ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม.-คสช. ถกหั่นโรดแมปจาก 20 เดือน “ประยุทธ์” เผยฟ้องแพ่งจำนำข้าวยังไม่สรุป – ให้ “วิษณุ” ร่วมสรรหา ป.ป.ช.

ครม.-คสช. ถกหั่นโรดแมปจาก 20 เดือน “ประยุทธ์” เผยฟ้องแพ่งจำนำข้าวยังไม่สรุป – ให้ “วิษณุ” ร่วมสรรหา ป.ป.ช.

16 กันยายน 2015


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 5/2558 จากนั้นเป็นการประชุม ครม. ตามปกติ โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธานทั้ง 2 การประชุม

ถก ครม.-คสช. หาวิธีหั่นโรดแมป 20 เดือน

พล.อ. ประยุทธ์ แถลงข่าวภายหลังการประชุมว่า ครม. กับ คสช. ได้หารือโรดแมปที่ขยายเวลาออกไปอีก 20 เดือน หลังจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ โดยหวังว่าอะไรที่สามารถใช้เวลาได้น้อยกว่านั้นก็ควรทำ เช่น เวลาที่ใช้ในการร่างรัฐธรรนูญ จาก 6 เดือน อาจจะเหลือ 4 เดือน เวลาในการทำประชามติ จาก 4 เดือน อาจจะเหลือ 3 เดือนครึ่ง แต่บางอย่างมีกระบวนการของมันอยู่ จะไปทำเร็วไม่ได้

สำหรับความคืบหน้าในการแต่งตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จำนวนไม่เกิน 200 คน ได้ให้นโยบายไปแล้วว่าน่าจะมาจากบุคคล 7-8 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. ข้าราชการประจำ 2. อดีตข้าราชการ ที่รู้ปัญหาดี 3. นักการเมือง/พรรคการเมือง ซึ่งได้ติดต่อไปบ้างแล้ว 4. นักวิชาการ 5. ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดทำแผนงาน/โครงการ 6. ฝ่ายความมั่นคงทั้งตำรวจและทหาร 7. กลุ่มการเมือง และ 8. สมาชิก สปช. เดิม ทั้งที่ลงมติรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่การแต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จำนวนไม่เกิน 21 คน ยืนยันว่าต้องมีนักกฎหมาย

การแต่งตั้งคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด จะพยายามรวบรวมรายชื่อให้จบภายในวันที่ 22 กันยายน 2558 ก่อนเดินทางไปร่วมประชุมองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อกลับมาถึงจะตัดสิน ยืนยันว่าสามารถตั้งได้ก่อนเส้นตายในวันที่ 5 ตุลาคม 2558 อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ หากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องให้ผ่านให้ได้ และยังไม่ได้เตรียมแผนสำรองไว้ หากจำเป็นก็อาจจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อให้มันเดินหน้าไปได้

“ที่ทำมาถึงวันนี้ ผมคิดว่าผมทำดีที่สุดแล้ว ผมขาดทุนลงทุกวัน เรื่องผลประโยชน์ก็ไม่ได้อะไรอยู่แล้ว มีผลต่อความปลอดภัยในชีวิต และเวลาพักผ่อนก็ลดลง แต่ผมจำเป็นต้องทำเพื่อรักษาสถานการณ์ ให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และท้ายที่สุดประชาชนจะเป็นผู้ที่ได้กำไร” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

แจงใช้ ม.44 เรียกคนรายงานตัวแค่ตามจำเป็น

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า การใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 เรียกบุคคลมารายงานตัว ยืนยันว่าจะใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และที่เรียกมาก็เรียกเพราะทำความผิด ใครผิดก็เรียกหมด แม้กระทั่งสื่อมวลชน ทั้งที่ความจริงตนไม่ต้องการทะเลาะกับสื่อมวลชน แต่คนคนนี้ก็พูดอย่างนี้อยู่ตลอด สถานการณ์ขณะนี้อยู่ในภาวะไม่ปกติจึงต้องมีกลไกในการรักษาความสงบ เพราะหากปล่อยให้มีประชาธิปไตยไร้ขีดจำกัดแบบช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็จะทำให้เกิดปัญหาเหมือนเดิมอีก ตนไม่อยากให้ขัดแย้ง แต่ก็อยากให้ทุกฝ่ายเคารพกติกา ที่ผ่านมา เมื่อเรียกมารายงานตัวก็ทำข้อตกลง 3 ข้อ แต่มีการใช้ไปแค่ห้ามเดินทางออกนอกประเทศกับยึดพาสปอร์ต ยังไม่ได้ใช้เรื่องการระงับธุรกรรมทางการเงินเลย

ฟ้องแพ่งจำนำข้าวยังไม่สรุป รอเช็คสต็อกให้แน่ชัด

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับการประชุม ครม. ตนได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมาย นำโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย ไปรวบรวมคดีความที่มีการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐว่ามียอดรวมอยู่เท่าไร โดยบางคดีมีการไปทำสัญญาให้เสียเปรียบตั้งแต่ต้น เพราะแม้คนทำสัญญาจะถูกลงโทษ แต่สัญญากลับไม่เป็นโมฆะ ทำให้มีการฟ้องร้องต่อรัฐในภายหลัง และหากแพ้คดีในศาล ท้ายสุดก็ต้องเสียเงินชดใช้เหมือนกรณีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ แทนที่จะมีเงินนำไปให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเพิ่มเติม หรือนำไปก่อสร้างรถไฟหรือถนน

ส่วนความคืบหน้าในการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ก็มีการรายงานเข้ามาแล้ว แต่ยังมีความไม่ชัดเจนเรื่องตัวเลข เพราะมีบางยุ้งข้าวที่กองข้าวพังลงมา จึงต้องให้คนเข้าไปตรวจสอบให้ชัดเจนอีกครั้ง ว่าเหลือข้าวอยู่เท่าไร เบื้องต้นคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเสนอให้ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินหลายแสนล้านบาท ซึ่งตนจำตัวเลขที่ชัดเจนไม่ได้ แต่เท่าที่มีการแจ้งมาครั้งแรก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 500,000 ล้านบาท คาดว่าน่าจะฟ้องได้ภายในปีนี้

เตรียมรับมือภัยแล้งหนัก หลังน้ำแห้งเหลือแค่ 30%

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องภัยแล้ง ถึงปัจจุบันมีน้ำอยู่ในเขื่อนเพียง 30% ทำให้การเพาะปลูกฤดูกาลหน้าทำไม่ได้ และแล้งหน้าอาจจะมีปัญหา ที่พูดเช่นนี้ไม่อยากให้ตื่นตระหนก แต่อยากให้เตรียมตัวรอรับสถานการณ์ ที่ไหนฝนตกก็อยากให้หาที่กักเก็บไว้ก่อน แล้วรัฐบาลจะดูให้ว่าจะหาวิธีช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร เบื้องต้นจะให้เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้เปลี่ยนวิธีการปลูกพืช ช่วงต้นน้ำอาจจะไม่มีปัญหา ช่วงกลางน้ำให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ส่วนปลายน้ำปลูกพืชไม่ได้อยู่

ไม่เปลี่ยนนโยบายส่งผู้หลบหนีเข้าเมืองกลับประเทศ

เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า เหตุระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 มีสาเหตุมาจากกรณีที่รัฐบาลส่งชาวอุยกูร์ที่หลบหนีเข้าเมืองกลับไปยังประเทศจีน พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า คิดว่ายังไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน รัฐบาลยังไม่ตัดประเด็นใดทิ้ง กรณีคนหลบหนีเข้าเมือง เมื่อมีการพิสูจน์สัญชาติเสร็จก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย จะถูกหรือผิดก็ไปว่ากันที่ต้นทาง ที่ผ่านมาเราเป็นม้าอารี ทำให้ศูนย์รองรับผู้อพยพจำนวนมาก ถ้าเรายอมรับหมด สุดท้ายไทยก็จะเป็นทางผ่านในการส่งคนไปทั่วโลก

ส่วนแนวคิดในการจัดตั้งกระทรวงความมั่นคงที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ คงจะให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติไปคิดต่อว่าจะจัดตั้งขึ้นมาหรือไม่ โดยพิจารณาจากความจำเป็น เพราะขณะนี้ยังมีข้อถกเถียงกันถึงข้อดีข้อเสียในการจัดตั้งกระทรวงนี้

โฆษก รบ. แจงคุม “ประวิตร” เพราะทำผิดข้อตกลง

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2544 มาตรา 44 เชิญนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเนชั่น ไปปรับทัศนคติเป็นเวลา 7 วันว่า เพราะนายประวิตรทำผิดข้อตกลงที่เคยทำไว้เมื่อเชิญตัวไปครั้งแรก เป็นการเชิญไปไม่ใช่ในฐานะสื่อ แต่ในฐานะบุคคล ทั้งนี้ จะดูพฤติกรรมนายประวิตรระหว่างถูกควบคุมตัวว่าเป็นเด็กดีหรือเด็กดื้อ หากเป็นเด็กดี เมื่อครบ 7 วันก็จะทำข้อตกลงครั้งที่ 2 แล้วปล่อยตัว แต่ถ้าทำผิดอีกก็จะส่งฟ้องศาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง แต่ถ้าเป็นเด็กดื้อก็อาจจะส่งฟ้องศาลไปทันที

สำหรับสถานที่ควบคุมตัวนายประวิตร พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะอาจมีการเคลื่อนไหวกดดัน และยืนยันว่าจะไม่มีการกระทำใดที่ส่งผลต่อสวัสดิภาพของนายประวิตรแน่ เพราะตามกฎหมายควบคุมตัวได้แค่ 7 วัน หากมีการทำร้ายร่างกาย ย่อมปรากฏหลักฐานบนตัวนายประวิตร

road map1
ส่วนหนึ่งของพาวเวอร์พอยต์ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย ใช้ชี้แจงต่อที่ประชุมร่วมกันของ ครม. กับ คสช. ถึงโรดแมป 20 เดือนก่อนเลือกตั้ง ตามสูตร 6+4+6+4

“วิษณุ” แจงยิบ โรดแมปเลือกตั้ง มิ.ย.2560

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมกันระหว่าง ครม. กับ คสช. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย ได้กล่าวชี้แจงถึงโรดแมปที่ใช้เวลา 20 เดือน ไปสู่การเลือกตั้ง ตามสูตร 6+4+6+4 อย่างละเอียด โดยยืนยันว่าโรดแมปไม่ได้ยืดจากเดิมไปถึง 20 เดือน อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ยืดไปเพียง 6 เดือน เท่านั้น เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาแทนฉบับซึ่งที่ประชุม สปช. มีมติไม่เห็นชอบ และที่ยืดเวลาไม่ได้ความหมายว่าเราตั้งใจ แต่เป็นไปตามข้อกฎหมายที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 โดยนายกฯ กำหนดให้เวลา 20 เดือนเป็นเพดานสูงสุด แต่เร็วกว่านี้ก็จะยิ่งดี

ขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นเป็นการตั้ง กรธ. จำนวนไม่เกิน 21 คน ขึ้นมาภายในวันที่ 5 ตุลาคม 2558 และให้เวลาร่างรัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน ซึ่งอาจหยิบเนื้อหาจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับซึ่ง สปช. มีมติไม่เห็นชอบบางส่วนมาใช้ได้ จากนั้นจะนำไปสู่การทำประชามติที่ต้องใช้เวลาราว 4 เดือน เพราะต้องมีการพิมพ์เอกสารแจกประชาชน หากผ่านการทำประชามติ ก็จะนำไปสู่การจัดทำกฎหมายลูกที่ใช้เวลาราว 6 เดือน เพราะบางขั้นตอนต้องใช้เวลานาน เช่น การเขียนรัฐธรรมนูญลงในใบลาน 3 ชุด ที่อาจต้องจัดทำเป็นเดือน เมื่อ กรธ. ยกร่างกฎหมายลูกเสร็จก็ต้องส่งให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา แล้วส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจทานอีกครั้ง ซึ่งอาจมีบางขั้นตอนที่ใช้เวลาเร็วกว่าที่กำหนดไว้ได้ จากนั้นจะไปสู่ขั้นสุดท้าย คือเตรียมจัดการเลือกตั้ง ที่ใช้เวลา 4 เดือน หรือประมาณเดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งขั้นตอนนี้คงลดไม่ได้ เพราะต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองขนาดเล็กสามารถชี้แจงนโยบายให้ประชาชนรับทราบ

แม่น้ำ 2 สายทำงานเป็นฝาแฝด – สนช. แค่ผู้ช่วย ครม.

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ขณะที่การบริหารประเทศหลังจากนี้ ครม. และ คสช. จะทำงานคู่ขนานกันเหมือนฝาแฝด โดยจะมีการแต่งตั้ง สปท. ไม่เกิน 200 คน ขึ้นมาขับเคลื่อนการปฏิรูป ซึ่งทั้ง กรธ. และ สปท. ไม่ต้องนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้งานกระชับ

สำหรับโครงสร้างการทำงาน ครม. จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ งานบริหาร ที่จะมี สนช. เข้ามาเสริมเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย งานปฏิรูป ที่ต้องให้ส่วนราชการเข้ามามีส่วนร่วม โดยต้องทำบางส่วนให้เสร็จสิ้นในรัฐบาลนี้เพื่อเป็นแนวทางให้กับรัฐบาลชุดต่อไป และงานปรองดอง ที่ต้องอาศัยความสมัครใจจากทุกภาคส่วน ขณะที่โครงสร้างการทำงานของ คสช. จะมีเครื่องมือหลักคือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 ที่ถึงปัจจุบันมีการใช้ไปแล้ว 27 ครั้ง เพื่อรักษาความมั่นคง และทำให้ ครม. ทำภารกิจทั้ง 3 ส่วน ได้อย่างเต็มที่

สำหรับวาระการประชุม ครม. ที่น่าสนใจ มีอาทิ

ควักงบกลาง 681 ล้าน จ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมอนุมัติจ่ายงบกลางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ปี 2557 (ระหว่างเดือนมิถุนายน 2557 – เดือนกุมภาพันธ์ 2558) รวมวงเงิน 681 ล้านบาท โดยเงินช่วยเหลือดังกล่าวจะครอบคลุม 5 ภัยพิบัติ ได้แก่ น้ำท่วม แล้ง ฝนทิ้งช่วง ศัตรูพืชระบาด และโรคพืชระบาด ครอบคลุมพื้นที่ 16 จังหวัด ในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ คาดว่าจะช่วยเหลือเกษตรกรได้ 6.1 หมื่นคน ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้สำนักข่าวไทยพับลิก้าเคยรวบรวมการอนุมัติงบกลางของ ครม. พล.อ. ประยุทธ์ พบว่ามียอดรวมทั้งสิ้น 22,534 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินส่วนที่มีการอนุมัติให้ จะทำให้ ครม. พล.อ. ประยุทธ์ ใช้งบกลางไปแล้วทั้งสิ้น 23,215 ล้านบาท

แก้ กม.บีโอไอ เพิ่มแรงจูงใจเพียบ หวังดึงดูดนักลงทุน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เสนอ เพื่อปรับปรุงกฎหมายเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2520 ที่เป็นอุปสรรคต่อการจูงใจนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. นี้ มีอยู่ 5 ประเด็น ประกอบด้วย ให้กรรมการหรือที่ปรึกษาของ BOI ที่ครบวาระแล้วยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้แต่ต้องไม่เกิน 120 วัน จนกว่ากรรมการหรือที่ปรึกษาของ BOI ชุดใหม่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้การทำงานมีความต่อเนื่อง, ให้ BOI มีอำนาจมอบหมายให้บุคคลภายนอกดำเนินการแทน BOI ในบางภารกิจ เช่น ตรวจสอบเครื่องจักร วัตถุดิบ และวัสดุจำเป็น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการ, แก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับเงื่อนไขขององค์กรการค้าโลก (WTO), กำหนดสิทธิและประโยชน์เพื่อให้ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมีการทำวิจัยและพัฒนา และเพิ่มสิทธิและประโยชน์ด้านภาษีให้กับผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ทั้งนี้ จะต้องส่งให้ สนช. พิจารณาเพื่อออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

“ใน ครม. ก็สอบถามว่าเป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้นักลงทุนมากเกินไปหรือไม่ ซึ่งมีการชี้แจงว่า ที่ผ่านมาได้ทดลองเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ปรากฏว่านักลงทุนไม่ได้เพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย จึงต้องเพิ่มแรงจูงใจ เพราะหากทำแบบเดิมก็ไม่เกิดประโยชน์ขึ้น การพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุนจะไม่ทำให้เราเสียประโยชน์อะไร เพราะจะได้จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต” พล.ต. สรรเสริญกล่าว

ไฟเขียว คมนาคมยื่นอุทธรณ์คดีขึ้นค่าโทลล์เวย์ไม่ชอบ

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอในการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลาง กรณีฟ้องร้องว่า ครม. มีมติขึ้นราคาค่าผ่านทางทางด่วนโทลล์เวย์โดยมิชอบ เมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นกรณีที่ ครม. ขณะนั้นอาจต้องการคะแนนเสียงก่อนเลือกตั้ง จึงมีมติลดค่าผ่านทางทางด่วนโทลล์เวย์ลง หลังเลือกตั้งเสร็จก็มีมติขึ้นค่าผ่านทางทางด่วนโทลล์เวย์ ทำให้ผู้เสียประโยชน์ฟ้องร้องต่อศาล ซึ่งครั้งแรกศาลไม่รับฟ้อง แต่ต่อมาศาลรับฟ้องและพิพากษาว่า ครม. ผิด เบื้องต้นอัยการสูงสุด (อสส.) ทำหนังสือแจ้งมาว่าให้รับตามนี้ไม่ต้องอุทธรณ์ แต่ คค. เห็นว่าจะเป็นแบบนั้นไม่ได้ เพราะอาจเป็นบรรทัดฐาน จึงต้องยื่นอุทธรณ์เพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐ โดยเส้นตายของการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดต้องไม่เกินวันที่ 17 กันยายน 2558 หรือเหลือเพียง 2 วันเท่านั้น แต่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่าจะยื่นอุทธรณ์ได้ทันอย่างแน่นอน

ทอท. รายงานปรับปรุงสนามบิน 9 แห่ง – สุวรรณภูมิเฟสสอง เสร็จต้นปี’59

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในการประชุม ครม. วันนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) ได้รายงานความคืบหน้าการปรับปรุงและสร้างท่าอากาศยานเพิ่มเติม จำนวน 9 แห่ง ดังนี้

  1. ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ทางทิศใต้ และลานวิ่ง (Runway) ที่ 3 ได้ในต้นปี 2559
  1. ท่าอากาศยานดอนเมือง มีการดำเนินการสร้างอาคารโดยสารหลังที่ 2 (T2) จะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ในเดือนธันวาคม 2558
  1. ท่าอากาศยานภูเก็ต มีการปรับปรุงอาคาร และเพิ่มหลุมจอดเครื่องบิน จะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559
  1. ท่าอากาศยานอุบลราชธานี ได้เปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่แล้วเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา โดยอาคารหลังนี้เป็นการสร้างทดแทนอาคารหลังเดิมที่ถูกเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2557
  1. ท่าอากาศยานอุดรธานี จะเปิดใช้อาคารผู้โดยสารใหญ่ใหม่หลังจากปรับปรุงแล้วเสร็จในวันที่ 19 กันยายน 2558
  1. ท่าอากาศยานลำปาง จะเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ที่ออกแบบโดยใช้สถาปัตยกรรมล้านนา ในวันที่ 27 กันยายน 2558

สำหรับท่าอากาศยานที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงของกรมการบินพลเรือน คือ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ได้รับงบประมาณในการขยายพื้นที่ให้บริการของอาคารผู้โดยสารและสายการบินแบบประจำได้มากขึ้น ท่าอากาศยานเบตา จะเริ่มก่อสร้างในปี 2559 อยู่ระหว่างขออนุมัติงบประมาณ และท่าอากาศยานนราธิวาส ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการยื่นขอปรับปรุง

ตั้งปลัด สธ. ย้ายใหญ่คมนาคม – ให้ “วิษณุ” ร่วมสรรหา ป.ป.ช.

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมมติแต่งตั้ง นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่งตั้งนายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเลขาธิการ สศช. แต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รวม 4 ตำแหน่ง อาทิ ให้นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นอธิบดีกิจการเด็กและเยาวชน ให้นายสมชาย เจริญอำนวยสุข อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ฯลฯ

แต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในกระทรวงคมนาคม รวม 10 ตำแหน่ง อาทิ ให้นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เป็นรองปลัดกระทรวง ให้นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สบข.) เป็นรองปลัดกระทรวง ให้นายชูศักดิ์ เกวี อธิบดีกรมทางหลวง เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง ให้นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นอธิบดีกรมทางหลวงชนบท ให้นายสนิท พรหมวงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ให้นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า เป็นอธิบดีกรมการบินพลเรือน ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังแต่งตั้งให้นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แต่งตั้งให้นายสุทธิพล ทวีชัยการ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และต่ออายุเวลาการดำรงตำแหน่งของนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เป็นครั้งที่สอง อีก 1 ปี

และมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย เป็นกรรมการในคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งนี้ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2558 ที่เปลี่ยนองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. จากประธานศาล 3 ศาล ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร มาเป็นประธานศาล 3 ศาล ประธาน สนช. และรองนายกฯ ที่ ครม. มอบหมาย