จะเปลี่ยนประเทศไทยอย่างไร

11 กุมภาพันธ์ 2022


ในปัจจุบันมีคนไทยจำนวนไม่น้อยมีความรู้สึกสิ้นหวัง เมื่อมองไปในทิศทางอนาคตของสังคมไทยที่กำลังดำเนินไป และมองไม่ออกว่า ตนเองจะสามารถมีชีวิตอย่างไรในสังคมแบบนี้ ซึ่งสาเหตุหลักของความรู้สึกนี้มาจากความเหลื่อมล้ำที่สูงในสังคม ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และโอกาสที่จะได้รับความยุติธรรมในสังคม ประกอบกับความรู้สึกว่าตนเองไม่มีอำนาจ เป็นคนตัวเล็กๆ ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตที่ไม่สดใสของสังคม ที่อยู่ในมือผู้มีอำนาจเพียงกลุ่มเล็กๆ สองสามฝ่าย ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาครอบครองอำนาจกันไปมา แต่ก็มิได้มีความตั้งใจ หรือมิได้มีความสามารถที่จะบริหารประเทศนำความเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าได้

ยิ่งกว่านั้นแต่ละนโยบายของชนชั้นปกครองที่มีอำนาจ ผลการกระทำและเรื่องราวที่เห็น ส่วนใหญ่ก็กลับตอกย้ำ ความล้มเหลวไร้ความสามารถ หรือส่งเสริมระบบพวกพ้อง ให้รากเหง้าความเหลื่อมล้ำแผ่ขยายฝังรากลึกขึ้นเรื่อยๆในสังคมไทย

คำถามคือ แล้วเราจะหลุดออกไปจากวงจนอุบาทว์นี้ได้อย่างไร คำตอบอยู่ที่สองวงจร 1) วงจรด้านการเมือง 2) วงจรด้านระบบราชการ

ในเรื่องแรก คือวงจรอุบาทว์ด้านการเมืองนี้ เริ่มต้นเพราะความอ่อนแอของคนในสังคมไทย ที่ต้องอาศัยพึ่งพิงผู้มีอำนาจในท้องถิ่น เป็นระบบอุปถัมภ์ จนทำให้เกิดระบบหัวคะแนนที่สามารถใช้ควบคุมฐานเสียง และใช้การแจกเงินให้ผลประโยชน์ในการซื้อเสียงในการเลือกตั้ง ทำให้เกิดธุรกิจการเมือง ที่มีการ “ลงทุน” และ “ถอนทุน” ผ่านพิธีกรรมการเลือกตั้งในคราบคำว่าประชาธิปไตยเท่านั้น เมื่อมีอำนาจแล้วจึงไม่ได้มีความตั้งใจที่จะแก้ไข “ระบบ” เพื่อกำจัดความอ่อนแอของสังคม เพราะเป็นหนทางของการเข้าสู่อำนาจนั้น

บทความนี้จะนำเสนอแนวความคิดในการแก้ปัญหาวงจรการเมืองด้วยรัฐธรรมนูญ/กฎหมายการเลือกตั้งแนวคิดใหม่ ที่เรียกว่า “สละสิทธิเลือกตั้งจนกว่าจะพร้อมที่ละเลือก” พร้อมกับเสนอแนวความคิดเพิ่มเติม อีกสองเรื่อง คือ “โรงเรียนรัฐมนตรี” และ “การจัดสรรงบประมาณจากภาษี แนวใหม่แบบประชาธิปไตย (จริงๆ)” ซึ่งเป็นแนวความคิดเสริม ในกรณีที่ไม่สามารถไปแก้ต้นเหตุตั้งแต่การเลือกตั้งคนเข้าสู่อำนาจ

ในส่วนที่สอง คือ การแก้วงจรในระบบราชการ จะขอยกไปอธิบายในโอกาสข้างหน้าในบทความต่อๆ ไป

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอมอบตัวก่อนว่าแนวคิดที่นำเสนออาจเรียกได้ว่าแหกคอกหรือมีความไม่ถูกต้องทางการเมือง (politically correct) อยู่ไม่น้อย แต่ก็คิดว่าสมควรนำมาพูดคุยถกเถียงได้ เพราะแม้ในที่สุดแนวคิดนี้ไม่นำไปสู่การปฏิบัติ แต่ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในการทำให้เกิดความคิดเกี่ยวกับปัญหาเชิงระบบของสังคมที่เรากำลังเป็นอยู่อย่างหลากหลายมากขึ้น

ตอนที่ 1: สละสิทธิเลือกตั้งจนกว่าจะพร้อม

ถ้าให้พูดรวบรัดแบบไม่กลัวคำวิพากษ์ว่าเห็นคนไม่เสมอภาคกัน ปัญหาของประเทศคือการผูกประชาธิปไตยกับการเลือกตั้ง เราได้ประชาธิปไตยมาโดยยังไม่ได้เตรียมความพร้อมของประชาชนให้มีวุฒิภาวะพอกับการใช้เสียงอย่างมีคุณภาพ หรือประชาชนบางคนก็ยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของหัวคะแนน นักการเมืองท้องถิ่น ประเทศจึงตกอยู่ในวังวนของการซื้อขายเสียง และนักการเมืองด้อยคุณภาพ ที่โกงกินคอร์รัปชันกลับมาซื้อเสียง ซึ่งเดี๋ยวนี้พัฒนาเป็นคอร์รัปชันเชิงนโยบายหรือบางทีก็เรียกกันว่านโยบาย “ประชานิยม”

เป็นที่ปรากฏบ่อยครั้ง ซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า นักการเมืองไทยสามารถพูดอะไรก็ได้ตอนหาเสียง ไม่ว่าจะโกหกอย่างชัด ๆ ตรง ๆ เข้าปลายคางอย่างไร ก็ยังได้รับเลือก ไม่ว่าจะมีประวัติที่ชั่วร้าย ด่างพร้อย ต้องคดี มีความชั่วที่ถูกเปิดเผยแล้ว ก็ยังได้รับเลือกตั้งเข้ามา และเมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องทำตามที่หาเสียงแต่อย่างใด แม้กระทั่งได้เป็นรัฐบาล เป็นรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็ม ก็ไม่ได้ลงมือทำตามสิ่งที่ตนได้หาเสียงมา

บางทีจะเห็นว่า นักการเมืองทั้งหลายมักมีสารพัดไอเดียในการแก้ปัญหาประเทศแบบใหม่ๆ มานำเสนอทุกครั้งที่เข้าฤดูเลือกตั้ง จนน่าแปลกใจว่าเหตุใดคนเดียวกันนั้นตอนนั่งอยู่ในตำแหน่ง มีอำนาจเต็ม กลับคิดไม่ออก ไม่เห็นทำอะไร แต่มาคิดได้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรตอนไม่อยู่ในตำแหน่งทุกทีเลย แต่สิ่งที่น่าทึ่งที่สุดอาจเป็นการที่ประชาชนยังคงเลือกนักการเมืองประเภทนี้กลับเข้ามา เหมือนไม่เคยได้เจ็บจำ

ไม่นานนี้เอง นักการเมืองที่มีผลงานฉาวจนเป็นที่ประจักษ์ เช่น สร้างเสาไร้ประโยชน์ราคาแพงไปตั้งกลางทุ่ง แต่ก็ยังได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาอย่างท่วมท้น เกิดอะไรขึ้นกับวิจารณญาณของประชาชนผู้เลือกตั้งอันเป็นหลักประกันของประชาธิปไตย

ไม่ว่าจะมีเหตุผลมากมาย ที่อธิบายได้ซับซ้อนประการใด แต่ขอสรุปประการเดียวที่เป็นรากเหง้าของทุกอย่างคือ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง “ไม่พร้อม” ที่จะใช้สิทธิอย่างมีเหตุผล หรือ เรียกง่ายๆ ว่า ยังไม่มี “วุฒิภาวะในการใช้อำนาจทางการเมือง”

ถ้าย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ก็คงต้องบอกว่า ประชาชนของเราได้ประชาธิปไตยมาแบบ “ไม่รู้เนื้อรู้ตัว” คือมีคนกลุ่มหนึ่งสามารถดึงอำนาจในการปกครองมาจากสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ก็เป็นแค่เรื่องของคนกลุ่มเดียวที่เป็น “อีลีต” หรือคนชั้นนำในเวลานั้น ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่เกี่ยวกับการดังกล่าวด้วย

สังคมไทยในภาพรวมยังไม่เคยก้าวข้ามระบบอุปถัมภ์ที่ประชาชนตาดำๆ ยังคุ้นเคยกับการมี “เจ้านาย” ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ หรือพ่อค้าคนมั่งมีก็ตาม โดยประชาชนจริง ๆ ไม่คุ้นและดูจะไม่พร้อมเลยที่จะปกครองตัวเอง

แม้การเลือกตั้งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะใช้การกำหนดอายุขั้นต่ำในการมีสิทธิออกเสียง เป็นการกำหนด “วุฒิภาวะ” เหตุผลทำไมถึงไม่ให้เด็กอนุบาลออกเสียง ก็เพราะวุฒิภาวะไม่พอ แต่ความเป็นจริงอายุบางทีก็ไม่ได้บ่งบอกวุฒิภาวะทางการเมืองเลย บางคนจนแก่แล้วก็อาจไม่พร้อมที่จะเลือกตั้ง อย่างใช้วิจารณญาณความเข้าใจที่ดีเลยตลอดชีวิตก็เป็นไปได้

แล้วก็มีประชาชนไม่น้อยที่พร้อมขายเสียงและไม่เข้าใจหรือยี่หระเรื่องนโยบาย เรื่องเศรษฐกิจ ผลกระทบของกลไกต่างๆ ว่าเลือกคนแบบไหนเข้าไปแล้ว ประเทศจะดี จะแย่ จะมีผลอย่างไร ยิ่งหากสื่ออ่อนแอโดนครอบงำแล้ว และระบบการศึกษาก็ถูกทำให้อ่อนเปลี้ย ประชาชนที่ไม่เข้าใจเรื่องต่างๆ ก็ยิ่งไม่มีทางเรียนรู้ขึ้นมาได้เลย วงจรอุบาทว์อย่างที่เป็นอยู่จึงยากจะสร้างวุฒิภาวะทางการเมืองให้ประชาชนได้

หากมองแบบไม่เอาความรู้สึกเข้ามาจับ จะเห็นว่าทางออกจากวงจรนี้ คือ การจำแนกให้ออกว่าประชาชนกลุ่มใดไม่มีวุฒิภาวะทางการเมืองพอจะใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างมีคุณภาพ ออกจากกลุ่มที่พร้อมที่ต้องการจะใช้สิทธิเลือกตั้งจริงๆ เพื่อไม่ให้คะแนนเสียงของกลุ่มที่ไม่ได้สนใจว่าเลือกใครก็ได้ นโยบายเป็นอย่างไรก็ได้ หรือแค่ต้องการขายเสียง ไปปะปนกับคะแนนของคนที่เลือกอย่างตั้งใจ จนทำให้ผลการเลือกตั้งเบี่ยงเบนได้

วุฒิภาวะในที่นี้ คงไม่ได้วัดด้วยอายุ หรือวุฒิการศึกษา แต่ต้องหาให้เจอว่าวุฒิทางการเมืองจะพิสูจน์อย่างไร แนวทางหนึ่งที่ให้ผลอย่างนั้นได้ คือ การเปิดลงทะเบียน “ผู้ประสงค์ขอเว้นไม่ใช้สิทธิทางการเมือง”

คนที่ลงทะเบียนแล้วก็จะออกจากทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และได้รับเงินสวัสดิการชดเชย ตามจำนวนปีที่ขอไม่ใช้สิทธิทางการเมือง เว้นยิ่งนานยิ่งได้เงินมาก แต่ก่อนจะให้ลงทะเบียน ต้องฟังการอบรมเรื่องประชาธิปไตย หน้าที่ของประชาชน และความสำคัญของการเลือกตั้งเอาคนดีมีความสามารถไปบริหารประเทศก่อน ถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ประสงค์แม้แต่จะฟังอบรม หรือถ้าหลังจากฟังแล้วยังยืนยันจะขอเว้นสิทธิเพื่อรับเงินก็ให้ไปลงทะเบียนขอเว้นไม่ใช้สิทธิทางการเมือง

การลงทะเบียนเว้นสิทธิจะเปิดทำนอกฤดูเลือกตั้ง จัดหลายๆ รอบ เพื่อไม่มีนักการเมืองมาแย่งซื้อเพื่อขัดขวางการไปลงทะเบียน การทำแบบนี้ ก็จะลด/จำกัดกลุ่มคนที่อย่างไรก็พร้อมขายเสียงอยู่แล้วออกจากฐานผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไป ดังนั้น ช่วงเลือกตั้งจะเหลือแต่คนที่ต้องการลงคะแนนจริงๆ ไม่เห็นแก่เงิน

ต้องจัดให้มีการลงทะเบียนให้เข้าไปถึงประชาชน เพื่อป้องกันการบังคับข่มขู่ ไม่ให้ประชาชนกลัวไม่มาลงทะเบียนขอยกเว้นสิทธิ

การลงทะเบียนขอเว้นสิทธิทางการเมืองนี้ เป็นการขอเว้นอย่างมีเวลาจำกัด เช่น 2 ปี 3 ปี 5 ปี เมื่อพ้นจากเวลาช่วงนั้นแล้ว จะกลับมาใช้สิทธิได้ตามเดิมก็ได้ หรือจะไปลงทะเบียนเว้นสิทธิต่อก็ได้ ทั้งหมดนี้อยู่บนหลักการของความสมัครใจ เมื่อผ่านประสบการณ์นานวันจนมี “วุฒิภาวะ” ทางการเมืองเติบโตเพียงพอที่จะไม่ขายเสียง ก็เพียงไม่ไปลงทะเบียนต่อ ชื่อก็จะกลับมาอยู่ในทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีกครั้ง

สิทธิที่ขอยกเว้นไปนั้น นอกจากการใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว อาจรวมไปถึงการใช้สิทธิอื่นๆ เช่น การเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การใช้สิทธิเข้าชื่อถอดถอนเป็นต้น เพราะเหตุผลที่ว่า ในเมื่อไม่ได้เป็นคนเลือก (หรือไม่เลือก) ใครมา ก็ไม่ควรใช้สิทธิในการถอดถอนด้วย

แน่นอน แนวทางนี้อาจถูกทางวิชาการแย้งว่าผิดหลักการประชาธิปไตย ไม่เป็น one man one vote หรือเป็นการเอาเปรียบเทียบผู้ยากไร้ ผู้เขียนจึงอยากให้ ข้อคิดดังนี้

1. เราไม่ควรถืออุดมการณ์ว่าต้อง (บังคับ)ให้คนมาลงคะแนน ก็ถ้าคนนั้นเขาต้องการขายเสียง จะด้วยเหตุผลของความยากไร้หรืออื่นใด อย่างไรเขาก็จะขายเสียงอยู่ดี แต่แทนที่จะให้นักการเมืองไปซื้อเสียง ก็ให้รัฐบาลซื้อเสียงที่ต้องการขายขึ้นมาเอง จะได้ยกคนกลุ่มนี้ออกจากเสียงที่ต้องการมีส่วนในการกำหนดทิศทางของประเทศอย่างบริสุทธิ์

2. เราไม่ควรด่วนสรุปเองว่าปัจจุบันนี้ ไม่มีการซื้อเสียงแล้ว เพราะถ้าเปิดลงทะเบียนวิธีนี้แล้ว ไม่มีคนมาลงก็ไม่เสียหาย เราจะได้รู้กันด้วยว่าเรามีประชาชนกี่เปอร์เซ็นต์ในประเทศที่ หวงแหนสิทธิเสียงในการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยจริงๆ

3. ไม่ได้มีการบังคับให้มาลงทะเบียน ทุกคนมีสิทธิ์ ทั้งหมดนี้เป็นอิสรภาพในทางเลือกของประชาชน ไม่ต่างกับการมีช่องไม่เลือกใครในบัตรเลือกตั้ง เพียงแต่ทำนอกฤดูเลือกตั้งเท่านั้น

4. บางคนอาจยึดอุดมคติว่า ต้องสอนให้คนเลือกตั้งให้เป็นให้ได้จึงจะถูกต้องแต่ขอชี้แจงตรงนี้เรื่องการให้ความรู้ให้คนเข้าใจประชาธิปไตยย่อมทำต่อไปได้ โดยไม่ขัดกับวิธีนี้เลย นอกจากนั้น การอบรมก่อนจะให้ลงทะเบียนเว้นสิทธิ ก็เป็นการพยายามให้ความรู้ให้เห็นความสำคัญของการใช้สิทธิลงคะแนนอยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่ถ้าฟังแล้ว ผู้ฟังยังเห็นว่าเงินสำคัญกว่า ประสงค์จะเอาเงิน ก็ควรต้องให้เขา เพียงแต่แลกด้วยการลงทะเบียนเว้นการใช้สิทธิทางการเมืองด้วย

5. ปริมาณเงินงบประมาณที่ใช้ อย่างไรเสียก็น้อยกว่าที่จะให้นักการเมืองไปซื้อเสียงแล้วมาหาทางถอนทุนคืนอย่างแน่นอน ยิ่งถ้ามีใครมาโต้เถียงว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาของเราบริสุทธิ์ ไม่มีการขายเสียงเลย ถ้าเป็นแบบนั้นจริง งบประมาณที่ใช้ตรงนี้คงน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย

6. ข้อมูลที่ได้จะเป็นตัวชี้วัด พัฒนาการทางการเมือง ความพร้อมของประชาชนที่จะมีวุฒิภาวะใช้อำนาจในระบบประชาธิปไตย

เราใช้ประชาธิปไตยในอุดมคติมาเกือบร้อยปีแล้ว แล้วก็พิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าล้มเหลวหรือใช้เวลานานเกินไปกว่าจะหยั่งรากและให้ผล การลองมาใช้ประชาธิปไตยแบบใช้ได้จริง (practical democracy) จะถึงกับไม่มีคุณค่าให้พิจารณาเลยหรือ

ตอนที่ 2: โรงเรียนรัฐมนตรี

แนวคิดนี้เป็นแนวคิดเสริมจากเรื่องแรกข้างต้น ซึ่งยังมีอุปสรรคในความสำเร็จเพราะจะเปลี่ยนกฎหมายก็ต้องอาศัยนักการเมืองที่มีอยู่เดิม ซึ่งคงไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้เขาซื้อเสียงได้ยากขึ้น จึงต้องมาคิดกันต่อว่า แล้วถ้าเปลี่ยนแปลงเรื่องเลือกตั้งยังไม่ได้ จะทำอะไรได้บ้างให้การบริหารงานของนักการเมืองที่ไม่มีคุณภาพเหล่านี้ดีขึ้นได้

ในการบริหารงานองค์กรอะไรก็ตาม การที่คนคนหนึ่งจะสามารถก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำ ผู้บริหารในลำดับต่างๆ ในองค์กร ก็ต้องมีการคัดสรร มีประสบการณ์ มีการสะสมความรู้ความสามารถ จนกว่าจะพร้อมที่จะไปรับผิดชอบตำแหน่งที่มีอำนาจที่ยิ่งใหญ่ขึ้นไปได้

แต่การเมืองไทยนั้น กลับตรงกันข้าม ในประเทศเรา ใครก็ได้ เป็นอะไรมาก็ได้ เรียนอะไรมาก็ได้ มีประสบการณ์ หรือ ไม่มีประสบการณ์อะไรก็ได้ ทุกคนสามารถเป็นนายกฯ เป็นรัฐมนตรีได้หมด กระทรวงอะไรก็ได้ เราเห็นอยู่บ่อยครั้ง

ในการจัดสรร “โควตา” เก้าอี้ มีการต่อรองแลกเปลี่ยนกระทรวงต่างๆ ไม่ว่าจะสับเปลี่ยนกระทรวงยังไง รายชื่อคนนั่งก็คนเดิม แสดงว่าบุคคลนั้นๆ ต้องเก่งผิดมนุษย์มนาจึงสามารถนั่งกระทรวงใหนก็ได้ และบางทีก็เป็นการจับกลุ่ม ส.ส. มาต่อรองเก้าอี้ บางทีก็จับกลุ่มไปกดดัน ให้ปรับ ครม. เพื่อจะเวียนเทียนกันมานั่งในตำแหน่ง โดยไม่ต้องพิจารณาถึงองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องเลย

นี่คือตลกร้ายหรือควรเป็นเพียงเรื่องในฝันใช่หรือไม่ เหตุใดเราเลือกเอาใครก็ได้ไปนั่งในตำแหน่งสำคัญๆ ที่จะกำหนดทิศทางอนาคตของชาติ องค์กรใดที่ใช้การเลือกผู้บริหารแบบนี้ จะหาความเจริญอย่างไร หรือถ้าเป็นบริษัทที่ต้องแข่งขันกับคนอื่นและใช้วิธีเลือกผู้บริหารแบบนี้ คงสูญเสียความสามารถและล่มสลายไปนานแล้ว

ตำแหน่งสำคัญ ๆ เหล่านี้ หลายตำแหน่งต้องการความรอบรู้ ประสบการณ์มากมาย มีความรู้เฉพาะทาง (เช่น การเงินการคลัง การแพทย์) ต้องมีทักษะทั้งการจัดการ มีทักษะในการเจรจาเมื่ออยู่ในเวทีต่างประเทศ จึงต้องถามว่า กระบวนการเลือกคนไปนั่งในตำแหน่งที่ผ่านมาของเรานี้ เราเลือกคนที่ใช่ หรือเอาแค่ “พอจะใช้งานได้” ไปนั่งในตำแหน่งเหล่านั้น หรือไปนั่งแบบไม่รู้เรื่องงาน ไม่รู้ประเด็นยุทธศาสตร์ ไม่สามารถรักษาผลประโยชน์ของชาติในเวทีต่าง ๆ ได้

เวลาองค์กรใหนๆ รับคนมาฝึกงาน ก็รับมาแต่ระดับเริ่มต้น เป็นนักศึกษาฝึกงาน มันคงเป็นตลกร้ายถ้าจะต้องมี รัฐมนตรีฝึกงาน ที่ให้ข้าราชการต้องมาคอยสอนคอยอุ้ม แวะเปลี่ยนเวียนมาฝึกงานกันตลอดรุ่นแล้วรุ่นเล่า

อย่างในการเมืองของหลายๆประเทศ ก็จะเห็นว่ามีการเตรียมคนพัฒนาคนจนกว่าจะพร้อมขึ้นไปสู่ความรับผิดชอบที่สูงขึ้น ไม่ใช่แค่โดดลงการเมืองไปเลือกตั้ง แล้วพูดเก่งๆ อภิปรายปากกล้า หรือเขียนสไลด์บรรยายเก่ง แค่นั้นคงไม่พอ หากไม่มีผลงาน ไม่มีประสบการณ์บริหารงานเป็นที่ประจักษ์

บางประเทศ อย่างประเทศจีน จะขึ้นถึงคณะกรรมการโปลิตบูโร ซึ่งมีอำนาจสูงสุด ก็ต้องเคยผ่านงาน อย่างน้อยเป็นผู้ว่าการของมหานครใหญ่ 1 ใน 4 เสียก่อน และก่อนจะมาว่าการมหานครใหญ่ ก็ต้องเคยว่าการจังหวัดเล็กมาก่อน ก่อนจะมาว่าการจังหวัดก็ต้องมีผลงานในระดับล่าง ๆ มาก่อน เคยผ่านงานบริหารจัดการ และมีการวัดผลอย่างแน่ชัด เช่น การเติบโตของ GDP ในพื้นที่ ซึ่งเป็นผลจากการทำงานของคนคนนั้นจริง ๆ ไม่ใช่แค่ไปสักแต่ว่าบังเอิญไปนั่งทับตำแหน่งนั้นพอดี แล้วมีคนอื่นทำงานให้ได้ผลงาน

อย่างสหรัฐอเมริกา คนจะเป็นประธานาธิบดี ก็มักจะต้องเคยเป็นผู้ว่าการรัฐฯมาก่อน คนจะเป็นประธานาธิบดีสิงคโปร์ ก็มักจะต้องเป็น รัฐมนตรีคลังมาก่อนเป็นเวลานาน

ดังนั้น ควรต้องย้อนกลับมาคิดว่า แล้วประเทศไทยเราทำอย่างไรได้บ้าง เราอาจไม่สามารถแก้ไขกระบวนการเข้าสู่อำนาจ และการคัดเลือกคน แต่อย่างน้อยเราอาจพยายามเพิ่มทักษะ ให้ว่าที่รัฐมนตรีต่างๆ อย่างน้อยจะได้ให้รัฐมนตรีที่ความรู้ไม่พอกับงานเหล่านี้ไม่ต้องถึงกับไปฝึกงานที่หน้างาน (on the job training) หรือไปอายชาวโลกเวลาต้องไปเจรจาในเวทีนานาชาติ

แทนที่กระทรวงต่างๆ จะเน้นจัดสารพัดหลักสูตรสารสัมพันธ์ networking ที่แสนสิ้นเปลือง และเน้นแต่การปาร์ตี้หรือท่องเที่ยว (ต่างประเทศ) ควรหันมาจัดการอบรมหลักสูตร รัฐมนตรี เตรียมความพร้อมให้กับคนที่อยากเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เอาปัญหา เอากลยุทธ์มาศึกษา ให้ข้าราชการ ให้เอกชน ผู้เชี่ยวชาญในสาขา ได้มาถ่ายทอดประเด็นความคิด ให้มีเวทีระดมสมอง เวทีแลกเปลี่ยนความคิด มีการต้องทำการศึกษาทำรายงานเชิงนโยบาย ให้คิดจริง ๆ จัง ๆ ตั้งแต่ก่อนจะเข้าฤดูหาเสียง ศึกษาก่อนจะมีโอกาสรับตำแหน่ง แล้วให้ทุกอย่างเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ ให้บันทึกรายงานลง YouTube และก่อนจบจะมีการประเมินจากนักวิชาการ จากข้าราชการ หรือจากประชาชนร่วมด้วยก็ได้

หากทำได้อย่างนี้ อย่างน้อยก็จะเป็นการพัฒนาคุณภาพนักการเมือง ลดการหาเสียงในนโยบายไร้สาระที่ทำจริงไม่ได้ และให้ประชาชนดูด้วยว่า เวลาแต่งตั้งจริง ๆ จะเอาคนที่รู้เรื่องไปทำ หรือ เอาใครก็ได้ไปนั่ง ทุกอย่างจะได้เป็นที่ประจักษ์ในสายตาสาธารณะที่จับจ้องตลอดเวลา

ถ้าหวังมากไปกว่านั้น ก็ต้องมีระบุเงื่อนไขคุณสมบัติ (qualification) หรือทักษะสมรรถนะ (competency) ในแต่ละตำแหน่ง เหมือนอย่างที่องค์กรต่าง ๆ กำหนดสำหรับผู้บริหารตำแหน่งต่าง ๆ ซึ่งหากแนวคิดนี้มีโอกาสพัฒนาไปถึงจุดหนึ่ง ก็อาจถึงวันต้องมีข้อกำหนดว่า ต้องผ่านโรงเรียนรัฐมนตรีในด้านนั้น ๆ มาก่อนด้วย

อย่างไรก็ตาม การวัดทักษะ การเตรียมความพร้อม ก็ทำได้แค่ระดับหนึ่ง ที่หาทางวัดไม่ได้เลย คือ วัดความดี ความสุจริต ความซื่อสัตย์ และการเห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ของตัวและพวกพ้อง

ตอนที่ 3: การจัดสรรงบประมาณจากภาษี แนวใหม่

ปัญหาอย่างหนึ่ง ของความไม่สมดุล และความเหลื่อมล้ำของสังคม คือ เรื่องเกี่ยวกับภาษี และการจัดการกับงบประมาณ

เป็นความจริงที่ว่า คนส่วนน้อยในประเทศเป็นคนเสียภาษีเงินได้ จากเกือบ 70 ล้านคน มีคนที่ยื่นภาษีรายได้ และต้องจ่ายภาษีรายได้จริงๆ ไม่ถึง 10% ของประชากรทั้งหมด คนที่ร่ำรวยมาก ๆ ก็มีวิธีบริหารจัดการรายได้ผ่านรูปการประกอบการ หรือ capital gain อื่น ๆ ที่ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีแบบมนุษย์เงินเดือน ส่วนคนที่มีรายได้น้อยซึ่งมีจำนวนมากก็ไม่ต้องจ่ายภาษี และคนอีกจำนวนมากเลย ที่มีรายได้และไม่เคยแม้แต่ยื่นรายงานภาษีรายได้ประจำปีแม้แต่ครั้งเดียว

มีคนกล่าวว่า ไม่มีใครชอบความตาย และไม่มีใครชอบจ่ายภาษี มันเป็นความจริงของมนุษย์ที่เป็นโดยส่วนใหญ่ทั่วโลก แต่การที่มีคนเพียงส่วนน้อยจ่ายภาษีรายได้ในประเทศ แต่คนส่วนใหญ่ทั้งหมดลงคะแนนเลือกตัวแทนมาใช้ภาษีที่คนส่วนน้อยจ่าย ได้สร้างปัญหาที่ซับซ้อนให้กับประเทศ

เพราะการจ่ายภาษีรายได้ ซึ่งต่างจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ก่อให้เกิดความรู้สึกอย่างมากว่า เงินที่เป็นรายได้ “ของเรา” ต้องแบ่งเอาไปให้รัฐ ดังนั้น เราต้องตั้งใจเลือกตัวแทนที่จะเข้าไปใช้เงิน “ของเรา”

แต่สำหรับคนที่ไม่ได้จ่ายภาษีรายได้ ความรู้สึกย่อมต่างออกไป เงินดูจะเป็น “ของหลวง” (ซึ่งไม่จำเป็นต้องรู้ว่ามาจากใหน) ดังนั้นควรจะเอาเงินหลวงมาช่วย มาแจกเยอะ ๆ สิ จึงต้องเลือกคนที่เสนอเราว่าจะเอา “เงินหลวง” มาให้เรามากที่สุด นี่คือที่มาของนโยบายสารพัดประชานิยมทั้งหลาย และยิ่งเห็นได้เด่นชัดในช่วงวิกฤติการณ์โรคระบาดที่ผ่านมาว่า มีเสียงเรียกร้องให้ช่วยเหลือแจกเงินมากมาย โดยไม่ได้หยุดถามว่า แล้วเงินดังกล่าวจะมาจากใหน

ความจริง คนจ่ายภาษีจำนวนไม่น้อยก็ตกฐานะลำบากในสถานการณ์ระบาดเหมือนกัน และอาจตั้งคำถามว่าเงินภาษีที่ตนได้จ่าย ทั้งอาจจะถูกเรียกเก็บเพิ่มนั้น จะถูกนำไปแจกคนที่ไม่เสียภาษีหรือ? ในขณะที่ในหลายๆ ประเทศ รัฐจะจำกัดคนที่ได้รับสิทธิ์ ไว้เพียงคนที่ยื่นรายงานภาษีประจำปี (จะจ่ายหรือไม่ต้องจ่ายก็ตาม อย่างน้อยบุคคลมีหน้าที่ต้องยื่นภาษี)

นี่เป็นรากเหง้าของปัญหาของสังคมไทย ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย ซึ่งคนไทยมักจะชื่นชมอยากได้รัฐบาลที่ให้สวัสดิการดีเยี่ยมแบบนั้น คนที่ประเทศเหล่านั้น เกือบ 100% เสียภาษีเงินได้ (เทียบกับไทย <10%) และเสียในอัตราที่สูงเป็นสัดส่วน 60-70% ของเงินได้ ดังนั้นผู้เสียภาษี (ซึ่งคือเกือบ 100% ของประชากรที่มีรายได้) ก็จะรู้สึกมีความรับผิดชอบอย่างสูงในการเลือกตัวแทน เลือกคนไปเป็นรัฐบาลที่ต้องไปใช้เงิน “ของเขา” และ รัฐบาลก็ต้องสร้างสวัสดิการที่ดี มีระบบการศึกษาที่เป็นเลิศ ให้เงินเดือนอาจารย์สูงเพื่อดึงดูดคนที่เก่ง เพื่อสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพ ในทางกลับกัน เยาวชนก็เติบโตขึ้นมาพร้อมกับรู้สึกว่า รัฐบาลเป็นผู้เลี้ยงดู ให้การศึกษาที่ดี เขารู้สึกจริงๆ ว่า เป็นรัฐบาล ไม่ใช่พ่อแม่ที่ให้การศึกษา (ไม่เหมือนคนไทย ที่พ่อแม่ต้องจ่ายให้ลูกไปเรียนอินเตอร์ เรียนกวดวิชา เรียนพิเศษ) ดังนั้นเมื่อ เยาวชนสแกนดิเนเวียโตขึ้น ก็รู้สึกยินดีรับผิดชอบจ่ายภาษีให้รัฐ คำถาม คือ ก็แล้วจะแก้อย่างไรไม่ให้สถานการณ์ที่คนส่วนใหญ่ที่ไม่จ่ายภาษีเงินได้ เลือกคนมาใช้ภาษีที่คนส่วนน้อยจ่าย เพราะรากเหง้าดั้งเดิมย่อมมาจากความเหลื่อมล้ำสูงเป็นมูลนั่นเอง เราคงไม่อาจหาทางออกด้วยการ ไปเก็บภาษีจากฐานผู้มีรายได้น้อย เป็นไปไม่ได้ แต่หากไม่แก้ความไม่สอดคล้องในเชิงระบบดังนี้ เราก็มีโอกาสมากที่จะได้รัฐบาลประชานิยม ซึ่งสามารถดำเนินนโยบายคอรัปชันเพียงใดก็ได้ ขอเพียงแบ่งเงินไปแจกให้ฐานเสียงมากพอ

ทางออกที่ผู้เขียนเสนอคือ ให้ผู้จ่ายภาษี มีสิทธิ์มีเสียงในการกำหนดว่า เขาจะให้เอาภาษีที่เขาจ่ายไปสนับสนุนนโยบายไหน หรือพรรคไหน เป็นการคานอำนาจกับการเลือกพรรคการเมืองที่นำเสนอแบบประชานิยม

การวางระบบภาษีและงบประมาณแบบนี้ จะทำให้ผู้เสียภาษีมีสิทธิ์มีเสียงในการอยากให้รัฐลงทุนในเรื่องใด เงินอาจต้องถูกแบ่งเป็นก้อนๆ สำหรับแต่ละนโยบาย หรือ พรรค ถ้ารัฐบาลไหนทำตามที่ผู้เสียภาษีต้องการก็นำไปใช้ได้ แต่ถ้าไม่ก็ต้องทิ้งเงินภาษีเหล่านั้น เมื่อเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลที่สนับสนุนนโยบายดังกล่าว ก็ค่อยเอาเงินก้อนนั้นออกมาใช้ได้

รายละเอียดของขั้นตอนกระบวนการ ยังสามารถออกแบบ และลงรายละเอียดได้อีกมาก มีทางเลือกย่อยๆมากมายว่า จะตั้งระเบียบกฎกติกาอย่างไร แต่หลักการ คือ หาทางให้สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ สอดคล้องกัน

ข้อมูลจากการยื่นภาษีประจำปี ซึ่งผู้เสียภาษีเป็นคนระบุ นโยบายและพรรคที่เขาต้องการมอบภาษีให้ไปจัดการ ก็จะเป็นข้อมูลที่สำคัญ ที่จะชี้ทิศทางให้กับสังคมด้วย แม้ไม่ได้อยู่ในฤดูเลือกตั้ง

สรุป

แนวคิดแรกมาจากมุมการแก้ปัญหาการเข้าสู่อำนาจ แนวคิดที่สองมาจากมุมพัฒนาคุณภาพผู้บริหาร อีกแนวคิดหนึ่งที่จะนำเสนอ คือ มาจากมุมการจัดสรรทรัพยากร ดังนั้น ข้อเสนอทั้งสามข้อข้างต้นเป็นการมองการแก้ปัญหามาจากคนละมุม ซึ่งสามารถมาประกอบกัน หรือนำไปใช้อย่างอิสระต่อกันก็ได้

อย่างที่ได้กล่าวตอนต้น บทความนี้มุ่งกับการจัดการวงจรอุบาทว์ทางการเมือง ส่วนในเรื่องปฏิรูประบบราชการจะได้นำเสนอในบทความในโอกาสหน้าอีกครั้งหนึ่ง

สนับสนุนซี่รี่ส์ “สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น จะต้องทำอย่างไร? โดย…