ThaiPublica > คอลัมน์ > เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง

4 กุมภาพันธ์ 2013


Hesse004

เกริ่นนำ

โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนคิดว่าไม่มีใครชอบการถูกโกงหรอกนะครับ เพราะนอกจากการโกงจะเป็นการละเมิดกติกาหรือกฎหมายที่บังคับใช้ในสังคมแล้ว การโกงยังขัดต่อศีลธรรมอันดี ทำให้สังคมวุ่นวายขาดความสงบเรียบร้อย ด้วยเหตุนี้ เราจึงพยายามหลบหลีกหรือหนีห่างคนโกง รวมไปถึงรังเกียจการโกงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะทั้งต่อหน้าและลับหลัง

อย่างไรก็แล้วแต่ ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า ในแต่ละวันเราถูกโกงเงินภาษีที่ต้องจ่ายไปในรูปแบบต่างๆ ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต หรือแม้กระทั่งค่าธรรมเนียมต่างๆ เวลาที่เราต้องติดต่อกับทางราชการ

ในแต่ละวันเราถูกคนของหลวงหรือ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ทั้งที่อยู่ในภาคราชการก็ดี หรือภาคการเมืองก็ดี โกงเงินภาษีของเรา โกงเงินงบประมาณแผ่นดินของเรา ด้วยวิธีการที่บางครั้งก็แนบเนียนแยบยลเกินกว่าที่เราจะเข้าใจ บางครั้งก็ใช้วิธีการแบบเรียบๆ ง่ายๆ แต่ก็ยังสามารถโกงเงินภาษีของเราไปได้อย่างหน้าตาเฉย

การโกงที่ผู้เขียนกำลังกล่าวถึงอยู่นี้ เป็นพฤติกรรมการโกงของคนที่อยู่ในตำแหน่งสาธารณะครับ เป็นพฤติกรรมการโกงของคนที่เข้าไปใช้อำนาจรัฐในการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นพฤติกรรมการโกงของคนที่อยู่ในกระบวนการงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งพฤติกรรมที่ว่ามาทั้งหมดนี้เราเรียกว่า “การทุจริต” หรือ “การคอร์รัปชัน” นั่นเองครับ

แต่ครั้งโบราณผ่านมา สังคมไทยเรียกการคอร์รัปชันว่า “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” อย่างไรก็ดี ทั้งสองคำนี้มีความหมายที่ต่างกัน กล่าวคือ

คำว่า “ฉ้อราษฎร์” หมายถึง การที่เจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับผลประโยชน์ในทางที่มิชอบจากราษฎรผู้มาขอรับบริการ ส่วน “การบังหลวง” หมายถึง การที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการทุจริตต่อหน้าที่อันทำให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของแผ่นดิน หรือเกิดการใช้งบประมาณแผ่นดินไปในทางที่มิชอบ ทำให้เสียหายแก่ผลประโยชน์ของส่วนรวม หรือทำให้ตนเองหรือบุคคลอื่นได้รับประโยชน์ มิชอบ

หนังสือชุดแผ่นดินไทย เล่มที่ 1 เรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง จัดทำโดยทำเนียบรัฐบาล พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2520 โดยหนังสือเล่มนี้เป็นอีกความพยายามของรัฐบาลไทย ที่จะกำจัดหรือลดปัญหาการคอร์รัปชันที่ยังคงฝังตัวอยู่ในระบบราชการไทย ที่มาภาพ : http://www.224book.com/product.detail_441438_th_1672011
หนังสือชุดแผ่นดินไทย เล่มที่ 1 เรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง จัดทำโดยทำเนียบรัฐบาล พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2520 โดยหนังสือเล่มนี้เป็นอีกความพยายามของรัฐบาลไทย ที่จะกำจัดหรือลดปัญหาการคอร์รัปชันที่ยังคงฝังตัวอยู่ในระบบราชการไทย ที่มาภาพ :http://www.224book.com/product.detail_441438_th_1672011

พฤติกรรมการฉ้อราษฎร์ที่เราเห็นกันเป็นประจำ เช่น เวลาเราขับรถแล้วถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกให้หยุดรถ และแจ้งข้อหาว่าเราได้กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยพระราชบัญญัติจราจรทางบก ปี 2522 โดยคุณตำรวจขออนุญาตดูใบขับขี่ ก่อนจะแจ้งข้อหาว่าเรากระทำผิดอย่างไร ท้ายที่สุดคุณตำรวจจะหยิบใบสั่งขึ้นมาเขียนเพื่อเรียกเงินค่าปรับจากเรา แต่เพื่อตัดความรำคาญใจและแลกกับการไม่ออกใบสั่งเปรียบเทียบปรับ เราก็มักจะต้องจ่ายเงินให้คุณตำรวจทุกครั้งในราคาที่เราพิจารณาแล้วว่าถูกกว่าค่าปรับที่ต้องจ่าย จะด้วยเหตุที่เราสมัครใจจะให้สินบนหรือไม่สมัครใจจะจ่ายสินบนหรือไม่ก็ตาม แต่เหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นถือได้ว่าการฉ้อราษฎร์เกิดขึ้นแล้ว การฉ้อราษฎร์ที่เจ้าหน้าที่รัฐรับสินบนจากประชาชน

ขณะที่พฤติกรรมบังหลวงที่เราเริ่มคุ้นเคยกันมากขึ้น เช่น รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงแห่งหนึ่งคิดโครงการก่อสร้างทางหลวงที่จะต้องจัดซื้อจัดจ้าง โดยโครงการดังกล่าว นอกจากจะผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ยังได้ผ่านความเห็นชอบจาก “ผู้รับเหมา” ที่ถูกวางตัวให้เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐไว้แล้วด้วย รัฐมนตรีผู้ทรงเกียรติท่านนั้นจึงมีฐานะเป็น “นายหน้าค้าโครงการรัฐ”ไปโดยปริยาย ก่อนที่ตัวเองจะได้รับเปอร์เซ็นต์ไปเบาะๆ โดยหักจากงบประมาณโครงการ ขณะที่ผู้รับเหมาก็ต้องคอย “จ่ายเบี้ยบ้ายรายทาง” ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหลายที่อยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จนกระทั่งเมื่อลงนามในสัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จ ส่งมอบงานหรือตรวจรับงานเรียบร้อยแล้ว คุณภาพงานก่อสร้างทางหลวงที่ได้รับนั้นมักจะ “ด้อยคุณภาพ” แต่ราคากลับ “แพงผิดปกติ” เหตุการณ์ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องของการบังหลวงนะครับ ซึ่งท้ายที่สุด คนที่รับกรรมคือประชาชนตาดำๆ อีกเช่นเคย

สังคมไทยเป็นสังคมที่นิยม “เล่นคำ” นะครับ ดังนั้น เวลาที่เราพูดถึงการทุจริต ฉ้อราษฎร์ บังหลวง เรามักมีคำต่างๆ ที่กล่าวถึงแล้วเห็นภาพเลยทีเดียว เช่น โกงกิน กินตามน้ำ กินทวนน้ำ กินสินบาทคาดสินบน เงินใต้โต๊ะ ค่าน้ำร้อนน้ำชา ส่วย รีดไถ จ่ายเบี้ยบ้ายรายทาง เป็นต้น นอกจากคำไทยแล้วบางทีเราก็หยิบคำจีนหรือคำฝรั่งมาเล่นคำความหมายที่เกี่ยวกับการโกงด้วย เช่น ฮั้วประมูล แบ่งเปอร์เซ็นต์ เก็บค่าต๋ง ค่าคอมมิสชัน ล็อคสเปค

ความหมายของคำต่างๆ เหล่านี้ขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ในวงการใด เช่น ในวงการรับเหมาก่อสร้าง ผู้รับเหมาหนีไม่พ้นที่ต้อง “ฮั้วประมูล” เพื่อให้ได้งานก่อสร้างนั้น การฮั้วประมูลมีสองรูปแบบหลักๆ นะครับ คือ การฮั้วกันระหว่างผู้รับเหมาด้วยกันเอง และฮั้วกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีตั้งแต่นักการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการ กรรมการจัดซื้อจัดจ้างแต่ละชุด

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องที่เราคุ้นชินกันในสังคมของเรานะครับ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ เรื่องของการคอร์รัปชันก็มีเช่นเดียวกัน ประเทศที่ดีหน่อย โปร่งใสมากหน่อย เขาก็ยังมีปัญหาการคอร์รัปชันเหมือนกัน เพียงแต่กลไกการปราบปรามการคอร์รัปชันของบ้านเขาได้ผลจนทำให้การป้องกันหรือป้องปรามการคอร์รัปชันทำได้ง่ายขึ้น

แต่สำหรับสังคมที่เต็มไปด้วย “คนขี้ฉ้อ” เต็มบ้านเต็มเมือง สังคมนี้ย่อมมีปัญหาเรื่องการปราบปรามการคอร์รัปชันนะครับ เพราะแม้ว่าคนโกงจะกระทำความผิดอยู่เห็นๆ แต่คนเหล่านี้ยังสามารถ “เลี่ยงบาลี” หรือหลบหนีกฎหมายโดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายรวมถึงเทคนิคต่างๆ ในทางกฎหมายเพื่อหลบเลี่ยงกระบวนการยุติธรรมได้ จนวันนี้คนโกงยังสามารถ “ลอยนวล” อยู่ได้ในสังคม

โลโก้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน-1

บทความขนาดยาวชิ้นนี้ผู้เขียนตั้งชื่อว่า “เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง” โดยมีเหตุผลสองประการ คือ ประการแรก ตลอดชีวิตการศึกษาของผู้เขียน ผู้เขียนเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์มาโดยตลอดตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงระดับปริญญาเอก ผู้เขียนคิดว่าวิชาเศรษฐศาสตร์สามารถอธิบายเหตุการณ์หลายอย่างในชีวิตประจำวันได้อย่างมี “ตรรกะ” และเป็นเหตุเป็นผล เป็นวิทยาศาสตร์ ประการถัดมา ผู้เขียนสนใจเรื่องการคอร์รัปชัน แต่ไม่เคยคิดจะคอร์รัปชัน เหตุผลที่สนใจในเรื่องนี้เพราะผู้เขียนมีประสบการณ์จากการทำงานด้านตรวจสอบและเห็นภาพการคอร์รัปชัน “ชาชิน” จนเกิดความเบื่อหน่ายและคิดว่าเมื่อไหร่สังคมเราจะหันมาตระหนักถึงการแก้ปัญหาการคอร์รัปชันกันอย่างจริงจังเสียที แม้ว่าวันนี้หลายองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน จะพยายามต่อต้านการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ แต่หลายต่อหลายครั้ง การต่อต้านการคอร์รัปชันเป็นเพียงแค่การเปิดตัวที่สวยหรูแต่กลับขาดความต่อเนื่อง หลายต่อหลายครั้งการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นเพียงแค่คำพูด แต่การกระทำกลับไม่ใช่ เข้าทำนอง “ปากว่าตาขยิบ”

ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรทำความเข้าใจในองค์ความรู้ด้านการคอร์รัปชันและการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ ซึ่งในต่างประเทศเรียกว่า Corruption Studies หรือถ้าแปลเป็นไทยแบบเก๋ๆ หน่อย คือ “คอร์รัปชันศึกษาและทุจริตวิทยา”

การรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันของภาคประชาสังคม (Civil Society Organization)

บทความนี้แบ่งออกเป็น 4 ตอน ทั้ง 4 ตอนล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงกันโดยผู้เขียนตั้งใจที่จะนำเสนอวิธีการวิเคราะห์พฤติกรรมการคอร์รัปชันในมิติของวิชาเศรษฐศาสตร์ (Economics of Corruption) ตอนที่ 1 ผู้เขียนเริ่มต้นอธิบายสาเหตุการคอร์รัปชันของสังคมไทยในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ (Cause of Corruption in Economics Perception) ตอนที่ 2 ผู้เขียนได้หยิบเรื่องการประเมินสถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศไทยในปัจจุบัน (Corruption Assessment in Thailand) สำหรับตอนที่ 3 ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นผลกระทบของการคอร์รัปชัน (Effect of Corruption) ซึ่งเราจะได้ปรับทัศนคติกันเสียใหม่ว่าแท้จริงแล้ว “โกงได้ไม่เป็นไรแต่ขอให้มีผลงาน” นั้นเป็นมิจฉาทิฐิต่อการพัฒนาประเทศ และในตอนสุดท้าย ผู้เขียนได้สรุปข้อเสนอบางประการในการต่อต้านคอร์รัปชันในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่ง

อ่านเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง(1)