หลังจากสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้เปิดข้อมูลการใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือ “งบพีอาร์” ของรัฐบาล ที่ใช้ผ่าน “สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)” ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และมีบทบาทคล้ายแม่บ้านของทำเนียบรัฐบาล ระหว่างปี 2550-2557 ไปแล้ว
โดยผลปรากฏว่า ในช่วง 8 ปีที่ตรวจสอบ คาบเกี่ยวการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีถึง 6 คน มีการใช้งบของ สปน. ในการทำพีอาร์ไปถึง 282 โครงการ รวมมูลค่า 1,249.00 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็น “งบพีอาร์ตามนโยบาย” ของรัฐบาลในช่วงเวลานั้นๆ จำนวน 48 โครงการ รวมมูลค่า 893.99 ล้านบาท และโครงการพีอาร์ที่ใช้งบมากที่สุดในช่วงเวลาที่ตรวจสอบ คือ “แคมเปญ Modern Thailand” ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ใช้งบไปถึง 355.00 ล้านบาท
งบพีอาร์ สลน. 6 ปี เกือบ 400 ล้านบาท – ใช้จ้างออร์กาไนเซอร์มากสุด
จากการตรวจสอบข้อมูลการใช้งบพีอาร์ของรัฐบาล ผ่านอีกหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญนั่นคือ “สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.)” ที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการให้กับนายกรัฐมนตรี และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของเลขาธิการนายกฯ(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ที่มาของข้อมูล ก็เช่นเดียวกับการข้อมูลของ สปน. ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อศูนย์ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ สลน. อ้างสิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 ขอดูข้อมูลสรุปผลการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี แต่ติดปัญหาว่าเอกสารบางอย่างสูญหายระหว่างย้ายไปปฏิบัติราชการภายนอกทำเนียบรัฐบาลในช่วงวิกฤติการเมือง กลุ่มบริหารงานพัสดุ สำนักบริหารกลาง สลน. ได้ขอเวลาจัดทำและรวบรวมเอกสารใหม่ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จึงแล้วเสร็จ แต่ได้รับเอกสารเพียง 6 ปี เท่านั้น คือระหว่างปี 2552-2557
จากตรวจสอบ พบว่า โครงการพีอาร์ที่ใช้งบ สลน. มีไม่มากเท่า สปน. โดยระหว่างปี 2552-2557 (คาบเกี่ยวช่วงระหว่างรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มีการใช้งบของ สลน. ทำพีอาร์ จำนวน 102 โครงการ รวมมูลค่า 393.40 บาท
จำแนกการใช้งบพีอาร์ของ สลน. ตามวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง
– ตกลงราคา จำนวน 22 โครงการ รวมมูลค่า 7.22 ล้านบาท
– สอบราคา จำนวน 6 โครงการ รวมมูลค่า 1.81 ล้านบาท
– พิเศษ จำนวน 63 โครงการ รวมมูลค่า 364.68 ล้านบาท
– กรณีพิเศษ จำนวน 10 โครงการ รวมมูลค่า 13.69 บาท
– e-auction จำนวน 1 โครงการ รวมมูลค่า 5.99 ล้านบาท
เมื่อแบ่งลักษณะการใช้งบพีอาร์ พบว่า สูงสุดเป็นการจ้างออร์กาไนซ์ จำนวน 31 โครงการ รวมมูลค่า 309.12 ล้านบาท ตามมาด้วย จ้างซื้อสื่อ จำนวน 19 โครงการ รวมมูลค่า 46.11 ล้านบาท จ้างผลิตสื่อ จำนวน 51 โครงการ รวมมูลค่า 37.76 ล้านบาท และจ้างเหมาทั้งผลิตและซื้อสื่อ จำนวน 1 โครงการ รวมมูลค่า 4 แสนบาท
โดยโครงการสำคัญก็คือการจ้างทำโครงการ “Roadshowสร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020”สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และบริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ได้รับงานไป รวมมูลค่าทั้งหมด 240.00 ล้านบาท ซึ่งถูกตรวจสอบทั้งจากฝ่ายการเมืองและองค์กรอิสระ หลังมีการนำไปอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือท้วงติงเรื่องความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง

สตง. ตรวจสอบ รบ.ยิ่งลักษณ์ จ้าง “มติชน-สยามสปอร์ต” โรดโชว์สร้างอนาคตไทย 2020
โครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 เป็นโครงการประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แบ่งเป็น 3 สัญญา รวมมูลค่า 240.00 ล้านบาท
– สัญญาที่ จ.01/2557 สลน. จ้างบริษัทมติชนฯ วงเงิน 40.00 ล้านบาท (ทำสัญญาวันที่ 1 ตุลาคม 2556)
– สัญญาที่ จ.17/2557 สลน. จ้างบริษัทมติชนฯ วงเงิน 100.00 ล้านบาท (ทำสัญญาวันที่ 11 ตุลาคม 2556)
– สัญญาที่ จ.18/2557 สลน. จ้างบริษัทสยามสปอร์ตฯ วงเงิน 100.00 ล้านบาท (ทำสัญญาวันที่ 11 ตุลาคม 2556)
ทุกสัญญาใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วย “วิธีพิเศษ” ที่ไม่เปิดให้มีการเสนอราคาอย่างกว้างขวาง แต่เป็นการเชิญเฉพาะรายมาเสนอราคาโดยตรง
ลักษณะของการใช้งบพีอาร์ครั้งนี้ คือจ้างให้บริษัทเอกชนทั้ง 2 แห่ง จัดนิทรรศการ จัดสัมมนา และประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ เกี่ยวกับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ รวม 12 จังหวัด โดยวางเป้าหมายมีผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 250,000 คน
การใช้งบพีอาร์นี้ของ สลน. ตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม ช่วงปลายปี 2556 เมื่อ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านขณะนั้น ได้ตั้งเป็นหนึ่งในประเด็นของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาตรวจสอบ โดยอ้างว่า ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103/7 ว่าด้วยการประกาศราคากลางการจัดซื้อจัดจ้างไว้บนเว็บไซต์ของ สลน.
บริษัทเอกชนทั้ง 2 แห่ง ได้ดำเนินโครงการพีอาร์นี้ระหว่างเดือนตุลาคม–พฤศจิกายน 2556 จนเสร็จสิ้น ครบทั้ง 12 จังหวัด
วันที่ 9 ธันวาคม 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประกาศยุบสภา

เดือนมกราคม 2557 สตง. ได้ยื่นหนังสือต่อ สลน. ขอให้ “ทบทวนการจ่ายเงินจ้าง” บริษัทเอกชนทั้ง 2 แห่ง เนื่องจากร่างกฎหมายเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นวัตถุประสงค์หลักในการจัดงานประชาสัมพันธ์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
ภายหลัง สลน. ได้รับหนังสือจาก สตง. นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ ขณะนั้น ก็ได้ทำหนังสือตอบกลับว่า คงไม่สามารถทบทวนการจ่ายเงินจ้างบริษัทมติชนฯ และบริษัทสยามสปอร์ตฯ ได้ เพราะการจ้างจัดงานประชาสัมพันธ์ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติงานตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา
เดือนมีนาคม 2557 สตง. ส่งหนังสืออีกฉบับถึงนายสุรนันทน์โดยตรง ขอให้ทบทวนการจ่ายเงินในโครงการนี้ เพราะไม่เปิดให้มีการแข่งขันราคาอย่างโปร่งใส อาจจัดจ้างในราคาที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น และอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว)
ต่อมา บริษัทมติชนฯ ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ สตง. ระบุว่า ประเด็นที่ สตง. ตรวจสอบ บริษัทสามารถชี้แจงทำความเข้าใจได้ และพร้อมจะเข้าชี้แจงกับ สตง. และหน่วยงานใดที่ยังมีข้อสงสัย ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้ทำหนังสือถึง สลน. ขอให้ชำระเงินค่าจ้างตามสัญญา เนื่องจากการจัดงานดังกล่าวผ่านไปอย่างราบรื่นตามสัญญา โดยบริษัทได้สำรองจ่ายไปเป็นเงิน 130 ล้านบาท และขณะนี้เวลาก็ล่วงเลยมาพอสมควรแล้ว
วันที่ 12 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ร่างกฎหมายเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทตกไป
หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 สตง. ก็ได้ส่งรายงานผลการตรวจสอบการดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์นี้ ถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. โดยระบุว่า “การดำเนินโครงการดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ และมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่เกิดประสิทธิภาพหรือเกิดความสูญเปล่า ไม่ประหยัด ไม่เกิดประโยชน์คุ้มค่าและไม่เปิดโอกาสให้มีการเข้าแข่งขันราคาอย่างเปิดเผย โปร่งใส และเป็นธรรม และอาจเป็นการจัดจ้างในราคาที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น หากมีการเบิกจ่ายเงินไม่ถูกต้อง จะต้องมีผู้รับผิดชอบในการเบิกจ่ายเงินครั้งนี้”
โครงการ “Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020” จึงถือเป็นโครงการการใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ตัวอย่าง ที่ถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น ทั้งจากฝ่ายการเมืองและองค์กรอิสระ
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบ พบว่า สลน. ได้เบิกจ่ายงบให้กับบริษัทเอกชนทั้ง 2 แห่งเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่ต้นปี 2557
แหล่งข่าวจากส่วนงานด้วยพัสดุของ สลน. เปิดเผยว่า สลน. ได้เบิกจ่ายเงินให้กับบริษัทเอกชนทั้ง 2 แห่งไปแล้ว เพราะได้ทำงานเสร็จสิ้นและมีการส่งมอบงานแล้วตามทีโออาร์ หากไม่เบิกจ่ายให้ก็อาจถูกยื่นฟ้องร้องต่อศาล ส่วนการตรวจสอบของ สตง. และ ป.ป.ช. ก็ว่ากันต่อไป หากมีการขอข้อมูลหรือเชิญไปชี้แจง ทาง สลน. ก็พร้อมให้ความร่วมมือ
“ที่ผ่านมา มีหลายโครงการที่ สตง. เข้ามาตรวจสอบ ไม่ใช่แค่โครงการจ้างมติชนกับสยามสปอร์ตเท่านั้น แต่โครงการนี้อาจเป็นที่สนใจ เพราะใช้งบประมาณค่อนข้างมาก” แหล่งข่าวระบุ