ThaiPublica > คอลัมน์ > เอาน้ำเสียโรงงานไปใช้ในการเกษตร…บ้าหรือเปล่าเนี่ย

เอาน้ำเสียโรงงานไปใช้ในการเกษตร…บ้าหรือเปล่าเนี่ย

16 มีนาคม 2016


ธงชัย พรรณสวัสดิ์
เบญจพร สุวรรณศิลป์
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่บ้าหรอก เราเห็นด้วย และเห็นด้วยอย่างมากด้วยในกรณีนี้ กรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมไฟเขียวให้โรงงานผลิตอาหารสองพันกว่าโรง เอาน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดและได้คุณภาพตามมาตรฐานแล้ว กลับไปใช้เป็นแหล่งน้ำชั่วคราวสำหรับพื้นที่การเกษตร 50,000ไร่ ประมาณ 4 เดือน จนถึงปลายเดือนกันยายน 2559 นี้ที่เกษตรกรกำลังเดือดร้อนอย่างหนักเพราะขาดแคลนน้ำ

ที่เห็นด้วยนี้มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์และสังคมมาอธิบายได้ด้วย

ประการแรกเลย เรื่องการรีไซเคิลเอาของเสียและน้ำทิ้งมาใช้ในการเกษตรไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย ทั้งโลกใช้มาเป็นร้อยเป็นพันปีแล้ว ดังจะเห็นได้ว่าประเทศไทยในอดีตรวมทั้งอีกหลายประเทศในปัจจุบัน ซึ่งมีประเทศจีนเป็นหนึ่งในนั้น ยังมีการเอาอุจจาระสดหรืออุจจาระหมักย่อยแล้วไปใช้รดสวนผักอยู่ หลักคิดของมาตรการนี้คือ อุจจาระถือเป็นเพียงเศษอาหารที่ผ่านกระเพาะและลำไส้ของคนและสัตว์มาแล้ว และอาหารมาจากไหนถ้าไม่ใช่มาจากผลิตผลทางการเกษตร ดังนั้น การเอาอุจจาระและปัสสาวะของคนและสัตว์ไปใช้เป็นปุ๋ยรดผักก็คือการ “เอาดินกลับสู่ดิน” นั่นเอง

ที่น่าตกใจไปกว่านั้น และคนมักไม่ตระหนักรู้ แต่เป็นความจริง คือทุกวันนี้โรงประปาของกรุงเทพฯ กำลังเอาน้ำส้วมของคนปทุมธานีที่ทิ้งลงเจ้าพระยามาเป็นแหล่งน้ำดิบ และคนปทุมธานีก็เอาของคนอยุธยามาใช้เป็นทอดๆ ไป แต่ที่ไม่มีปัญหาเพราะแม่น้ำสามารถฟอกตัวเองได้โดยธรรมชาติ และปริมาณความสกปรกที่ทั้งชุมชนและโรงงานรวมทั้งภาคเกษตรทิ้งลงไปยังไม่มากเกิน ตัวแม่น้ำเองยังรับไหว ยังเอาอยู่ นั่นคือเรารีไซเคิล รียูส กันอยู่ทุกวันแล้ว โดยที่ไม่รู้ตัว

ประการที่สอง อันนี้เป็นคำถาม ถามว่าแล้วทำไมประเทศพัฒนาแล้วรวมทั้งองค์การอนามัยโลกจึงห้ามมิให้ใช้มาตรการตามข้อหนึ่งที่กล่าวมา คำตอบคือเป็นเรื่องของเชื้อโรค ไม่ใช่เรื่องดินสู่ดิน ดังนั้น หากเราสามารถฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในอุจจาระปัสสาวะได้แล้ว เศษอุจจาระและปัสสาวะนั้นจะเป็นแหล่งปุ๋ยที่อุดมด้วยแร่ธาตุที่พืชผักต้องการอย่างมาก เพราะแร่ธาตุใดที่อยู่ในดิน (และถูกพืชดูดมาใช้มาอยู่ในผลิตผลทางการเกษตร) ก็จะกลับมาอยู่ในอุจจาระและปัสสาวะ (แม้อาจจะมีการเปลี่ยนรูปไปบ้าง) และจะกลับไปสู่ดิน เพื่อรอการดูดจับไปใช้ของพืชผักในครั้งต่อไป และต่อไป

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เกษตรกรทำกันจริงและยังกำลังใช้อยู่เป็นประจำทุกวัน ดังจะเห็นได้จากสูตรปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยธรรมชาติหลายสูตร ที่อาศัยมูลไก่ มูลสุกร มูลโคกระบือ มาเป็นส่วนผสมหลักกันทั้งนั้น

มะเขือเทศโลตัส

ประการที่สาม น้ำที่จะนำจากโรงงานไปใช้ในภาคเกษตรที่ว่าเป็นการชั่วคราวนี้ ต้องเข้าใจกันให้ดีว่า (1) น้ำนี้ไม่ใช่ “น้ำเสีย” ที่ได้มาจากกระบวนการผลิตมาตรงๆ สดๆ แต่เป็น “น้ำทิ้ง” ที่ผ่านกระบวนการบำบัดและฟอกจนสะอาดในระดับหนึ่งแล้ว จึงมีคุณสมบัติและคุณภาพดีพอที่จะนำมาใช้ในภาคเกษตรได้ (2) โรงงานที่อยู่ในข่ายเอาน้ำทิ้งไปรีไซเคิล ไม่ใช่โรงงานอะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นโรงงานอาหาร ซึ่งถ้าพูดถึงอาหารก็ต้องเป็นอะไรที่กินได้อย่างปลอดภัย และสารพิษรวมทั้งเชื้อโรคต้องไม่มี

ดังนั้น น้ำเสียและน้ำทิ้งจากโรงงานประเภทนี้ เช่น โรงงานปลากระป๋อง โรงงานบะหมี่ โรงงานแบะแซ โรงงานแป้งมัน โรงงานน้ำอัดลม ฯลฯ จึงเป็นเพียงสิ่งที่เหลือจากการประกอบอาหารหรือเครื่องดื่มจากโรงงาน และยังกินได้ด้วย อุ๊บ ขอโทษ! ตรงนี้พูดเกินเลยไปหน่อย คือเราเพียงอยากจะบอกว่า น้ำทิ้งนี้เมื่อได้มาจากกระบวนการผลิตให้เป็นอาหารให้คนกิน ก็ย่อมจะไม่มีสารพิษและเชื้อโรคอยู่ในตัว แต่ยังมีแร่ธาตุที่พืชต้องการใช้ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอน ไนโตรเจน และ/หรือ ฟอสฟอรัส โดยเฉพาะสองตัวหลังนี้เป็นธาตุปุ๋ยที่ใครๆ ก็รู้ จึงไม่ดีกว่าหรือที่จะเอาน้ำทิ้งพวกนี้มาใช้โดยได้ธาตุปุ๋ยมาใช้ฟรีๆ อีกด้วย

ประการที่สี่ อันนี้เป็นคำถามนำอีกเช่นกัน ถ้าตรรกะตามข้อสามดีจริง ทำไมเราไม่ใช้หลักการนี้รีไซเคิลน้ำทิ้งไปใช้ในการเกษตรเป็นการถาวรไปเสียเลยเล่า จะได้ไม่ต้องเสียงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียให้เป็นน้ำทิ้งที่มีคุณภาพ แต่เอาธาตุต่างๆ เหล่านี้ไปใช้ตรงกับภาคเกษตรเลย คำตอบคือทำได้ แต่ทว่าในหน้าฝน น้ำมีมาก ภาคเกษตรไม่จำเป็นต้องใช้น้ำทิ้งจากโรงงาน หากโรงงานไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียให้สะอาด และจะต้องปล่อยน้ำเสียตรงลงลำน้ำสาธารณะ ลำน้ำสาธารณะนั้นก็อาจจะเน่า ซึ่งทำความเดือดร้อนอีกรูปแบบหนึ่งต่อประชาชนและสังคม รวมทั้งอุตสาหกรรมอื่นๆ ในลำน้ำนั้น

ประการที่ห้า ความจริงแล้วมีเทคโนโลยีอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่าเทคนิค land treatment คือ ใช้ดินเป็นตัวบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นได้ทั้งน้ำเสียชุมชน (อาจมีเชื้อโรค) และน้ำเสียอุตสาหกรรม (อาจมีสารพิษ) โดยการสเปรย์ฉีดน้ำเสียเหล่านี้ไปบนพื้นที่หนึ่ง โดยควบคุมปริมาณน้ำและปริมาณความสกปรก และแม้กระทั่งปริมาณสารพิษ (ในบางกรณี) แล้วให้ดินและจุลินทรีย์ในดินเป็นตัวกำจัดสารต่างๆ ในน้ำเสีย ให้เป็นน้ำสะอาดก่อนให้พืช (ซึ่งอาจเป็นพืชไม่กินใบ กินต้น เช่น ต้นยาง ปาล์มน้ำมัน ต้นสน) นำไปใช้ การเอาน้ำเสียไปรดดินจึงเป็นเทคโนโลยีที่โลกยอมรับให้ใช้กันอยู่

ประการที่หก ปัญหามลพิษน้ำเป็นปัญหาหนึ่ง (น้ำเน่า) แต่ปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ (น้ำแล้ง) เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ที่แม้จะเป็นคนละปัญหาแต่ก็ผูกโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในกรณีนี้ เรากำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะสำหรับการอุปโภค บริโภค การไล่น้ำเค็มจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุน การเกษตร และการอุตสาหกรรม ถ้าหากเรามีแหล่งน้ำที่มีประโยชน์ทั้งด้าน quantity (ปริมาณมากพอ) และ quality (คุณภาพดีพอ มีแร่ธาตุแถมให้ด้วย) ทำไมเราจะปฏิเสธทางเลือกดีๆ นี้เสียเล่า

สรุปคือ เราเห็นด้วยในความคิดริเริ่มของกระทรวงอุตสาหกรรมครั้งนี้ ด้วยเหตุผลทั้งทางวิทยาศาสตร์และสังคม ส่วนจะมีปัญหาในการปฏิบัติบ้าง เช่น จะคุมอย่างไรไม่ให้แอบปล่อยไปทิ้งที่อื่น หรือคุมอย่างไรให้ไม่เกินอัตราที่กระทรวงฯ กำหนด (10 ลบ.ม.ต่อวันต่อไร่) ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องปลีกย่อยในทางปฏิบัติ ก็ต้องให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของกระทรวงฯ ที่จะไปจัดการให้อยู่ในร่องในรอยต่อไป

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 มีนาคม 2559