ThaiPublica > เกาะกระแส > ความพร้อมไทยติดลบรับประชาคมอาเซียน แพทย์-พยาบาลขาดนับหมื่น ความมั่นคงเปราะบางตั้งกองกำลังพิเศษรับ

ความพร้อมไทยติดลบรับประชาคมอาเซียน แพทย์-พยาบาลขาดนับหมื่น ความมั่นคงเปราะบางตั้งกองกำลังพิเศษรับ

21 สิงหาคม 2012


แรงบีบของการเปิดประชาคมอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2558 ทำให้รัฐบาลและหน่วยราชการไทยต้องตื่นตัวในการวาง “พิมพ์เขียว” เพื่อตั้งรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมหน่วยงานทั้งหมดเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีการรายงานทั้งในแง่บวกและแง่ลบ จึงมอบให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ เป็นแกนนำในการประสานแผนแม่บทที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม หลังการประชุมเวิร์กชอปครั้งดังกล่าว เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุม ถึงแนวทางในการทำงานของกระทรวงต่างๆ ที่ยังไม่ชัดเจน และยังไม่เห็นอนาคตว่าประเทศไทยจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้จริงหรือไม่

ล่าสุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ได้รายงานมติของการประชุมไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ระบุว่า มีการจำแนกภารกิจเป็น 3 เสาหลัก หรือ 3 แนวทาง แยกเป็น ประชาคมเศรษฐกิจ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ประชาคมการเมืองและความมั่นคง

โดยในด้านประชาคมเศรษฐกิจนั้น ที่ประชุมเห็นควรให้มีการศึกษาวิเคราะห์เพื่อจัดทำโครงสร้างความต้องการบุคลากรให้ชัดเจน ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการสามารถวางแผนกำลังการผลิตคนได้ตรงกับความต้องการ

พร้อมสั่งการให้กระทรวงการคลังเร่งรัดงานด้านศุลกากร ในการตรวจปล่อยสินค้าทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ให้เกิดความคล่องตัว รวดเร็ว ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และการกระจายสินค้า อีกทั้งควรหารือกับประเทศจีนเพื่อให้มีการทำงานแบบคู่ขนานในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากจีน และการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ที่สามารถบรรทุกสินค้าน้ำหนักเบาของไทย เพื่อให้การเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งเสร็จสมบูรณ์ และสามารถใช้งานได้พร้อมกัน

ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรจัดทำรายชื่อสินค้าเกษตรที่มีการนำเข้าจากประเทศอาเซียน เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ (รีเอ็กซ์ปอร์ต) และการกำหนดแบบฟอร์มเอกสารต่างๆ เพื่อความรวดเร็ว ซึ่งจะรักษาความสดของสินค้าเกษตรไว้ได้ และลดต้นทุนการบริการด้านการขนส่งสินค้า

ในด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมนั้น มีการวิเคราะห์ผลกระทบในเชิงลบว่า จะมีแรงงานนอกระบบจำนวนมากขึ้น จึงต้องเตรียมระบบการคุ้มครองทางสังคมให้แรงงานเหล่านี้รวมถึงครอบครัวและบุตรด้วย

ขณะที่แรงงานไทยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ภาษาอังกฤษ ขาดโอกาสในการศึกษาต่อและการเจรจาธุรกิจระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับ สตรี เด็ก เยาวชน และผู้พิการบางกลุ่ม ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการของรัฐ และขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขมีความกังวลว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานและสินค้าอย่างเสรีในอาเซียน จะนำไปสู่การแพร่กระจายของโรคติดเชื้อต่างๆ จึงควรมีกฎระเบียบที่เป็นมาตรฐานและแนวทางเดียวกัน ในการควบคุมและป้องกันโรค

ส่วนการบริการทางการแพทย์จะรับภาระหนักมากขึ้น มีการประเมินว่าในปี 2558 จะมีผู้มารับบริการสาธารณสุขจากโรงพยาบาลของรัฐเพิ่มขึ้นมากรวมถึงกว่า 2 ล้านคน

ทั้งนี้ หากมีการผลิตบุคลากรที่เพียงพอ จะทำให้ประเทศไทยมีรายได้ในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ถึง 1 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุขนำเสนอรัฐบาล พบว่า จำเป็นต้องมีการเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านสาธารณสุขรวมกันทั้งสิ้นกว่า 29,000 คน เป็นการด่วน

โดยเฉพาะวิชาชีพแพทย์นั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ต้องเพิ่มเพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียนอีกถึง 1,200 คน จากปัจจุบันที่ประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรแพทย์อยู่แล้ว 10,719 คน ดังนั้น หากรัฐบาลไม่มีการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหานี้ จะทำให้อีก 2 ปีข้างหน้าจะมีปัญหาการขาดแคลนแพทย์ถึง 11,974 คน และขาดแคลนทันตแพทย์อีก 3,267 คน

ขณะที่วิชาชีพพยาบาล ต้องเพิ่มเพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน 5,454 คน จากปัจจุบันที่ขาดแคลนอยู่แล้วถึง 16,030 คน เท่ากับว่าจะขาดแคลนรวมกันถึง 21,628 คน

ทั้งนี้ ทางออกที่มีการเสนอก็คือ การให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นสถาบันการผลิต รวมทั้งรักษาบุคลากรภาครัฐที่มีอยู่แล้วไม่ให้มีปัญหาสมองไหล ด้วยการเพิ่มค่าตอบแทนและตำแหน่งที่เหมาะสม โดยหลังจากนี้จะต้องมีการตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐ เอกชน สภาวิชาชีพ มาพิจารณาแก้ปัญหาร่วมกัน

ด้านประชาคมการเมืองและความมั่นคง ซึ่งประกอบด้วย 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงยุติธรรม ได้รายงานผลกระทบเชิงลบที่สำคัญของการเกิดประชาคมอาเซียน ระบุว่า อาจเกิดปัญหาความมั่นคงและภัยรูปแบบใหม่ เช่น ปัญหายาเสพติดข้ามชาติ และการค้ามนุษย์

การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีอาจเกิดผลกระทบต่อความสงบสุขและความมั่นคงภายในประเทศ ปัญหาจากกลุ่มก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ที่แสวงหาประโยชน์จากการเปิดและเคลื่อนย้ายเสรี ทำให้การป้องกันและปราบปรามยุ่งยากซับซ้อนขึ้น

ประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งพิจารณาก็คือ การสนับสนุนแนวคิดในการจัดตั้ง “กองกำลังอาเซียน” ให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยเตรียมพร้อมทั้งกำลังพล งบประมาณ และการบริหารจัดการ การเพิ่มสมรรถนะในการบริหารจัดการพื้นที่ ส่งเสริมความเข้าใจและการยอมรับในระบอบการเมืองการปกครองในประชาคมอาเซียน สร้างความร่วมมือด้านการทหาร โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นเจ้าภาพในการวางแผนงานด้านเศรษฐกิจ ส่วนนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดูแลด้านสังคมและวัฒนธรรม ขณะที่พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม และนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ดูแลด้านการเมืองและความมั่นคงของอาเซียน

นอกจากนั้น ยังมอบให้ รมว.แรงงาน, รมว.ศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยวางแผนกำลังคนของทั้งระบบ ครอบคลุมทรัพยากรมนุษย์ในภาครัฐ และภาคการผลิตและบริการ ทั้งในส่วนของจำนวน การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และทักษะด้านภาษา

นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเผยว่า ในปี 2558 อาจเกิดความเปลี่ยนแปลงต่อระบบการให้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านบุคลากรทางการแพทย์ ที่อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากจะมีผู้ใช้บริการจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามายังประเทศไทยจำนวนมาก รวมถึงการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติ ที่จะมีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจการแพทย์ในอนาคต

ทั้งนี้ ธุรกิจบริการทางสุขภาพที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนมี 4 ด้าน ได้แก่ 1. การบริการทางไกล เช่น การให้คำปรึกษาผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ (Tele-consultant), การรับส่งภาพเอ็กซเรย์ทางไกล (Tele-radiogist), การใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดคนไข้ (Robotic Surgery or Practice)

2. การรับบริการข้ามพรมแดน เช่น การที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางให้บริการสุขภาพ (Medical Hub) แก่นักท่องเที่ยว หรือการผ่าตัดแปลงเพศ 3. การข้ามชาติไปลงทุนบริการในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ธุรกิจโรงพยาบาล, บริการทางสุขภาพ และอุตสาหกรรมยา 4. การเคลื่อนย้ายแรงงานด้านสุขภาพ เช่น แพทย์เฉพาะด้าน พยาบาล นักเทคนิคฯ เป็นต้น

กระทรวงสาธารณสุขควรใช้โอกาสนี้ในการวางแผนด้านอัตรากำลังคนและเทคโนโลยี เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่จะเกิดขึ้นยาวอีก 10-20 ปีข้างหน้า ไม่ใช่คิดแค่เรื่องการเข้ามาแข่งขันของอาเซียนเพียงอย่างเดียว เพราะจะสร้างข้อจำกัดที่สูง แต่ควรมองว่าประชาคมอาเซียนเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาตัวเอง

นพ.วิพุธกล่าวว่า การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน ยังจะทำให้กระบวนการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพหรือ HIA มีความสำคัญมาก ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน แต่ในส่วนของประเทศไทยก็ต้องชี้แจงกับเพื่อนบ้านด้วยว่า กลไกการชี้ขาดมีหลายส่วน ไม่ใช่รัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีภาคประชาชน รวมถึงศาลปกครอง ในการพิจารณาตัดสินอีกด้วย

ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) มองว่า การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงใหม่ๆ เช่น การเปิดเสรีด้านการขนส่งสินค้าข้ามแดน จะทำให้รถบรรทุกที่ขนสารเคมีจากประเทศเพื่อนบ้านนำสารเคมีเหล่านี้มาทิ้งในประเทศไทย เหมือนที่ในสหรัฐเคยเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “มิดไนท์รัน” ที่รถบรรทุกสารเคมีไปทิ้งกลางทาง กว่ารัฐบาลจะรู้ว่าในขยะนั้นมีอะไรก็ต้องใช้เวลาถึง 4-5 ปี

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าขณะนี้อาเซียนได้รับความสนใจจากประเทศตะวันตก รวมถึงยักษ์ใหญ่อย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลี จะเห็นได้ว่าอาเซียนมีคู่เจรจาทั้งอาเซียนบวกสาม และอาเซียน-สหรัฐ หลังจากนี้ก็ยังมีหลายประเทศ ที่ขอเข้าร่วมเจรจาอีก ล่าสุด อาเซียนจะขยายสมาชิกเพิ่มอีก 2 ประเทศ คือ ติมอร์ตะวันออกและปาปัวนิวกินี ยิ่งทำให้ศักยภาพของอาเซียนมีการเติบโต ซึ่งประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือกับเงินทุนต่างชาติที่จะไหลเข้ามาลงทุนมากขึ้น

ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ สภาพัฒน์ฯ กล่าวว่า หลังจากเกิดประชาคมอาเซียน จะมีการลงทุนขนาดใหญ่เข้ามาอีกมาก เพราะจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงระหว่างประเทศ เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายในประเทศพม่า ซึ่งจะนำไปสู่การเชื่อมโยงการส่งออกสินค้ากับที่ท่าเรือแหลมฉบัง ดังนั้น โอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนตามแนวตะวันออก-ตะวันตก และแนวเหนือ-ใต้ของอาเซียนยังมีมาก

ในส่วนของประเทศไทยนั้นควรเตรียมกลไกรองรับการเปิดเสรีการลงทุนที่จะเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะระบบการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และ การประเมินด้านสุขภาพ (HIA) จะต้องมีบทบาทมากขึ้น รวมถึงภาคประชาชนจะต้องมีความเข้มแข็งและอาจร่วมมือกับเป็นเครือข่ายในระดับภูมิภาค