ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” เตรียมใช้ ม.44 ย้าย “อธิบดี-ปลัด” เอี่ยวทุจริต รอ ศอ.ตช. ชงหลัง 23 เม.ย. “วิษณุ” แจงแค่มาตรการชั่วคราว

“บิ๊กตู่” เตรียมใช้ ม.44 ย้าย “อธิบดี-ปลัด” เอี่ยวทุจริต รอ ศอ.ตช. ชงหลัง 23 เม.ย. “วิษณุ” แจงแค่มาตรการชั่วคราว

21 เมษายน 2015


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาภาพ : http://www.reuters.com/article/2015/04/17/us-thailand-politics-constitution-idUSKBN0N81RP20150417
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาภาพ: http://www.reuters.com/article/2015/04/17/us-thailand-politics-constitution-idUSKBN0N81RP20150417

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 เวลา 09.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ 3/2558 โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง

ต่อมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ในฐานะที่ปรึกษา คตช. แถลงว่า การประชุม คตช. วันนี้ มี 3 วาระใหญ่ คือ 1. ความคืบหน้าการดำเนินการของคณะอนุกรรมการซึ่งมีการจัดตั้งขึ้นมาในการประชุม คตช. ครั้งที่ 2/2558 จำนวน 4 ชุด 2. ความคืบหน้าในการนำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact – IP) ไปใช้กับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และ 3. ความเป็นไปในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกโครงการเพื่อความโปร่งใสในภาคอุตสาหกรรมการสกัดทรัพยากร (Extractive Industries Transparency Initiative: EITI) ซึ่งมีฐานปฏิบัติการอยู่ที่ประเทศนอร์เวย์ เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรของภาครัฐ ทั้งน้ำมัน ป่าไม้ และเหมืองแร่ เป็นไปด้วยความโปร่งใส เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

นายวิษณุกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการหารือกรณีที่ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอ.ตช.) ซึ่งมี พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน เสนอรายชื่อข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตกว่า 100 คน ให้กับนายกฯ เพื่อโยกย้ายออกจากตำแหน่งอีกอาจเป็นปัญหา โดยรายชื่อที่ส่งมานี้ รวบรวมจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริต ประกอบด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

“รายชื่อเหล่านี้ถูกตรวจสอบก่อนที่ คสช. จะเข้ามาด้วยซ้ำ แต่ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลบางประการทำให้ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จึงยืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องของการแก้ค้น ปิดประตู หรือหนีเสือปะจระเข้ แต่เป็นเรื่องที่ต้องว่าไปตามเหตุผล ผิดว่าไปตามผิด ถ้าไม่ผิดก็ต้องปล่อยไป” นายวิษณุกล่าว

ที่ปรึกษา คตช. ยังกล่าวว่า เมื่อนายกฯ ได้รับรายชื่อจาก ศอ.ตช. แล้ว ก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งบางคนปล่อยไว้ก็ได้ไม่ต้องไปจับให้มั่น แต่บางคนหากปล่อยไว้จะเป็นปัญหา เช่น อาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ทำให้พยานบางปากไม่กล้ามาให้ข้อมูล หรือทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชากล้าให้การ จึงต้องมีการจัดการเชิงบริหารด้วยการโยกย้าย สลับตำแหน่ง พักงาน หรือให้พ้นจากหน้าที่เพื่อให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังของการปราบปรามการทุจริตของรัฐบาลชุดนี้ โดยรายชื่อนี้ ถือเป็นรุ่นที่ 1 ทราบว่าจะมีรุ่นต่อๆ ไป ตามมาอีก

“หลังจากนี้ จะได้เห็นการแต่งตั้งโยกย้ายนอกฤดูกาลของข้าราชการพลเรือนจำนวนมาก โดยในส่วนของข้าราชการที่อยู่ในรายชื่อที่ ศอ.ตช. เสนอต่อนายกฯ กว่า 100 คน ซึ่งมีทั้งข้าราชการระดับซี 3 ถึงซี 11 จะมีการพิจารณาว่าจะปล่อยให้อยู่ในตำแหน่งเดิมได้หรือไม่ หากไม่ได้ ก็จะโยกย้ายออกจากตำแหน่ง โดยทำได้ 2 วิธี วิธีปกติคือเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ หรือวิธีพิเศษคือใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ออกคำสั่งของหัวหน้า คสช. เพื่อย้ายไปอยู่ในตำแหน่งใหม่ เพราะหากใช้วิธีปกติ อาจมีตำแหน่งรองรับไม่เพียงพอ ซึ่งถือเป็นมาตรการชั่วคราว และเมื่อดำเนินการตรวจสอบเสร็จแล้ว หากพบว่าไม่มีความผิดก็จะให้คืนตำแหน่งเดิม แต่ถ้ามีความผิดจะนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลต่อไป” นายวิษณุกล่าว

เมื่อถามว่า จะเริ่มใช้มาตรา 44 ได้เมื่อใด นายวิษณุ กล่าวว่า นายกฯ ได้มอบหมาย ศอ.ตช. ไปคัดกรองว่ามีรายชื่อใดเข้าข่ายต้องโยกย้ายออกจากตำแหน่งเดิมบ้าง คาดว่าจะเสนอให้นายกฯ ได้หลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ

เมื่อถามว่า จะใช้มาตรา 44 กับข้าราชการทุกระดับหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า คงจะใช้เฉพาะกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ อย่างซี 10-ซี 11 เพราะถ้าจะไปใช้กับข้าราชการชั้นผู้น้อย อย่างซี 3-ซี 4 ก็ไม่น่าจะเกิดประโยชน์อะไร และหากมีการย้ายจริงคงต้องให้ออกจากกระทรวงเดิมที่สังกัด ไม่เช่นนั้นก็จะยังสามารถเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้อยู่

นายวิษณุยังอธิบายว่า การดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของรัฐบาลชุดนี้จะแบ่งออกเป็น 4 ขั้น ขั้นที่ 1 ทำให้เกิดความยั้งคิดต้องทำตามกฎหมาย ขั้นที่ 2 ถูกตรวจสอบโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ป.ป.ช. ป.ป.ท. สตง. หรือคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ขั้นที่ 3 จัดการทางบริหาร โยกย้ายออกจากจุดเสี่ยง เพื่อไม่ให้ทำผิดซ้ำอีก หรือเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ซึ่งการดำเนินการกับรายชื่อข้าราชการกว่า 100 คน ที่ ศอ.ตช. ส่งมาให้นายกฯ ถือว่าอยู่ในขั้นนี้ และขั้นที่ 4 ฟ้องร้องดำเนินคดี

ด้านนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. ในฐานะเลขานุการ ศอ.ตช. กล่าวว่า หากสามารถตัดไฟแต่ต้นลมได้เชื่อว่าจะทำให้การทุจริตลดลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ. ประยุทธ์ อยู่ระหว่างเดินทางไปที่กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชีย-แอฟริกา ประจำปี ค.ศ. 2015 และจะเดินทางกลับประเทศ ในวันที่ 23 เมษายน 2558 เวลา 15.30 น.

ดร.มานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในฐานะกรรมการ กตช. เปิดเผยกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าว่า ในสัปดาห์หน้าจะเริ่มเห็นความเคลื่อนไหวในการจัดการกับข้าราชการที่อยู่ในรายชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ส่วนเรื่องการทุจริตอื่นๆ ตามหน่วยงาน ยังคงต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือนในการตรวจสอบ

“พล.อ. ประยุทธ์ ค่อนข้างเคร่งเครียดกับเรื่องนี้ ท่านบอกว่าให้รีบทำเลย แต่ทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รายงานว่าโดยหลักการ การย้ายข้าราชการต้องมีตำแหน่งรองรับ นายกฯ จึงบอกให้ใช้มาตรา 44 ในการโยกย้าย ตำแหน่งที่ย้ายก็แล้วแต่ ขึ้นอยู่กับระดับตำแหน่ง ก็มีทั้งระดับอธิบดีและปลัดกระทรวง อาจจะเป็นที่ปรึกษาหน่วยงานต่างๆ แล้วแต่ที่เป็นไปได้” ดร.มานะกล่าว

ชง คตช. บรรจุหลักสูตรไม่โกง – บังคับทุกหน่วยงานราชการเปิดข้อมูลเพิ่ม

ส่วนความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ของ คตช.

นางจุรี วิจิตรวาทการ ประธานอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการปลูกฝังจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ กล่าวว่า จะเสนอให้มีการบรรจุหลักสูงปลูกฝังการต่อต้านการทุจริตในแบบเรียน ทั้งหลักสูตร “โตไปไม่โกง” สำหรับนักเรียน และหลักสูตร “บัณฑิตไม่โกง” สำหรับนิสิตนักศึกษา นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรของข้าราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ จะมีการทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างจิตสำนึกให้คนไทยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต

รศ. ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ประธานอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการป้องกันการทุจริต กล่าวว่า จะเสนอให้หน่วยงานราชการทุกแห่งต้องเปิดเผยข้อมูลเพิ่มขึ้น เพื่อความโปร่งใส และจะต้องเปิดเผยในลักษณะเป็นข้อมูลดิจิทัล เพราะจากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า มีหน่วยงานราชการเกือบ 10 แห่ง ที่ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 เลย นอกจากนี้ จะเสนอให้นายกฯ สั่งการให้หน่วยงานราชการ จำนวน 21 แห่ง ที่มีความพร้อมในการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตทางราชการ พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้ทุกหน่วยงานราชการต้องจัดทำคู่มือระบุขั้นตอนในการพิจารณาออกใบอนุญาต ภายใน 30 วัน ก่อนกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ คือภายใน 180 วัน

รศ. ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ในฐานะประธานอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า การประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุดคือ ตัวนายกฯ ต้องลงมาทำให้เห็นจริง ทั้งการดำเนินการกับรายชื่อข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตกว่า 100 คน รวมถึงการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งการออก พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ ซึ่งนายกฯ ต้องเร่งรัดให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกว่า 20,000 แห่ง ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคม 2558 ส่วนร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลังและกรมบัญชีกลาง คาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาได้ในเร็วๆ นี้ เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

สั่ง 20 กระทรวง เสนอโครงการร่วม “ข้อตกลงคุณธรรม”

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานอนุกรรมการประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม กล่าวว่า หลังจากใช้ข้อตกลงคุณธรรมกับโครงการนำร่อง ไป 5 โครงการ คือ 1. โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี จำนวน 489 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 3. โครงการเปลี่ยนผ่านระบบทีวีอนาล็อกมาเป็นระบบดิจิทัลระยะที่ 2 ของกรมประชาสัมพันธ์ มูลค่า 1,000 ล้านบาท 4. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ ทั้งสินค้าและหีบห่อของการเดินทางของกรมศุลกากร มูลค่า 1,300 ล้านบาท และ 5. โครงการซื้อเครื่องจักรของโรงงานยาสูบแห่งใหม่ มูลค่า 7,400 ล้านบาท

แต่ความคืบหน้าในการสรรหาบุคคลจากภาคเอกชนให้เข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์โครงการที่มีการทำข้อตกลงคุณธรรม จะให้มีการเสนอรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาเป็น Pool List โดยวิธีการคัดเลือกอาจใช้วิธีจับสลาก แทนการให้ส่วนราชการหาผู้ที่มีความเหมาะสม ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางจะรับหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ พร้อมจัดทำหลักสูตรอบรมผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านั้นในการทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์

“นายกฯ ยังสั่งการให้ทุกกระทรวง ทั้ง 20 กระทรวง เสนอโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อเข้ามาเป็นโครงการนำร่องในการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม” นายมนัสกล่าว

ประธาน คตร. เผยตรวจสอบการใช้งบ สปสช. จบแล้ว

ด้าน พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ ที่ปรึกษานายกฯ ในฐานะประธาน คตร. กล่าวว่า ที่ประชุม คตร. ได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานเป็นเจ้าภาพในการรวบรวมข้อมูล เพื่อเตรียมเสนอขอเข้าเป็นสมาชิกโครงการ EITI เพื่อให้การจัดการทรัพยากรของชาติ ทั้งน้ำมัน ป่าไม้ และเหมืองแร่ของไทย ได้มาตรการระดับสากล โดยจะต้องมีการเสนอต่อที่ประชุม ครม. เห็นชอบ ก่อนส่งไปสมัครเป็นสมาชิกโครงการ EITI อย่างเป็นทางการ

พล.อ. อนันตพร ยังกล่าวถึงกรณีที่นายกฯ สั่งการในที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 ให้ คตร. เข้าไปตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทุนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุขว่า ได้ข้อสรุปออกมาแล้ว แต่จะต้องนำไปรายงานให้ที่ประชุม คตร. ซึ่งจะมีการประชุมวันที่ 22 เมษายน 2558 ที่ห้องประชุมภายในกองบัญชาการกองทัพบก ได้รับทราบก่อน

ส่วนความคืบหน้าในการตรวจสอบคุรุสภา สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) รวมถึงองค์การค้าของ สกสค. ตามคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ 7/2558 พล.อ. อนันตพร กล่าวว่า ในส่วนนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ต้องอาศัยเวลาอีกสักระยะในการตรวจสอบข้อมูล รวมถึงพิจารณาว่าจะต้องมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงศึกษามาชี้แจงให้ข้อมูลด้วยหรือไม่จึงจะได้ข้อสรุป.