ThaiPublica > คอลัมน์ > ปรากฏการณ์ dad bod

ปรากฏการณ์ dad bod

10 มิถุนายน 2015


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

คำสุดฮิตในภาษาอังกฤษในปัจจุบันคือ dad bod ซึ่งย่อมาจาก dad body การแพร่ กระจายของคำนี้อย่างบ้าคลั่งในอินเทอร์เน็ตในเวลาเพียง 2 อาทิตย์ บอกอะไรหลายอย่าง

ชั่วเวลาข้ามคืน Pearson Mackenzie สาวน้อยวัย 19 ปี เรียนชั้นปีที่ 2 ที่ Clemson University ในรัฐ South Carolina ดังไปทั่วโลกจากข้อเขียนยาว 500 คำของเธอในเรื่องนี้ เธอเขียนอะไรจึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดนี้

Pearson เริ่มเขียนคอลัมน์ในสิ่งพิมพ์ระดับชาติชื่อ The Odyssey ซึ่งอ่านกันทั่วไปในหมู่นักศึกษาอเมริกันตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว เมื่อคิวของเธอมาถึงในเดือนมีนาคม 2015 เธอก็ถามเพื่อนๆ ว่าจะเขียนเรื่องอะไรดีที่แปลกๆ เพื่อนก็แนะนำให้เขียนเรื่อง dad bod

ข้อเขียนของเธอชื่อ“Why girls love dad bod” ในตอนต้นไม่มีคนสนใจมากนัก เมื่อข้อเขียนแพร่กระจายราวไฟไหม้ป่าเธอจึงแปลกใจมาก เธอดังขนาดรายการทีวี Good Morning America เชิญเธอออกรายการ

Pearson เขียนว่า เพื่อนเธอคลั่งไคล้หนุ่มที่มีขนาดพุงเหมือนพ่อ (dad body) โดยให้คำจำกัดความว่า dad bod คือความสมดุลอันเหมาะสมระหว่างลงพุงเพราะเบียร์กับพุงที่มาจากการออกกำลังกายบ้าง เธอบอกว่า dad bod จะสื่อว่า “ฉันไปออกกำลังกายที่โรงยิมเป็นบางครั้ง แต่กินเบียร์หนักตอนเสาร์อาทิตย์ และมีความสุขที่จะกินพิซซ่าทีเดียว 8 ชิ้น คนลักษณะนี้ไม่เรียกว่าอ้วนแต่ก็ไม่ใช่คนที่มีหุ่นงามจนพอจะเป็นโมเดลโฆษณา”

เธอเห็นว่า dad bod กำลังเป็นแฟชั่นระบาดไปทั่ว ก่อนที่เธอจะเขียนคำนี้เธอไม่ได้คิดขึ้น แต่มีการใช้กันอยู่บ้างในอินเทอร์เน็ตก่อนหน้านี้ แต่คำนี้ดังก็เพราะเธอนำมาเขียนถึง

ที่มาภาพ : http://cdn1.theodysseyonline.com/files/2015/03/24/6356280487844907501616752591_dad%2520body.imgopt1000x70.jpg
ที่มาภาพ : http://cdn1.theodysseyonline.com/files/2015/03/24/6356280487844907501616752591_dad%2520body.imgopt1000x70.jpg

เหตุผลที่สาวๆ ชอบ dad bod ก็คือ (1) มันไม่ข่มพวกเรา หากถ่ายภาพในชุดบิกินี่กับหนุ่มหุ่นงาม กล้ามขึ้นเป็นมัด ซี่โครงขึ้นเป็นลูกระนาดแบบ Six-Pack (ชื่อที่เรียกเบียร์ที่ขายในอเมริกาซึ่งนิยมขายเป็นชุด 6 กระป๋อง ยึดติดกันด้วยแผ่นพลาสติก จนดูเรียงกันเป็นลอน) หญิงสาวจะรู้สึกด้วยและไม่มั่นคง พวกเราไม่ต้องการหนุ่มที่มีหุ่นงามราวกับรูปปั้น

(2) เราอยากเป็นคนสวยน่ารัก เราอยากให้ใครเรียกเราว่าคู่ที่น่ารัก แต่เราก็ยังอยากเป็นจุดสนใจ เราอยากดูเป็นคนผอม ดังนั้นหากคู่กับคนมีพุงบ้างเราก็จะดูดี โดยเฉพาะเมื่อถ่ายรูปออกมา

(3) เป็นนักกิน เจ้าของ dad bod กินทุกอย่างไม่เรื่องมาก โดยมีชีวิตเรื่องกินเหมือนคนปกติ

(4) รู้ว่าจะได้อะไรมา เมื่อรู้ว่าหนุ่มคู่รักมีรูปร่างลักษณะใดเสียตั้งแต่ตอนนี้ จะได้รู้ว่าเมื่อเป็นสามีและพ่อของลูกแล้วหุ่นจะเป็นอย่างไร (หนูรู้จักโลกน้อยไปหน่อยนะ) หุ่นอย่างนี้จะบอกให้รู้ว่าเราจะได้ชายรูปร่างแบบใดมาในอนาคต

เหตุผลที่ Pearson บอกมาทั้งหมด ตลอดจนการแพร่กระจายของข้อเขียนในอินเทอร์เน็ตบอกให้รู้ว่า (1) เมื่อข้อเขียนใดโดนใจใครในโลกอินเทอร์เน็ตแล้ว มันไปได้ไกลและเร็วมากๆ ด้วย สาวๆ ที่นิยมชมชื่น dad bod ก็ส่งต่อกันไปอีกหลายทอด หนุ่มๆ ที่เริ่มลงพุงจะชอบมากที่สุดเพราะเพิ่งเอาชนะพวก Six-Pack ก็คราวนี้เอง

(2) รูปร่างชายหนุ่มก็เป็นประเด็นได้ ไม่ใช่แค่ของหญิงสาวแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยเฉพาะพุงของชายซึ่งเคยเป็นปมด้อยก็สามารถกลายเป็นปมเด่นได้ ความสนใจถ้วนทั่วอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าผู้คนในวัยหนุ่มสาวนั้นเขาสนใจเรื่องความสวยความงามของรูปร่างกันมากเพียงใด

(3) dad bod คือสิ่งที่เป็นตัวแทนของ “คนปานกลาง” (ไม่ใช่หุ่นดีเลอเลิศ) ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของมนุษย์ในทุกวัย ทุกแห่งทั่วโลก การชื่นชม dad bod ก็คือการชื่นชม “ความปานกลาง”

(4) ไอเดีย dad bod ทำให้บรรดาชายหนุ่มสบายขึ้นเพราะไม่ต้องพยายามเป็นคนเพอร์เฟกต์อีกต่อไป เพียงแค่ “ปานกลาง” ก็เป็นที่ยอมรับแล้ว การต้องออกกำลังกายเข้าโรงยิมเพื่อความเป็น Six-Pack ไม่มีความสำคัญ “ความสบายๆ” สามารถปล่อยตัวกินอะไรตามใจได้ก็ใช้ได้แล้ว

มีคนถามเธอว่าพ่อรู้สึกอย่างไรกับข้อเขียนนี้ เธอตอบว่าพ่อและเพื่อนๆ พ่อชอบและบอกว่าเธอเป็นคนทำให้พวกเขารู้สึกภาคภูมิใจในรูปร่างของตนเองเป็นครั้งแรกในหลายปี

dad bod เป็นที่กล่าวขวัญเพราะมันทำให้ผู้ชายลดความเครียดลงในการที่ต้องเป็นคน หุ่นงามเพื่อดึงดูดใจสาว บัดนาวมีคนมาบอกว่า “อ้วนลงพุง” ก็ได้แล้วอย่างนี้จะไม่ชอบข้อเขียนได้อย่างไร

ใครที่เอา “ข่าวดี” อย่างนี้มาบอกก็อาจกลายเป็นดาราดังในอินเทอร์เน็ตได้ชั่วข้ามคืน ในสมัยโบราณผู้ที่เอาข่าวร้ายมาบอกอาจถูกตัดหัวได้ง่ายๆ

ในเวลาต่อไป mom bod อาจเป็นไอเดียดังก็ได้ แต่ถ้าหากเป็น grand mom bod คนที่เห็นโลกมามากเช่นผู้เขียนขอไม่มีชีวิตอยู่ถึงตอนนั้น

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารmuj9 มิ.ย. 2558