ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ชาวท่าศาลาต้าน “เชฟรอนฯ” สร้างท่าเรือน้ำลึก หวั่น”อ่าวทองคำ” เป็นทะเลร้าง

ชาวท่าศาลาต้าน “เชฟรอนฯ” สร้างท่าเรือน้ำลึก หวั่น”อ่าวทองคำ” เป็นทะเลร้าง

11 พฤศจิกายน 2012


วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านอ่าวทองคำ
วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านอ่าวทองคำ

ก่อนที่พระอาทิตย์จะโผล่ขึ้นพ้นผิวน้ำ ในเวลาที่แสงจันทร์ยังคงอยู่ทำหน้าที่

เรือประมงหลายลำได้ทะยานออกจากชายฝั่งในบริเวณอ่าวท่าศาล อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช สู่ท้องทะเล หรือที่ชาวประมงต่างขนานนามที่แห่งนี้ว่า “อ่าวทองคำ”

ด้วยระบบนิเวศที่มีตะกอนทับถมกันเป็นเวลานาน ทำให้ผิวดินใต้พื้นน้ำบริเวณนั้นมีลักษณะเป็น “สันดอน” ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติ ทำให้ “อ่าวทองคำ” มีสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์มากกว่า 200 ชนิด

“อ่าวทองคำ” จึงเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวประมงมาหลายชั่วอายุคน และไม่เพียงแค่ชาวประมงที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงชาวประมงในจังหวัดแถบอ่าวไทยด้วยทั้งหมด

ภาพของเรือประมงขนาดใหญ่น้อยที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจายเต็มอ่าวท่าศาลาจึงมีให้เห็นอยู่ทุกวัน

แต่ทว่า ภาพนี้อาจจะเป็นเพียง “อดีต” หากการก่อสร้างโครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เกิดขึ้นที่บริเวณใกล้กับปากแม่น้ำกลาย บ้านบางสาร ต.กลาย อ.ท่าศาลา

ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา ชาวบ้าน อ.ท่าศาลา ต้องเผชิญกับฝันร้ายที่กำลังจะกลายเป็นจริง เมื่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (คชก.) พิจารณาเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ หรือ EHIA ของโครงการดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย

หลังจากมีการเริ่มกระบวนการจัดทำ EHIA มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2551 และทาง คชก.ได้ตีกลับข้อมูลให้ทางบริษัทที่ปรึกษาและเจ้าของโครงการไปแก้ไขทั้งหมด 7 ครั้ง

นั่นหมายถึง หากมีการเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ (ฉบับปรับปรุง) ไปสู่องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นประกอบ ก่อนที่จะส่งต่อไปยังกรมเจ้าท่าให้จัดดำเนินการรับฟังความคิดเห็น และหากกรมเจ้าท่าอนุมัติ โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกของบริษัทเชฟรอน ที่ต้องขุดรอกร่องน้ำขนาดกว้าง 60 เมตร ยาว 2.5 กิโลเมตร ลึก 8.5 เมตร จะสามารถลงเสาเข็มแรกได้ในทันที

การอนุมัติของ คชก. ครั้งนี้ นำมาซึ่งความเคลือบแคลงสงสัยของทุกภาคส่วนที่รับรู้เรื่องราว

กระนั้น ไม่ใช่ว่า “คนท่าศาลา” จะตั้งป้อมชิงชังการพัฒนาหรือการก่อสร้างโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในพื้นที่

แต่ด้วยเพราะ “ผล” ของการสร้างโครงการนี้จะ “กระทบ” แหล่งผลิตอาหารแห่งนี้อย่างมหาศาล ทั้งที่พื้นที่นี้กำลังอยู่ระหว่างการขอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองแหล่งผลิตอาหาร โดยครอบคลุม 4 ตำบลบริเวณชายฝั่ง อันได้แก่ ท่าศาลา ท่าขึ้น กลาย และทรายแก้ว ตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535

ด้วยเพราะอ่าวทองคำอยู่ในพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ของร่างผังเมืองรวมจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่กำลังจะประกาศใช้เร็วๆ นี้ หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เห็นชอบร่างผังเมืองฉบับนี้ไปแล้ว ซึ่งในพื้นที่สีเขียวไม่สามารถทำกิจการอุตสาหกรรมหรือกิจการขนาดใหญ่ เช่น การลำเลียงวัตถุเคมี ได้

ที่สำคัญ โครงการนี้จะนำมาซึ่งความขัดแย้งกันเองของคนในพื้นที่

จึงมีการตั้งคำถามดังๆ ไปยัง คชก.ว่า เห็นแก่บริษัทน้ำมันข้ามชาติ มากกว่าประชาชนไทยหรือไม่?

ในการจัดเวทีชี้แจงข้อมูลกรณีชาวบ้านร้องเรียนการจัด EHIA ของโครงการดังกล่าว นำโดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ห้องประชุมมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สผ. กรมเจ้าท่า องค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา ตัวแทนชาวบ้าน และชาวประมง เข้าร่วมหารือ ซึ่งมีชาวบ้านกว่า 600 คน มาร่วมรับฟังจนล้นออกไปนอกห้องที่มีการจัดการประชุม อย่างไรก็ตาม บริษัทเชฟรอนฯ ไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมชี้แจงข้อมูลในครั้งนี้ โดยระบุว่าไม่พร้อมที่จะมาชี้แจง

ชาวท่าศาลาถือป้ายต่อต้านการสร้างท่าเรือน้ำลึกของ บ.เชฟรอนฯ ในเวที กสม.
ชาวท่าศาลาถือป้ายต่อต้านการสร้างท่าเรือน้ำลึกของบริษัทเชฟรอนฯ ในเวที กสม.

ในเวทีนี้ข้อกังขาทั้งหลายถูกหยิบยกขึ้นมาสอบถามตัวแทนเจ้าหน้าที่ของรัฐในหลายประเด็น ทั้งข้อเรียกร้องขอให้ สผ. เปิดรายงาน EHIA ฉบับสุดท้ายที่เข้าสู่การพิจารณาของ คชก. และมีการอนุมัติไปเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน รวมไปถึงรายงานการประชุมในวันดังกล่าว เนื่องจาก “หลักเกณฑ์” ที่ คชก. ใช้ในการพิจารณาไม่ชัดเจนว่า มีการใช้มาตราลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่นำไปสู่การอนุมัติอย่างครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่บริษัทเชฟรอนฯ กำหนดขอบเขตการศึกษาผลกระทบในรัศมีเพียง 5 กิโลเมตรจากตัวโครงการเท่านั้น ทั้งที่ผลกระทบจะขยายวงกว้างเกินขอบเขตไปมากกว่านั้น เนื่องจากการทำประมงพื้นบ้านถือว่ามีความเปราะบางในเรื่องของระบบนิเวศ

ประเด็นผังเมืองก็เป็นอีกหนึ่งปมที่มีการซักถามผังเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช โดย “ดร.ภารนี สวัสดิรักษ์” นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง ระบุว่า รู้ทั้งรู้ว่าร่างผังเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราชกำลังจะมีการประกาศใช้ในอีกไม่นาน เหตุใดถึงยังปล่อยให้ EHIA ฉบับนี้ผ่านทั้งที่มีตัวแทนของกรมโยธาธิการนั่งอยู่ในคณะกรรมการของ คชก.ด้วย

อีกทั้งกฎหมายยังเปิดช่องให้หน่วยงานท้องถิ่นสามารถออกข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติแต่ละท้องที่ เพื่อมาคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ว่าด้วยการควบคุมประเภทสิ่งก่อสร้างที่จะเกิดขึ้นในแต่ละแห่งได้ แต่ทำไมไม่มีการดำเนินการในส่วนดังกล่าว

แม้คำถามที่ถามออกไปจะขัดถ้อยชัดคำ แต่คำตอบที่ดังกลับมานั้นมีเพียงคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ผังเมืองนครศรีธรรมราชว่า “ขณะนี้ผังเมืองยังไม่ประกาศออกมา จึงยังไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผังเมืองที่จะควบคุมได้ และยอมรับว่าเอกสารต่างๆ นั้นหายทั้งหมด ทำให้ไม่รับทราบข้อมูลในส่วนนี้”

ทำให้มีข้อเสนอเรื่องการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ให้ระงับการดำเนินการโครงการดังกล่าว

นอกเหนือไปจากความเสื่อมโทรมทางทรัพยากรธรรมชาติแล้ว คนในพื้นที่รับรู้กันว่า หากโครงการนี้กำเนิดขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของชุมชนไปพร้อมๆ กัน

เพราะวิถีชีวิตของ “คนคอน” ในบริเวณอ่าวท่าศาลานั้นเป็นไปอย่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน เป็นเศรษฐกิจอย่างเกื้อกูลระหว่างคนในท้องที่ ภายใต้รูปแบบ “3เกลอ” คือ “เกลอเล” “เกลอนา” และ “เกลอเขา”

“เกลอเล” จะออกเรือไปหาปลา นอกเหนือไปจากการขายแล้ว เขายังนำกุ้ง หอย ปู ปลา “สินจากผืนน้ำ” ไปฝาก “เกลอนา” และ “เกลอเขา” ที่บ้านไม่ได้อยู่ติดทะเล

ขณะเดียวกัน หาก “เกลอนา” และ “เกลอเขา” มีผักและผลไม้อันเป็น “ทรัพย์จากผืนดิน” ก็จะนำไปฝาก “เกลอเล” เช่นกัน

เมื่อ “ทะเล” ไม่มี “ปลา” นอกจาก “เกลอเล” ที่จะต้อง “อดอยาก” เพราะอาชีพถูกทำลายแล้ว “เกลอเขา” และ “เกลอนา” จะต้องอดกินปลาไปด้วย และไม่ใช่เฉพาะคนที่นครศรีธรรมราชเท่านั้นที่จะอดกินปลา แต่คนทั้งประเทศจะต้องประสบปัญหานี้ไม่มากก็น้อยจากวิกฤติอ่าวทองคำที่จะเกิดขึ้นหากโครงการนี้ถูกอนุมัติให้มีการก่อสร้าง

พิสูจน์ “ทะเลไม่ร้าง” การมาของนายทุนคือการจากไปของประมงพื้นบ้าน

เรือประมงออกหาปลาก่อนรุ่งสางของทุกวัน
เรือประมงออกหาปลาก่อนรุ่งสางของทุกวัน

“ทะเลร้าง” เป็นคำคำเดียวที่ทำให้ “บังมุ” หรือ นายเจริญ โต๊ะอิแต ชาวประมงพื้นบ้าน ต.บ้านในถุ้ง อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ออกเรือพาเราไปพิสูจน์ความสมบูรณ์ของท้องทะเลในอ่าวทองคำแห่งนี้

“เขา (บริษัทเชฟรอนฯ) บอกว่าทะเลบ้านเราเป็นทะเลร้าง เสื่อมโทรมไม่มีปลา เลยมาเลือกสร้างท่าเรือน้ำลึกที่นี่ ทั้งที่ความเป็นจริงมีความอุดมสมบูรณ์มาก ออกเรือหน้าบ้านก็ยังได้กุ้งหอยปูปลากลับมา” บังมุตะโกนแข่งกับเสียงเครื่องยนต์เรือ บอกเล่าถึงสาเหตุที่บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลกเลือกพื้นที่ใน ต.บ้านกลาย อ.ท่าศาลา ให้เป็นท่าเทียบเรือและศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย เพื่อรองรับการขนถ่ายวัสดุอุปกรณ์ระหว่างศูนย์ที่ อ.สัตหีบ จ.ระยอง และ อ.เมือง จ.สงขลา

นั่งเรือฝ่าคลื่นออกมาไม่นาน “บังมุ” บอกว่า ใต้ท้องทะเลในบริเวณนี้ทั้งหมดคือพื้นที่ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ดอน” ที่ชาวประมงเปรียบว่ามันคือ “ซูเปอร์มาร์เก็ต” ขนาดใหญ่ของพวกเขา

 สัตว์ทะเลที่จับได้บริเวณอ่าวทองคำ
สัตว์ทะเลที่จับได้บริเวณอ่าวทองคำ

“อย่างดอนก็มีทั้งดอนแก่ ดอนอ่อน แต่ละดอนมีสัตว์น้ำที่แตกต่างกันออกไป ดอนแก่จะเป็นที่อยู่อาศัยของปลาล่าเนื้อ พวก ปลาอินทรี ปลากะพง ปลาสาก ส่วนดอนอ่อนนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของกุ้ง หอย ปู กั้ง และพวกปลาหน้าดิน ทะเลที่นี่อยากได้อะไรก็มีหมด ไม่ต้องกลัวอด แต่ถ้าเชฟรอนฯ มาเมื่อไหร่ ก็คงหาอะไรในทะเลไม่ได้อีก”

“บังมุ” เล่าว่า วิธีการหาปลาของชาวประมงพื้นบ้านที่อ่างทองคำแห่งนี้มีหลายรูปแบบ ชาวประมงบางคนใช้วิธีวางอวน แค่เอาทางมะพร้าวตีน้ำทีเดียวปลายังตกใจวิ่งเข้าอวน ถ้ามีการตอกตอม่อท่าเรือน้ำลึก หรือมีเรือเดินทะเลขนาดใหญ่มาวิ่งวันละหลายๆ เที่ยว มีทั้งเสียง คลื่น และตะกอนใต้น้ำ ปลาจะอยู่ในที่ที่มันเคยอยู่ไหม?

ตลอดทางที่เรามุ่งหน้าไปทางทิศเหนือเพื่อสำรวจสถานที่ตั้งโครงการดังกล่าวนั้น ภาพของชาวประมงที่กำลังขะมักเขม้นในการสาวอวน บ้างกำลังแกะปลาตัวเขื่องออกจากอวนใส่ในตะเข่งขนาดใหญ่ที่เตรียมมา ขณะที่ลูกปลาตัวเล็กพวกเขาพร้อมใจกันปล่อยมันลงทะเลเพื่อให้ปลาเล็กกลายเป็นปลาใหญ่ในวันข้างหน้า ลอยเข้ามาสู่สายตาเราเป็นระยะ

น่าแปลกที่แม้อาชีพของพวกเขาดูจะเป็นงานหนัก ต้องกรำแดดกรำฝน แต่ใบหน้าของชาวประมงที่อ่าวทองคำดูมีความสุขอย่างน่าอิจฉา ทว่าเมื่อเราถามไถ่ถึงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ความกังวลก็สะท้อนออกมาทางสีหน้าของพวกเขาเช่นกัน

ชาวประมงกำลังเก็บอวนปลา
ชาวประมงกำลังเก็บอวนปลา

“ทะเลไม่มีเจ้าของ ไม่เคยได้ยินคนทะเลแบ่งทะเลกัน แต่เชฟรอนมาเขาจะกั้นทำเป็นแนว วางทุ่น 5-6 กิโล จากสะพาน ทางที่เราเคยผ่าน เคยทำมาหากิน ก็จะทำไม่ได้แล้ว พวกเราพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้กับเชฟรอนว่าอย่ามาทำลายบ้านของเราเลย” ชาวประมงจาก ต.กลายคนหนึ่งระบายความกังวลในอนาคตกับเรา

หลังผ่านปากน้ำกลายไม่นาน เมื่อมองเลียบชายฝั่ง อาคารที่ดูโอโถงสวยงามก็ปรากฏแก่สายตาเรา จากคำบอกเล่าของ “บังมุ” สิ่งก่อสร้างที่ดูคล้ายรีสอร์ทหรูริมทะเลคือสถานที่พักตากอากาศของพนักงานในเครือบริษัทเชฟรอนฯ

แนวกำแพงหินและที่พักตากอากาศชอง บ.เชฟรอนฯ
แนวกำแพงหินและที่พักตากอากาศชองบริษัทเชฟรอนฯ

นอกจากนี้ สิ่งที่สะดุดตาอีกอย่างหนึ่งคือ ก้อนหินขนาดใหญ่ที่ถูกนำมาวางให้เป็นแนวหินสูงประมาณ 1-1.5 เมตร เสมือนกำแพงที่กั้นบริเวณริมชายหาดที่อยู่หน้าที่ดินของบริษัท เพื่อปิดกั้นทางเดินไม่ให้บุคคลภายนอกหรือชาวบ้านในละแวกนั้นสามารถเดินผ่านชายหาดในบริเวณดังกล่าวได้อีก

เราตัดสินใจกลับเข้าฝั่งที่บ้านในถุ้งหลังจากที่ลอยลำมานานกว่า 6 ชั่วโมง เสียดายที่โชคของเราไม่ดีพอที่จะได้เห็นโลมาหลังโหนกสีชมพู และโลมาหัวบาตรหลังเรียบ ที่อาศัยในทะเลแถบนี้ ซึ่งเราหวังว่าโลมาที่ถือเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์และระบบนิเวศของอ่าวทองคำนี้จะคงอยู่กับอ่าวนี้ตลอดไป