ThaiPublica > เกาะกระแส > ทีดีอาร์ไอชี้ตลาดซอฟต์แวร์ไทยปี 2557 โต 9.4 % แนวโน้มพุ่งแม้เศรษฐกิจตกต่ำ

ทีดีอาร์ไอชี้ตลาดซอฟต์แวร์ไทยปี 2557 โต 9.4 % แนวโน้มพุ่งแม้เศรษฐกิจตกต่ำ

30 กรกฎาคม 2015


ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ และพลเอกโสภณ เวคะวากยานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการซิป้าแถลงผลการสำรวจมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของประเทศไทยประจำปี 2557 และประมาณการปี 2558 และ 2559 ณ ห้องประชุม C-01 ซิป้า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2558
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ และพลเอก โสภณ เวคะวากยานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการซิป้า แถลงผลการสำรวจมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของประเทศไทยประจำปี 2557 และประมาณการปี 2558 และ 2559 ณ ห้องประชุม C-01 ซิป้า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2558

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า (SiPA) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แถลงผลการสำรวจมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของประเทศไทยประจำปี 2557 และประมาณการปี 2558 และ 2559

พลเอก โสภณ เวคะวากยานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการซิป้า กล่าวว่า การสำรวจตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์เป็นกิจกรรมที่ซิป้าจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อติดตามความก้าวหน้าตลอดจนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคเอกชนและภาครัฐสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนธุรกิจและวางนโยบายให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจปัจจุบันอย่างเหมาะสมต่อไปได้

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ภาพรวมของตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทยในปี 2557 มีมูลค่าการผลิตเฉพาะที่เกิดขึ้นในประเทศไทยรวม 54,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 9.4 แบ่งเป็นมูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์สำเร็จรูป 15,031 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 4.5 และมูลค่าการผลิตบริการซอฟต์แวร์ 39,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 11.4 โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์จะเติบโตต่อเนื่องในปี 2558 และ 2559 ที่ร้อยละ 11.1 และร้อยละ 12.8 ตามลำดับ

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ภาคการเงินการธนาคารยังคงเป็นสาขาที่มีการใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์สูงที่สุด ในส่วนของตลาดซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว (ESS) มีมูลค่าการผลิตภายในประเทศ 6,165 ล้านบาท หรือมีอัตราการเติบโตร้อยละ 6 ส่วนซอฟต์แวร์สำเร็จรูปที่ใช้งานผ่านเว็บ (SaaS) เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.4 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในการใช้งานคลาวด์ (Cloud computing) เพิ่มมากขึ้น

ดร.สมเกียรติกล่าวต่อว่า แนวโน้มตลาดของภาครัฐชะลอตัวเนื่องจากความเข้มงวดในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและตรวจงานและการเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูง ในขณะที่ตลาดเอกชนขยายตัว มีการส่งออกซอฟต์แวร์และบริการในปี 2557 มูลค่า 4,572 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นร้อยละ 6.1 โดยมีกลุ่มเป้าหมายในประเทศอาเซียน เพื่อใช้ในธุรกิจการเงิน โทรคมนาคม ท่องเที่ยวและโรงแรม นอกจากนี้ยังเกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ที่มีแหล่งรายได้หลากหลายและ software-enabled business เช่น ธุรกิจเติมเงินออนไลน์ของ “บุญเติม” การพัฒนาโปรแกรมก่อสร้างของ “BUILK” ฯลฯ รวมถึงมีการมุ่งผลิตชอฟต์แวร์เฉพาะสาขา เช่น การบริหารจัดการค้าปลีก และการบริหารจัดการโรงแรม

ส่วนแนวโน้มเทคโนโลยีพบว่า ผู้บริโภคใช้งานอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ (mobile devices) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้าน e-commerce ของไทยก็เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 18 ต่อปีในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา และคลาวด์จะกลายเป็นกระแสหลักที่ได้รับความนิยมมากขึ้นจากเดิมที่ใช้เฉพาะบริษัทขนาดใหญ่และภาครัฐ ปัจจุบันเริ่มขยายสู่บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม และมีการขยายตัวของ Internet of Things และ Wearable Devices ด้วยซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง

“การขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลจะทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เติบโตได้ต่อเนื่องแม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะตกต่ำ ซึ่งผู้ประกอบการที่จะอยู่รอดและเติบโตในระยะยาวต้องสร้างทรัพย์สินทางปัญญาจากการผลิตซอฟต์แวร์คุณภาพสูงที่ตอบโจทย์เฉพาะสาขาธุรกิจ โดยความท้าทายสำคัญของอุตสาหกรรมนี้คือบุคลากรที่มีคุณภาพ” ดร.สมเกียรติกล่าว

ทั้งนี้ การสำรวจมูลค่าตลาดในปี 2557 มีการปรับปรุงที่สำคัญ 2 ส่วน คือ

1. ฐานข้อมูลประชากรที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการปรับปรุงการจัดหมวดหมู่กิจกรรมของอุตสาหกรรมในประเทศไทย (Thailand Standard Industrial Classification หรือ TSIC) จากเดิม TSIC2001 เป็น TSIC2009 ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งมีการแบ่งหมวดหมู่ของธุรกิจละเอียดมากขึ้นทั้งด้านขายส่ง ขายปลีก และบริการ ทำให้สามารถระบุบริษัทในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งคณะผู้วิจัยได้ปรับผลการสำรวจปี 2556 ให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นด้วยแล้ว เพื่อให้สามารถสะท้อนกับผลการสำรวจในปีนี้ได้

และ 2. ปรับปรุงการสำรวจการผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์เพื่อใช้ภายในองค์กร (in-house) ในสาขาธุรกิจที่เน้นการใช้ IT เข้มข้น เช่น การเงิน การประกันภัย ขนส่งและโลจิสติกส์ การสื่อสาร และการท่องเที่ยว