ถึงตลาดฟุตบอลไทยจะเติบโต จนอาจเรียกได้ว่าเป็น “ธุรกิจ” เต็มตัว
ถึงสโมสรฟุตบอลอาชีพไทยแต่ละทีมจะใช้ “งบทำทีม” เฉลี่ยปีละนับร้อยล้านบาท
แต่น้อยคนจะรู้ว่า “การซื้อขายนักเตะ” ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการทำทีม จะอาศัยข้อมูลจากนายหน้า ที่เรียกว่า “เอเย่นต์” (agent) เป็นหลัก
แทบไม่มีสโมสรใดที่มี “แมวมอง” (scout) เป็นของตัวเอง
แตกต่างจากสโมสรฟุตบอลอาชีพชั้นนำในยุโรป ที่พึ่งพา “แมวมอง” ของสโมสรเป็นหลัก แล้วค่อยไปใช้บริการ “เอเย่นต์”
เหตุใดสโมสรฟุตบอลอาชีพของเมืองไทย ถึงต้องเชื่อข้อมูลจาก “บุคคลที่ 3” ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสโมสร
เหตุใดถึงต้องใช้บริการผู้มีอาชีพเป็น “เอเย่นต์” ทั้งๆ ที่ FIFA ได้ยกเลิกข้อกำหนดที่ว่า การซื้อขายนักเตะจะต้องกระทำผ่านบุคคลเหล่านี้ไปแล้ว
มารู้จัก“เอเย่นต์นักฟุตบอล” หนึ่งในตัวละครสำคัญของ “เกมธุรกิจลูกหนังไทย”
ไม่มี “แมวมอง” ในตลาดลูกหนังไทย – พึ่งพา “เอเย่นต์” เป็นหลัก
การซื้อขายนักเตะเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลการแข่งขันในสนาม โดยเฉพาะในลีกฟุตบอลอาชีพของเมืองไทย ที่แม้จะได้รับความนิยมอย่างสูง แต่เพิ่งตั้งไข่มาได้ไม่กี่ปี ทำให้มาตรฐานการแข่งขันยังไม่สูงมากนัก การซื้อนักเตะดีๆ โดยเฉพาะ “นักเตะต่างชาติ” แทบจะเปลี่ยนแปลงคุณภาพของทีมได้เลย
เหมือนอย่างการแข่งขันไทยพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2558 ที่สโมสรแบงค็อก ยูไนเต็ด ได้อันดับที่ 5 อย่างพลิกความคาดหมาย ขณะที่ทีมเต็งอย่างสโมสรบีอีซี เทโรศาสน กลับได้อันดับที่ 16 ต้องตกชั้นไปเล่นในดิวิชั่น 1 (ก่อนได้อยู่ในไทยพรีเมียร์ลีกต่อ หลังสโมสรสระบุรี เอฟซี ถูกตัดสิทธิ เนื่องจากปัญหาทางการเงิน) ทั้งที่มีนักเตะทีมชาติไทยอยู่เต็มทีม
กูรูลูกหนังไทยแทบทุกคนวิเคราะห์ว่า เหตุที่ผลงานของทั้ง 2 ทีมต่างกันขนาดนี้ เพราะคุณภาพของ “นักเตะต่างชาติ” เป็นหลัก
ตามกฏ สโมสรในไทยพรีเมียร์ลีกสามารถลงทะเบียนนักเตะต่างชาติได้ไม่เกิน 5 คน
และส่งลงนามได้ไม่เกิน 3+1 คนต่อนัด (นอกเอเชีย 3 คน และในเอเชีย 1 คน)
แต่ทั้งที่มีความสำคัญขนาดนั้น สโมสรฟุตบอลอาชีพของไทย กลับเลือกซื้อนักเตะทั้งไทยและต่างชาติ จากข้อมูลที่คนนอกสโมสรอย่าง “เอเย่นต์” ส่งมา ไม่มีการส่ง “แมวมอง” ไปเก็บข้อมูลนักเตะเอง อย่างที่หลายคนอาจเข้าใจ
“เนวิน ชิดชอบ” ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทีม 5 แชมป์จากฤดูกาล 2558 เคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าว่า การซื้อขายนักเตะของทีม โดยเฉพาะตัวต่างชาติ มีผู้เกี่ยวข้องเพียง 2 คน คือตนกับ “ทัดเทพ พิทักษ์พูลสิน” ผู้จัดการทีม โดยจะใช้ข้อมูลจากเอเย่นต์เป็นหลัก แล้วนำมาพิจารณาสถิติการเล่นต่างๆ ว่าจะเข้ากับทีมได้หรือไม่ ก่อนจะตัดสินใจซื้อ
ส่วนทัดเทพให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร a day ฉบับที่ 187 ซึ่งทำธีมเล่มเกี่ยวกับสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ว่า นอกจากรอข้อมูลจากเอเย่นต์แล้ว เราจะเสิร์ชกันเองก่อน ผ่านทางเว็บไซต์ www.tranfermarkt.com ซึ่งมีฐานข้อมูลนักเตะคล้ายกับเกมฟุตบอล Football Manager อยากได้นักเตะตำแหน่งไหน ส่วนสูงเท่าไร หมดสัญญาปีใด แค่พิมพ์ไป มันจะขึ้นมาให้หมด
“จากนั้นก็เอาชื่อที่เราสนใจไปค้นในฐานข้อมูลที่เสียเงินซื้อมาอีกที เพื่อดูวิดีโอว่าเก่งไหม ซึ่งวิดีโอนั้นจะตามเฉพาะนักเตะคนนั้นทั้งเกม หากผมสนใจคนไทยก็จะส่งข้อมูลให้คุณเนวินพิจารณาทางไลน์ ถ้าฝีเท้าเข้าตาก็ติดต่อไปยังสโมสรต้นสังกัดของนักเตะเพื่อขอซื้อตัว” ทัดเทพกล่าว
ด้วยวิธีหาข้อมูลนักเตะเช่นนั้น ทั้งรอข้อมูลจากเอเย่นต์-เสิร์ชหาข้อมูลเองเว็บไซต์ ทำให้ที่ผ่านมา ทีมฉายา “ปราสาทสายฟ้า” ได้นักเตะต่างชาติฝีเท้าดีๆ มาช่วยพัฒนาคุณภาพของทีมมากมาย ทั้ง Frank Acheampong (กาน่า), Frank Ohanza (แคเมอรูน), Carmelo Gonzalez (สเปน), Osmar Ibanez (สเปน), Javier Patino (สเปน/ฟิลิปปินส์), Go Suel-Ki (เกาหลีใต้), Andres Tunez (เวเนซุเอลา), Gilberto Macena (บราซิล) และ Diogo Luis Santo (บราซิล)
ทัดเทพยังบอกกับนิตยสาร a day เพิ่มเติมว่า ขั้นตอนสุดท้ายก่อนเซ็นสัญญา คือจะเข้าไปดูเฟซบุ๊กของนักเตะคนนั้นๆ ถ้ามีแต่ภาพชนแก้วก็ไม่ซื้อ
…อาจเพราะทีมใหญ่แห่งแดนอีสานใต้นี้เคยมีประสบการณ์เจ็บปวดกับนักเตะต่างชาติบางคนที่แหกค่ายออกไปหนีเที่ยว จนต้องยกเลิกสัญญากลางคันมาแล้ว
สถิติการซื้อขายนักเตะของ 18 ทีมในไทยพรีเมียร์ลีก ก่อนเริ่มต้นฤดูกาล 2559 (ซื้อขายระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2558 – 7 มีนาคม 2559)
– มีการย้ายเข้าทั้งสิ้น 251 คน แบ่งเป็นการซื้อ/เซ็นสัญญาฟรี 240 คน (คนไทย 177 คน ต่างชาติ 63 คน) และยืมตัว 11 คน (คนไทยทั้งหมด)
– มีการย้ายออกทั้งสิ้น 212 คน แบ่งเป็นการขาย 136 คน (คนไทย 95 คน ต่างชาติ 41 คน) ปล่อยยืม/หมดสัญญายืมตัว 68 คน (คนไทย 66 คน ต่างชาติ 2 คน) และหมดสัญญา/ยกเลิกสัญญา 8 คน (ต่างชาติทั้งหมด)
ที่มาข้อมูล: ประมวลจากข่าวการซื้อขายนักเตะที่เว็บไซต์ goal.com รวบรวม
“ค่าเหนื่อย”นักเตะ ทั่วไปหลักหมื่น – ทีมชาติหลักแสน – ต่างชาติหลักล้าน !
แหล่งข่าวซึ่งเป็นเอเย่นต์นักฟุตบอลที่ได้รับใบอนุญาตจากฟีฟ่าคนแรกๆ ของเมืองไทย หรือ “ฟีฟ่าเอเยนต์” ซึ่งตอนนี้ขอพักงานเอเย่นต์ไปก่อน เนื่องจากต้องการทุ่มเทเวลาไปให้กับงานประจำ กล่าวว่า ไม่มีทีมฟุตบอลอาชีพของไทยสโมสรไหนที่มี “แมวมอง” ทุกสโมสรใช้ “เอเย่นต์” ทั้งสิ้น ยกเว้นบางกรณีที่สโมสรนั้นๆ ไม่แน่ใจ ก็อาจจะส่งคนไปดูฟอร์มของนักเตะคนนั้นๆ เป็นการเฉพาะ อย่างสโมสรบางกอกกล๊าส เอฟซี ที่เคยส่งคนไปดูฟอร์มของ Darko Tasevski กองกลางทีมชาติมาซิโดเนีย ก่อนซื้อมาร่วมทีม
เขายังบอกด้วยว่า เป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะตรวจสอบว่า “สัญญาซื้อขายนักเตะ” แต่ละคนของแต่ละสโมสรมีมูลค่าเท่าใด โดยเฉพาะตัวเลขเงินเดือน หรือที่เรียกกันว่า “ค่าเหนื่อย” ด้วยเหตุผลเรื่องของภาษี และเหตุผลเรื่องปัญหาภายในทีม เพราะหากเปิดเผยไปอาจทำให้เกิดการเปรียบเทียบภายในหมู่นักเตะว่าทำไมคนนั้นได้ค่าเหนื่อยมากกว่าคนนี้ ข้อมูลที่มีการเปิดเผยส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลที่พูดต่อๆ กันมา หรือ “รู้กัน” ภายในหมู่เอเย่นต์ด้วยกัน
“สำหรับฐานเงินเดือนของนักเตะ หากเป็นคนไทย ทั่วๆ ไปจะอยู่ที่หลักหมื่นต่อเดือน แต่ถ้าเป็นทีมชาติแล้ว อาจจะขึ้นเป็น 300,000-400,000 แสนบาทต่อเดือน มากที่สุดของคนไทยเวลานี้ น่าจะเป็นชาริล ชัปปุยส์ ที่ได้จากทีมสุพรรณบุรี เอฟซี อยู่ที่ราว 800,000 บาทต่อเดือน ส่วนที่มีข่าวว่าทีมเมืองทอง ยูไนเต็ด ให้ธีรศิลป์ แดงดา เดือนละ 1,000,000 บาทต่อเดือน เท่าที่คุยกับเอเย่นต์หลายคน ไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง เพราะถ้าให้ขนาดนั้น จะทำให้เพดานเงินเดือนของทีมเมืองทองฯ พัง อาจทำให้มีปัญหาภายในทีมได้ น่าจะอยู่ที่พอๆ กับชัปปุยส์มากกว่า ส่วนฐานเงินเดือนนักเตะต่างชาติ มีตั้งแต่หลักแสนบาทปลายๆ ไปจนถึงหลักล้านบาทต่อเดือน” ฟีฟ่าเอเย่นต์ชาวไทยรายนี้กล่าว
“อรรณพ สิงห์โตทอง” รองประธานสโมสรชลบุรี เอฟซี มหาอำนาจลูกหนังลีกไทยในยุคตั้งต้น กล่าวกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ก่อนเริ่มต้นฤดูกาล 2559 ว่า การซื้อขายนักเตะจะอาศัยข้อมูลจากเอเย่นต์ที่ส่งมาให้เป็นหลัก โดยเฉพาะนักเตะต่างชาติ ไม่มีสโมสรฟุตบอลอาชีพของไทยสโมสรไหนที่มีแมวมอง เพราะเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
“เวลาจะซื้อนักเตะแต่ละครั้งจะไปปรึกษาโค้ช (ปัจจุบันคือ เทิดศักดิ์ ใจมั่น) ว่ายังขาดนักเตะในตำแหน่งไหน แล้วก็ดูข้อมูลนักเตะจากที่เอเย่นต์ต่างๆ เสนอเข้ามา โดยต้องพิจารณาทั้งจากตำแหน่ง สถิติการเล่น อายุ รวมถึงเงินเดือน ซึ่งผมกับโค้ชจะเป็นคนตัดสินว่าจะเอาใคร ไม่เอาใคร” อรรณพกล่าว
ระหว่างนั่งสนทนา ปรากฏว่ามีเอเย่นต์บางรายโทรศัพท์มาเสนอขายตัวนักฟุตบอลในความดูแล ทั้งไทยและต่างชาติ ให้กับรองประธานสโมสรชลบุรี เอฟซี อยู่เป็นระยะ
ถามว่าเหตุใดสโมสรฟุตบอลไทยชอบเซ็นสัญญากับนักเตะต่างชาติ “แค่ 1 ปี” อรรณพตอบว่า เป็นเพราะเราไม่แน่ใจนิสัยของนักเตะคนนั้นๆ ถ้าเซ็นยาว หากนิสัยแย่ก็ต้องทนไป ทำอะไรไม่ได้ ยกเว้นตัวไหนมั่นใจแล้วว่านิสัยใช้ได้ก็อาจจะเซ็น 2-3 ปี เผื่อขายได้ อย่าง Anderson Dos Santos กองหลังชาวบราซิลของทีม
ส่วนหลักเกณฑ์การพิจารณาเงินเดือนของสโมสรชลบุรี เอฟซี อรรณพกล่าวว่า หากเป็นนักเตะไทย ถ้าดาวรุ่งจะได้อยู่ที่ราว 20,000-30,000 บาทต่อเดือน แล้วก็เพิ่มขึ้นตามแต่ผลงานแต่ละคน ไปจนถึงระดับทีมชาติที่หลายแสนบาทต่อเดือน ขณะที่นักเตะต่างชาติอาจได้มากกว่านั้น
“แต่ต้องยอมรับว่า ทีมชลบุรีฯ มีงบทำทีมน้อยกว่าทีมชั้นนำอื่นๆ ในไทยพรีเมียร์ลีก ค่าเหนื่อยที่ให้ก็เลยน้อยกว่า แต่ที่นักเตะหลายคนยังยอมอยู่กับเราต่อไป เพราะอยู่กันมาตั้งแต่เด็ก มันมีความผูกพัน อย่างเกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์ ก็มีหลายๆ ทีมยื่นข้อเสนอเข้ามา แต่ก็ยังอยู่กับทีมชลบุรีฯ ต่อไป” อรรณพกล่าว
วิธีหารายได้จากการเป็น “นายหน้า” ค้านักเตะ
ปัจจุบัน มีคนไทยที่ได้รับใบอนุญาตให้เป็นเอเย่นต์นักฟุตบอลอย่างถูกต้องจาก FIFA หรือที่เรียกกันว่า “ฟีฟ่าเอเย่นต์” เพียง 14 คน เท่านั้น หลังจากสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดสอบไป ระหว่างปี 2553-2557 ก่อนจะยกเลิกการสอบในเวลาต่อมา เมื่อ FIFA เปลี่ยนกฎว่าการซื้อขายนักเตะไม่จำเป็นต้องมีเอเย่นต์อยู่ด้วย
“ชนินทร์ แก่นหิรัญ” รองเลขาธิการสมาคมฟุตบอลฯ ด้านกฎหมาย กล่าวว่า FIFA ได้ยกเลิกระบบเอเย่นต์ไปเมื่อ 1-2 ปีก่อน การซื้อขายนักฟุตบอลไม่จำเป็นต้องทำผ่านเอเย่นต์ที่มีใบอนุญาตก็ได้ แต่ที่หลายสโมสรยังใช้บริการเอเย่นต์อยู่ อาจเพราะคนเหล่านี้มีฐานข้อมูลนักฟุตบอล หรือมีคอนเน็กชั่นที่กว้างขวาง ถ้าแต่ละสโมสรไปหาข้อมูลเอง จะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น
“นฤชิต เกกินะ” ฟีฟ่าเอเย่นต์คนไทยอีกรายหนึ่ง กล่าวว่า การทำงานของเอเย่นต์จะมีอยู่ 2 แบบ
- ไปพูดคุยกับประธานหรือโค้ชของสโมสรต่างๆ ว่าต้องการนักเตะในตำแหน่งไหน เงินเดือนอยู่ที่เท่าไร หากเป็นนักเตะไทยก็ใช้คอนเน็กชั่นรวบรวมข้อมูลนักเตะที่น่าจะเข้าข่าย แต่ถ้าเป็นนักเตะต่างชาติก็จะประสานงานกับเอเย่นต์ต่างชาติที่เคยร่วมงานกัน ให้ช่วยหานักเตะแบบที่ต้องการ เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วค่อยกลับไปให้สโมสรนั้นๆ พิจารณา หากพอใจถึงจะเริ่มทำสัญญาซื้อขาย
- เอเย่นต์นำนักเตะที่อยู่ในความดูแลของตัวเองไปเสนอขายตามสโมสรต่างๆ หากสโมสรไหนสนใจค่อยเจรจาเรื่องการซื้อขาย
“หลังจาก FIFA ยกเลิกระบบเอเย่นต์ทำให้นักฟุตบอลหลายๆ คนใช้คนในครอบครัวหรือคนรู้จักมาเป็นเอเย่นต์แทน ทั้งที่จริงๆ ข้อดีของเอเย่นต์ก็มี คือคอยเป็นกันชนให้กับนักฟุตบอลเวลาไปเจรจาต่อรองกับสโมสร ทั้งการเซ็นสัญญาซื้อขายหรือการขอขึ้นเงินเดือน ที่หากให้นักฟุตบอลหรือผู้เกี่ยวข้องกับนักฟุตบอลไปเจรจา อาจทำให้มีปัญหาในการร่วมงานภายหลังได้ นอกจากนี้ เอเย่นต์แต่ละคนยังมีคอนเน็กชั่นกับเอเย่นต์ในประเทศอื่นๆ ทำให้สามารถหานักเตะตามที่สโมสรต่างๆ ต้องการได้ จะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าที่แต่ละสโมสรไปหากันมาเอง” ฟีฟ่าเอเยนต์รายนี้กล่าว
สำหรับรายได้ของเอเย่นต์ เขาบอกว่า ขึ้นอยู่กับการตกลงกับตัวนักฟุตบอล ส่วนใหญ่มักใช้การแบ่งเปอร์เซ็นต์จาก “ค่าเซ็นสัญญา” ซึ่งเรตทั่วไปคือ 10% แต่ก็มีบ้างที่ได้ส่วนแบ่งจาก “เงินเดือน” หรือได้รับเป็นเงินก้อนตามที่ตกลงไว้แต่แรก ทั้งจากนักฟุตบอลหรือจากสโมสรเอง แต่ทั้งหมดจะต้องไม่เกิน 10% ของมูลค่าสัญญาทั้งหมด ตามข้อกำหนดของ FIFA
“FIFA ยังกำหนดไว้ว่า เอเย่นต์แต่ละคนจะเซ็นสัญญากับนักเตะได้ไม่เกิน 2 ปี ที่เห็นว่าเซ็นกับยาวๆ อย่าง Jorge Mendes ที่เป็นเอเย่นต์ให้ Jose Mourinho อดีตโค้ชทีมเชลซี รวมถึงนักเตะชื่อดังหลายๆ คน อย่าง Cristiano Ronaldo นักเตะทีม Real Madrid เชื่อว่าจะเป็นการต่อสัญญา หรือใช้สัญญาใจกันมากกว่า เช่นเดียวกับเอเย่นต์ในเมืองไทยที่ใช้สัญญาใจเป็นหลัก จะติดต่อใช้บริการกันก็ต่อเมื่อจะมีการย้ายทีมเท่านั้น” นฤชิตกล่าว
“ผมเริ่มอาชีพนี้ในฐานะคนที่รักฟุตบอล อยากทำอะไรเพื่อวงการฟุตบอลไทย แต่เราเป็นนักเตะหรือโค้ชไม่ได้ ก็เลยมาเป็นเอเย่นต์แทน พอรู้ว่าสมาคมฟุตบอลฯ เปิดสอบฟีฟ่าเอเย่นต์ก็เลยไปสอบ และสอบได้เป็นรุ่นสุดท้ายพอดี หลังจากไม่มีคนสอบได้มา 3 รุ่นแล้ว รุ่นนั้นถ้าจำไม่ผิดมีสอบได้อยู่แค่ 4 คน แต่รวมๆ ทั้งประเทศมีคนไทยเป็นฟีฟ่าเอเย่นต์แค่ 14 คน
“เคยทำงานอยู่บริษัทเอเย่นต์แห่งหนึ่ง ปรากฏว่าเขาไม่จ่ายเงินให้ ก็เลยหยุดทำไป 1 ปี เพราะเบื่อๆ ตอนนั้นเพื่อนก็ชวนไปสอบใบอนุญาตเป็นโค้ชของสมาคมฟุตบอลฯ ก็ลองไปสอบดู แต่รู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวเรา เราน่าจะเหมาะกับการเป็นเอเย่นต์มากกว่า กระทั่งมีคนชวนให้มาทำในบริษัทปัจจุบัน ที่มีเจ้าของเป็นอดีตนักฟุตบอลเก่า ทำให้พอมีคอนเน็กชั่นในวงการ และมีน้องในบริษัทที่พูดภาษาสเปนกับโปรตุเกสได้ ทำให้คอนเน็กชั่นเรากว้างขวางขึ้น
“หนังเรื่อง Jerry Maguire ที่ทอม ครูซ เล่นเป็นแรงบันดาลใจให้กับเอเย่นต์ทุกคนมาก ทุกคนต้องดูหนังเรื่องนี้ เพราะเป็นตัวอย่างว่าเอเย่นต์ที่ดีควรจะเป็นอย่างไร อย่าทำงานแค่หวังเงินจากลูกค้าอย่างเดียว แต่ให้คิดถึงสวัสดิภาพของลูกค้าด้วย”
–นฤชิต เกกินะ ฟีฟ่าเอเย่นต์
เขายังให้ข้อมูลว่า หลังฟุตบอลอาชีพของเมืองไทยบูม ทำให้การแข่งขันในวงการเอเย่นต์มีค่อนข้างสูง แม้จะมีบริษัทที่มีเอเย่นต์ซึ่งได้รับใบอนุญาตจาก FIFA อยู่เพียง 3-4 บริษัทเท่านั้น แต่ต้องแข่งกับเอเย่นต์ไทยที่ไม่มีใบอนุญาต (นฤชิตใช้คำว่า “เอเย่นต์เถื่อน”) รวมถึงเอเย่นต์ต่างชาติที่เสนอขายนักฟุตบอลให้กับแต่ละสโมสรของไทยโดยตรง
จากการตรวจสอบของสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ก็พบบริษัทเอเย่นต์ไทยที่เปิดทำการอย่างเป็นกิจจะลักษณะ อาทิ
- บริษัท ไทยแลนด์ ฟีฟ่า เอเย่นต์ จำกัด มีนักฟุตบอลและโค้ชอยู่ในความดูแล อาทิ Francisco Rodriguez อดีตโค้ชสโมสรอัลเมเรียใน “ลาลีกา” ลีกอาชีพระดับสูงสุดของสเปน, Pacheta โค้ชชาวสเปนของสโมสรราชบุรี มิตรผล, Rodrigo Vergilio กองหน้าชาวบราซิลของสโมสรชลบุรี เอฟซี, Dominic Adiyiah อดีตกองหน้าทีมชาติกานาของสโมสรนครราชสีมา เอฟซี, กีรติ เขียวสมบัติ อดีตกองหน้าทีมชาติไทยของสโมสร ปตท. ระยอง ฯลฯ
- บริษัท ไทย ฟุตบอล เอเจ้นท์ จำกัด มีนักฟุตบอลและโค้ชอยู่ในความดูแล อาทิ Lazarus Kaimbi กองหน้าทีมชาตินามิเบียของสโมสรบางกอกกล๊าส เอฟซี, Adnan Barakat ปีกชาวดัตช์ของสโมสรนครปฐม เอฟซี, Lee Tuck กองหน้าร่างยักษ์ชาวอังกฤษซึ่งเพิ่งยกเลิกสัญญากับสโมสรนครราชสีมา เอฟซี, จักรพันธ์ พรใส ปีกทีมชาติไทยของสโมสรสุพรรณบุรี เอฟซี, ปิยพล ผานิชกุล กองหลังสารพัดประโยชน์ของสโมสรเมืองทอง ยูไนเต็ด ฯลฯ
- บริษัท เค.บี. สปอร์ตแมเนจเม้นท์ จำกัด มีนักฟุตบอลและโค้ชอยู่ในความดูแล อาทิ Soony Saad กองหน้าทีมชาติเลบานอนของสโมสรพัทยา ยูไนเต็ด, Wesley กองหน้าชาวบราซิลของสโมสรชัยนาท ฮอร์นบิล, Sho Shimoji ปีกชาวญี่ปุ่นที่เคยค้าแข้งในเจลีกมาแล้ว, Kalifa Cisse กองกลางอดีตทีมชาติมาลีของสโมสรแบงค็อก ยูไนเต็ด, Ernesto Phumipha แบ็คซ้ายลูกครึ่งไทย-สเปนของสโมสรแบงค็อก ยูไนเต็ด ฯลฯ
นี่คืออาชีพที่คอยขับเคลื่อนธุรกิจฟุตบอลอาชีพของเมืองไทยอยู่หลังฉาก ในลักษณะที่ยากที่คนทั่วไปจะรู้ !
10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเอเย่นต์ และธุรกิจฟุตบอลอาชีพไทย
- มีคนไทยที่เป็น “เอเย่นต์นักบอลอาชีพ” ได้รับใบอนุญาตจาก FIFA หรือฟีฟ่าเอเย่นต์ แค่ 14 คน เอเย่นต์ของนักบอลไทยปัจจุบันส่วนใหญ่ จะเป็นพ่อแม่พี่น้องไม่ก็แฟนของนักฟุตบอล เช่น ธีรศิลป์ แดงดา (พ่อ) ชนาธิป สรงกระสินธ์ (พ่อ) บางครั้งโค้ช ไม่ก็เพื่อนนักบอลเองทำตัวเป็นเอเย่นต์ให้ เนื่องจาก FIFA ไม่ได้บังคับว่าการย้ายทีมทุกครั้งต้องใช้เอเย่นต์
- รายได้ของเอเย่นต์นักฟุตบอล ส่วนใหญ่จะมาจาก “ค่าเซ็นสัญญา” มีบ้างที่มาจาก “เงินเดือน” หรือ “ค่าตอบแทนตามตกลง” ไม่ว่าจะจากตัวนักเตะเอง หรือจากสโมสรที่ขายนักเตะให้ แต่โดยรวมต้องไม่เกิน 10% ของมูลค่าสัญญาทั้งหมด เพราะ FIFA กำหนดไว้
- “คอนเน็กชั่น” เป็นเรื่องสำคัญมากของเอเย่นต์นักบอล บางคนฝังตัวอยู่กับบางทีม และขายนักเตะให้ทีมนั้นทุกๆ ปี
- การทำงานของเอเย่นต์จะเริ่มจากไปคุยกับ “ประธานสโมสร” หรือไม่ก็ “โค้ช” ของทีมนั้นๆ ว่าอยากได้นักเตะตำแหน่งไหน ค่าตัวประมาณเท่าไร แล้วเอเย่นต์จะไปติดต่อกับเอเย่นต์นักเตะที่น่าจะเข้าข่าย (ทั้งไทย+ต่างชาติ) ก่อนรวบรวมข้อมูลแล้วนำกลับมาเสนอ บางครั้งเอเย่นต์จะช่วยกรองนักเตะที่น่าจะถูก “ย้อมแมว” มาให้ด้วย
- เบื้องหลังการ “ยกเลิกสัญญา” นักเตะบางคนก่อนเปิดฤดูกาล โดยเฉพาะนักเตะต่างชาติ (เช่น ทีมเมืองทอง ยูไนเต็ด ยกเลิกสัญญา Negrao, บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ยกเลิกสัญญา Danilo กับ Andre Moritz และทีมโอสถสภา ยกเลิกสัญญา Nick Kalmar กับ Stefan Denkovic ก่อนเริ่มฤดูกาล 2559) แหล่งข่าวจากวงการเอเย่นต์ให้ข้อมูลไม่ตรงกัน แยกเป็น 2 ทาง 1. ในสัญญาที่เซ็นกันไว้จะระบุช่วงเวลาทดลองงาน 3 เดือน หากไม่พอใจให้ยกเลิกได้ และ 2. มีการจ่ายเงินชดเชยค่ายกเลิกสัญญาเป็นเงินก้อนใหญ่ ทำให้ไม่มีปัญหาฟ้องร้องกันภายหลัง
- เอเย่นต์กับนักเตะส่วนใหญ่ไม่ได้ “ทำสัญญา” ต่อกัน ใช้เป็น “สัญญาใจ” มากกว่า และมักติดต่อขอความช่วยเหลือเป็นครั้งๆ ไป เมื่อจะย้ายทีม
- การเซ็นสัญญานักเตะต่างชาติ มีแค่ 10% ที่เป็นการ “ซื้อตัว” กันจริงๆ 40% ยืมตัวโดยจ่ายค่ายืม และ 50% เซ็นหลังหมดสัญญากับต้นสังกัดเดิม (free transfer) เพราะสโมสรไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีเงินพอจะซื้อตัวนักเตะโดยตรง
- ค่าเหนื่อยนักเตะสูงสุดที่เล่นในลีกไทย เท่าที่วงการเอเย่นต์พูดคุยกัน (ไม่มีใครรู้ตัวเลขที่แท้จริง ยกเว้นสโมสร) สำหรับนักเตะต่างชาติ คือ Jay Bothroyd อดีตกองหน้าทีมชาติอังกฤษของทีมเมืองทอง ยูไนเต็ด (เล่นแค่ฤดูกาล 2557) กับ Jay Simpson อดีตกองหน้าชาวอังกฤษของทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด (เล่นฤดูกาล 2556-2557) ได้เดือนละ 60,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 2 ล้านบาท ส่วนนักเตะไทย คือ “ชาริล ชัปปุยส์” ของทีมสุพรรณบุรี เอฟซี เดือนละ 8 แสนบาท และ “ธีรศิลป์ แดงดา” กองหน้าทีมชาติไทยของทีมเมืองทอง ยูไนเต็ด ที่น่าจะได้ใกล้เคียงกัน
- มูลค่าของสโมสรฟุตบอลอาชีพไทยจากการประเมินโดยเว็บไซต์ tranfermarkt.com ในปัจจุบัน ทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มีมูลค่าสูงสุดที่ 7.38 ล้านยูโร (ราว 295 ล้านบาท) ตามมาด้วยทีมเมืองทอง ยูไนเต็ด 6.03 ล้านยูโร (ราว 241 ล้านบาท) ทีมสุพรรณบุรี เอฟซี 5.18 ล้านยูโร (207 ล้านบาท) ทีมแบงค็อก ยูไนเต็ด 4.45 ล้านยูโร (ราว 178 ล้านบาท) และทีมชลบุรี เอฟซี 4.30 ล้านยูโร (ราว 172 ล้านบาท) ส่วนมูลค่าของนักเตะในไทยพรีเมียร์ลีก สูงสุดที่มีการประเมิน นักเตะต่างชาติ คือ Diogo Luis Santo กองหน้าชาวบราซิลของทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่ 1.5 ล้านยูโร (ราว 60 ล้านบาท) ส่วนนักเตะไทย คือ “ธีรศิลป์ แดงดา” กองหน้าทีมชาติไทยของทีมเมืองทอง ยูไนเต็ด ที่ 8 แสนยูโร (ราว 32 ล้านบาท)
- เม็ดเงินที่หมุนเวียนในวงการฟุตบอลอาชีพไทย (ส่วนใหญ่เป็นค่าตัวและค่าเหนื่อยนักเตะ) จากการเก็บข้อมูลโดยสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ในปี 2557 คือ 2,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่ 2,000 ล้านบาท ถึง 20%
ทำไมฟีฟ่ายกเลิกระบบ “เอเยนต์นักฟุตบอล”
สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (Fédération Internationale de Football Association: FIFA) ได้ยกเลิกระบบเอเย่นต์นักฟุตบอล (players’ agents) และนำระบบคนกลาง (intermediaries) ขึ้นมาใช้แทนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 หลังมีการสรุปปัญหาของ “ระบบเอเย่นต์นักฟุตบอล” ในการประชุมใหญ่ของฟีฟ่าเมื่อปี 2552 โดยพบปัญหาหลัก 3 ประการ
- ความไม่มีประสิทธิภาพในการออกใบอนุญาตให้เป็นฟีฟ่าเอเยนต์ของสมาคมฟุตบอลต่างๆ ทำให้การโยกย้ายนักฟุตบอลระหว่างประเทศหลายครั้งต้องทำโดยเอเย่นต์เถื่อนที่ไม่มีใบอนุญาต
- การโยกย้ายนักเตะหลายครั้งที่ทำโดยฟีฟ่าเอเย่นต์เอง กลับประสบปัญหาเรื่องความโปร่งใส ไม่สามารถตรวจสอบได้
- ความสับสนในเรื่องข้อบังคับระหว่างคนที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสโมสรต่างๆ กับเอเย่นต์นักฟุตบอล
ปัญหาจากระบบเอเย่นต์ฟุตบอลดังกล่าว นำไปสู่การคิดค้นระบบใหม่ นั่นคือการนำ “ระบบคนกลาง (intermediaries)” ขึ้นมาใช้แทน โดยระบบนี้จะวางกรอบการทำงานให้เข้มข้นขึ้น มีการกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะมาทำหน้าที่ตัวกลางอย่างเข้มงวด เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างความโปร่งใส เช่น
- คนกลางต้องลงทะเบียนไว้กับ FIFA และมีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรกับสโมสรหรือนักฟุตบอลที่ตนเองเกี่ยวข้อง
- คนกลางต้องเปิดเผยค่าตอบแทนที่ได้รับจากการโยกย้ายนักฟุตบอลที่ตัวเองรับผิดชอบ โดย FIFA กำหนดค่าคอมมิชชั่นสูงสุดไว้แค่ 3% สร้างความไม่พอใจให้กับสมาคมเอเย่นต์นักฟุตบอลแห่งอังกฤษ (England’s Association of Football Agents: AFA) ที่ระบุว่า 3% นั้นน้อยเกินไป และขัดกับหลักการตลาดเสรีของยุโรป พร้อมกับยื่นคำร้องคัดค้านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จน FIFA ต้องออกมาชี้แจงว่า 3% ไม่มีผลผูกมัด (non-binding) เป็นแค่ “ตัวเลขแนะนำ” เท่านั้น สโมสรและนักเตะสามารถจ่ายค่าตอบแทนให้กับคนกลางได้เท่าที่ต้องการ
- ในกรณีที่อาจเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ให้คนกลางแจ้งต่อผู้เกี่ยวข้องก่อนทำการเจรจาโยกย้ายนักฟุตบอล
คณะกรรมการบริหารของ FIFA ได้มีมติในการประชุมวันที่ 21 มีนาคม 2557 ให้นำระบบคนกลางมาใช้แทนระบบเอเย่นต์นักฟุตบอล ก่อนแก้ไขข้อบังคับในการประชุมใหญ่ของ FIFA เดือนมิถุนายน 2557 เพื่อให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 เป็นต้นไป