ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร” (ธ.ก.ส.) มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกร และเป็นอีกแหล่งเงินทุนสำคัญของรัฐในการขอกู้ยืมเพื่อนำมาช่วยเหลือเกษตรกรในโครงการต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาล
ปลายปี 2557 เกิดวิกฤติโครงการรับจำนำข้าว ธ.ก.ส. ถือเป็นกำลังสำคัญที่เข้ามาช่วยทั้งรัฐบาลและเกษตรกร จากการตรวจสอบข้อมูลการใช้จ่ายเงินของ ธ.ก.ส. ไปในโครงการต่างๆ ของรัฐบาลจากรายงานประจำปีของธนาคาร ปีบัญชี 2557 (1 เมษายน 2557 – 31 มีนาคม 2558) โดยวงเงินรวม ธ.ก.ส. จัดสรรมาสู่โครงการต่างๆ ของรัฐบาลและรอการชดใช้เกือบ 8 แสนล้านบาท เฉพาะวงเงินรอชดใช้ในโครงการรับจำนำข้าวอย่างเดียวอยู่ที่ 594,480.12 ล้านบาท (ตั้งแต่โครงการรับจำนำข้าวปี2551-2557) ซึ่งเป็นส่วนที่แยกออกมาจากงบการเงินปกติของธนาคาร
จากข้อมูลแสดงผลประกอบการในระยะ 5 ปี ชี้ให้เห็นว่าอัตราค้างชำระของรัฐบาลมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปีบัญชี 2553 วงเงินลูกหนี้รอการชดใช้จากโครงการนโยบายรัฐอยู่ที่ 126,049 ล้านบาท ปีบัญชี 2554 อยู่ที่ 156,812 ล้านบาท ปีบัญชี 2555 อยู่ที่ 187,654 ล้านบาท ปีบัญชี 2556 อยู่ที่ 235,110 ล้านบาท และปีบัญชี 2557 อยู่ที่ 249,456 ล้านบาท
โดยปี 2557 วงเงิน 249,456 ล้านบาท นั้นมีรายละเอียดดังตารางข้างต้น แบ่งเป็นส่วนที่รอการชดใช้จากโครงการในรัฐบาลอื่นๆ รวม 202,347.74 ล้านบาท ได้แก่
- ส่วนที่รอการชดใช้ต้นเงินจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) ที่ใช้ในโครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตร จำนวน 99,717.89 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดรอการชดใช้ตามรายโครงการดังนี้ คือ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 วงเงิน 19,718.65 ล้านบาท โครงการรับจำนำมันสำปะหลัง ปี 2554/25วงเงิน 9,864.33 ล้านบาท โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2555/2556 รอบ 2 วงเงิน 10,398.39 ล้านบาท โครงการรับจำนำมันสำปะหลัง ปี 2555/2556 วงเงิน 9,485.96 ล้านบาท และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2556/2557 วงเงิน 50,250.66 ล้านบาท
- ส่วนที่รอการชดใช้จากองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ที่ใช้ในโครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตร จำนวน 68,136.91 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดรอการชดใช้ตามรายโครงการ ดั้งนี้ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 วงเงิน 8,147.74 ล้านบาท โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2554/2555 วงเงิน 15,414.67 ล้านบาท โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555/2556 รอบ 2 วงเงิน 19,318.88 ล้านบาท และโครงการับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2556/2557 วงเงิน 25,255.62 ล้านบาท
- ส่วนที่รอการชดใช้จากโครงการประกันรายได้เกษตรกร จำนวน 31,154.34 ล้านบาท เป็นยอดคงเหลือ ที่ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายให้กับเกษตรกรไปก่อน ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรปีการผลิต 2552/2553 และ 2553/2554 ซึ่งได้รับคืนต้นทุนเงินจากรัฐบาลมาแล้วส่วนหนึ่ง คงเหลืออีก 3,149.84 ล้านบาท และ 28,004.05 ล้านบาท ตามลำดับ
- ส่วนที่รอการชดเชยดอกเบี้ยโครงการพักชำระหนี้ ปี 2555 จำนวน 3,337.95 ล้านบาท จากที่ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูและพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 500,000 บาท เป็นการขยายกลุ่มเป้าหมายและเพิ่มเติมการช่วยเหลือ ให้ลูกหนี้สถานะปกติของ ธ.ก.ส. เข้าร่วมโครงการพักหนี้ต่อเนื่องจากโครงการในปี 2554 โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลา 3 ปี โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อปี
- ส่วนที่รอการชดเชยในโครงการรัฐบาลอื่นๆ อีกจำนวน 650,000 บาท
และส่วนที่รอการชดใช้จากรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เข้ามาบริหารประเทศในปลายปี 2557 คิดเป็น 47,108.14 ล้านบาท ได้แก่
- ส่วนที่รอชดเชยต้นทุนเงิน จำนวน 384.55 ล้านบาท จากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ปีการผลิต 2557/2558 วงเงิน 306.06 ล้านบาท จากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ปีการผลิต 2557/2558 วงเงิน 41.16 ล้านบาท จากโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง วงเงิน 37.33 ล้านบาท
- ส่วนที่รอชดเชยดอกเบี้ยโครงการพักชำระหนี้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 97.26 ล้านบาท โดยรัฐบาลเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยเงินต้นไม่เกิน 200,000 บาท ในอัตรา MRR-1.5 มีจำนวนผู้ร่วมโครงการ 62,000 ราย คิดเป็นต้นเงินจำนวน 6,000 ล้านบาท กำหนดพักชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปี 3 เดือน
- ส่วนที่มาจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ปีการผลิต 2557/2558 จำนวน 38,890.87 ล้านบาท โดยให้ความช่วยเหลือครอบครัวชาวนาที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและเปิดบัญชีไว้กับ ธ.ก.ส. จำนวนไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ วงเงินสูงสุดไม่เกินครอบครัวละ 15,000 บาท โดยใช้เงินทุนของ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายไปก่อนภายในวงเงิน 45,000 ล้านบาท ธ.ก.ส. จ่ายไปจำนวนเท่าใดให้ขออนุมัติในงบประมาณรายจ่ายประจำปีในปีถัดไป พร้อมดอกเบี้ยชดเชย อัตรา FDR+1
- ส่วนที่มาจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ปีการผลิต 2557/2558 จำนวน 7,704.92 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. ได้ให้ความช่วยเหลือชาวสวนยางในพื้นที่สูงสุด 15 ไร่ ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท โดยใช้เงินทุน ธ.ก.ส. ภายในวงเงิน 8,200 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะจ่ายชดเชยต้นทุนคืนให้ ธ.ก.ส. อัตรา FDR+1
นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่รอการชดใช้ในโครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตร ที่แยกออกมาจากงบการเงินปกติของธนาคาร เป็นจำนวน 640,895.85 ล้านบาท แบ่งออกเป็น โครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตร ปีการผลิต 2551/2552 ปีการผลิต 2554/2555 ปีการผลิต 2555/2556 และปีการผลิต 2556/2557 ซึ่ง ธ.ก.ส. ต้องแยกบัญชีและงบการเงินของโครงการออกจากการดำเนินงานปกติ เป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account: PSA) และบันทึกเป็นภาระผูกพันนอกงบประมาณ
ตามรายงานของ ธ.ก.ส. ระบุว่า ในโครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตร ปีการผลิต 2551/2552 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2551 ให้ ธ.ก.ส. กู้เงินด้วยการออกตั๋วสัญญาตามแผนการใช้จ่ายเงินของโครงการในวงเงินไม่เกิน 110,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันและรัฐบาลรับภาระชำระคืน ต้นเงิน ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงิน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริง ในวงเงิน 3,932.70 ล้านบาท
ธ.ก.ส. ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินและเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) เพื่อนำไปจ่ายเงินกู้ให้แก่เกษตรกร ในโครงการรับจำนำผลิตผลการเกษตรตามมติ ครม. ดังกล่าวข้างต้น เป็นภาระผูกพัน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558 จำนวน 25,874.71 ล้านบาท มีลูกหนี้จากการกู้ยืมเงินดังกล่าวคงเหลือในโครงการ จำนวน 25,779.07 ล้านบาท มีเงินกู้เหลือจ่าย จำนวน 95.64 ล้านบาท
ส่วนการดำเนินโครงการรับจำนำผลิตผลการเกษตร ปีการผลิต 2554/2555 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 กำหนดกรอบวงเงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนรับจำนำข้าวเปลือก รวมจำนวน 410,000 ล้านบาท เป็นเงินทุนของ ธ.ก.ส. จำนวน 90,000 ล้านบาท และเงินกู้จากสถาบันการเงินต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนอีกจำนวน 320,000 ล้านบาท (คลิกภาพเพื่อขยาย)
ภายหลังคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ปรับลดวงเงินกู้เหลือ 269,160 ล้านบาท วงเงินหมุนเวียนที่ได้รับนอกจากใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกแล้ว มติ ครม. เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 ให้นำไปใช้ในโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง และโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางด้วย
เมื่อระยะเวลาโครงการรับจำนำ ผลิตผลการเกษตร ปีการผลิต 2554/2555 สิ้นสุดลง ครม. อนุมัติให้ดำเนินโครงการรับจำนำ ข้าวเปลือกต่อในปีการผลิต 2555/2556 และปีการผลิต 2556/2557 โดยกรอบวงเงินสินเชื่อเพื่อใช้หมุนเวียนทั้ง 2 ปีการผลิต ต้องไม่เกิน 410,000 ล้านบาท และเงินทุนของ ธ.ก.ส. จำนวน 90,000 ล้านบาท
ต่อมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีหนังสือที่ คสช. (สล)/1 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ให้ ธ.ก.ส. กู้เงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/2557 ในวงเงินไม่เกิน 92,431 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันจนกว่าจะมีการชำระต้นเงินกู้เสร็จสิ้น และรัฐบาลรับภาระชำระคืนต้นเงิน ดอกเบี้ย จากการกู้ยืมเงิน รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงรวมทั้งผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการทั้งหมด
ทั้งนี้ รัฐได้ดำเนินภาระผูกพันในโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมด ที่ค้างจ่ายอยู่ตั้งแต่ปีการผลิต 2551/2552 ปีการผลิต 2554/2555 ปีการผลิต 2555/2556 และปีการผลิต 2556/2557 รวมทั้งสิ้น 485,874.71 ล้านบาท โดยอาศัยแหล่งเงินทุนจาก ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และธนาคารแห่งโตเกียวมิตซูบิชิ, การออกพันธบัตร และเงินกู้ Term Loan
หากรวมหนี้คงเหลือทั้งหมดของโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นบัญชีแยกจากบัญชีปกติ จะมีจำนวนทั้งสิ้น 640,895.85 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นส่วนของโครงการรับจำนำข้าว 594,480.12 ล้านบาท ที่เหลือคือส่วนของโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ และเมื่อรวมเข้ากับหนี้ในโครงการของรัฐบาลจากบัญชีปกติแล้ว ยอดเงินทั้งหมดสูงถึง 750,363.32 ล้านบาท