ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กีฬาสร้างเศรษฐกิจ “เนวินโมเดล” ปลุกบุรีรัมย์โตสวนกระแส เปลี่ยนเมืองผ่านเป็นเมืองพัก – ก้าวต่อไป “เมืองสุขภาพ” แห่งเอเชีย

กีฬาสร้างเศรษฐกิจ “เนวินโมเดล” ปลุกบุรีรัมย์โตสวนกระแส เปลี่ยนเมืองผ่านเป็นเมืองพัก – ก้าวต่อไป “เมืองสุขภาพ” แห่งเอเชีย

28 กันยายน 2015


580924บุรีรัมย์1
ป้ายบอกโปรแกรมการแข่งขันและตราสัญลักษณ์ของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด พบเห็นได้ทั่วไปใน จ.บุรีรัมย์

“เมืองนี้เจริญกว่าที่คิดมากเลยครับ”

นั่นคือความเห็นของนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยรังสิต ต่อ จ.บุรีรัมย์ หลังขับรถยนต์พาพ่อเดินทางจาก กทม. ระยะทางกว่า 400 กิโลเมตร มาที่จังหวัดนี้เป็นครั้งแรก เพื่อมาชมการแข่งขันฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศไทย โตโยต้า ไทยพรีเมียร์ลีก ระหว่างสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กับสโมสรฟุตบอลชัยนาท ฮอร์นบิล ในวันเสาร์ที่ 19 กันยายน 2558 ซึ่งผลจบลงด้วยชัยชนะท่วมท้น 7:0 ของทีมเจ้าถิ่น ที่ตั้งฉายาตัวเองว่า “เซราะกราว” ที่แปลว่า “บ้านนอก” ในภาษาเขมร

เขาวางแผนจะท่องเที่ยวอยู่ในจังหวัดนี้ช่วงสุดสัปดาห์ราว 2 วัน ก่อนเดินทางกลับ เป็นระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับตัวเลขที่กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เก็บสถิติไว้เมื่อปี 2557 ว่า เวลาเฉลี่ยที่นักท่องเที่ยวจะอยู่ใน จ.บุรีรัมย์ คือคนละ 1.96-2.55 วัน และจะใช้จ่ายเงินเฉลี่ยคนละ 863-961 บาท/วัน

อีกเป้าหมายหนึ่งของนักศึกษาปริญญาเอกรายนี้ คือมาขอสัมภาษณ์ “นายเนวิน ชิดชอบ” ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เพื่อทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ การใช้กีฬาเป็นเครื่องมือพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นหัวข้อเดียวกับที่ทีมข่าวจากไทยพับลิก้าเดินไปพูดคุยกับนายเนวินถึง จ.บุรีรัมย์เช่นกัน

นับแต่นายเนวินซื้อสิทธิในการบริหารทีมฟุตบอลอาชีพจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และย้ายสนามเหย้าของทีมจาก จ.พระนครศรีอยุธยา มาเป็น จ.บุรีรัมย์ ก่อนเข้าร่วมแข่งขันไทยพรีเมียร์ลีก ในปี 2553 เศรษฐกิจใน จ.บุรีรัมย์ก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว จากที่เคยมีนักท่องเที่ยว 908,218 คน ในปี 2553 ก็เพิ่มเป็น 1,186,759 คน ในปี 2556 ขณะที่จำนวนห้องพัก ก็เพิ่มขึ้นจาก 1,456 ห้อง มาเป็น 2,784 ห้อง หรือเกือบเท่าตัว ในระยะเวลาเพียง 4 ปี

พนักงานขับรถยนต์ลีมูซีนรายหนึ่งของบริษัทเอกชนที่ได้สัมปทานในการรับ-ส่งผู้โดยสารเพียงเจ้าเดียวจากสนามบินบุรีรัมย์ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ เข้ามาในตัวเมืองบุรีรัมย์ ให้ข้อมูลว่า ช่วง 2-3 ปีหลังมีโรงแรมเกิดใหม่เยอะมาก จนหลายครั้งที่ต้องขอให้ผู้โดยสารบอกพิกัด เพราะเป็นโรงแรมที่เขาไม่รู้จักและไม่เคยไปมาก่อน

“ก่อนวันแข่งขันฟุตบอล โรงแรมในตัวเมืองจะมีคนจองเต็มหมด จนบางครั้งต้องไปนอนที่นอกเมือง หรือที่ จ.นครราชสีมา หรือ จ.สุรินทร์ ก็มี พอถึงวันแข่งก็จะมีคนมาเป็นหมื่นๆ จนการจราจรในเมืองติดขัดไปหมด กว่าจะวนหาที่จอดรถที่สนามฟุตบอลได้ บางทีใช้เวลาเป็นชั่วโมง”

เขายังบอกว่า ในปัจจุบัน มีรายได้จากการขับรถยนต์รับส่งผู้โดยสารจากสนามบินเข้าไปในเมือง ขั้นต่ำเดือนละ 30,000-40,000 บาท ไม่รวมรายได้พิเศษที่อาจได้จากผู้โดยสารขอเหมารถไปเที่ยวนอกเส้นทาง และได้ยินมาว่า เร็วๆ นี้ จะมีการเพิ่มเที่ยวบินตรงมายัง จ.บุรีรัมย์ ทั้งของสายการบิน Air Asia และ Nok Air จากสมัยก่อน บินสัปดาห์ละแค่ 3 เที่ยว ปัจจุบันก็เพิ่มเป็นบินวันละเที่ยว แต่ในอนาคต จะเพิ่มเป็นวันละ 2 เที่ยว ที่คาดว่าจะสร้างรายได้ให้มากกว่าเดิมอีกไม่น้อย

“ก่อนหน้านี้ใน จ.บุรีรัมย์ก็มีคนไม่ชอบนายเนวินอยู่มาก เพราะเรื่องการเมือง แต่นับแต่เข้ามาทำเรื่องกีฬา คนที่ขอบคุณนายเนวินก็มีมากขึ้น เพราะนำความเจริญมาให้กับจังหวัด” พนักงานขับรถยนต์รายนี้ระบุ

580924บุรีรัมย์2
สนามฟุตบอลไอ-โมบาย สเตเดียม กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนบุรีรัมย์ ช่วงเย็นวันที่ไม่มีการแข่งขัน จะมีเยาวชนออกมาเล่นกีฬา ทั้งวอลเลย์บอล ฟุตบอล สเก็ตบอร์ด จักรยาน มวย วิ่ง ไปจนถึงแข่งรถซิ่ง

หากเดินในตัวเมืองบุรีรัมย์ในแต่ละวันจะเห็นคนใส่เสื้อทีมของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ไม่ว่าจะเสื้อทีมเหย้า-สีกรมท่า หรือเสื้อทีมเยือน-สีขาว ไม่ต่ำกว่า 10 คน

เช่นเดียวกับตราสัญลักษณ์รูปปราสาทหินพนมรุ้งสีน้ำเงินบนตราสามเหลี่ยมที่มีสายฟ้าฟาดพร้อมชื่อภาษาอังกฤษ Buriram United ที่เห็นได้ทั่วไป ตั้งแต่บนหลังคาร้านขายลูกชิ้นยืนกินชื่อดังหน้าสถานีรถไฟ บนประตูทางเข้าของโรงแรมหรูหลายดาว ไปจนถึงกระจกหลังรถยนต์ราคานับล้านบาทที่จอดอยู่ริมทาง

ทุกครั้งที่มีการแข่งขันฟุตบอลในสนามไอ-โมบาย สเตเดียม หรือ “ปราสาทสายฟ้า” สนามเหย้าของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ซึ่งเปิดใช้เมื่อปี 2554 จะมีคนเข้ามาชมการแข่งขันหลายหมื่นคน นัดสำคัญๆ จะมีแฟนบอลเข้าชมเต็มความจุ 32,600 คนเสมอ จนพนักงานต้อนรับในโรงแรมบางแห่งถึงกับบอกว่า “ไฮซีซันของ จ.บุรีรัมย์ ไม่ใช่ระหว่างเดือนไหนถึงเดือนไหน แต่เป็นวันแข่งขันฟุตบอล ทั้งศุกร์ เสาร์ หรืออาทิตย์ เพราะจะมีคนจองเต็มอยู่ตลอด เกือบทั้งปี”

กระทรวงอุตสาหกรรมเคยจัดทำบทวิเคราะห์สภาวะทางเศรษฐกิจของ จ.บุรีรัมย์ เมื่อปี 2556 ระบุว่า การมี “สนามแข่งขันกีฬาฟุตบอลที่มีชื่อเสียงและได้มาตรฐาน” เป็นหนึ่งในจุดแข็งของจังหวัด และเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนต่อเนื่องในจังหวัด โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและกีฬา

น.ส.วิมล ชอบสุข ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จ.บุรีรัมย์ เคยประเมินรายได้จากการท่องเที่ยวนับแต่มีทีมฟุตบอลระดับชาติ ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด จาก 1.4 พันล้านบาท ในปี 2555 มาเป็น 1.6 พันล้านบาทในปี 2556 และจะเพิ่มเป็น 2 พันล้านบาทในปี 2557

ยิ่งมีการก่อสร้างสนามแข่งรถยนต์ ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต มูลค่า 2 พันล้านบาท ที่เปิดใช้เมื่อปลายปี 2557 ก็คาดว่าจะทำให้ จ.บุรีรัมย์มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมากติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศได้ในที่สุด

ผลิตภัณฑ์มวลรวมจ.บุรีรัมย์
ผลิตภัณฑ์มวลรวมจ.บุรีรัมย์

ปัจจัยแง่บวกเรื่องการท่องเที่ยว ได้ส่งผลให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) ของ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานคลังจังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพิ่มขึ้นจาก 85,413 ล้านบาท ในปี 2553 เป็น 95,158 ล้านบาท ในปี 2555

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน จ.บุรีรัมย์ มีอีเวนต์ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาราว 70 อีเวนต์ และมีการแข่งขันฟุตบอลทั้งรายการในประเทศและระหว่างประเทศราวปีละ 30 นัด

เพียงเวลา 5 ปีเศษ จาก “เมืองผ่าน” ที่คนส่วนใหญ่ขับรถยนต์ผ่านจาก จ.นครราชสีมาไปยังจังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.บุรีรัมย์ค่อยๆ กลายมาเป็น “เมืองพัก” เป็นจุดหมายปลายทางที่ใครหลายคนมาเยือนด้วยเหตุผลเรื่องกีฬา

580924เนวิน1
นายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด

นายเนวินให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวออนไลน์ ThaiPublica ที่โรงแรมอมารี บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เชนโรงแรมห้าดาว ที่เพิ่งสร้างหลังกีฬาช่วยบูมเศรษฐกิจ จ.บุรีรัมย์ ว่า เป็นความตั้งใจแต่แรกอยู่แล้วที่จะใช้กีฬาในการสร้างเศรษฐกิจ สร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น กีฬาทำให้มูลค่าทรัพย์สินของคนบุรีรัมย์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากกว่า 200% เห็นได้จากราคาที่ดิน ก่อนปี 2553 เคยอยู่ไร่ละ 2 ล้านบาท มาปีนี้ก็เพิ่มเป็นไร่ละ 10 ล้านบาท

“จ.บุรีรัมย์เคยมีนักท่องเที่ยวปีละ 6 แสนคน พอมีทีมฟุตบอลก็เพิ่มเป็น 1.8 ล้านคน/ปี ตอนนี้มีสนามแข่งรถมาจะครบปี ผมคิดว่าตัวเลขน่าจะแตะ 2.5 ล้านคน/ปี สมมุติใช้เงินคนละ 2,000 บาท ก็จะมีเงินหมุนเวียนในจังหวัด 4-5 พันล้านบาท/ปี”

เขากล่าวว่า หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ช่วงปลายปีนี้ ได้วางเป้าหมายไว้ว่า ภายใน 3 ปีข้างหน้า จะทำให้มีแฟนในอาเซียนสัก 2% ของประชากรทั้งหมด หรือ 12 ล้านคน จากทั้งหมด 600 ล้านคน ให้ได้ แล้วสมมุติในคนเหล่านั้นอยากมาดูบุรีรัมย์เตะในสนามสัก 20% ก็จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มอีกอย่างน้อย 2.4 ล้านคน/ปี

จำนวนนักท่องเที่ยวบุรีรัมย์

รายได้จากการท่องเที่ยว

ความสำเร็จของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ที่คว้ามาได้ถึง 11 แชมป์ น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้แฟนบอลของทีมเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยนายเนวินกล่าวว่า เฉพาะปีนี้ ยอดขายเสื้อของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทีมเดียว มีมากถึง 4.6 แสนตัว มากกว่ายอดขายเสื้อของทีมในไทยพรีเมียร์ลีกอีก 17 ทีมที่เหลือ และทีมในดิวิชัน 1 ทั้ง 20 ทีม รวมกัน เสียอีก

“ขณะนี้เราไม่มองการแข่งขันภายในประเทศแล้ว เพราะตั้งเป้าจะเป็นท็อปไฟว์ของทวีปเอเชียให้ได้ เพื่อขยายฐานแฟนบอลให้กว้างขวางขึ้น และในอนาคตเราจะทำให้ จ.บุรีรัมย์เป็นเมืองกีฬาครบวงจร หรือ sport city นอกจากสนามฟุตบอลกับสนามแข่งรถ ยังมี adventure sport, motor sport และ water sport นี่คือเป้าหมายระสั้น แต่เป้าหมายระยะยาวคือทำให้เป็นเมืองแห่งสุขภาพ เป็น health city ดีไซน์ให้คนทั้งทวีปเอเชียเวลาคิดถึง จ.บุรีรัมย์ นอกจากมาดูกีฬา ยังได้เล่นกีฬา มาออกกำลังกาย เราจะจัดเทรนเนอร์ให้ แล้วมากินอาหารพื้นบ้าน ที่จะทำเป็นคลีนฟู้ด เป็นการกระจายรายได้สู่รากหญ้า”

เป็นวิสัยทัศน์ของประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่ไม่หยุดมองไปข้างหน้า ใช้กีฬาสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่น และไม่สงวนลิขสิทธิ์ให้จังหวัดอื่นลอกเลียนนำไปใช้ต่อ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ จ.บุรีรัมย์ ก่อนและหลังนำกีฬาเข้ามาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น

จำนวนนักท่องเที่ยว (ที่มา: กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)

ปี 2552 จำนวน 879,452 คน

ปี 2553 จำนวน 908,218 คน

ปี 2554 จำนวน 936,228 คน

ปี 2555 จำนวน 1,077,084 คน

ปี 2556 จำนวน 1,186,759 คน

รายได้จากการท่องเที่ยวโดยตรง (ที่มา: กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)

ปี 2552 รายได้ 808.48 ล้านบาท

ปี 2553 รายได้ 984.44 ล้านบาท

ปี 2554 รายได้ 1,148.28 ล้านบาท

ปี 2555 รายได้ 1,406.93 ล้านบาท

ปี 2556 รายได้ 1,659.79 ล้านบาท

ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด หรือ GPP (ที่มา: สำนักงานคลังบุรีรัมย์ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง)

ปี 2551 มี GPP รวม 64,613 ล้านบาท

ปี 2552 มี GPP รวม 76,209 ล้านบาท

ปี 2553 มี GPP รวม 85,413 ล้านบาท

ปี 2554 มี GPP รวม 97,915 ล้านบาท

ปี 2555 มี GPP รวม 95,158 ล้านบาท