ThaiPublica > เกาะกระแส > ธ.ก.ส. เผย สินเชื่อโครงการรัฐพุ่ง 163% ยันไม่กระทบฐานะแบงก์

ธ.ก.ส. เผย สินเชื่อโครงการรัฐพุ่ง 163% ยันไม่กระทบฐานะแบงก์

11 เมษายน 2013


ธ.ก.ส. เผย โครงการจำนำข้าวดันสินเชื่อโครงการรัฐพุ่ง 163% หรือมียอดคงค้างสูงถึง 5.9 แสนล้านบาท ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ส่งเงินขายข้าวให้แล้ว 1.2 แสนล้านบาท จากเป้าหมาย 2.2 แสนล้านบาท ภายใน ธ.ค. 56 มั่นใจมีสภาพคล่องพอไม่กระทบฐานะแบงก์ พร้อมโชว์กำไรสุทธิปีนี้กว่า 9,000 ล้านบาท และบีไอเอสสูงถึง 11.22%

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แถลงผลการดำเนินงานครบรอบปีบัญชี 2555 (1 เม.ย. 2555–31 มี.ค. 2556) ว่า ในเรื่องของยอดสินเชื่อ ปรากฏว่าผลการดำเนินงานในทุกด้านเป็นที่น่าพอใจ โดยมีการเจริญเติบในทุกด้าน ทำให้สินทรัพย์รวมของธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.44% จากปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นจากการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งในปีบัญชีนี้มียอดสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้น 100,493 ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.95%

“สินเชื่อใหม่ที่เพิ่มขึ้นสูงกว่า 1 แสนล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้นจากการปล่อยสินเชื่อผ่อนปรนพิเศษ (ซอฟต์โลน) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมประมาณ 40,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 60,000 ล้านบาท เป็นสินเชื่อปกติของธนาคาร” ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว

ทั้งนี้ ณ สิ้น 31 มี.ค. 2556 ธ.ก.ส. มียอดคงค้างสินเชื่อทั้งหมด 876,401 ล้านบาท แต่เงินให้สินเชื่อนี้นายลักษณ์กล่าวว่า ยังไม่นับรวมสินเชื่อที่เป็นการดำเนินการภายใต้โครงการของรัฐบาลในปีที่ผ่านมา และที่สำคัญคือ โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ซึ่งสินเชื่อภายใต้โครงการของรัฐบาลหรือที่เรียกว่า “ลูกหนี้รอการชดใช้ตามนโยบายรัฐ” มีจำนวน 591,126 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 366,420 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 163%

โดยลูกหนี้รอการชดเชยตามนโยบายรัฐบาลแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ส่วนที่ใช้เงินทุนของ ธ.ก.ส. จะบันทึกในงบดุลธนาคารจำนวน 198,454 ล้านบาท ในส่วนนี้จะมีภาระหนี้ที่สะสมมาในอดีต รวมถึงโครงการประกันรายได้ด้วย และส่วนของโครงการจำนำข้าวใหม่ที่ใช้เงิน ธ.ก.ส. ไปจำนวน 90,000 ล้านบาท

ส่วนที่สอง จะเป็นเงินส่วนที่กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ช่วยในการจัดหาเงินทุนตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนนี้จะบันทึกนอกงบดุลของธนาคารจำนวน 392,672 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีเงินที่ สบน. กู้มาทำโครงการจำนำข้าวในปี 2551-2552 สมัยสุชาติ ธาดาธำรงเวช เป็นรัฐมนตรีคลัง และจำนวนหนึ่งกู้จากสถาบันการเงิน 36,000 ล้านบาท ที่เหลือจะเป็นของใหม่ประมาณ 320,000 ล้านบาท

ข้าว

เพราะฉะนั้น ถ้ารวมยอดสินเชื่อทั้งหมดที่บันทึกเป็นโครงการนโยบายรัฐในงบดุลธนาคาร และภาระผูกพันที่กระทรวงคลังจัดหาเงินทุนมาให้ กับสินเชื่อตามแผนงานปกติของธนาคาร จะทำให้ ธ.ก.ส. มียอดสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 1.47 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ลูกหนี้รอการชดใช้ตามนโยบายรัฐที่มียอดคงค้างจำนวน 59,126 ล้านบาท นายลักษณ์กล่าวว่า รัฐบาลจะชดเชยให้ 2 ส่วน คือ ตั้งงบประมาณชดเชย กับ เงินที่กระทรวงพาณิชย์ระบายขายข้าวได้

ในส่วนของงบประมาณ หากเป็นภาระหนี้เดิมที่มีกว่า 100,000 ล้านบาท สำนักงบประมาณได้ตั้งงบประมาณจะชดเชยให้ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยชำระมาแล้ว 2 ปี ปีละประมาณ 30,000 ล้านบาท และ 40,000 ล้านบาท และปีนี้คาดว่าจะได้อีกประมาณ 40,000 ล้านบาท สำหรับภาระหนี้จากการรับจำนำข้าวรอบ 54/55 ที่รัฐบาลต้องชดเชยให้นั้น ธ.ก.ส. ได้ขอวงเงินชดเชยไปแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณา แต่ที่ตกลงในเบื้องต้นทางสำนักงบประมาณจะตั้งงบประมาณทยอยจ่ายให้ภายใน 4 ปี พร้อมดอกเบี้ย

ขณะที่ในส่วนของเงินที่กระทรวงพาณิชย์ต้องระบายข้าวและนำเงินมาให้ ธ.ก.ส. นั้น แผนที่กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำไว้คือ จะระบายสินค้าเกษตรในคลังสินค้า และชำระคืน ธ.ก.ส. ถึงสิ้น ธ.ค. 2556 จำนวน 220,000 ล้านบาท ในส่วนนี้ ณ สิ้น 31 มี.ค. 2556 กระทรวงพาณิชย์ได้นำเงินชำระให้ ธ.ก.ส. มาแล้ว 102,000 ล้านบาท

“เงินระบายขายข้าวได้ที่ส่งมาให้ยังเป็นไปตามกำหนด และเงินที่ขอชดเชย ธ.ก.ส. ก็ขอคู่ขนานกันไป” ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว

นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้ดูแลเงินทุนหมุนเวียนในโครงการรับจำนำ ได้ให้ทางองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) ได้ดำเนินการจัดทำแผนต่อเนื่องที่จะระบายสินค้าที่รับจำนำต่อไป เพื่อนำเงินมาคืน ธ.ก.ส. ซึ่งใน 2-3 เดือนข้างหน้าก็จะมีความชัดเจนว่า กระทรวงพาณิชย์จะส่งเงินคืนให้ ธ.ก.ส. ได้อีกจำนวนเท่าไรนับตั้งแต่ ธ.ค. 2556 เป็นต้นไป

“กระทรวงพาณิชย์ชำระเงินให้ ธ.ก.ส. เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ และเชื่อว่า รมว.พาณิชย์จะเร่งดำเนินการระบายสินค้าในคลังออกไป และจะมีเม็ดเงินเข้ามาเป็นเงินทุนหมุนเวียนใช้ในโครงการจำนำสินค้าเกษตรได้ต่อเนื่อง ดังนั้น ที่ ครม. มีมติให้รับจำนำข้าวนาปรับในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า จำนวน 7 ล้านตัน ใช้เม็ดเงินทั้งสิ้น 105,000 ล้านบาท ก็สามารถนำเงินที่ได้จากการชำระคืน จากการระบายข้าวที่รับจำนำในอดีตมาดำเนินการได้อย่างเพียงพอ” นายลักษณ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ถ้าช่วงใดช่วงหนึ่งเม็ดเงินที่ได้รับจากการระบายมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร นายลักษณ์กล่าวว่า ทาง ครม. มีมติให้ ธ.ก.ส. สำรองเงินทุนของ ธ.ก.ส. จ่ายไปก่อนในช่วงสั้นๆ โดยให้กระทรวงพาณิชย์ตกลงกับ ธ.ก.ส. เป็นคราวๆ ไปเพื่อให้เกิดความชัดเจนเรื่องการใช้เงินของ ธ.ก.ส. และเมื่อได้รับเงินจากการระบายข้าวแล้ว ก็ให้ชำระเงินคืนในส่วนที่ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายไปก่อน รวมถึงในช่วงที่ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายไปก่อนนั้น ก็มีมติ ครม. ให้ทางสำนักงบประมาณจ่ายชดเชยต้นทุนเงินให้ ธ.ก.ส. เท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของ 4 แบงก์ใหญ่ บวก 1% ดังนั้น ธ.ก.ส. จะมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะดูแลให้โครงการนี้เดินหน้าไปได้โดยไม่มีผลกระทบต่อเกษตรกร

นอกจากนี้ ยังมีวงเงินเหลือจากโครงการรับจำนำข้าวในปี 2554/55 จำนวน 410,000 ล้านบาท ที่ สบน. จัดหามาให้แล้ว 360,000 ล้านบาท และกำลังจะจัดหาให้อีกในเดือน พ.ค. อีก 50,000 เพื่อให้ครบ 410,000 ล้านบาท ก็จะมีเงินในส่วนนี้มาดำเนินการต่อไปได้อีก

ทั้งนี้ โครงการจำนำข้าวปี 2554/55 มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 500,000 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของกระทรวงการคลังที่ให้ สบน. จัดหาแหล่งเงินทุน 410,000 ล้าบาท และใช้เงินทุนของ ธ.ก.ส. 90,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในปี 2555 ที่ผ่านมา ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยอมรับว่า มีการทำโครงการรับจำนำซึ่งมีปริมาณสูงมาก แต่สินเชื่อที่ปล่อยภายใต้โครงการของนโยบายรัฐบาลไม่มีความเสี่ยง หรือความเสี่ยงเท่ากับศูนย์ เนื่องจากรัฐบาลมีมติ ครม. จะดูแลชดเชยให้ทั้งหมด

โดยถ้าใช้แหล่งเงินทุนจาก ธ.ก.ส. ไปดำเนินการ ก็มีมติ ครม. ชดเชยต้นทุนเงินให้กับ ธ.ก.ส. ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของ 4 แบงก์ใหญ่เฉลี่ยบวก 1% ถ้าเป็นแหล่งเงินจากกระทรวงคลัง โดย สบน. เป็นผู้ช่วยจัดหาให้ ก็มีสถาบันการเงินหลายแห่งให้กู้ร่วมโครงการ ประมาณ 7-8 สถาบันการเงิน ซึ่งรัฐบาลจะดูแลต้นทุนตรงนี้ให้

นอกจากนี้ ในส่วนที่ ธ.ก.ส. เป็นผู้ที่จ่ายเงินตามใบประทวนตามที่ อคส. หรือ อตก. เป็นผู้ตรวจ ทาง ธ.ก.ส. จะจ่ายเงินตามนั้น ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ระบุว่า ธนาคารจะได้รับค่าบริหารโครงการส่วนนี้ 2.5% ของยอดเงินสินเชื่อที่ปล่อย ในส่วนนี้จะมีรายได้อยู่ประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท โดยเป็นส่วนที่ทำให้กำไรของ ธ.ก.ส. ปรับตัวดีขึ้นด้วย ซึ่งในปี 2555 ธ.ก.ส. มีกำไรสุทธิ 9,691 ล้านบาท และมีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) อยู่ที่ 0.88%

“ดังนั้นรายได้ที่ธนาคารได้ทั้งหมด จะเป็นต้นทุนเงินบวกด้วยค่าบริหารโครงการ ก็น่าจะอยู่ที่ 5% เศษๆ ก็เป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับที่เราปล่อยสินเชื่อปกติ” ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว

สำหรับฐานะของ ธ.ก.ส. ในรอบปี 2555 นอกจากสินเชื่อรวมทั้งหมดจะขยายตัวสูงถึง 1.47 ล้านล้านบาท นายลักษณ์กล่าวว่า ยังเป็นปีแรกที่เงินฝากทะลุ 1 ล้านล้านบาท โดยเป็นเงินฝากในส่วนของลูกค้าเกษตรกร 241,013 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 35% ขณะที่คุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้น โดยสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มียอดคงค้าง 318,804 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.33% ของสินเชื่อทั้งหมด ลดลงจากปี 2554 ที่มียอดเอ็นพีแอล 349,058 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.34% ของสินเชื่อทั้งหมด นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ได้กันสำรองเพื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อหนี้สินทั้งหมดมีสูงถึง 500%

ส่วนเงินกองทุนของ ธ.ก.ส. มีจำนวน 97,628 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.9% จากปีก่อน เนื่องจาก ครม. อนุมัติให้มีการเพิ่มทุนเรือนหุ้นจาก 50,000 ล้านบาท เป็น 60,000 ล้านบาท และทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส เรโช) ณ 31 มี.ค. 2556 อยู่ที่ 11.22% สูงกว่า 8.5% ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดให้สถาบันการเงินดำรงไว้

ขณะที่เงินสดในมือหรือสินทรัพย์สภาพคล่องของ ธ.ก.ส. มีจำนวน 227,778 ล้านบาท หรือมีสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝากอยู่ที่ 21.6% สูงกว่าที่ ธปท. กำหนดให้สถาบันการเงินดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่า 6% ของยอดเงินฝาก

“ธนาคารมีสินทรัพย์สภาพคล่องที่ไม่มีภาระผูกพันกว่า 200,000 ล้านบาท สูงกว่าที่ ธปท. กำหนดกว่า 3 เท่า สะท้อนว่า ธนาคารมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะดำเนินการสินเชื่อปกติ และกรณีจำเป็นก็สามารถดูแลสินเชื่อโครงการรัฐบาลให้ดำเนินการได้ต่อเนื่องไม่กระทบเกษตกร” นายลักษณ์กล่าว