ThaiPublica > เกาะกระแส > “อสม.ออนไลน์” แอปลิเคชันบริการชุมชนด้านสาธารณสุขฟรีจากเอไอเอส ยกระดับป้องกันและรักษา 3 ร. “รู้เร็ว ส่งตัวเร็ว รักษาไว”

“อสม.ออนไลน์” แอปลิเคชันบริการชุมชนด้านสาธารณสุขฟรีจากเอไอเอส ยกระดับป้องกันและรักษา 3 ร. “รู้เร็ว ส่งตัวเร็ว รักษาไว”

20 กันยายน 2015


งานเปิดตัว "อสม. ออนไลน์" ณ รพ.สต.หลักร้อย นครราชสีมา โดยนายสุชาติ สนพะเนาว์ , นายณรงค์ เสือบุญ ,นายปรัธนา ลีลพนัง , และนางวิไล เคียงประดู่
งานเปิดตัว “อสม. ออนไลน์” ณ รพ.สต. หลักร้อย จ.นครราชสีมา โดยนายสุชาติ สนพะเนาว์, นายณรงค์ เสือบุญ, นายปรัธนา ลีลพนัง และนางวิไล เคียงประดู่ (จากซ้ายมาขวา)

ระบบสุขภาพของคนไทย มีทั้งระบบประกันสุขภาพแห่งชาติที่ดูแลประชากรประมาณกว่า 48 ล้านคน ระบบประกันสังคมกว่า 11 ล้านคนและระบบข้าราชการอีกประมาณ กว่า 5 ล้านคน แต่การดูแลยังไม่ค่อยทั่วถึง รวมทั้งโรงพยาบาลรัฐที่มีคนมาใช้บริการจำนวนมาก ประกอบกับสังคมไทยที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น มีแม่วัยรุ่นมากขึ้น แต่ทำอย่างไรที่จะมีบริการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง ทั้งในแง่การป้องกันและการรักษา ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2558 บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หลักร้อย เปิดตัวแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ โดยนายปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานการตลาด เอไอเอส กล่าวว่าอสม.ออนไลน์ เป็นแอปพลิเคชันที่เอไอเอสพัฒนาขึ้นจากการสำรวจความต้องการในพื้นที่เครือข่ายหลายแห่งทั่วประเทศ โดยทาง รพ.สต. หลักร้อย มีความต้องการระบบและเครื่องมือเข้ามาช่วยเหลือการทำงานของ อสม. ทางเอไอเอสเห็นว่าระบบสาธารณสุขเป็นเรื่องสำคัญที่จะสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนได้ อีกทั้ง รพ.สต. ยังมีความพร้อม มีความต้องการ และมีเครือข่าย อสม. ที่เข้าถึงประชาชนระดับครัวเรือนในการดูแลสุขภาพ จึงสร้างแอปพลิเคชันนี้ขึ้นมา และเริ่มใช้งานเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558

นายปรัธนากล่าวว่า อสม. ทุกคนสามารถโหลดแอปฯ นี้ใช้ได้ฟรี ซึ่งรูปแบบของแอปฯ นี้ออกแบบการใช้งานตามความต้องการของเครือข่าย อสม.ได้ตรงจุด เช่น 1. มีหน้ากระดานข่าวที่เป็นห้องชัดเจน อาทิ ห้องนัดประชุม ห้องแจ้งรับเงิน ข่าว/ประกาศ บันทึกการประชุม 2. สามารถส่งรายงานข้อมูลประจำเดือนได้ผ่านแอปฯ 3. มีห้องสนทนาที่สื่อสารกันได้ทันทีระหว่างเครือข่ายฯลฯ รวมถึงสามารถส่งข้อความตัวอักษร ภาพ เสียง และวิดีโอคลิปได้ด้วย

“แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้การทำงานของ รพ.สต. และ อสม. เนื่องจาก อสม. จะมีข้อมูลที่ครบถ้วนและทันต่อเหตุการณ์สำหรับใช้ในการปฏิบัติงานลงพื้นที่ ทำให้สามารถเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคในพื้นที่รับผิดชอบได้ดีขึ้น ตลอดจนส่งเสริมให้การบริหารจัดการภายในของ รพ.สต. มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วย” นายปรัธนากล่าว

ด้านนางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการส่วนงานประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า หลังจากที่เริ่มใช้ อสม.ออนไลน์ ในพื้นที่นำร่องที่ รพ.สต. หลักร้อยแล้ว ปัจจุบันมีรพ.สต. อื่นๆ ที่สนใจจะใช้บริการด้วยอีกประมาณ 20 แห่ง ซึ่งทางเอไอเอสพร้อมที่จะขยายการให้บริการไปทั่วประเทศ ขึ้นอยู่กับความต้องการของ อสม.

“อสม. ออนไลน์เป็นแอปพลิเคชันแรกของเอไอเอสที่ให้ใช้บริการฟรี ซึ่งต่อไปจะมีการให้บริการชุมชนฟรีแบบนี้อีก โดยมองว่าจะทำแอปพลิเคชันสำหรับชุมชนที่มีความเสี่ยงสูงเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ” นางวิไลกล่าว

อสม.ออนไลน์

ด้านนายสุชาติ สนพะเนาว์ ผู้อำนวยการ รพ.สต. หลักร้อย กล่าวว่า แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ เกิดจากความคิดที่ต้องการพัฒนาการทำงานด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะกลุ่มของ อสม. ซึ่งแอปฯ นี้ช่วยให้ รพ.สต. และ อสม. หลักร้อย จำนวน 145 คนทำงานมีศักยภาพมากขึ้น ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการข้อมูล การติดต่อสื่อสาร การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคในพื้นที่รับผิดชอบ รวมไปถึงการลงพื้นที่ดูแลคนในชุมชนที่อยู่ในความรับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามเป้าหมาย 3 ร. คือ รู้เร็ว ส่งตัวเร็ว รักษาไว

“ที่ผ่านมา อสม. ทำงานรีบเร่งแค่ไหนก็ไม่รวดเร็ว และต้องทำงานซ้ำซ้อน เช่น การนัดประชุม อสม. กว่า 100 คน ก็ต้องโทรศัพท์ตามทีละคน การสื่อสารใช้โทรศัพท์คุยกันอย่างเดียวซึ่งบางครั้งเข้าใจผิดพลาดเพราะไม่เห็นภาพประกอบ เช่น การปรึกษาการใช้ยา ฯลฯ โทรศัพท์ที่ อสม. มีมักใช้โทรเพียงอย่างเดียว เพราะส่วนใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไป เมื่อเอไอเอสเข้ามาสอบถามความต้องการและเราเสนอไป โดยอยู่บนเงื่อนไขที่ตกลงกัน”

นายสุชาติกล่าวว่า เมื่อทราบเงื่อนไขแล้วก็มาทำประชาคมกับ อสม. ทั้ง 145 คน ของตำบลปรุใหญ่ พบว่า อสม. เห็นด้วยอยากให้มีแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ หลังจากนั้นเอไอเอสจึงไปออกแบบและพัฒนาตามความต้องการของ อสม. และเริ่มใช้งานในที่สุด ซึ่งจากการทดลองใช้งานพบว่าใช้งานได้ดี ทำงานได้รวดเร็วขึ้นเป็นระบบ 3:3:1 นั่นคือ ในเวลา 3 ชั่วโมง ต้องลงพื้นที่ตรวจสอบหาผู้ป่วยหลังจากได้รับแจ้งเหตุ เช่น เป็นไข้เลือดออก ในเวลา 3 ชั่วโมง เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สอบสวนโรค และในเวลา 1 วัน เพื่อลงพื้นที่ฉีดพ่นลูกน้ำยุงลาย

ขณะที่ในอดีต การทำงานระหว่าง รพ.สต. กับ อสม. เพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารนั้นใช้เวลานาน และอาจจะไม่ได้รับข้อมูลครบทุกคน หรือหากได้รับข้อมูลก็อาจจะช้าเกินไปจนไม่สามารถเฝ้าระวังและป้องกันได้ทันท่วงทีหากเกิดโรคระบาด เช่นเดียวกับการนัดประชุม และการส่งรายงานการประชุมประจำเดือนที่ อสม. ต้องส่งกลับมาให้กับ รพ.สต. เดือนละครั้งนั้นมักจะส่ง ณ วันที่ประชุม ทำให้ผู้อำนวยการ รพ.สต. ไม่ได้อ่านรายงานล่วงหน้าเพื่อแก้ไขตรวจทานรายงานได้ก่อน

“อสม. เป็นอาสามาสมัครกลุ่มเดียวที่เหลืออยู่ของสาธารณสุขที่จะดูแลเรื่องสุขภาพของประชาชนได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งในวันนี้แอปพลิเคชันใช้งานได้ดีแล้ว แต่ยังต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เพื่อประโยชน์ในการให้บริการด้านสาธารณสุขกับประชาชน เช่น การเพิ่ม “ห้องผู้ป่วยติดเตียง” เพื่อการสนทนาและแลกเปลี่ยนข่าวสารของผู้ป่วยที่ต้องนอนอยู่กับเตียงตลอดเวลาซึ่งมีอยู่จำนวนมากในตำบลปรุใหญ่” นายสุชาติกล่าว

ด้านนายณรงค์ เสือบุญ ผู้อำนวยการสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) เมืองนครราชสีมากล่าวว่า ทั้งจังหวัดมี อสม. กว่า 50,000 คน โดยในเขตอำเภอเมืองมี อสม. ประมาณ 7,400 คน ซึ่งดูจากการใช้งานแอปพลิเคชันของ อสม. พื้นที่นำร่องตำบลปรุใหญ่ จำนวน 145 คน แล้วคิดว่าระสบความสำเร็จดี และจากการเผยแพร่ไปยัง อสม. พื้นที่อื่นๆ พบว่าได้รับความสนใจและอยากใช้บริการแอปพลิเคชันจำนวนมาก โดยหวังว่าจะสามารถขยายผลการใช้ “อสม.ออนไลน์” ได้ครอบคลุม อสม. ทั้งอำเภอเมืองด้วย สำหรับเรื่องเครื่องมือไม่น่ามีปัญหาเพราะประชาชนส่วนใหญ่ของอำเภอเมืองใช้ซิมเอไอเอสอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นเครือข่ายแรกๆ ที่ติดตั้งในพื้นที่ ส่วนเรื่องสมาร์ทโฟนก็ไม่น่าเป็นปัญหาเนื่องจากส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ

ปัจจุบันเอไอเอสมีผู้ใช้บริการกว่า 44 ล้านเลขหมาย คิดเป็นประชากรประมาณกว่า 30 ล้านคนทั่วประเทศ หรือคนประมาณครึ่งประเทศใช้บริการเอไอเอส ซึ่งการทำงานกับชุมชนหรือสาธารณะเหล่านี้เป็นการให้บริการกับชุมชน และทางเอไอเอสพร้อมที่จะพัฒนาร่วมกับสาธารณสุขและขยายผลเครือข่าย อสม.ออนไลน์