ThaiPublica > คอลัมน์ > เหตุการณ์ครูทำร้ายนักเรียนที่โคราช ภาพสะท้อนวัฒนธรรมการเมืองไทย

เหตุการณ์ครูทำร้ายนักเรียนที่โคราช ภาพสะท้อนวัฒนธรรมการเมืองไทย

6 กันยายน 2015


ฉกาจนิตย์ จุณณะภาต

ที่มาภาพ : http://m.mono-mobile.com/news/files/2015/08/23.jpg
ที่มาภาพ : http://m.mono-mobile.com/news/files/2015/08/23.jpg

จากคลิปวิดีโอเหตุการณ์ที่รองผู้อำนวยการโรงเรียนเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ได้เข้าต่อว่าประธานนักเรียนในทำนองเหยียดเพศและถึงขั้นลงมือตบหัวนั้น ผมเห็นว่าเป็นกระจกสะท้อนวัฒนธรรมทางการเมืองให้กับสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

อันที่จริงหากจะนึกถึงเรื่องที่ครูลงไม้ลงมือกับนักเรียนแบบรุนแรงนั้น ผมคิดว่าใครที่เกิดมายุคก่อนหน้าปี 2540 ก็น่าจะเคยเห็นมาบ้าง เพราะจากประสบการณ์ของผมเอง ก็เคยเห็นคุณครูที่ลงมือชกหน้าเพื่อนนักเรียนต่อหน้าอยู่เหมือนกัน ซึ่งตอนนั้นก็รู้สึกว่ามันรุนแรงเกินไป แต่ด้วยกระบวนทัศน์ของคนในยุคนั้น ก็ไม่ได้คิดว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่โตอะไรมาก และถ้าจะว่ากันตามตรง ผมคิดว่าเด็กนักเรียนสมัยก่อนไม่มีใครกล้าที่จะต่อกรกับครูที่โรงเรียนแน่นอน ซึ่งต่างกับเด็กนักเรียนสมัยนี้อย่างชัดเจน

ผมคิดว่าการวิเคราะห์ว่าฝ่ายใดถูกหรือผิด น่าจะเป็นการไม่ยุติธรรมต่อทั้งสองฝ่าย เพราะสิ่งที่เราเห็นกันในคลิปจากโลกออนไลน์เป็นเพียงเหตุการณ์สั้นๆ ไม่กี่สิบนาทีเท่านั้น

แต่สังคมไทยเห็นและเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้ คือ สิ่งที่ผมสนใจมากกว่าดังนี้

1. เราเป็นสังคมที่ผู้ใหญ่ยังชอบอำนาจนิยม

สังคมส่วนใหญ่ในเอเชีย รวมถึงสังคมไทยต่างก็ได้รับอิทธิพลจากหลักปรัชญาขงจื๊อในเรื่องเกี่ยวกับการเคารพผู้ที่อาวุโสกว่า การที่ผู้น้อยลุกขึ้นท้าทายอำนาจผู้ใหญ่หรือเสนอการเปลี่ยนแปลง จะถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรม โดยไม่ต้องพิจารณาถึงเหตุผลอื่น

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างในสังคมไทยนั้น หากไม่ริเริ่มหรือได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่แล้ว ยากที่จะสำเร็จลุล่วงไปได้

2. ผู้น้อยไม่มีเครื่องมือในการต่อรองกับผู้มีอำนาจ

มูลเหตุของเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ อันที่จริงก็มาจากเรื่องที่ทางโรงเรียนไม่สามารถชี้แจงเด็กนักเรียนได้ว่า เงินที่เก็บไปคนละ 200 บาทนั้น เขาจะได้รับประโยชน์อย่างไรจากมันบ้าง ซึ่งมองดูแล้วก็คล้ายกับเรื่องที่พวกเราก็เจอกันอยู่ทุกวัน คือ รัฐบาลเก็บภาษีจากเราไป แต่บางครั้งเราก็อยากรู้ว่ารัฐบาลเอาภาษีเราไปใช้อย่างคุ้มค่าหรือไม่

บางทีเราก็ไม่เห็นด้วยสิ่งที่รัฐบาลอธิบายเหมือนกัน (ก็ดูอย่างเรื่องการซื้อเรือดำน้ำนั่นอย่างไรครับ)

เรื่องแบบนี้มีความสำคัญมากนะครับ เพราะในทางประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นบ่อเกิดอำนาจของระบบรัฐสภาเลยทีเดียว

เรื่องก็มีอยู่ว่ากษัตริย์ของอังกฤษได้ทำสงครามกับกษัตริย์ฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาเราเรียกกันว่า ‘สงครามร้อยปี’ แน่นอนว่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญในการทำสงครามนี้ กษัตริย์อังกฤษจึงคิดหาทุกวิถีทางที่จะเก็บภาษีจากราษฎรเพื่อไปรบกับกษัตริย์ฝรั่งเศส จนกระทั่งวันนึงเมื่อถูกรีดหนักมากจนเกินจะทน กลุ่มราษฎรก็รวมตัวกันออกมาประกาศว่า “no tax without representative’ หรือ ‘ไม่มีผู้แทน ไม่จ่ายภาษี’ นั่นเอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นว่าหากกษัตริย์อังกฤษต้องการเก็บภาษีจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนราษฎรเสียก่อน

หันกลับมามองสังคมไทยเราจะเห็นว่า ในหน่วยการปกครองเล็กๆ อย่างเช่นโรงเรียนนั้น นักเรียนขาดกลไกที่จะต่อรองกับผู้มีอำนาจซึ่งก็คือคุณครู ดังนั้น เมื่อเขาไม่มีอำนาจต่อรองผ่านตัวแทน เขาก็ต้องใช้วิธีรวมตัวกันประท้วง จนสุดท้ายก็นำมาซึ่งการลงไม้ลงมือของผู้มีอำนาจเหนือกว่า (แต่โชคดีที่สมัยนี้เรามีสังคมออนไลน์ ถ้าเป็นสมัยก่อนเรื่องแบบนี้คงเงียบหายไปแล้ว)

เหตุการณ์นี้ ผมเชื่อว่าเป็นตัวอย่างเล็กๆ แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่แสดงให้เห็นว่า การสร้างประชาธิปไตยที่มั่นคงอย่างถาวรในประเทศไทยนั้น ความสัมพันธ์ของผู้คนในระดับต่างๆ ของสังคม เป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลงเป็นลำดับแรก มากกว่าที่จะมุ่งเน้นการกำหนดไว้ในกฎหมายใดๆ เพราะสังคมประชาธิปไตยต้องเริ่มสร้างจากข้างล่างขึ้นข้างบน ไม่ใช่จากข้างบนลงข้างล่าง

ตราบใดที่เรายังละเลยเรื่องความสัมพันธ์พื้นฐานของคนในสังคมอันนี้ ผมเชื่อว่าการร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังเกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ต่อให้มีจำนวนหนึ่งพันมาตรา ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนักหรอกครับ