ThaiPublica > คอลัมน์ > คนหนึ่งแค่ต้องกินน้ำกร่อย แต่อีกคนไม่มีน้ำจะกิน

คนหนึ่งแค่ต้องกินน้ำกร่อย แต่อีกคนไม่มีน้ำจะกิน

15 กรกฎาคม 2015


ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ศาสตราจารย์กิตติคุณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข่าวพาดหัวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ทำนอง “ชาวบ้านเปิดศึกแย่งน้ำ” หรือ “วิกฤติแย่งน้ำแล้งหนัก การประปาปทุมธานีหยุดจ่ายน้ำ” มีมาได้สองสามวันแล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะรัฐบาลเห็นว่าคนกรุงเทพมหานครยังมีน้ำใช้น้ำกินอยู่เป็นปกติ แถมการประปานครหลวง (กปน.) ก็ออกมายืนยันการันตีเสริมอีกว่า กปน. ไม่เคยบอกว่าจะหยุดการจ่ายน้ำให้คน กทม. จึงยังไม่เห็นรัฐบาลออกมาประกาศว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นวิกฤติแห่งชาติ

แต่ในสายตาผม ซึ่งเป็นวิศวกรน้ำคนหนึ่งของประเทศ เห็นว่ามันเป็นแล้ว และควรต้องมีมาตรการออกมาแก้ไข ปรับปรุง ป้องกัน และจัดการ ออกมาโดยเร็ว ผมไม่ทราบว่ารัฐบาลมีมาตรการใดแล้วหรือไม่เพราะไม่ได้อยู่ร่วมในคณะกรรมการที่จัดการกับปัญหานี้ แต่ผมมีข้อเสนอแนะที่จะฝากไปยังผู้บริหารน้ำของประเทศสองข้อ

ที่มาภาพ : http://www.dailynews.co.th/images/1106737?s=750x500
ที่มาภาพ: http://www.dailynews.co.th/images/1106737?s=750×500

ข้อแรก เกี่ยวกับน้ำจืดน้ำกร่อย เหตุผลที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีอธิบายแก่ประชาชน โดยอ้างถึงการประปาภูมิภาค สาขาธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ว่า ไม่สามารถสูบน้ำจากคลองมาผลิตน้ำประปาจ่ายให้แก่ประชาชนได้เพราะไม่มีน้ำในคลอง และไม่สามารถผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาเติมใส่คลองให้มีน้ำได้ด้วย เพราะหากทำเช่นนั้นจะทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาน้อยลง และไม่มีปริมาณน้ำมากพอจะไปดันน้ำให้ไหลลงทะเล น้ำทะเลจะหนุนขึ้นสูงจนทำให้แหล่งน้ำดิบมาทำประปามีน้ำทะเลมาปน ซึ่งตามทฤษฎีการจัดการน้ำเป็นที่ยอมรับกันว่าการนี้จะทำให้น้ำกร่อยจนคนไม่กินหรือไม่ชอบกิน รวมทั้งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้หากความเค็มมันขึ้นสูงมาก ซึ่งก็เป็นเหตุผลเดียวกับที่การประปานครหลวงใช้อธิบายแก่ประชาชน ตามข่าวที่ปรากฏอยู่ตามสื่อต่างๆ ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

คำถามพื้นฐานคือ แล้วเราจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร ระหว่างคนปทุมฯ ซึ่งกำลังไม่มีน้ำกิน กับคนกรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้ยังมีน้ำกินและไม่กร่อยด้วย

การจัดการเท่าที่เป็นขณะนี้คือ การยังเอาน้ำจืดจากต้นน้ำไปดันน้ำทะเลไม่ให้หนุนขึ้นสูง เพื่อคน กทม. จะได้ไม่ต้องกินน้ำที่มีน้ำทะเลมาปนจนทำให้น้ำกร่อย ไม่น่ากิน ทั้งๆ ที่คนปทุมฯ กำลังไม่มีน้ำกิน ซึ่งตามหลักการการจัดการน้ำสำหรับประชาชน รัฐพึงไม่บริการคนเฉพาะกลุ่ม แต่หากต้องบริการให้แก่คนทุกกลุ่มอย่างยุติธรรม

ดังนั้น ทางแก้เร่งด่วนที่ผมอยากเสนอ คือ ต้องปล่อยให้น้ำทะเลหนุนขึ้นมาบ้าง แล้วผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปตามคลองต่างๆ เพื่อให้มีน้ำให้การประปาภูมิภาคหรือเทศบาลแล้วแต่กรณี สามารถสูบและผลิตน้ำเพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงกันโดยทันที

ส่วนคน กทม. หากต้องกินน้ำกร่อยขึ้นเล็กน้อยในช่วงนี้ ก็ต้องให้เป็นเช่นนั้น ดีกว่าปล่อยให้เพื่อนทรมานจากการไม่มีน้ำใช้น้ำกิน

คำถามที่ตามมาจากมาตรการนี้คือ ภาคเกษตรแถวนนทบุรีและปทุมธานีบางส่วนอาจเดือดร้อนจากการที่น้ำมีความเค็มเพิ่มขึ้น ซึ่งก็สามารถจัดการได้โดยไม่ผันน้ำไปทำประปามากเกินไปจนความเค็มขึ้นสูงจนเกินกว่าภาคเกษตรจะรับได้ ซึ่งสามารถทำได้ไม่ยากเพราะจากข้อมูลในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา ความเค็มที่ว่ายังมีช่องว่างที่จะเพิ่มขึ้นได้อีก ด้วยยังมีค่าห่างจากมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกอยู่อีกมากพอควร

ที่เป็นอุปสรรคคือเราไม่กล้าเสี่ยงและต้องการมี safety margin มากเกินไป ประกอบกับภาครัฐกลัวประชาชนคนกินน้ำที่เคยตัวกับคุณภาพน้ำที่ดีเกินมาตรฐาน (เราทำแบบไม่ยอมเสี่ยงแบบนี้มานานนับสิบปีแล้วครับ) จะบ่นหรือต่อว่า เราจึงไม่ยอมให้ค่าความเค็มมันขึ้นโดยไม่มองอีกบริบทว่าเพื่อนเราอีกมากคนกำลังไม่มีน้ำกินน้ำใช้

นอกจากนี้ สิ่งที่เสนอให้ทำนี้ก็มิใช่มาตรการถาวร แต่ทำขึ้นเฉพาะในช่วงวิกฤติระยะเวลาสั้นๆ เมื่อฝนตกน้ำมา เราก็กลับไปสู่วิธีการและมาตรฐานเดิม ผลกระทบที่อาจมีต่อเกษตรกรจึงมีไม่มาก จนถึงไม่มีเลยก็เป็นได้

อีกเหตุผลหนึ่งซึ่งผมเองก็ไม่มั่นใจว่าถูกต้องหรือไม่ คือ ทุเรียนนนท์ในอดีตที่ว่าอร่อยนักอร่อยหนานั้น อยู่กับสภาวะน้ำจืดน้ำกร่อยมาตลอด บางคนเขาบอกด้วยซ้ำว่าด้วยสภาพน้ำแบบนี้แหละที่ทำให้ทุเรียนนนท์อร่อย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ภาวการณ์ที่ปล่อยให้น้ำทะเลหนุนขึ้นไปสูงบ้างเป็นช่วงๆ กลับน่าจะเป็นผลดีต่อภาคเกษตรในพื้นที่เสียด้วยซ้ำ

อีกประเด็นที่ผมอยากจะพูดถึง คือ เรื่องศึกการแย่งชิงน้ำ ขณะนี้มีข่าวและเหตุการณ์จริงเกิดขึ้นแล้วที่ชาวนาภาคกลางพากันไปทำทำนบกั้นคลองเพื่อเท้อน้ำให้สูงขึ้น เพื่อจะได้สูบน้ำเข้านาตัวเองหรือกลุ่มของตัวเองได้ การกระทำเช่นนี้มีขึ้นในหลายพื้นที่และหลายช่วงของลำน้ำ ทำให้คนที่อยู่ปลายน้ำไม่มีน้ำใช้อย่างเช่นแถวหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี

เหตุการณ์แบบนี้เตือนให้ผมนึกถึงภาพอภิมหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ที่นักการเมืองท้องถิ่นบางคนโดดเข้าจัดการแก้ปัญหาเอาใจชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเป็นคะแนนเสียงของตน โดยไม่รู้หรือมองไม่เห็นภาพรวมใหญ่ ที่กลับกลายเป็นทำให้น้ำท่วมที่อาจไม่ใช่ “อภิมหา” ต้องกลายมาเป็นอภิมหาอย่างไม่น่าให้เกิดขึ้น และก็ไม่น่าให้อภัยด้วย

เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นสิ่งตรงข้ามกับครั้งปี 2554 คือไม่ใช่ภัยน้ำท่วมแต่เป็นภัยน้ำแล้ง ซึ่งแม้จะยังไม่เป็นอภิมหาน้ำแล้ง แต่ก็มีศักยภาพที่จะเป็นได้หากฟ้าฝนไม่เป็นใจไปอีกสักระยะ และเราต้องมีแผน มีมาตรการรองรับอย่างเร่งด่วน โดยนอกจากมีแผนทางเทคนิคและวิศวกรรมแล้ว เราต้องจัดการไม่ให้นักการเมืองทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นเข้ามายุ่งในการแก้ปัญหาทางเทคนิค รวมทั้งต้องมีแผนการจัดการภาคประชาชนที่มีศักยภาพเพียงมองประโยชน์ในภาพเล็กส่วนตนเป็นหลัก อันทำให้ผลกระทบในภาพรวมสามารถรุนแรงขี้นมากกว่าที่พึงเป็นได้

ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าจะกีดกันคนตัวเล็กตัวน้อยในท้องที่ไม่ให้มามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และไม่ได้หมายความว่าหากรักษาภาพรวมไม่ให้คนส่วนใหญ่เดือดร้อน แต่ไปทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยต้องเดือดร้อนแทนแล้วจะไม่ดูแลเขานะครับ

เพราะหากไม่ดูแลพวกเขา ผมก็คงต้องลุกขึ้นมาเป็นปากเสียงแทนเขาละคราวนี้