ThaiPublica > คอลัมน์ > อย่าให้ภาษีประชาชนจมหายไปกับเรือดำน้ำ

อย่าให้ภาษีประชาชนจมหายไปกับเรือดำน้ำ

5 กรกฎาคม 2015


Hesse004

เดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนข่าวการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือจะถูกหยิบขึ้นมาจุดเป็นกระแส เนื่องจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดหาเรือดำน้ำมองว่าในสภาพการณ์ที่เศรษฐกิจกำลังถดถอยเช่นนี้ เรือดำน้ำ คือ สิ่งจำเป็นหรือไม่ที่รัฐบาลควรจะจัดหา

ในอดีตกองทัพเรือไทยเคยมีเรือดำน้ำประจำการ จำนวน 4 ลำ ได้แก่ เรือหลวงมัจฉานุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล ทั้งสี่ลำนี้ รัฐบาลไทยจัดหามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2479 หรือเกือบ 80 ปี มาแล้ว โดยขึ้นระวางประจำการปี พ.ศ. 2481 และปลดระวางปี พ.ศ. 2494 หรือ 64 ปีมาแล้ว

ปัจจุบันประเทศไทยมีกองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ อย่างไรก็ดี กองทัพเรือไทยยังไม่มี เรือดำน้ำไว้ประจำการนับตั้งแต่ปลดประจำการเรือหลวงทั้งสี่ลำที่ว่ามาข้างต้น

ขณะเดียวกันเมื่อเทียบจำนวนเรือดำน้ำของกองทัพเรือในภูมิภาคอาเซียน พบว่า กองทัพเรือสิงค์โปร์มีเรือดำน้ำประจำการ 6 ลำ สูงที่สุดในภูมิภาค รองลงมา คือ เวียดนาม มี 3 ลำ มาเลเซียและอินโดนีเซีย มีอย่างละ 2 ลำ ส่วนกองทัพไทยเราไม่มีเรือดำน้ำประจำการ (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

น่าสนใจว่า เหตุผลที่ไม่มีการจัดหาเรือดำน้ำ เพราะ (1) กองทัพยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เรือ หรือ (2) รัฐบาลมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ เพราะการจัดหาเรือแต่ละลำล้วนใช้เงินระดับหลักหมื่นล้านขึ้นไป

เรือดำน้ำแบบ U-206A ที่มาภาพ : www.navy.mi.th
เรือดำน้ำแบบ U-206A ที่มาภาพ : www.navy.mi.th

ด้วยเหตุนี้ โครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือจึงกลับมาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2553 ครั้งนั้นกองทัพเรือเสนอโครงการซื้อเรือดำน้ำ “มือสอง” จากประเทศเยอรมนีแบบ U-206A จำนวน 6 ลำ มูลค่า 7.6 พันล้าน อย่างไรก็ดี โครงการ “เซ้ง” เรือดำน้ำมือสองจากเยอรมนีเป็นอันต้อง “พับ” ไป เนื่องจาก ถูกโจมตีว่าเรือที่จะได้มานั้น “ไม่คุ้มค่า” กับงบประมาณที่ต้องจ่ายไป

จนกระทั่งรัฐบาลชุดต่อมา กองทัพเรือเสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำอีกรอบ แต่โครงการก็ต้องล้มไปเนื่องจาก เรือ U-2064A ถูกตีว่ามีปัญหาเรื่องเทคนิค เซ้งมาแล้วไม่คุ้ม รวมทั้งเลยกรอบเวลาที่รัฐบาลเยอรมนีกำหนดไว้แล้ว

ความฝันของกองทัพเรือไทยที่ต้องการเรือดำน้ำเข้าประจำการเป็นอันต้อง “ดับ” ลงไปเป็นครั้งที่สอง

จนกระทั่ง หลังรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. 2557 กองทัพเรือเสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำ จำนวน 3 ลำ โดยช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีบริษัทขายเรือดำน้ำนำเสนอข้อมูลเรือดำน้ำต่อกองทัพเพื่อประกอบการจัดหา

เรือดำน้ำ

เรือดำน้ำจากประเทศจีนรุ่น S-26T ที่มาภาพ : http://2.bp.blogspot.com/-loqyAU38D9Y/SPc7Si7oFvI/AAAAAAAAHks/Rvo_7Nj8jrE/s1600/yuan_class.jpg
เรือดำน้ำจากประเทศจีนรุ่น S-26T ที่มาภาพ : http://2.bp.blogspot.com/-loqyAU38D9Y/SPc7Si7oFvI/AAAAAAAAHks/Rvo_7Nj8jrE/s1600/yuan_class.jpg

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2558 ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกเรือดำน้ำมีมติ 14 เสียงจาก 17 เสียง คัดเลือกซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนรุ่น S-26T จำนวน 3 ลำ รวมอาวุธและอะไหล่พร้อมฝึกกำลังพลให้ โดยใช้งบประมาณจัดซื้อทั้งสิ้น 3.6 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ผลการคัดเลือกจะนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อรออนุมัติเห็นชอบอีกครั้ง

คำวิจารณ์เกี่ยวกับการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพนั้นยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ เพราะตราบใดที่กองทัพไม่สามารถชี้แจงประชาชนถึงเหตุผลความจำเป็นในการจัดหาอาวุธประจำการได้ “ชัดเจน” และ “ตรงประเด็น” โดยเฉพาะคำถามที่ว่าทำไมจึงซื้ออาวุธแพง หรือ เพราะเหตุใดถึง “เซ้ง” ยุทโธปกรณ์มือสองที่ไม่สามารถใช้งานได้

อดีตที่ผ่านมา ปัญหาการจัดหาอาวุธของกองทัพกลายเป็น “ยาขม” ที่ปรากฏตามหน้าสื่อในทำนองความไม่โปร่งใส ใช้งานไม่ได้ ซื้อมาในราคาแพงเกินจริง… ไม่ว่าจะเป็นกรณีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 กรณีจัดซื้อเรือเหาะตรวจการณ์ที่ไม่สามารถบินตรวจการณ์ได้ กรณีเรื่องรถถังยูเครน หรือกรณีการจัดหาฝูงบินกริพเพน

…ภาพต่าง ๆ เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า สาธารณชนยังหวาดระแวงและไม่ไว้ใจกองทัพที่จะจัดหาอาวุธ เพราะเหมือนภาษีที่ถูกนำไปจัดซื้ออาวุธยุทธโธปกรณ์จะละลายหายไปโดยไม่มีใครพร้อมแสดงความรับผิดชอบ

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ กองทัพยังต้องเผชิญกับข้อครหา คำนินทาต่าง ๆ นานาถึงเรื่องความโปร่งใสหรือข้อสังเกตในการจัดหาอาวุธยุทธโธปกรณ์ เพราะอย่าลืมว่า ไม่ว่าเรือดำน้ำ ฝูงบิน รถถัง หรือยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยทั้งหลายล้วนแล้วแต่มีราคาแพงระยิบระดับ “หลักพันล้าน” ขึ้นไปทั้งสิ้น

…ดังนั้น จะดีไม่น้อยถ้ากระบวนการจัดหาอาวุธในยุคที่สังคมต้องการ “ปฏิรูป” ได้แสดงข้อมูลทุกอย่างที่พึงจะเปิดเผยได้ให้สังคมได้รับทราบ อย่างตรงไปตรงมา ผ่านทางเว็บไซด์ของกองทัพเอง

แม้การจัดหาเรือดำน้ำประจำการของกองทัพเรือรอบนี้ไม่ปรากฏความผิดปกติในกระบวนการจัดหา แต่สิ่งที่สังคมยังตั้งคำถามอยู่ คือ ประเทศไทยมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่ต้องมีเรือดำน้ำโดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจขาลงเช่นนี้

แต่ก็น่าเห็นใจที่ 64 ปีมาแล้ว กองทัพเรือไทยยังไม่มีเรือดำน้ำประจำการ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคที่ลงทุนซื้อเรือดำน้ำเพื่อป้องกันภัยความมั่นคงทางทะเล ซึ่งเรื่องนี้คงเป็นโจทย์ใหญ่ที่กองทัพเรือต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจอย่างแท้จจริงว่า เพราะเหตุใดกองทัพจึงมีความจำเป็นที่จะต้องซื้อเรือดำน้ำไม่ว่าจะด้วยเหตุผลความมั่นคงทางทะเล หรือ ความคุ้มค่าในการลงทุน

ท้ายที่สุด เราคงไม่อยากเห็นภาพเก่า ๆ เหมือนหลายครั้งที่ผ่านมาว่า ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มาแล้วแต่กลับใช้งานไม่ได้… เพราะไม่งั้นคงโดนประชดว่า “แ…ก กันตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ” เป็นแน่แท้

แหล่งข้อมูลประกอบการเขียน
ผู้เขียนขอขอบคุณ เว็บไซต์http://monsoonphotonews.blogspot.com/2015/06/blog-post_27.htmlที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือโดยละเอียด และhttp://www.asiandefence-diplomacy.com