ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มหากาพย์นำเข้ารถหรู (9): “นายตรวจศุลกากร” ฟ้องอาญา คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

มหากาพย์นำเข้ารถหรู (9): “นายตรวจศุลกากร” ฟ้องอาญา คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

14 ตุลาคม 2015


จากการที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าเสนอข่าวมหากาพย์นำเข้ารถหรูสำแดงราคาต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยในตอนที่ 6 คณะกรรมการสอบวินัย หารืออธิบดีกรมศุลกากรอย่างไม่เป็นทางการ เสนอให้ลงโทษตัดเงินเดือนนายตรวจศุลกากรพัวพันคดีนำเข้ารถหรู คนละ 2-4% และ ตอนที่ 7 เปิดผลสอบนายตรวจ 108 ราย ผิดวินัยขั้นร้ายแรง 67 ราย ที่เหลือ 41 รายไม่มีความผิด

ล่าสุด ปรากฏว่านายพีระพล วุฒิญาณ ข้าราชการเกษียณในสังกัดสำนักงานศุลกากรกรุงเทพ (สกท.) กรมศุลกากร ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาคดีนำเข้ารถหรู เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ กล่าวหาคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงคดีนำเข้ารถหรู 5 ราย ประกอบด้วย นายสาธิต ภู่หอมเจริญ เป็นจำเลยที่ 1 นายพินิจ นิ่มตระกูล จำเลยที่ 2 นายมานิต สังขพันธ์ จำเลยที่ 3 นางโสพิศ บุญญานิตย์ จำเลยที่ 4 และนายอนันต์ สิทธิฤทธิ์ จำเลยที่ 5 ในข้อหา“เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 83

โดยศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ลงตราประทับรับฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ อ.2738/2558 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 พร้อมกับกำหนดวันนัดคู่ความมาเจรจาไกล่เกลี่ยวันที่ 26 ตุลาคม 2558 และนัดไต่สวนวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 เวลา 9.00 น. ณ ศาลอาญากรุงเทพใต้

การประมูลรถหรูของกรมศุลกากร
การประมูลรถหรูของกรมศุลกากร

สาเหตุการฟ้องร้องคดีอาญากับคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง คดีนำเข้ารถหรูสำแดงราคาต่ำ เกิดขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงสรุปผลสอบเจ้าหน้าที่ศุลกากร 108 คน ที่เกี่ยวข้องกับงานตรวจปล่อยรถหรู เป็นครั้งที่ 2 พบว่านายพีระพลและนายตรวจศุลกากรรวม 40 คน ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบและคำสั่งกรมศุลกากร โดยยอมรับราคานำเข้าและตรวจปล่อยรถยนต์ราคาต่ำกว่าราคาทำสอบที่กรมศุลกากรกำหนดเป็นจำนวนมาก อาจจะทำให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรง กรมศุลกากรจึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงต่อนายพีระพลและนายตรวจศุลกากรรวม 40 คน

จากนั้นนายพีระพลได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงมีความเห็นให้ยุติเรื่องสอบสวนผู้ถูกกล่าวหาบางราย ที่ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบราคาและตรวจปล่อยรถหรูเช่นเดียวกับนายพีระพล รวมทั้งให้การต่อคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเหมือนกัน กล่าวคือ นายพีระพลและผู้ถูกกล่าวหาบางรายให้การว่า “ได้ปฏิบัติตามคำสั่งกรมศุลกากรที่ 317/2547 กฎกระทรวงฉบับที่ 132 (พ.ศ. 2543) และตรวจสอบราคาจากฐานข้อมูลราคารถยนต์ในระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรที่มีการนำเข้าในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน”

คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ตัดสินให้นายพีระพลมีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง แต่กรณีผู้ถูกกล่าวหาบางรายมีความเห็นให้ยุติเรื่อง และเมื่อนายพีระพลนำคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาบางรายมาตรวจสอบ พบว่า นายพีระพลและผู้ถูกกล่าวหาบางรายมีการตรวจปล่อยรถหรูรุ่นเดียวกัน ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยมีการยอมรับราคาผู้นำเข้าใกล้เคียงกัน และมีบางกรณีนายพีระพลกำหนดราคาศุลกากรสูงกว่าผู้ถูกกล่าวหาบางราย เช่น กรณีรถยนต์ยี่ห้อ Toyota Alphard (2WD) 2362 CC ปี 2010 นายพีระพลยอมรับราคาศุลกากรที่คันละ 676,610.04 บาท ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาบางราย ยอมรับราคารถยนต์รุ่นนี้คันละ 659,699.44 บาท โดยนายพีระพลได้แนบสำเนาตารางการตรวจปล่อยรถยนต์ของตนเองและผู้ถูกกล่าวหาบางรายเป็นหลักฐานประกอบสำนวนคำฟ้อง

กรณีของผู้ถูกกล่าวหาบางรายเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ยังมีผู้ถูกกล่าวหารายอื่นที่ปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกับนายพีระพล แต่กรมศุลกากรไม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัย ดังนั้นเมื่อศาลอาญารับคำฟ้อง นายพีระพลจะขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานหลักฐานมาแสดงต่อศาลในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือชั้นพิจารณาคดีต่อไป

ในคำฟ้องนายพีระพลระบุว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 5 ราย จึงเป็นการกระทำโดยมิชอบ ใช้ดุลยพินิจสรุปข้อเท็จจริงหรือความเห็นไม่อยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย ไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติ ทำให้นายพีระพลเสื่อมเสียชื่อเสียง และไม่ได้รับสวัสดิการข้าราชการในระหว่างที่ถูกสอบสวนวินัย ทั้งเงินบำนาญและการเบิกค่ารักษาพยาบาล ทำให้นายพีระพลได้รับความเสียหายอย่างมาก นายพีระพลจึงตัดสินใจดำเนินคดีอาญากับคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรมศุลกากร โดยไม่แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน