เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2559 สำนักงานศาลปกครอง ได้เผยแพร่คำสั่งของศาลปกครองสูงสุด เกี่ยวกับการทำประชามติและร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. รวม 3 คดี โดยผลการพิจารณาขององค์คณะศาลปกครองสูงสุด คือมีมติ “ไม่รับคำฟ้อง” ทุกคดี
คดีแรก นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้
โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง “ไม่รับคำฟ้อง” ของนายจอนและพวก โดยให้เหตุผลว่า ประกาศ กกต. ดังกล่าว เป็นเพียงคำแนะนำและการยกตัวอย่าง ไม่ได้กำหนดถึงผลหรือโทษของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม และไม่ได้อ้างอิงถึงบทบัญญัติที่กำหนดโทษทางอาญา ส่วนการถูกจับกุมและถูกห้ามกระทำการต่างๆ ไม่ใช่การถูกดำเนินคดีเนื่องจากฝ่าฝืนประกาศ กกต. นี้ สำหรับกรณีรายการ 7 สิงหาฯ เห็นว่า ผู้ฟ้องทั้งหมดไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้
ด้าน iLaw ออกเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์แสดงจุดยืน ต่อการไม่รับฟ้องคดีดังกล่าวว่า ศาลปกครองไม่ได้ชี้ว่าการห้ามแสดงความคิดเห็นตามประกาศ กกต.นั้นชอบธรรมแล้วหรือไม่ และศาลปกครองก็ไม่ได้ชี้ว่ารายการ 7 สิงหาฯ เผยแพร่เนื้อหาอย่างเป็นธรรมหรือไม่ แต่ศาลปกครองวินิจฉัยในทางเทคนิคกฎหมายแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากความพยายามจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการรับข้อมูลข่าวสารด้านเดียวในบรรยากาศปัจจุบัน
“แม้วันนี้เราไม่สามารถใช้ช่องทางตามกฎหมายให้ศาลปกครองเห็นตามเราและออกคำสั่งคุ้มครองได้ แต่ในสถานการณ์ที่อีก 23 วันจะถึงการลงงประชามติ และบรรยากาศการยังเป็นไปอย่างเงียบเหงา ขาดการเข้าถึงข้อมูล ขาดการรณรงค์สื่อสาร ขาดการถกเถียงแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจ iLaw ก็ยืนยันจะเดินหน้าทำกิจกรรมเพื่อสนับสนุนเสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อไปอย่างดีที่สุด” เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์จาก iLaw ระบุ
ส่วนอีก 2 คดี ได้แก่ คดีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลาง เกี่ยวกับการทำประชามติและร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. ประกอบด้วย
- ขอให้ออกคำสั่งให้แก้ไขการกำหนดวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดไว้เป็นวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เนื่องจาก กกต. ได้กำหนดวันออกเสียงประชามติดังกล่าวก่อนที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติ) จะมีผลบังคับใช้ ถึง 3 วัน
- ขอให้ยกเลิกร่างรัฐธรรมนูญฯ ชุดที่มีคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เป็นผู้จัดทำ เนื่องจากไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และกำหนดเวลาในการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อประกอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฯ โดยให้แจ้งต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อแต่งตั้ง กรธ. ขึ้นมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับใหม่
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง “ไม่รับคำฟ้อง” ของนายเรืองไกร ทั้ง 2 คำฟ้อง
โดยคำฟ้องแรก ศาลให้เหตุผล โดยสรุปว่า เนื่องจากคำร้องของนายเรืองไกรเป็นการขอในเรื่องที่มีการดำเนินการไปแล้ว และการกำหนดวันออกเสียงประชามติ ก็เพื่อให้ประชาชนทั่วไปทราบกำหนดวันออกเสียงและไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติตามวันเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ ยังไม่ปรากฏว่ากรณีดังกล่าวก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้ร้องคดีอย่างไร เช่น ทำให้ผู้ร้องคดีไม่ทราบวันออกเสียงประชามติ ไม่มีสิทธิออกเสียงหรือเสียหายต่อสิทธิอื่นใด อีกทั้งไม่ปรากฏว่า กกต. ได้ละเลยไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อเนื่องจากการกำหนดวันออกเสียงประชามติ
ส่วนคำฟ้องที่สอง ศาลให้เหตุผลโดยสรุปว่า กรธ. เป็นคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพื่อทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฯ มิใช่การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” อีกทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และกำหนดเวลาการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เป็นกระบวนการขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายอื่นอีก จึงมิใช่การกระทำทางปกครองหรือการใช้อำนาจทางปกครอง คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง