ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประมงอินทรีย์” ทางเลือกอาหารทะเลคุณภาพ – ช่วยชาวประมงพื้นบ้าน สร้างอำนาจต่อรองพ่อค้าคนกลาง

“ประมงอินทรีย์” ทางเลือกอาหารทะเลคุณภาพ – ช่วยชาวประมงพื้นบ้าน สร้างอำนาจต่อรองพ่อค้าคนกลาง

14 พฤษภาคม 2015


หลังจากประเทศไทยได้ “ใบเหลือง” จากสหภาพยุโรป เนื่องจากปัญหาเรื่องการทำประมงแบบผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและขาดการควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU) กลายเป็นอีกประเด็นร้อนที่หลายฝ่ายต่างจับตามองการทำประมงของประเทศไทย รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาจากภาครัฐ เนื่องจากปัญหาประมง IUU ส่งผลโดยรวมต่ออุตสาหกรรมประมงของไทย ซึ่งประกาศว่าจะเป็นครัวของโลก

แต่ปัญหาเรื่อง ประมง IUU ไม่ใช่ความเสี่ยงเดียวต่อความมั่นคงทางอาหารของไทย เพราะกว่าที่สัตว์น้ำซึ่งจับได้โดยเรือประมงไทยจะเดินไปถึงมือผู้บริโภคจะต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ทำให้ปนเปื้อนสารเคมีไม่มากก็น้อย เกิดเป็นอีกความเสี่ยงที่อาจสร้างปัญหาให้กับอุตสาหกรรมประมงของไทย

นางสาวสุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน  ที่มาภาพ: กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
น.ส.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน ที่มาภาพ: กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประมงอินทรีย์ ทางเลือกอาหารทะเลคุณภาพ

“ประมงอินทรีย์” หลายคนอาจยังไม่คุ้นเคยกับคำนี้ และไม่เข้าใจว่าสินค้าประมงจะเป็นสินค้าอินทรีย์ได้อย่างไร แต่หลายคนอาจลืมไปว่า ในอดีตสินค้าทุกชนิดที่บริโภคต่างเป็นสินค้าอินทรีย์ ปลอดสารพิษ สดใหม่ และได้มาจากธรรมชาติทั้งสิ้น ประมงอินทรีย์ก็เช่นกัน เป็นสินค้าประมงจากการทำประมงอย่างรับผิดชอบ สดใหม่จากธรรมชาติ ปลอดสารเคมี ซึ่งหลักการก็ไม่ได้แตกต่างไปจากการทำเกษตรอินทรีย์เท่าใด

น.ส.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าว่า การทำประมงพื้นบ้าน การใช้เครื่องมือตามภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำประมงนั้น ถือเป็นการทำประมงอย่างรับผิดชอบ เนื่องจากคนในพื้นที่จะเข้าใจและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างถูกวิธี แต่ที่ผ่านมาประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบจากการทำประมงพาณิชย์ทั้งเรื่องการทำลายทรัพยากร และการเข้าสู่ระบบตลาดนำไปสู่การถูกกดราคา

“น่าเสียดายมากที่สินค้าประมงจากประมงพื้นบ้านที่ถือว่าเป็นสินค้าอินทรีย์ในต้นทางนั้น กลับต้องมาปนเปื้อนเมื่อส่งถึงมือพ่อค้าคนกลาง ซึ่งกว่าจะเดินทางถึงมือผู้บริโภคต้องถูกส่งไปตลาดกลาง นำขึ้นประมูล แน่นอนว่า เพื่อให้สินค้าอยู่ได้นานขึ้นต้องมีการใช้สารเคมีต่างๆ อย่างน้อยก็ฟอร์มาลีนแน่ๆ 1 ชนิด และนอกจากนี้อาหารทะเล สินค้าประมงต่างๆ เมื่อนำไปวางขายมักมีราคาสูง แต่ชาวประมงพื้นบ้านกลับถูกกดราคา แทบไม่ได้อะไร”

โครงการ “ประมงพื้นบ้านสัตว์น้ำอินทรีย์” นั้นเป็นการดำเนินงานของมูลนิธิสายใยแผ่นดินร่วมกับแพปลาที่เกิดจากการรวมกลุ่มของชาวบ้านผู้ทำประมงพื้นถิ่น ซึ่งสินค้าประมงอินทรีย์นี้มีกระบวนการที่เป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) ใน 4 ประเด็นหลัก คือ

  • สัตว์น้ำที่จับได้มาโดยวิธีการทำประมงอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
  • ปลอดสารเคมีทุกชนิดในระหว่างการจับ การขนส่ง จนถึงมือผู้บริโภค
  • รู้แหล่งการจับว่ามาจากที่ไหน แหล่งน้ำจะต้องไม่มีมลพิษที่เป็นอันตราย
  • สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ว่าใครเป็นผู้จับ
จากประมงพื้นถิ่น สู่สินค้าอินทรีย์ ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/pla.organic
จากประมงพื้นถิ่น สู่สินค้าอินทรีย์ ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/pla.organic

น.ส.สุภาภรณ์บอกเล่าถึงกระบวนการทำประมงอินทรีย์ ว่าการคัดเลือกกลุ่มแพปลาของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านเข้าร่วมโครงการที่ทำให้มั่นใจได้ว่าสินค้าประมงจากแพปลาเหล่านั้นได้สินค้าจากการทำประมงที่ปลอดภัย มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยพื้นฐานมาจากที่แพปลาเหล่านั้นเป็นกลุ่มอนุรักษ์อยู่แล้ว

การดำเนินการเรื่องการขนส่งชาวบ้านจะเป็นผู้ดูแลเองทั้งระบบในการจัดส่งให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด โดยมีการลงบันทึกทุกครั้งว่าสินค้าในแต่ละลอตมาจากชาวประมงคนใดบ้าง เมื่อเข้ามาถึงสำนักงานของโครงการที่กรุงเทพฯ ก่อนนำออกจำหน่ายจะมีการลงบันทึกไว้เช่นกันว่าสินค้ามาจากพื้นที่ใด มีชาวประมงรายใดส่งเข้ามาบ้าง ก่อนนำไปจัดจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ทางสำนักงานที่ดูแลโครงการเองก็จะมีการลงไปตรวจสอบแต่ละแพปลาที่เข้าร่วมโครงการเป็นระยะๆ

เมื่อสอบถามถึงปัญหาเรื่องความสดใหม่ เนื่องจากมีการการันตีว่าสินค้าประมงเหล่านั้นไม่ใช้สารเคมีแน่นอน แล้วมีการจัดการเรื่องนี้อย่างไร ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำ กล่าวว่า การส่งสินค้าจะไม่ค้างเกิน 2 วัน เนื่องจากความสดของอาหารหากได้รับการแช่อย่างมีมาตรฐานจะคงความสดได้อย่างน้อย 3 วัน แล้วนำมาจัดจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคเลย จึงมั่นใจได้ว่าได้สินค้าที่สดใหม่และปลอดภัยจากสารเคมี โดยสินค้าประมงเหล่านี้ หากเหลือจากการขายจะถูกนำไปแปรรูปเป็นอาหารแช่แข็ง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะมีการจัดการให้เหมาะแก่การบริโภคในแต่ละครั้งโดยการแล่เป็นชิ้นก่อนบรรจุถุง

“นอกจากนี้ ทางโครงการยังสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคควบคู่ไปด้วย ซึ่งถือเป็นการดึงผู้บริโภคเข้ามาช่วยในการอนุรักษ์ ซึ่งปัจจุบันโครงการมีลูกค้าประจำกว่า 200 ราย มีร้านอาหารและโรงแรมที่เข้ามารับซื้อสินค้าอีก 2-3 แห่ง ซึ่งทางโครงการเองมีการสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคที่นอกเหนือไปจากการให้ความรู้เมื่อมาเลือกซื้อสินค้า โดยได้จัดทัวร์สำหรับผู้บริโภคลงไปยังพื้นที่ที่ทำประมงพื้นบ้านด้วยเช่นกัน”

น.ส.สุภาภรณ์กล่าวว่า ปัจจุบันสินค้าประมงจากโครงการดังกล่าวได้รับการรับรองสินค้าอินทรีย์จาก มกท. อย่างไม่เป็นทางการแล้ว เจ้าหน้าที่จาก มกท. สำรวจแพปลาในเครือข่าย 4 แห่ง ได้แก่ แพปลาชุมชนแหลมผักเบี้ย จ.เพรชบุรี แพปลาชุมชนหินร่ม จ.พังงา แพปลาชุมชนคูขุด จ.สงขลา และแพปลาชุมชนช่องฟืน จ.พัทลุง เหลือเพียงการตรวจสำนักงานโครงการว่ามีการดำเนินการตามมาตรฐานของ มกท. หรือไม่ สินค้าประมงจากโครงการก็จะได้รับการรับรองว่าเป็นสินค้าประมงอินทรีย์ทั้งระบบ

สินค้าประมงอินทรีย์ ที่มาภาพ:  https://www.facebook.com/pla.organic
สินค้าประมงอินทรีย์ ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/pla.organic

สู่ความมั่นคงรายได้ และความยั่งยืน

เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วไป ที่ผู้ผลิตมักได้รับผลตอบแทนความเหน็ดเหนื่อย ความรับผิดชอบต่อสังคมของพวกเขาด้วย “ราคา” ที่สูงกว่าสินค้าทั่วไป สินค้าประมงอินทรีย์ก็เช่นกัน การเข้ามาของโครงการสินค้าประมงที่เข้าร่วมโครงการประมงพื้นบ้านสัตว์น้ำอินทรีย์จะช่วยยกระดับราคารับซื้อในท้องที่ให้สูงขึ้นตาม รายได้กว่า 70% กับไปสู่ต้นทาง แต่เมื่อนำมาขาย ณ ปลายทางราคากลับไม่ได้สูงกว่าตลาดทั่วไปเลย

น.ส.สุภาภรณ์ยกตัวอย่างกุ้งก้ามกราม สินค้าประมงจาก จ.สงขลา ที่ส่วนใหญ่แล้วจะถูกส่งไปขายที่ประเทศมาเลเซียมากกว่าที่คนไทยจะได้รับประทาน โดยปกติราคาของกุ้งก้ามกรามไซส์จัมโบ้ที่ขายในกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ 1,400 บาท/กิโลกรัม แต่ชาวประมงกลับขายให้กับผู้รับซื้อได้เพียง 650 บาท/กิโลกรัมเท่านั้น เมื่อเข้าร่วมโครงการมีการศึกษาราคาตลาดและคำนวณต้นทุนต่างๆ แล้ว สามารถให้ราคาแก่ชาวประมงได้ที่ 700 บาท/กิโลกรัมในเริ่มแรก ทำให้ราคารับซื้อในพื้นที่ปรับตาม และในปัจจุบันราคารับซื้ออยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท/กิโลกรัม นำมาขายในกรุงเทพฯ ราคา 1,300 บาท/กิโลกรัม ซึ่งยังถูกกว่าราคาท้องตลาดทั่วไปของกรุงเทพฯ

“เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพและมีราคาที่เหมาะสม ปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องยอมรับว่าเป็นผู้มีกำลังซื้อสักหน่อย เป็นชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งทางโครงการกำลังเตรียมพัฒนาโครงการ โดยอาจร่วมมือกับกลุ่ม หรือหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้อาหารที่มีคุณภาพได้กระจายไปสู่ผู้บริโภคทุกชนชั้น”

ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำ กล่าวต่อไปว่า การรวมกลุ่มของชาวบ้านเป็นแพปลาช่วยสร้างผลสะเทือนต่างๆ ให้เกิดขึ้น เมื่อชาวบ้านมีความเข้มแข็งก็สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งการทำประมงพื้นบ้าน ที่เป็นการทำประมงอินทรีย์ ทุกขั้นตอนปราศจากการทำประมง IUU อยู่แล้ว การทำประมงแต่ละชุมชนจะมีการกำหนดกติกาไว้ชัดเจนอยู่แล้ว อาทิ ห้ามใช้อวนตาถี่ ห้ามทำประมงในที่ปลาฤดูวางไข่ โดยข้อกำหนดต่างๆ จะสอดคล้องกันไปกับการทำประมงในเชิงอนุรักษ์ ซึ่งในแต่ละพื้นที่อาจมีข้อกำหนดเพิ่มจากกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสม

“ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว ชาวประมงพื้นบ้านมีวิถีชีวิตที่สร้างความยั่งยืนให้กับท้องทะเลอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมักมาจากการทำประมงเชิงพาณิชย์มากกว่า”

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/pla.organic
ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/pla.organic

อนึ่ง มูลนิธิสายใยแผ่นดินได้มีจัดทำโครงการ “ประมงพื้นบ้านสัตว์น้ำอินทรีย์” ตั้งแต่ 2556 โดยรับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป น.ส.สุภาภรณ์กล่าวว่า โครงการนี้กำลังจะสิ้นสุดเฟส 1 ในเดือนมิถุนายน 2558 นี้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านที่ร่วมโครงการได้มีการปรับตัวและสำรองเงินทุน สร้างระบบการจัดการต่างๆ เตรียมพร้อมไว้สำหรับดำเนินการเองได้ในระยะต่อไป แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวค่อนข้างประสบความสำเร็จทางสหภาพยุโรปจึงให้ทุนสนับสนุนทำโครงการต่อในเฟส 2 โดยมูลนิธิสายใยแผ่นดินก็เตรียมที่จะขยายฐานการผลิตประมงอินทรีย์ให้กว้างขึ้น โดยขณะนี้ได้รับกลุ่มแพปลาเพิ่ม 1 แห่ง และอีก 2 พื้นที่ที่กำลังอยู่ในการพิจารณารับเข้าโครงการ

สินค้าประมงอินทรีย์ที่อยู่ในโครงการปัจจุบัน ได้แก่ กุ้งแชบ๊วย จาก จ.พังงา ปูม้า ปลาทราย ปลากุเลา ปลายสีเสียด ปลาน้ำดอกไม้จาก จ.เพชรบุรี กุ้งก้ามกราม กุ้งกุลา ปลาตะกรับ ปลากระบอก ปลาดุกทะเล และปลาช่อนน้ำกร่อย สามารถเลือกซื้อสินค้าประมงอินทรีย์ได้ทุกชนิดที่กล่าวในเบื้องต้นจะถูกนำมาจำหน่ายที่ศูนย์การค้า Gateway เอกมัย ทุกสัปดาห์ ศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ วันศุกร์ เวลา 14.00-17.00 น. วันเสาร์และอาทิตย์ 10.30-18.00 น ข้อมูลเพิมเติมที่เฟซบุ๊กเครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล