ตามที่ “ไทยพับลิก้า” นำเสนอข่าวนายพีระพล วุฒิญาณ นายตรวจศุลกากร เป็นโจทก์ ฟ้องอาญา คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง คดีนำเข้ารถหรูสำแดงราคาต่ำ 5 คน เป็นจำเลยในข้อกล่าวหาเลือกปฏิบัติ ตามมาตรา 157 และมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดนี้ ตัดสินให้นายพีระพลผิดวินัยอย่างร้ายแรง ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหารายอื่น กลับมีความเห็นให้ยุติเรื่อง ทั้งๆ ที่นายพีระพลยอมรับราคาที่ผู้นำเข้าสำแดงสูงกว่ารายอื่น นายพีระพลจึงรวบรวมพยานหลักฐาน อาทิ คำให้การ และตารางแสดงการตรวจปล่อยรถยนต์ของตนเปรียบเทียบผู้ถูกกล่าวหารายอื่นๆ ส่งให้ศาลอาญากรุงเทพใต้พิจารณาลงตราประทับรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.2738/2558 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558
รายชื่อนายตรวจ 214 ราย ปล่อยรถหรูกว่า 4 หมื่นคัน
หลังจากที่นำเสนอข่าวนี้ ปรากฏว่ามีแหล่งข่าวจากกรมศุลกากรได้เปิดเผยข้อมูลสถิติการตรวจปล่อยรถยนต์ Grey Market ช่วงปี 2551-2555 พร้อมกับรายชื่อนายตรวจศุลกากรที่เกี่ยวข้องมามอบให้กองบรรณาธิการ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่ามีนายตรวจศุลกากร 214 ราย อนุมัติตรวจปล่อยรถหรูออกจากด่านศุลกากรทั้งสิ้น 40,237 คัน
3 รายแรก ปล่อยรถหรูรายละ 3,000 คัน
นายตรวจศุลกากรที่ตรวจปล่อยรถหรูมากที่สุด 10 อันดับแรก ปล่อยรถหรูเฉลี่ยรายละ 1,842 คัน มีดังนี้ อันดับที่ 1 นาย ธ. ตรวจปล่อยรถหรู 3,296 คัน, อันดับ 2 นาย บ. ปล่อยรถ 3,053 คัน , อันดับ 3 นาย ผ. ปล่อยรถ 2,667 คัน, อันดับ 4 นาย ส. ปล่อยรถ 2,416 คัน, อันดับ 5 นาย ช. ปล่อยรถ 1,423 คัน, อันดับ 6 นาย อ. ปล่อยรถ 1,274 คัน, อันดับ 7 นาย ป. ปล่อยรถ 1,159 คัน, อันดับ 8 นาย พ. ปล่อยรถ 1,098 คัน, อันดับ 9 นาย ว. ปล่อยรถ 1,083 คัน และ อันดับ 10 นาย อุ. ปล่อยรถ 957 คัน
ป.ป.ท. ทำชื่อตกหล่น 106 ราย
แหล่งข่าวจากกรมศุลกากรกล่าวว่า จากข้อมูลหลักฐานที่นำมาแสดง พบว่ามีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานตรวจปล่อยรถหรูทั้งหมด 214 ราย แต่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ส่งให้กรมศุลกากรสอบข้อเท็จจริงมีชื่อนายตรวจศุลกากรที่ปล่อยรถหรูราคาต่ำกว่าความเป็นจริง 108 ราย (ตามหนังสือ ลับ ที่ ยธ 1226.1/770 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 และหนังสือ ลับ ที่ ยธ 1226.1/968 วันที่ 12 มิถุนายน 2555) รายชื่อนายตรวจศุลกากรขาดหายไป 106 ราย
วันที่ 30 พฤษภาคม 2555 หนังสือลับจาก ป.ป.ท. มาถึงกรมศุลกากร รองอธิบดีกรมศุลกากรลงนามคำสั่งกรมศุลกากร ลับ ที่ 21/2555 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่ 108 รายทันที วันที่ 25 มกราคม 2556 รองอธิบดีกรมศุลกากรคนเดิม ลงนามคำสั่งกรมศุลกากร ลับ ที่ 3/2556 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงนายตรวจศุลกากรลอตแรก 27 ราย และลงนามคำสั่งกรมศุลกากรลับที่ 10/2557 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงนายตรวจศุลกากรลอตที่ 2 อีก 40 ราย สรุปว่านายตรวจ 108 ราย ผิดวินัยร้ายแรง 67 ราย ในจำนวนนี้อนุมัติให้ลาออกระหว่างสอบข้อเท็จจริง 1 ราย ส่วนที่เหลืออีก 40 ราย กรมศุลกากรสั่งยุติเรื่องและสอบสวนเพิ่มเติม
พบนายตรวจ 30 คน ปล่อยรถหรูหมื่นคัน ไม่ถูกสอบ
จากการตรวจสอบฐานข้อมูลรายชื่อนายตรวจศุลกากรที่เกี่ยวข้องกับงานตรวจปล่อยรถหรู 214 ราย พบนายตรวจ 30 ราย ปล่อยรถหรูออกจากด่านศุลกากรจำนวน 9,999 คัน แต่ไม่ถูกตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง มีรายชื่อดังนี้
อันดับที่ 1 นาย ผ. ปล่อยรถ 2,667 คัน, อันดับ 2 นาย ช. ปล่อยรถ 1,423 คัน, อันดับ 3 นาย อุ. ปล่อยรถ 957 คัน, อันดับ 4 นาย นิ. ปล่อยรถ 605 คัน, อันดับ 5 นาย พี. ปล่อยรถ 588 คัน, อันดับ 6 นาย พิ. ปล่อยรถ 588 คัน, อันดับ 7 นาง จุ. ปล่อยรถ 483 คัน, อันดับ 8 นาย ธน. ปล่อยรถ 350 คัน, อันดับ 9 นาย สม. ปล่อยรถ 343 คัน, อันดับ 10 นาย มณ. ปล่อยรถ 313 คัน, อันดับ 11 นาย สิง. ปล่อยรถ 210 คัน, อันดับ 12 นาย รจ. ปล่อยรถ 118 คัน, อันดับ 13 นาย นวย ปล่อยรถ 115 คัน, อันดับ 14 นาย พล ปล่อยรถ 115 คัน, อันดับ 15 นาย จิร ปล่อยรถ 104 คัน, อันดับ 16 นาย ธง ปล่อยรถ 97 คัน, อันดับ 17 นาย ระ ปล่อยรถ 94 คัน, อันดับ 18 นาย นูญ ปล่อยรถ 94 คัน, อันดับ 19 นาย ชัย ปล่อยรถ 91 คัน, อันดับ 20 นาย สัน ปล่อยรถ 83 คัน, อันดับ 21 นาย ภัท ปล่อยรถ 75 คัน, อันดับ 22 นาย ชัย ปล่อยรถ 67 คัน, อันดับ 23 นาย สุ ปล่อยรถ 62 คัน, อันดับ 24 นาย บู ปล่อยรถ 59 คัน, อันดับ 25 นาย ไพ ปล่อยรถ 58 คัน, อันดับ 26 นาย นึก ปล่อยรถ 58 คัน, อันดับ 27 นาย วัช ปล่อยรถ 57 คัน, อันดับ 28 นาย รัต ปล่อยรถ 55 คัน, อันดับ 29 นาย อภิ ปล่อยรถ 50 คัน, อันดับ 30 นาย นอ ปล่อยรถ 50 คัน(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
จากข้อมูลสถิติการตรวจปล่อยรถยนต์ Grey Market ในช่วงปี 2553-2555 จะเห็นว่า ด่านศุลกากรที่ตรวจปล่อยรถหรูมากที่สุด อันดับ 1 คือ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ปล่อยรถหรูออกจากด่านศุลกากรทั้งสิ้น 14,636 คัน อันดับ 2 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ปล่อยรถหรู 9,959 คัน อันดับ 3 สำนักงานศุลกากรลาดกระบัง ปล่อยรถหรู 5,190 คัน อันดับ 4 สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ปล่อยรถหรู 2,671 คัน และอันดับ 5 สำนักงานศุลกากรสุวรรณภูมิ ปล่อยรถหรู 15 คัน ส่วนที่เหลือคือสำนักงานศุลกากร ภาค 2 และภาค 4 ตรวจปล่อยรถหรูแห่งละ 3 คัน
ข้อสังเกต ช่วงปลายปี 2553 เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในขบวนการนำเข้ารถหรู จนทำให้นายสมชัย สัจจพงษ์ ถูกเด้งพ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรสมัยแรก พบว่าในช่วงปี 2553-2555 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังมีการตรวจปล่อยรถหรูออกจากด่านศุลกากรเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวกระโดด จากปี 2553 มียอดตรวจปล่อยที่ 364 คัน ปี 2554 เพิ่มเป็น 3,050 คัน และปี 2555 เพิ่มเป็น 6,545 คัน ขณะที่ด่านศุลกากรอื่น ทยอยปรับตัวลดลง