ThaiPublica > คนในข่าว > “จอน อึ๊งภากรณ์” เปิดเวทีอภิปราย รธน.-จุดประเด็นประชามติ ให้ “พลเมืองเป็นใหญ่” ผ่านเว็บไซต์ Prachamati.org

“จอน อึ๊งภากรณ์” เปิดเวทีอภิปราย รธน.-จุดประเด็นประชามติ ให้ “พลเมืองเป็นใหญ่” ผ่านเว็บไซต์ Prachamati.org

4 พฤษภาคม 2015


เหลือเพียง 90 วันเศษ ก็จะถึงกำหนดชี้ชะตาว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

แม้จะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่บังคับใช้กับคน 65 ล้านคน ทว่าดูเหมือนประชาชนจะมีส่วนร่วมในจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ “น้อยมาก”

คนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นได้เพียงผู้ฟังหรือผู้ชมเท่านั้น

ขณะที่ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอให้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไปอย่างน้อย 5 ปี โดยไม่มีการแก้ไข

เป็นเวลาอย่างน้อยครึ่งทศวรรษ ที่ประชาชนไม่มีส่วนในการกำหนดอนาคตตัวเอง

สื่อมวลชนทางเลือกกลุ่มหนึ่ง นำโดย iLaw, ประชาไท, ไทยพับลิก้า และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเปิด “เวที” ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นต่อเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

เป็นที่มาของเว็บไซต์ Prachamati.org

โดยมี “จอน อึ๊งภากรณ์” ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เป็นผู้ผลักดัน

แม้ในหน้าเว็บ จะมีการตั้งคำถามสำคัญให้ทุกคนลงมติว่า “ควรจะทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่?”

แต่ก็เปิดพื้นที่ให้มีการแสดงความเห็น อภิปราย ถกแถลง และเสนอประเด็นใหม่ๆ ขึ้นมาได้อีก

ใช้พื้นที่ออนไลน์ จำลองระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา

ให้ “พลเมือง” ได้ “เป็นใหญ่” อย่างแท้จริง

จอน อึ๊งภากรณ์
จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

ไทยพับลิก้า: ไอเดียในการทำเว็บ Prachamati.org มีที่มาจากไหน

ในการทำงานของ iLaw เรามีวัตถุประสงค์คือ การส่งเสริมเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกทางเว็บไซต์-สื่อออนไลน์ การแสดงความคิดเห็นทั่วๆ ไป หรือการชุมนุมโดยสงบ เพราะฉะนั้น เราก็ทำศูนย์ที่เก็บรวบรวมปัญหาอุปสรรคในการแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทีนี้ พอเกิดเรื่อง มีการใช้กฎอัยการศึก ซึ่ง iLaw เคยรณรงค์ว่ากฎอัยการศึกเป็นกฎหมายที่ควรแก้ไข แค่พอมีการประกาศกฎอัยการศึกและทำรัฐประหาร เราก็เห็นว่า เรื่องของระบบประชาธิปไตยถูกทำลายไป เราก็รู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่วิกฤติของสังคมไทย เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนซึ่งตามหลักการต้องถือเป็นเจ้าของประเทศถูกปิดกั้นทั้งสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจในการตัดสินใจในฐานะเจ้าของประเทศ ตั้งแต่เรื่องการเลือกตั้งที่ผ่านมา

เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แล้ว คสช. ไม่ได้กำหนดให้มีการทำประชามติ ก็เหมือนกับประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญนี้ เพราะเราถือว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ไม่สามารถถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชนได้ แม้จะมีการเลือกตั้งกันเองบ้าง แต่ไม่สามารถถือได้ว่าเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ

เราก็เลยเห็นว่าควรจะมีพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงความเห็นต่อรัฐธรรมนูญ เราก็ทำเท่าที่ทำได้ ในขณะที่เป็นองค์กรเล็กๆ แล้วหาเพื่อนมาร่วมงานกับเรา แล้วเปิดเป็นเว็บไซต์สำหรับให้ประชาชนเข้าไปแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญได้ ในรูปแบบของการลงคะแนนเสียง หรือทำประชามตินั่นเอง

รูปแบบที่เราคิดก็คือว่า อันนี้ เราไม่ต้องการให้คนที่มาใช้เว็บนี้เป็นคนที่มีความเห็นทางการเมืองไปในทางใดทางหนึ่ง เราต้องการต้อนรับคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองทุกสี ทุกด้าน ให้มาร่วม นี่เป็นเหตุที่เราพยายามจะรวมกันหลายๆ องค์กร แล้วเราจะไม่มีธงชี้ว่า เขาควรจะลงคะแนนอย่างไร แต่เราจะเอาประเด็นรัฐธรรมนูญมา แล้วเอาความเห็นทั้ง 2 ด้าน ทั้งสนับสนุน-คัดค้าน มากางให้ดู พยายามสร้างให้มีน้ำหนักพอๆ กัน แล้วให้ประชาชนได้อ่าน แล้วเลือกโหวต เราจะเอาประเด็นรัฐธรรมนูญที่สำคัญๆ ทยอยลงในเว็บ แล้วเปิดให้ประชาชนที่อ่านและสนใจได้โหวตว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับประเด็นนั้นๆ

เราตั้งเป้าว่าอยากให้ประชาชนที่สนใจมาลงทะเบียนในเว็บ เมื่อลงทะเบียนแล้วถึงจะมีสิทธิ์โหวตได้ทุกๆ เรื่องในเว็บ ที่ให้ลงทะเบียนก่อนเพื่อยืนยันว่ามีตัวตนจริง และป้องกันไม่ให้คนคนเดียวมาออกเสียงมากกว่า 1 ครั้ง แม้ว่าอาจจะป้องกันไม่ได้ 100% แต่เราก็พยายามทำให้มันเป็นเรื่องที่ยากที่คนคนหนึ่งจะมาลงคะแนนได้มากกว่า 1 ครั้ง รวมทั้งเราอยากให้หลักประกันประชาชนว่า เมื่อลงทะเบียนแล้ว ผลการโหวตของแต่ละคนจะไม่ถูกบันทึกไว้ คือแม้แต่คนที่ดูแลเว็บก็ไม่สามารถดูได้ว่าใครโหวตอย่างไร ดูได้แค่ว่าโหวตประเด็นนี้แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้โหวตซ้ำเท่านั้นเอง แต่ไม่มีตรงไหนที่จะบันทึกว่าคนไหนโหวตอย่างไร

เราต้องการทำให้คล้ายๆ กับเมื่อคนไปอยู่ในคูหาเลือกตั้ง เวลาเลือกตั้งก็จะมีการบันทึกว่าคนนี้ได้ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว แต่ผลการลงคะแนนจะไม่ปรากฏ เป็นเรื่องนิรนาม เพราะการกากบาทจะไม่มีชื่อประกอบ ก็เหมือนกัน เราออกแบบเว็บในลักษณะเดียวกัน

เราก็มีประเด็นสำคัญ ที่เป็นคำถามหลักซึ่งจะอยู่ตลอด ก็คือว่า “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรมีการทำประชามติหรือไม่” คนที่เห็นด้วยก็โหวตเห็นด้วย คนที่ไม่เห็นด้วยก็โหวตไม่เห็นด้วย เราจะได้เห็นว่าประชาชนที่มาลงทะเบียนในเว็บนี้คิดกันอย่างไร ซึ่งเราตั้งเป้าว่า ถ้าเป็นไปได้อยากได้คนสัก 100,000 คน มาลงความเห็นในเว็บเรา ถ้าได้ตามนี้ก็ถือว่าบรรลุความสำเร็จ แต่อย่างน้อยที่สุด ใน 1-2 เดือนแรก เราควรจะได้สัก 50,000 คน

เป้าหมายก็คือให้ประชาชน “มีเวทีที่แสดงความเห็นได้” ที่จะทำให้ผู้ถืออำนาจในปัจจุบันได้รับรู้ด้วยว่านี่คือความต้องการของประชาชน เช่น ถ้าประชาชนมาโหวตว่าต้องการให้มีการทำประชามติ เราก็หวังว่า จะต้องได้รับการตอบสนองจากผู้มีอำนาจ แม้อันนี้ เราจะไม่สามารถกำหนดได้ว่า เขาจะทำหรือไม่ทำ

ไทยพับลิก้า: ความเห็นส่วนตัวอาจารย์จอนอาจมองว่าเวทีที่ให้ประชาชนได้แสดงความเห็นยังมีไม่พอ แต่ฝ่ายรัฐก็บอกว่า ได้เปิดรับฟังความเห็นประชาชนในหลายช่องทาง เช่น ส่งความเห็นมาทางไปรษณียบัตร หรือเปิดเวทีประชาพิจารณ์ทั่วประเทศ

มันไม่พอแน่ คือประชาชนอาจจะแสดงความเห็นในโซเชียลมีเดียได้ ไปร่วมเวทีของรัฐได้ แต่ประชาชนหลายส่วนก็ไม่ค่อยเข้าไปร่วมเวทีที่เป็นทางการ เช่น ให้ส่งไปรษณียบัตร คนก็ไม่แน่ใจว่าจะได้ผลอะไร บางคนอาจไม่แน่ใจว่าถ้าใส่ชื่อลงไป ถ้า คสช. ไม่พอใจ จะเป็นผลเสียไหม

ถ้ามีเว็บไซต์อื่นที่เป็นช่องทางแสดงความเห็นได้ เราก็สนับสนุนเหมือนกัน เพียงแต่เท่าที่เราทำได้ เราก็จะทำให้เว็บ Prachamati.org เป็นอีกช่องทางที่คนมาแสดงความเห็น โดยหวังว่าจะมีคนมาใช้ช่องทางของเรามากพอสมควร ซึ่งคงจะได้หลายหมื่นคนในระยะแรก เพราะแต่ละองค์กรที่เข้าร่วมก็มีผู้ติดตามในแฟนเพจอยู่หลายหมื่นคน

เป้าหมายก็คือให้ประชาชน “มีเวทีที่แสดงความเห็นได้” ที่จะทำให้ผู้ถืออำนาจในปัจจุบันได้รับรู้ด้วยว่านี่คือความต้องการของประชาชน เช่น ถ้าประชาชนมาโหวตว่าต้องการให้มีการทำประชามติ เราก็หวังว่า จะต้องได้รับการตอบสนองจากผู้มีอำนาจ

ไทยพับลิก้า: การเปิดให้โหวตผ่านเว็บไซต์ อาจถูกตั้งคำถามเรื่องความน่าเชื่อถือ เพราะ 1 คนสามารถลงทะเบียนได้หลายแอคเคาต์

ก็เป็นไปได้ แต่มันก็เป็นเรื่องยุ่งยากอยู่เหมือนกันหากคนหนึ่งจะลงทะเบียนหลายๆ ครั้ง ผมคิดว่าคนที่จะโกงระบบคงเป็นส่วนน้อย เพราะโดยหลักการการล็อกอินจะใช้แอคเคาต์ของเฟซบุ๊ก บางคนอาจจะมีเฟซบุ๊กมากกว่าหนึ่ง แต่เราก็คงไม่ได้เป๊ะๆ กับคะแนน เราต้องการแสดงแนวโน้ม จึงเชื่อว่า 90% ของคนที่จะมาโหวตคงเป็นคนที่ตรงไปตรงมา ไม่ได้มาโกง ถ้าจะมีอยู่บ้างก็คงเป็นส่วนน้อย คงไม่ได้มีผลโดยส่วนรวม เพราะนี่ไม่ได้ถือเป็นโหวตทางการ เป็นการโหวตเพื่อแสดงความรู้สึก แสดง trend แสดงแนวโน้มความเห็นประชาชนที่เข้าร่วมในกิจกรรมนี้ แล้วก็อาจจะยังไม่สามารถบอกได้ว่าคนที่เข้ามาแสดงความเห็นในเว็บนี้เป็นผู้แทนของประชาชนทั้งประเทศ เพราะอย่างน้อยที่สุดส่วนใหญ่ต้องเป็นคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่อย่างน้อยก็พอจะแทนประชาชนกลุ่มหนึ่งที่แสดงความคิดเห็นทางออนไลน์ สนใจการบ้านการเมือง เป็นส่วนนี้แหละที่จะมาช่วยแสดงความเห็นกัน

ไทยพับลิก้า: คุณบวรศักดิ์บอกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะส่งเสริมให้พลเมืองเป็นใหญ่ อาจารย์จอนมองว่ากระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พลเมืองได้เข้าไปมีส่วนร่วมมากน้อยขนาดไหน และเว็บ Prachamati.org จะช่วยให้พลเมืองได้มีส่วนร่วมมากน้อยขนาดไหน

ผมไม่อยากวิจารณ์มาก เพราะผมคิดว่าส่วนหนึ่งของเป้าหมายเราคือเราไม่ต้องการชี้นำว่าควรจะโหวตอย่างไร โดยส่วนตัวผมก็คลุกคลีกับวงการเอ็นจีโอ ก็เข้าใจว่ามีคนวงการเอ็นจีโอบางส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อผลักดันเรื่องสิทธิเสรีภาพให้มันพัฒนาไปมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ คนที่ร่างก็คงมีความหลากหลายอยู่เหมือนกัน แต่จะบอกว่าแทนประชาชนทั้งประเทศก็คงจะไม่ใช่ เพราะระบบวิธีการคัดเลือกในที่สุดก็อยู่ที่ คสช. กลั่นกรอง โดยเฉพาะในส่วนของ สปช.

ผมคิดว่าโดยทั่วไป การรับฟังความเห็นจากประชาชนก็ยังไม่มากเท่าที่ควร เห็นมีทำโพลอยู่บ้าง เปิดเวทีอยู่บ้าง แต่จะสะท้อนความรู้สึกของประชาชนทั้งประเทศหรือไม่ อันนี้ก็ยังไม่ทราบ คิดว่าถ้าเราเปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจสามารถแสดงออกในช่องทางของเรา ก็เป็นการช่วยสะท้อนความเห็นของประชาชนกลับไปยังผู้ร่างด้วย

ไทยพับลิก้า: ยิ่งมีช่องทางมากๆ ยิ่งดี

เราก็ไม่ได้ถือว่าเราเป็นเจ้าเดียวที่ทำ ยิ่งมีหลายช่องทางยิ่งดี แล้วก็จะได้มาดูกันว่าแต่ละช่องทางที่คนแสดงออก เสียงไปในทางเดียวกันหรือเปล่า

ไทยพับลิก้า: เป้าหมายสูงสุดของการทำเว็บนี้คืออะไร ใช่การผลักดันให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญจริงๆ หรือไม่

ถ้าประชาชนจำนวนมากแสดงความต้องการที่จให้มีประชามติ ก็ควรมีการทำประชามติในรัฐธรรมนูญนี้

ไทยพับลิก้า: การมีประชามติร่างรัฐธรรมนูญสำคัญอย่างไร

รัฐธรรมนูญนี้ เท่าที่เห็น เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ยากในอนาคต เพราะฉะนั้น ถ้ากำหนดลงไปแล้ว เมื่อเกิดรัฐบาลจากการเลือกตั้งขึ้นมา เกิดความเห็นประชาชนตอนนั้นว่าอยากแก้ ก็ไม่ใช่ว่าจะแก้ง่าย แก้ยากมากเลย มันจะมีกลไกหลายอย่างที่ต้องผ่านหลายขั้นตอน แล้วหลักการใหญ่ๆ ก็ไม่สามารถที่จะแก้ได้ รัฐธรรมนูญประเภทนี้ออกแบบให้เป็น “รัฐธรรมนูญถาวร” ด้วยซ้ำไป ถ้าไม่ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น มันก็จะทำให้ระบอบเผด็จการคงอยู่ไปอีกนาน แต่เราต้องการกลับไปสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว และคิดว่า คสช. เองก็พูดตลอดว่า จะกลับมาสู่ประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญแล้วไม่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น แล้วประชาชนต้องการให้ลงประชามติ ผมก็คิดว่าในกรณีนั้นก็ควรทำตามความประสงค์ของประชาชน

แต่ถ้าประชาชนส่วนใหญ่บอกว่าไม่จำเป็นต้องลงประชามติ ยังไงๆ ก็เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญนี้อยู่แล้ว ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชน

รัฐธรรมนูญนี้ เท่าที่เห็น เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ยากในอนาคต เมื่อเกิดรัฐบาลจากการเลือกตั้งขึ้นมา เกิดความเห็นประชาชนตอนนั้นว่าอยากแก้ ก็ไม่ใช่ว่าจะแก้ง่าย แก้ยากมากเลย มันจะมีกลไกหลายอย่างที่ต้องผ่านหลายขั้นตอน แล้วหลักการใหญ่ๆ ก็ไม่สามารถที่จะแก้ได้ ถ้าไม่ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น มันก็จะทำให้ระบอบเผด็จการคงอยู่ไปอีกนาน แต่เราต้องการกลับไปสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว และคิดว่า คสช. เองก็พูดตลอดว่า จะกลับมาสู่ประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ หากประชาชนต้องการให้ลงประชามติ ผมก็คิดว่าในกรณีนั้นก็ควรทำตามความประสงค์ของประชาชน

ไทยพับลิก้า: ถ้าดูจากทั้งกระบวนการและเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญจนถึงเวลานี้ ส่วนตัวมองว่ามีอะไรที่น่าเป็นห่วงบ้าง

ที่น่าเป็นห่วงก็คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยหรือเปล่ากับเนื้อหาที่เขียนขึ้นมา

ประชาชนส่วนใหญ่ได้มีโอกาสอ่านและทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไหม เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเอกสารที่ซับซ้อน เขียนโดยภาษากฎหมาย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ประชาชนจะเปิดอ่านทุกมาตราแล้วทำความเข้าใจ ประชาชนจะเข้าใจได้ต้องมีเครื่องมือช่วยอธิบาย เช่น มีบทความในสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ หรือวิทยุโทรทัศน์ ต้องมีคำอธิบาย แล้วประชาชนต้องได้รับฟังความเห็นที่หลากหลาย เพื่อที่จะได้ตัดสินใจได้ถูกต้อง ผมจึงคิดว่ากระบวนการให้ประชาชนได้รับรู้ เข้าใจ ว่ารัฐธรรมนูญใหม่นี้ร่างอย่างไร มีหลักการอย่างไร แล้วเข้าใจด้วยว่ามันแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ อย่างไร แล้วประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ หรือว่าเห็นว่ารัฐธรรมนูญก่อนดีกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องพยายามให้ประชาชนได้รับรู้ ได้ศึกษา และได้แสดงความคิดเห็นด้วย

เราก็ถือว่าเว็บ Prachamati.org เป็นเพียง 1 ช่องทางที่ส่งเสริมให้ประชาชน นอกจากรับรู้แล้ว ก็อยากให้ประชาชนได้แสดงออกด้วย เช่น อ่านข้อดี-ข้อเสียแต่ละเรื่องในรัฐธรรมนูญแล้ว ชั่งใจแล้ว ถ้าตัดสินใจได้ว่าเห็นอย่างไร ก็สามารถลงคะแนนได้ด้วย

โดยในเว็บ นอกจากเปิดให้โหวตได้ ยังมีช่องให้แสดงความเห็นในทุกประเด็น เห็นด้วยได้ อภิปรายได้ เพิ่มประเด็นเข้าไปก็ได้ ถึงข้อดี-ข้อเสียของโครงสร้าง ส.ว. ประชาชนคนหนึ่งอาจจะบอกว่า เรื่องนี้ยังขาดอยู่ สามารถเติมประเด็นเข้าไปได้ ไม่ใช่แค่ yes or no แสดงความเห็นได้เต็มที่ และเมื่อแสดงความเห็นแล้ว จะมีจังหวะที่เปิดให้โหวต และปิดโหวตในแต่ละเรื่อง ค่อนข้างออกแบบให้เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ และไม่มีลักษณะชักจูงให้แสดงความเห็นทางใดทางหนึ่ง

ไทยพับลิก้า: สมมติผลการโหวตออกมาแบบใดแบบหนึ่งจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องภายนอกเว็บไซต์หรือไม่

คงไม่ใช่เราเคลื่อนไหว ไม่ใช่องค์กรที่ทำเว็บนี้ คงต้องเป็นเรื่องของกลุ่มองค์กรภาคประชาชน แต่สมมติผลของเว็บนี้แสดงให้เห็นว่ามีประชาชนกลุ่มใหญ่ต้องการอย่างนี้ ต้องการอย่างนั้น มันก็เป็นเครื่องมือที่สามารถใช้ได้ ใช้อ้างอิงได้ในการที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะขับเคลื่อนเรื่องอะไร

อาจจะมีเรื่องเดียว ในฐานะองค์กรหนึ่งที่ร่วมเว็บนี้ ที่เราจะพยายามรณรงค์เองก็คือ ถ้าปรากฏว่าประชาชนจำนวนมากต้องการให้มีการลงประชามติ ผมคิดว่าอันนั้นอาจจะเป็นประเด็นที่องค์กรอย่าง iLaw อาจจะร่วมรณรงค์ได้ แต่เรื่องความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าสุดท้ายแล้ว ประชาชนอยากจะลงประชามติ ก็อยากให้ประชามติเป็นตัวตัดสิน ไม่ใช่ใช้เว็บนี้เป็นตัวตัดสิน