ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เจาะงบฯ ป้ายโฆษณากระทรวงศึกษาฯ เปลี่ยนทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐมนตรี 3 เดือน 15 ล้าน

เจาะงบฯ ป้ายโฆษณากระทรวงศึกษาฯ เปลี่ยนทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐมนตรี 3 เดือน 15 ล้าน

10 พฤศจิกายน 2013


สำนักข่าวไทยพับลิก้ายังคงให้ความสนใจและเดินหน้าติดตามประเด็นงบประชาสัมพันธ์จากภาครัฐต่อ ครั้งที่แล้วได้ค้นหาข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในด้านประชาสัมพันธ์ของกระทรวงแรงงานย้อนหลัง 5 เดือน พบว่ากระทรวงแรงงานมีมูลค่าการใช้จ่ายที่เป็นไปเพื่อการประชาสัมพันธ์สูงถึง 100 ล้านบาท และแน่นอนว่าหนึ่งในรูปแบบสื่อที่ภาครัฐให้ความสำคัญในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์มากที่สุดก็คือป้ายขนาดใหญ่ริมถนน หรือในที่นี้เราจะเรียกว่าป้าย billboard

ป้าย billboard ได้รับความนิยมในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพราะสามารถเห็นได้ชัดเวลาขับรถ ส่วนราคาที่ต้องจ่ายเพื่อซื้อโฆษณาประชาสัมพันธ์ประเภทนี้แตกต่างกันไปตามแต่ละทำเล โดยถ้าเป็นในใจกลางกรุงเทพมหานครราคาจะยิ่งสูงมาก บางแห่งอาจจะสูงถึงเดือนละหลายล้านบาท ส่วนการเก็บค่าเช่าป้ายจะทำสัญญาเป็นเดือน อาทิ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน 12 เดือน แล้วแต่จะตกลง เนื่องจากป้ายต้องมีการเสีย “ภาษีป้าย” เป็นรายปี ทำให้ยิ่งทำสัญญานานเท่าไหร่ราคาต่อเดือนก็จะยิ่งถูกลงกว่าทำสัญญาในระยะสั้น แต่ในกรณีป้ายของส่วนราชการหรือองค์กรจากภาครัฐ จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายภาษี

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

จากการสำรวจพบว่า หนึ่งในหน่วยงานของส่วนราชการที่มีป้าย billboard ริมถนนมากที่สุดก็คือ กระทรวงศึกษาธิการ โดยข้อความที่สื่อให้เห็นในป้ายมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับภาพตัวบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในกระทรวง และมักจะปรากฏรูปนายกรัฐมนตรีด้วยทุกภาพ ซึ่งเมื่อไปสำรวจข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างจากเว็บไซต์ www.gprocurement.go.th ย้อนหลัง 3 เดือน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.2556 พบว่ากระทรวงศึกษาธิการมีการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วยป้าย billboard ผ่านสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการดังนี้

– ป้าย billboard 2 แห่ง บริเวณทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิและแยกหลักสี่ ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม – 8 ตุลาคม พ.ศ.2556 มูลค่าราคากลาง 1,540,800 บาท
– ป้าย billboard 2 แห่ง มูลค่าราคากลาง 2,620,965 บาท
– ป้าย billboard 1 แห่ง บริเวณทางลงทางด่วนยมราช ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม – 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556 มูลค่าราคากลาง 561,750 บาท
– ป้าย billboard 2 แห่ง บริเวณสะพานเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ ถนนมอเตอร์เวย์ขาออก และบริเวณแยกหลักสี่ มูลค่าราคากลาง 548,940 บาท
– ป้าย billboard 2 แห่ง บริเวณทางด่วนพระราม 9 ออกมอเตอร์เวย์เข้าสนามบินสุวรรณภูมิ และบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ใกล้โรงแรมรามาการ์เดนขาออก มูลค่าราคากลาง 906,825 บาท
– ป้าย billboard 2 แห่ง มูลค่าราคากลาง 548,910 บาท
– ป้ายไวนิล รณรงค์ประชาธิปไตย มูลค่าราคากลาง 359,700 บาท

รวมมูลค่าราคากลางที่ใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นป้ายทั้งหมด 7,087,890 บาท โดยรายละเอียดที่แจกแจงไปในข้างต้น นำข้อมูลมาจากในเว็บไซต์ www.gprocurement.go.th ทั้งสิ้น

ป้ายนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายพงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา
ป้ายนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายพงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา

นอกจากป้าย billboard แล้วยังมีการประชาสัมพันธ์ผ่านหนังสือพิมพ์รายวันอีก 3 ฉบับ คือ มติชน คมชัดลึก สยามรัฐ ซึ่งรวมมูลค่า 3 เดือนย้อนหลังได้ทั้งหมด 5,711,359 บาท และการจัด event และฉาย VTR ประชาสัมพันธ์อีกอย่างน้อย 2,209,550 บาท รวมมูลค่าราคากลางการประชาสัมพันธ์ทั้งหมดของกระทรวงศึกษาธิการในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาคือ 15,008,799 ล้านบาท

การโฆษณาประชาสัมพันธ์ไม่ได้ทำเพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่งแล้วก็หยุด แต่เป็นกิจกรรมที่ทำอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากการเปลี่ยนป้ายโฆษณาทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ซึ่งไม่ใช่แค่กระทรวงหรือหน่วยงานเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น แต่มีมากแม้กระทั่งตามถนนในต่างจังหวัดก็เช่นกัน ซึ่งสาระหรือตัวหนังสือที่สื่อออกมาผ่านป้ายมีความสำคัญมากในการสื่อสารกับประชาชนให้ได้รับรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองในการปกครองระบบประชาธิปไตย แต่ยิ่งนับวันสาระส่วนนี้ยิ่งจะมีขนาดเล็กลง เมื่อเทียบกับภาพผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ไม่ใช่รัฐมนตรีที่มาจากรัฐบาลชุดปัจจุบันเท่านั้นที่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านป้าย billboard ไปในลักษณะคล้ายๆ กับป้ายหาเสียงของนักการเมือง เมื่อค้นหาลึกลงไปก็จะพบการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบนี้ของรัฐบาลชุดก่อนๆ เช่นกัน

แม้การสืบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในเว็บไซต์ดังกล่าวจะสามารถย้อนหลังไปได้เพียง 3 เดือน แต่ก็พบมูลค่าที่ใช้ไปในการโฆษณาประชาสัมพันธ์มากเป็นจำนวนล้านๆ บาท และอีกจำนวนมากที่ไม่ปรากฏในข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งไทยพับลิก้าได้พยายามค้นหาในเว็บไซต์แล้วแต่ก็ยังไม่พบข้อมูลการซื้อป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ในบางพื้นที่ ถ้าหากการโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นกิจกรรมที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องแล้ว ในปีหนึ่งๆ จะต้องใช้งบประมาณไปกับเรื่องนี้จำนวนเท่าไหร่ ซึ่งแน่นอนว่าความแตกต่างที่สำคัญที่สุดระหว่างป้ายหาเสียงของนักการเมืองและป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐก็คือ “เงินหรืองบประมาณ” ที่ใช้ ฝั่งหนึ่งมาจากเงินของพรรค ส่วนอีกฝั่งมาจาก “ประชาชน” นั่นเอง