ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 2-8 สิงหาคม 2558: “สวมรอยเลี้ยงลูกออนไลน์ กระแสใหม่ไอจี Baby role-playing” และ “ละเมิดแค่ไหน แค่ไหนเรียกละเมิด ผิด-ไม่ผิด พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 2 ปี 2558”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 2-8 สิงหาคม 2558: “สวมรอยเลี้ยงลูกออนไลน์ กระแสใหม่ไอจี Baby role-playing” และ “ละเมิดแค่ไหน แค่ไหนเรียกละเมิด ผิด-ไม่ผิด พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 2 ปี 2558”

8 สิงหาคม 2015


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 2-8 สิงหาคม 2558:

  • สวมรอยเลี้ยงลูกออนไลน์ กระแสใหม่ไอจี Baby role-playing
  • บึมคามือ ประทัดยักษ์ปริศนา นักศึกษาแม่โจ้โคม่า
  • สละพื้นรักษาฟ้า บินไทยเล็งขายทิ้งออฟฟิศทั่วโลก
  • ความหวังจากเศษซาก-กว่า 500 วัน กับ MH 370
  • ละเมิดแค่ไหน แค่ไหนเรียกละเมิด ผิด-ไม่ผิด พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 2 ปี 2558
  • สวมรอยเลี้ยงลูกออนไลน์ กระแสใหม่ไอจี Baby role-playing

    ที่มาภาr: Fast Company (http://goo.gl/lf8ZWs)
    ที่มาภาพ: Fast Company (http://goo.gl/lf8ZWs)

    รายงานจากวอชิงตันโพสต์ กล่าวถึงกระแสใหม่ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างอินสตาแกรม ที่เป็นการโพสต์รูปเด็กๆ แล้วแสดงการสนทนาในฐานะพ่อแม่เด็กหรือเป็นตัวเด็กเอง ฟังอย่างนี้แล้วก็ดูเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าไม่เพียงแต่ว่า เด็กๆ ที่เห็นในรูปนั้นไม่ใช่ลูกๆ ของเจ้าของแอคเคาต์อินสตาแกรมคนนั้นๆ

    นี่เป็นการขโมยลูกคนอื่นมาตัวเป็นๆ อย่างนั้นหรือ เปล่าเลย แต่คือการขโมยลูกออนไลน์ และเป็นการขโมยแบบเสมือน คือขโมยรูปของเด็กๆ ที่พ่อแม่ตัวจริงลงไว้ในโลกออนไลน์ แล้วเอามาโพสต์ในแอคเคาต์ส่วนตัวของตน และแต่งสร้างเรื่องราวว่าเป็นลูกของตัวเอง

    นี่คือกระแสที่มากับแฮชแท็ก #babyrp (baby role-playing) ซึ่งหมายถึงการสวมบทบาทเป็นเด็กหรือพ่อแม่ของเด็ก แต่เด็กนั่นไม่ใช่ลูกตัวเอง ตัวเองไม่ใช่พ่อแม่เด็ก รูปที่นำมาใช้ในการสวมบทบาทนั้นคือรูปที่ขโมยมาจากในโลกออนไลน์ดังได้กล่าวไป

    ต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว คุณแม่ท่านหนึ่งได้ให้ความเห็นกับวอชิงตันโพสต์ว่า เรื่องนี้ไม่ได้กวนใจเธอและดูไม่มีอันตรายใดๆ ทั้งที่รูปเด็กๆ เหล่านั้นถูกขโมยมา แต่กับแอคคาต์ที่เริ่มมีการพูดคุยสร้างเรื่องราวไปในทางเพศหรือการทารุณกรรมเด็กนั่นแย่มาก คนพวกนี้จิตใจไม่ปรกติแน่ๆ ใครจะรู้ว่าพวกพิลึกพวกนี้กี่คนที่คุกคามเด็กในชีวิตจริง มันชัดเจนว่าพวกเขาคิดถึงเรื่องพวกนี้และมีอารมณ์กับมัน เธอไม่เข้าใจว่ามันโอเคตรงไหนที่คนเราสร้างแอคเคาต์พวกนี้ขึ้นมา นี่มันสื่อลามกเด็กชัดๆ

    นิตยสารฟาสต์คอมพานี (Fast Company) ในนิวยอร์กบอกว่า นี่คือ “มุมใหม่ในอินสตาแกรมที่น่าขยะแขยงสุดๆ” ทั้งนี้ แอคเคาต์เหล่านี้ส่วนใหญ่จะไม่เปิดเผยว่าตัวเองเป็นใคร ส่วนพวกที่เปิดเผยนั้นพบว่าล้วนเป็นเด็กสาววัยรุ่น

    จิตแพทย์ เกล ซอลต์ (Gail Salt) เจ้าของหนังสือ Anatomy of a Secret Life: The Psychology of Living a Secret Life บอกว่า บ่อยครั้ง วัยรุ่นที่ทำแบบนี้จะมาจากครอบครัวที่แตกแยก ไม่ว่าจะพ่อแม่แยกทางกัน หรือถูกกระทำทารุณในวัยเด็ก ตนไม่ประหลาดใจที่วัยรุ่นจะสร้างตัวตนออนไลน์ขึ้นมาแล้วฉวยใช้ประโยชน์จากความเป็นนิรนามของมัน

    “การลองเล่นแบบนี้ในโลกออนไลน์มันน่าตื่นเต้นกว่าทำในใจ เพราะมีคนติดตามทางออนไลน์และพวกเขาเองก็ปลอดภัยอยู่หลังคอมพิวเตอร์ในห้องนอนตัวเอง นี่ก็คืออีกรูปแบบหนึ่งของการทำแบบนั้น นักแสดงเหล่านี้ปรารถนาจะลองสวมบทบาทของการเป็นคนมีครอบครัว เป็นแม่ เป็นอะไรก็ตามที่พวกเขาตามหาหรือพยายามเติมเต็มความว่างเปล่า”

    อย่างไรก็ดี โฆษกของอินสตาแกรมได้แจ้งกับวอชิงตันโพสต์และฟาสต์คอมพานีว่า กรณีนี้นั้นละเมิดเงื่อนไขการใช้งานอินสตาแกรม และทางอินสตาแกรมจะรีบเอาเนื้อหาเหล่านี้ออกทันทีที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กร้องเรียนมา

    บึมคามือ ประทัดยักษ์ปริศนา นักศึกษาแม่โจ้โคม่า

    ที่มาภาพ: แนวหน้า (http://www.naewna.com/local/172665)
    ที่มาภาพ: แนวหน้า (http://www.naewna.com/local/172665)

    5 ส.ค. 2558 เกิดเหตุประทัดยักษ์ระเบิดขึ้นที่บ้านเช่าหลังหนึ่งในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้บาดเจ็บเป็นนักศึกษาชั้นปีที่สอง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่านักศึกษารายนี้เป็นผู้ทำประทัดยักษ์ดังกล่าวด้วยตนเอง แต่เกิดเหตุผิดพลาดจึงระเบิดคามือ เป็นเหตุให้บาดเจ็บรุนแรงที่แขนซ้ายและขาซ้าย

    ทั้งนี้ ในการตรวจสอบที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่พบประทัดยักษ์ที่ประกอบเสร็จแล้วจำนวน 13 ลูก มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักครึ่งกิโลกรัม นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์สำหรับทำประทัดยักษ์อีกหลายรายการ ในเบื้องต้นจึงมีการตั้งข้อสงสัยกันว่า นักศึกษาคนดังกล่าวอาจจะทำประทัดยักษ์ไว้สำหรับใช้ประกอบการรับน้อง หรืออาจจะรับจ้างทำประทัดยักษ์เพื่อหารายได้พิเศษ ซึ่งในส่วนนี้ต้องรอให้ผู้บาดเจ็บพ้นขีดอันตรายก่อนจึงจะสามารถทำการสืบสวนต่อไป

    อนึ่ง ต่อกรณีที่ว่าประทัดยักษ์ที่ระเบิดนั้นเป็นหนึ่งในอุปกรณืที่จะนำมาใช้ในกิจกรรมรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัย นายกฤษดา ภักดี รองอธิการบดี ฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ทางมหาวิทยาลัยไม่มีนโยบายให้รับน้องนอกสถาบัน ซึ่งการทำเสียงเอฟเฟกต์ก็ใช้จากยูทิวบ์ ไม่ได้ใช้พลุจริง เรื่องที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นการทำส่วนตัวมากกว่า

    ในส่วนของสาเหตุการระเบิดนั้น จากรายงานของ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ร.ต.ท. สุธี นวลจันทร์ รองสารวัตร ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 เปิดเผยว่า สาเหตุการเกิดระเบิดมาจากการที่ผู้ได้รับบาดเจ็บทำพลุสำเร็จรูปเป็นลูกแล้ว ได้ใช้ตะปูขนาด 4 นิ้วเจาะรูลูกพลุเพื่อใส่สายชนวน โดยใช้สากกะเบือตอก ทำให้เกิดการเสียดสีแล้วเกิดระเบิดขึ้นอย่างรุนแรงจนได้รับบาดเจ็บ

    ในด้านอาการของผู้บาดเจ็บ หลังจากที่ต้องตัดมือซ้ายทิ้งเนื่องจากอยู่ในสภาพเสียหายจนไม่อาจรักษาได้ ล่าสุด รายงานจากเว็บไซต์แนวหน้าระบุว่า แพทย์มีความจำเป็นต้องตัดขาซ้ายตั้งแต่ช่วงหัวเขาลงไปทิ้งด้วย รวมทั้งตอนนี้ผู้ป่วยยังอยู่ในอาการโคม่าและไม่รู้สึกตัว

    สละพื้นรักษาฟ้า บินไทยเล็งขายทิ้งออฟฟิศทั่วโลก

    ที่มาภาพ: ไทยรัฐออนไลน์ (http://www.thairath.co.th/content/516676)
    ที่มาภาพ: ไทยรัฐออนไลน์ (http://www.thairath.co.th/content/516676)

    ลุ้นกันราวเครื่องจะจอดแต่ล้อไม่กาง กับการบริหารจัดการรายรับรายจ่ายของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ในสภาพลุ่มๆ ดอนๆ ทางการเงินติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี โดยในปี พ.ศ. 2551 การบินไทยขาดทุนครั้งแรกในรอบ 48 ปี มีรายได้ 200,318 ล้านบาท ขาดทุน 21,314 ล้านบาท

    ต่อมาในปี 2552 มีกำไร 7,343.58 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่ได้มาจากการดำเนินงาน แต่มาจากตีราคาอัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมันที่ลดลง

    พอมาปี 2553 การบินไทยได้ทำตามแผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟูกิจการ จนทำให้มีกำไรต่อเนื่องเป็นปีที่สอง 15,349.69 ล้านบาท แต่พอปี 2554 กลับมาทรุดหนักขาดทุนอีก 10,196 ล้านบาท ส่วนปี 2555 พลิกกลับมามีกำไรอีกครั้ง 6,228 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ใน 2 ปีล่าสุด ปี 2556 กลับมาขาดทุน 12,047 ล้านบาท และปี 2557 ยิ่งทรุดหนักขาดทุนเพิ่มอีก 15,573 ล้านบาท (ข้อมูลจากไทยรัฐออนไลน์)

    ล่าสุด ตามรายงานของไทยรัฐออนไลน์ นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูระยะเร่งด่วน 18 เดือน ที่เติ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558 ว่า

    “ผ่านมา 6 เดือน ลดค่าใช้จ่ายได้แค่ 6% เท่านั้น ผมยังไม่พอใจ อยากให้ลงได้เร็วกว่านี้ ส่วนแผนเพิ่มรายได้ก็พอใจเพียง 50% เท่านั้น เรายังต้องทำงานให้เข้มข้นมากขึ้น แม้ว่ารายได้ไตรมาสแรกของปีนี้จะดีกว่าปีที่แล้ว ส่วนรายได้ในช่วง 6 เดือนนั้นยังเปิดเผยไม่ได้ แต่อัตราการบรรทุกผู้โดยสารเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาเพิ่มสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนมากถึง 8% เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวจากเอเชียเพิ่มขึ้นมาก”

    ส่วนในด้านของการลดค่าใช้จ่ายนั้น การบินไทยมีเส้นทางบินที่ประสบภาวะการขาดทุนตลอดเวลา 5-10 ปี รวมทั้งสิ้น 50 เส้นทาง โดยจะทยอยปิดและปรับลด 10 เส้นทาง ส่วนอีก 10 เส้นทางอยู่ระหว่างการพิจารณาอาจเป็นแผนในปีถัดไป และจะต้องมีการปรับขนาดเครื่องบินให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และต้องมีการปลดระวางเครื่องบิน

    นอกจากนี้ ยังต้องมีการปรับโครงสร้างบริหารงานให้ได้มาตรฐานสากลด้วย

    นายจรัมพรกล่าวว่า ในส่วนของแผนการเพิ่มรายได้นั้น ช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. นี้ การบินไทยจะนำระบบการบริหารจัดการกำหนดราคาตั๋วโดยสารและระบบบริหารจัดการตารางบินแบบใหม่มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุน ซึ่งจะทำให้การกำหนดราคาตั๋วโดยสารจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

    “ขณะนี้บริษัททำแผนบริหารจัดการสินทรัพย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นอาจจำเป็นต้องขายทิ้ง สำนักงาน บ้านพักพนักงาน และสำนักงานขายที่ไม่ได้ใช้งานประมาณ 30 แห่ง แบ่งเป็นในต่างประเทศ 19 แห่ง และในไทยอีก 11 แห่ง ผมยืนยันว่าเราไม่ได้ขายทรัพย์สินเพื่อให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ต้องการลดต้นทุนค่าบริหารจัดการทรัพย์สินมากกว่า เบื้องต้นจะขายก่อน 3-4 แห่ง เช่น สำนักงานที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย และบ้านพนักงานในกรุงลอนดอน แต่จะขายหรือไม่ รอผลการพิจารณาของบอร์ดในเดือน ก.ย. ว่าจะเห็นเป็นอย่างไร เพราะการขายทรัพย์สินถือเป็นเรื่องที่อ่อนไหว และอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรได้”

    ความหวังจากเศษซาก-กว่า 500 วัน กับ MH 370

    ที่มาภาพ: CNN (http://goo.gl/kPtCr0)
    ที่มาภาพ: CNN (http://goo.gl/kPtCr0)

    การหายสาบสูญของเครื่องบินโบอิง 777 สายการบินมาเลเซีย เที่ยวบิน MH 370 ขณะบินจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปยังปักกิ่งเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2557 พร้อม 239 ชีวิต กลายเป็นปริศนาลึกลับและเศร้าสะเทือนใจที่สุดเรื่องหนึ่งของโลกยุคปัจจุบัน

    แต่แล้ว ผ่านมากว่า 500 วัน หลังจากการตามหาอย่างไร้ความหวังบนพื้นที่ 60,000 ตารางกิโลเมตร ของมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ ในที่สุด ประกายความหวังก็เหมือนจะผุดขึ้นมาจากเกาะ Reunion ประเทศฝรั่งเศส เมื่อมีการพบซากที่คิดว่าน่าจะเป็นชิ้นส่วนของเครื่องบินลอยมาติดที่ชายหาดเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2558

    ภายหลังการตรวจสอบที่ห้องแล็บใกล้เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส ในวันพุธที่ 5 ส.ค. 2558 วันรุ่งขึ้น (พฤหัสฯ 6 ส.ค. 2558) นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรี ประเทศมาเลเซีย ก็ได้ประกาศยืนยันผลการตรวจสอบว่าชิ้นส่วนที่พบนั้น มาจากเที่ยวบิน MH 370 จริงๆ

    ซึ่งนั่นหมายความว่า จากนี้จะมีการกำหนดพื้นที่การหากันใหม่ และความหวังที่จะได้พบกับเครื่องบินลำนี้ก็กลับกลายเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมาอย่างที่คงไม่มีใครคาดคิด

    แม้ว่ามันจะเป็นความหวังที่โศกเศร้ามากก็ตาม

    อ่านเพิ่มเติมที่: Malaysian Prime Minister: Debris is from MH370

    ละเมิดแค่ไหน แค่ไหนเรียกละเมิด ผิด-ไม่ผิด พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 2 ปี 2558

    ที่มาภาพ: ASTVผู้จัดการออนไลน์ (http://goo.gl/MV2C7p)
    ที่มาภาพ: ASTVผู้จัดการออนไลน์ (http://goo.gl/MV2C7p)

    ทันทีที่มีวี่แววจะปรากฏ จนกระทั่งถึงการบังคับใช้จริงในวันที่ 4 ส.ค. 2558 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2558 ก็ได้สร้างความฉงนฉงาย วุ่นวายสับสน ให้แก่คนในสังคมออนไลน์ที่ใช้การแชร์เป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ที่ต่างกังวลจนต้องยั้งนิ้ว เพราะต่างไม่แน่ใจว่ากดท่าไหนถึงจะไม่ปลิวไปโรงไปศาล เนื่องจากโทษปรับนั้นมีตั้งแต่ 10,000-800,000 บาท และโทษจำคุกก็มีตั้งแต่ 3 เดือน – 4 ปี แล้วแต่ว่าไปทำผิดในข้อไหนอย่างไร

    ดังนั้น ในวันที่ 4 ส.ค. กรมรัพย์สินทางปัญญา จึงได้จัดทำ 10 คำถาม 10 คำตอบ เพื่อชี้แจงข้อสงสัยต่อ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2558 ดังนี้

    1. ลิขสิทธิ์คุ้มครองอะไรบ้าง มีอะไรที่เราสามารถเอามาใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือไม่

    ตอบ ลิขสิทธิ์คุ้มครองงานสร้างสรรค์ เช่น บทความ หนังสือ ซอฟต์แวร์ เพลง รูปภาพ ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพข่าว ภาพยนตร์ ละคร เป็นต้น แต่ข้อเท็จจริงต่างๆ รวมทั้งข่าวประจำวันทั่วไปในส่วนของข้อเท็จจริงที่รายงานเพียงแค่ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ไม่เข้าข่ายงานอันมีลิขสิทธิ์ เราจึงสามารถเอามาใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

    2. เราสามารถดาวน์โหลดภาพยนตร์หรือเพลงจากอินเทอร์เน็ตมาฟังและแชร์ต่อให้เพื่อนได้ไหม

    ตอบ การดาวน์โหลดถือเป็นการทำซ้ำที่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ กรณีเว็บไซต์ลิขสิทธิ์ที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ดาวน์โหลดได้ฟรี ก็สามารถดาวน์โหลดได้ แต่ไม่สามารถแชร์ต่อได้ ส่วนกรณีเว็บไซต์ที่ให้บริการโดยเก็บค่าใช้จ่ายในการดาวน์โหลด เมื่อผู้ใช้เสียค่าบริการแล้วจึงจะดาวน์โหลดมาเพื่อรับชมหรือรับฟังได้ แต่ไม่สามารถแชร์ต่อได้เช่นกัน

    3. การก๊อบปี้บทความหรือรูปภาพจากเว็บไซต์มาใส่เฟซบุ๊กของเราหรือแชร์ต่อทางไลน์ ทำได้หรือไม่

    ตอบ บทความหรือรูปภาพเป็นงานลิขสิทธิ์ การนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการก๊อบปี้หรือแชร์ต่อ ควรพิจารณาประกอบกับเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้เนื้อหาของเว็บไซต์นั้นๆ ว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ถ้านำมาใช้ในปริมาณน้อย เช่น 1 ถึง 2 ภาพที่ไม่ได้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ (economic value) อย่างมีนัยสำคัญ และไม่ได้เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือหากำไรโดยมีการแสดงที่มาของบทความหรือรูปภาพ ก็อาจถือว่าเป็นการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (fair use) ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

    4. การนำงานมาใช้และเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาหรือให้เครดิตผู้สร้างสรรค์เพียงพอหรือไม่ที่จะไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

    ตอบ การนำงานมาใช้และเผยแพร่ ต้องอ้างอิงที่มาหรือให้เครดิตเสมอ จึงจะไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และต้องเป็นกรณีที่ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมทั้งต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควรด้วย

    5. การแฮกหรือหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงงานลิขสิทธิ์ เช่น รูปภาพหรือคลิปวิดีโอบนอินเทอร์เน็ต และลบลายน้ำดิจิตอลออก และปรับแต่งรูปภาพหรือคลิปวิดีโอและโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ของเรา มีความผิดอย่างไร และมีโทษเท่าใด

    ตอบ การแฮกหรือหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงงานลิขสิทธิ์โดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำดังกล่าวอาจจูงใจหรือก่อให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี และหากทำการลบลายน้ำดิจิตอลออกโดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำนั้นอาจจูงใจให้เกิด ก่อให้เกิด ให้ความสะดวก หรือปกปิดการละเมิดลิขสิทธิ์ ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ ส่วนการปรับแต่งรูปภาพหรือคลิปวิดีโอของผู้อื่นและโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ของเราโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการดัดแปลงและเผยแพร่งานลิขสิทธิ์นั้นต่อสาธารณชน

    โทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ปรับ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท เพื่อการค้า 100,000 ถึง 800,000 บาท หรือจำคุก 6 เดือนถึง 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

    โทษฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิและมาตรการทางเทคโนโลยี ปรับ 10,000 บาทถึง 100,000 บาท เพื่อการค้า ปรับ 50,000 บาท ถึง 400,000 บาท หรือจำคุก 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

    6. การก๊อบปี้ภาพหรือบทความจากอินเทอร์เน็ตมาใช้ในลักษณะอย่างไรจึงจะต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ และอย่างไรจึงไม่ต้องขออนุญาต

    ตอบ กรณีที่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น การนำภาพหรือบทความนั้นไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น กรณีที่ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ ต้องเป็นการใช้ในปริมาณพอสมควร เช่น นำมาใช้ในการวิจัยหรือศึกษางานซึ่งไม่ใช่เพื่อหากำไร ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท ใช้ในการติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น ใช้ในการเสนอข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น และใช้ในการเรียนการสอน เป็นต้น

    7. การทำบล็อกแล้ว embed โพสต์ของยูทิวบ์มาไว้ที่บล็อกของเรา ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

    ตอบ การทำบล็อกแล้ว embed โพสต์ของยูทิวบ์มาไว้ที่บล็อกของเราถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นการทำซ้ำงานลิขสิทธิ์ในบล็อกและถือเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วย ซึ่งสิทธิในการทำซ้ำและสิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชนเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์

    ในกรณีของการแชร์ลิงก์ (link) เพื่อแนะนำและบอกที่มาของเว็บไซต์ ก็อาจไม่เข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์

    8. หากซื้อซีดีเพลง หนังสือ หรือรูปภาพมาอย่างถูกต้อง เมื่อใช้แล้วจะนำออกขายต่อได้หรือไม่ กรณีซื้อโดยดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ ภาพยนตร์ เพลงจากเว็บไซต์ จะขายต่อได้หรือไม่

    ตอบ การซื้อซีดีเพลงหรือรูปภาพ ผู้ซื้อได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในแผ่นซีดีหรือรูปภาพนั้น จึงสามารถนำออกขายต่อได้ แต่ผู้ซื้อไม่สามารถทำสำเนางานเพื่อนำออกขายได้ เนื่องจากสิทธิในการทำซ้ำและการนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ สำหรับกรณีการซื้อมาโดยวิธีการดาวน์โหลดนั้น เป็นการที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ใช้สิทธิ (License) ดังนั้น ไม่สามารถนำไฟล์งานดังกล่าวออกขายต่อได้

    9. ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต (ISPs) เช่น YouTube Google True DTAC จะมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยหรือไม่ หากผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตอัปโหลดหนังหรือเพลงละเมิดลิขสิทธิ์

    ตอบ ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต (ISPs) ไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์หากให้ความร่วมมือกับเจ้าของลิขสิทธิ์ในการนำงานละเมิดออกจากเว็บไซต์ตามคำสั่งศาล

    10. จะทำอย่างไรเมื่อมีคนนำงานลิขสิทธิ์ของเราไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

    ตอบ เมื่อพบว่ามีการละเมิดเกิดขึ้น เจ้าของลิขสิทธิ์อาจแจ้งเตือนให้ผู้กระทำละเมิดหยุดการกระทำดังกล่าว หรือเจ้าของลิขสิทธิ์อาจไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล หรืออาจขอให้มีการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทโดยใช้บริการไกล่เกลี่ยของกรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือศาล