ThaiPublica > เกาะกระแส > เปิดตัว เว็บไซต์ Prachamati.org เวทีอิสระรับฟังความเห็น ปชช. ต่อเนื้อหาร่าง รธน. – วางเป้ามีผู้ใช้เกิน 1 แสนคน

เปิดตัว เว็บไซต์ Prachamati.org เวทีอิสระรับฟังความเห็น ปชช. ต่อเนื้อหาร่าง รธน. – วางเป้ามีผู้ใช้เกิน 1 แสนคน

9 พฤษภาคม 2015


“สื่อออนไลน์ 3 องค์กร-สถาบันสิทธิมนุษยชน ม.มหิดล” ร่วมเปิดตัวเว็บไซต์ Prachamati.org เป็นเวทีอิสระเพื่อรับฟังความเห็น ปชช. ต่อร่างรัฐธรรมนูญ หวังมีผู้เข้ามาใช้งานเกิน 1 แสนคน – ตัวแทนพรรคการเมืองยันต้องทำประชามติ เพื่อแก้ข้อบกพร่อง กม.สูงสุด ก่อนเป็นชนวนขัดแย้งในอนาคต

prachamati
(จากซ้ายไปขวา) นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้ดำเนินรายการ, นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw , นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Thaipublica

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 ที่ร้านบราวน์ ชูการ์ เดอะ แจ๊ส บูทีค กรุงเทพฯ สื่อออนไลน์ 3 องค์กรประกอบด้วย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า (Thaipublica) ร่วมกับ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดงานแถลงข่าว เปิดตัวเว็บไซต์ Prachamati.org เพื่อเป็นเวทีให้ประชาชนทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) โดยเว็บไซต์นี้จะให้ผู้ใช้สามารถแสดงความคิดเห็นและลงมติ ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายประเด็น หรือต่อประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจในช่วงเวลานั้นๆ

Prachamati.org เปิดเวทีอิสระให้ประชาชนแสดงความเห็นต่อร่าง รธน.

ช่วงแรกจะเป็นการเปิดให้ตัวแทนผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Prachamati.org มาเล่าถึงที่มาที่ไปของเว็บไซต์นี้ รวมถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะสังคมไทยได้รับ

นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw ผู้ผลักดันให้เกิดเว็บไซต์ Prachamati.org กล่าวถึงที่มาของเว็บไซต์นี้ว่า เราคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีเวทีอิสระที่จะแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ซึ่งจะมีผลกระทบระยะยาวต่อประชาชน ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม การที่จะให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดว่าจะผ่านหรือไม่ผ่านมีความสำคัญ

“เว็บไซต์ Prachamati.org จริงๆ แล้วเริ่มต้นด้วยความคิดที่ว่า ถ้าเขาไม่ทำประชามติ อย่างน้อยเราจะทำประชามติในเว็บไซต์นี้ แต่ยังไม่ถึงจุดนั้นในปัจจุบันนี้ เราต้องการฟังความเห็นของประชาชนว่าควรจะมีการทำประชามติหรือไม่ คำถามนี้เป็นคำถามที่ไม่ง่าย หลายๆ ฝ่ายขณะนี้บอกว่าควรทำประชามติ แต่การทำประชามติมันก็ขึ้นอยู่กับว่าทำในเงื่อนไขอะไร มีทั้งคนสนับสนุนและคนค้านจากทั้งสองซีกของการเมืองสี เราก็เลยเปิดพื้นที่ให้แสดงออก”

นายจอนกล่าวว่า หลังเว็บไซต์ Prachamati.org เปิดตัวมาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2558 ถึงวันนี้ยังมีคนเข้าไปใช้ค่อนข้างน้อย จากเดิมที่คาดไว้ว่าน่าจะมีประเด็นละ 5,000-10,000 โหวต คิดว่าเพราะหลายคนอาจยังไม่ค่อยมั่นใจ จึงยังไม่เข้าไปโหวต ซึ่งขอยืนยันว่าเว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบมาอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญไม่ให้ใครสามารถเข้าไปดูได้ว่าแต่ละคนโหวตในประเด็นต่างๆ อย่างไร จึงอยากเชิญชวนทุกคนเข้ามาใช้บริการเว็บนี้ ทั้งนี้ ตามกติกาตั้งไว้ว่าประเด็นใดมีเสียงโหวตเกิน 5,000 เสียงก่อน ก็จะเปิดผลโหวต หรือถ้าเสียงโหวตไม่ถึง 5,000 เสียง แต่ครบเวลา 1 เดือนแล้วก็จะเปิดผลโหวตเช่นกัน

“เหตุที่ไม่อยากเปิดผลโหวตเร็วเกินไป เพราะเกรงว่าจะเป็นการชักจูงคนให้เลือกข้าง เราอยากให้คนโหวตอิสระก่อนอย่างน้อย 5,000 เสียง และเป้าหมายสุดท้ายคือให้มีผู้เข้ามาใช้งานเว็บไซต์ทั้งหมดเกินกว่า 100,000 คน” นายจอนกล่าว

(อ่านสัมภาษณ์เพิ่มเติม “จอน อึ๊งภากรณ์” เปิดเวทีอภิปราย รธน.-จุดประเด็นประชามติ ให้ “พลเมืองเป็นใหญ่” ผ่านเว็บไซต์ Prachamati.org)

สร้างพลังจากการจัดการความเห็นอย่างเป็นระบบ

น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Thaipublica กล่าวว่า หากมองในมุมของสื่อออนไลน์ การทำเว็บไซต์ Prachamati.org เป็นขั้นตอนหนึ่งที่จะปรับวิธีคิดของการทำข่าวของนักข่าวเองให้เป็นเนื้อเดียวกันกับโลกออนไลน์มากขึ้น อย่างเว็บไซต์ Thaipublica แม้จะก่อตั้งมาระยะหนึ่งแล้ว ก็ยังมีความเป็นหนังสือพิมพ์บนเว็บไซต์อยู่ แต่ในขณะเดียวกันเราก็เห็นว่าจริงๆ โลกออนไลน์มันเปิดให้คิดประเด็นข่าวได้มากมายหลากหลายกว่าแค่ว่าเขียนขึ้นเป็นชิ้นข่าว มันไม่ใช่เพียงตอบโจทย์ประชาชนอย่างเดียว แต่มันเป็นการช่วยยกระดับของนักข่าวเองด้วย ใช้เครื่องมือใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“โลกออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตทุกวันนี้ไปแล้ว ตื่นมาเปิดไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นใหญ่ แล้วก็กระทบกับทุกคนโดยธรรมชาติ ตามปกติเราก็แสดงออกในพื้นที่ของแต่ละคน แต่ถ้าปล่อยให้แสดงออกเป็นธรรมชาติ ก็จะไม่เห็นการรวบรวมความคิดเห็นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ พลังมันก็จะไม่เกิด แล้วพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดในการรวบรวมความเห็นของคนจำนวนมากก็คือพื้นที่ออนไลน์ ถ้าย้อนไปสัก 10 ปีก่อน เราอาจไม่มีพื้นที่ขนาดนี้มาให้แสดงความคิดเห็น จึงเป็นที่มาของเว็บไซต์ Prachamati.org” น.ส.สฤณีกล่าว

นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความจริงสถาบันฯ พยายามสร้างกระบวนการประชาธิปไตยที่ถกแถลงได้ก่อนหน้านี้หลายปี เพราะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการแต่การ “สวนเสวนา” คือด่าสวนกันไปมา ไม่มีพื้นที่ซึ่งสามารถพูดคุยได้ในแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การเปิดพื้นที่ให้คนแลกเปลี่ยนกันได้อย่างเว็บไซต์ Prachamati.org จึงถือเป็นเรื่องที่ดี

“แม้จะบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนมาแล้ว แต่อย่าลืมว่าความเป็นตัวแทนประชาชนมันไม่สามารถครอบคลุมได้ทั้งหมด ดังนั้น การทำประชามติจึงควรจะเกิดขึ้น แต่ตอนนี้เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ จึงต้องมาทำผ่านเว็บไซต์ Prachamati.org อย่างน้อยผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตก็สามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นได้” ดร.เอกพันธุ์กล่าว

Screen Shot 2558-05-08 at 10.04.05 PM
คำถามใหญ่ในหน้าเว็บไซต์ Prachamati.org ก็คือ “รัฐธรรมนูญใหม่ต้องผ่านการทำประชามติ เห็นด้วยหรือไม่?”

ประชามติจะช่วยอุดจุดอ่อน รธน. ก่อนสร้างวิกฤติในอนาคต

จากนั้น จะเป็นช่วงที่เปิดโอกาสได้ตัวแทนฝ่ายการเมือง ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมได้แสดงความเห็นต่อประเด็นการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ คณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากอยากให้สังคมไทยเดินหน้าไปด้วยกัน จะต้องมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรายประเด็น ประเด็นใดที่ไม่ผ่านก็ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแก้ไข สิ่งที่ตนเห็นว่าดีอยู่แล้วคือการป้องกันนโยบายประชานิยม แต่สิ่งที่ควรแก้ไข คือที่มาของอำนาจของ ส.ว.

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากไม่มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในสาระสำคัญ เราจะเดินหน้าไปสู่สังคมที่ขัดแย้งกันมากกว่าเดิม ที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เสนอให้ลองใช้ไปก่อน 5 ปีแล้วค่อยมาแก้ไข ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะไม่แน่ใจว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีรัฐประหารเกิดขึ้นอีกกี่ครั้ง ทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้ ให้ กมธ.ยกร่างฯ แก้ไขประเด็นที่เป็นประเด็น และถ้าจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นประชาธิปไตย จะต้องมีการทำประชามติ ยิ่งผู้มีอำนาจตัดสินใจเร็ว ทุกฝ่ายยิ่งเข้ามามีส่วนร่วม จะเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ช่วยกันแก้ไขประเด็นที่เป็นปัญหา ซึ่งจะทำให้สามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งรุนแรงในอนาคต จากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการได้

นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญจะเคยเป็นวิกฤติของสยามประเทศตั้งแต่สมัย ร.ศ. 103 ต่อเนื่องมาจนกบฏ ร.ศ. 130 กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี 2475 แต่ในรัฐประเทศชาติสมัยใหม่ก็ยังต้องการรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย และการเลือกตั้ง ความพยายามที่จะหยุดยั้งหรือดึงถอยหลังกลับไปก่อนปี 2475 เป็นความพยายามของกลุ่มคนที่น่าสงสาร น่าเห็นใจ และน่าสมเพช

“ขอยืนยันว่า ในความเป็นประชาชนของสยามประเทศ เราจำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน.” นายชาญวิทย์กล่าว.