลนครู เช่น โรงเรียนในท้องที่ห่างไกล ครู 1 คน จะต้องสอนนักเรียนหลายชั้นหลายวิชา เพราะฉะนั้นก็ต้องการครูที่มีความสามารถในการสอนหลายชั้นหลายวิชาได้ด้วย

การที่โรงเรียนสามารถคัดเลือกครูได้เองจะทำให้ได้ครูตรงกับความต้องการมากขึ้น ในเวลาเดียวกันในสาขาที่ขาดแคลน เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ก็ควรจะให้โอกาสผู้ที่มีทักษะในด้านนี้เข้าร่วมสอบด้วย แล้ววันหลังจึงไปสอบใบประกอบวิชาชีพครู จะช่วยลดการขาดแคลนครูในสาขาที่สำคัญๆ ไปได้

และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การผลิตครูออกมามากมายโดยเน้นเพียงปริมาณนั้นก็ควรที่จะมีการเปลี่ยนแปลง วิธีการที่จะเปลี่ยนแปลงได้ก็คือการประกาศผลการสอบ ว่าสถาบันการศึกษาแห่งไหนผลิตครูออกมาแล้วครูไม่สามารถไปสอบเป็นครูได้จริง ผลการเรียนไม่ดี ก็จะสะท้อนว่าสถาบันการศึกษาแห่งนั้นคุณภาพไม่ดีพอ จะได้เป็นแรงกดดันให้มีการปรับตัวกันต่อไป

ประเมินที่”กระดาษ”- ฉุดครูต้องทิ้งห้องเรียน

ประการที่ 3 หากเราจะปรับห้องเรียนเปลี่ยนอนาคต นอกจากคืนครูสู่ห้องเรียน คัดเลือกครูที่ดีมาแล้ว จะต้องบริหารจัดการห้องเรียนให้ดีด้วย วิธีการปรับปรุงการบริหารโรงเรียนจะต้องทำกันอย่างไร จะขอยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็คือระบบการให้รางวัลครูที่ไม่สอดคล้องกับที่ควรจะเป็น ทุกปีครูจะมีโอกาสเพิ่มเงินเดือนหรือเพิ่มวิทยฐานะได้ ซึ่งการเพิ่มเงินเดือนนั้นจะมีปีละ 2 ครั้ง

หากดู KPI หรือดัชนีชี้วัดที่ทำให้ครูไม่ได้ทำในสิ่งที่ครูอยากจะทำกัน ก็จะพบสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น มีการดูทักษะการสอน 30% ดูจริยธรรมและผลปฏิบัติงานอื่น 70% ผลการสอนทำได้โดยการเข้าไปดูไปสังเกตในห้องเรียน หากทำได้ดีส่วนนี้ก็ตอบโจทย์ได้ แต่เรื่องของการปฏิบัติงานอื่นและดูจริยธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากในประเทศไทย ที่จะสามารถวัดได้อย่างถูกต้อง

ผลการวิจัยของทีดีอาร์ไอมีออกมาอยู่ 2 แนว แนวแรกคือ ผู้อำนวยการหรือครูใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ประเมินครู ไม่อยากจะมีปัญหากับครู ก็ให้คะแนนจริยธรรมครูทุกคนเท่าๆ กัน ส่วนผู้อำนวยการบางคน ครูคนไหนที่สนิทสนมมากคนนั้นก็มีจริยธรรมมาก อันนี้ก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น

เช่นเดียวกันกับการที่จะเลื่อนวิทยฐานะ จะดูจากเรื่องต่างๆ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือดูจากผลการเรียนของนักเรียนเพียง 3% ขณะที่ดูจากเรื่องอื่นๆ เช่น ผลงานวิชาการ ถึง 13% เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นครูที่อยากมีความก้าวหน้าในอาชีพจะต้องไปทำงานวิชาการ เขียนบทความวิชาการของตนมากกว่าที่จะพัฒนาการสอนในห้องเรียน นี่คือปัญหาของระบบที่ทำให้ครูที่ตั้งใจเรียนตั้งใจสอนดีๆ ไม่สามารถทำในสิ่งที่ตนเองต้องการได้หากอยากมีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน

เพราะฉะนั้น เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข การบริหารจัดการนั้นมี 2 เรื่องใหญ่ เรื่องแรกนั้นคือ ต้องให้อิสระกับโรงเรียน โดยเฉพาะการให้อิสระโรงเรียนในการคัดเลือกครู และการจัดตัวชี้วัดการเลื่อนเงินเดือน เลื่อนวิทยฐานะของครูให้มีความสอดคล้องกับสิ่งที่ควรจะเป็นจริงๆ และเรื่องสุดท้าย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก มีอีกวิธีหนึ่งที่จะสามารถช่วยปรับปรุงห้องเรียน ปรับปรุงการเรียนการสอนได้ และช่วยยกระดับการเรียนรู้ แม้เวลาที่นักเรียนไม่อยู่ในห้องเรียน ก็คือเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เรื่องนี้ผมขอเป็นเรื่องที่ติดไว้ และเชื่อว่าวิทยากรที่จะอธิบายกันต่อไปจะหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกัน ก็ขอนำเสนอแนวคิดเพื่อเป็นต้นแบบให้ทุกท่านได้ถกอภิปรายกันต่อไป

Thai Publica Samsung