ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > ซีพี จับมือกรมประมง-ประมงพื้นบ้าน วาง “ปะการังเทียม” ในวันที่ทะเลไม่เหมือนเดิม

ซีพี จับมือกรมประมง-ประมงพื้นบ้าน วาง “ปะการังเทียม” ในวันที่ทะเลไม่เหมือนเดิม

5 ตุลาคม 2017


ตัวแทนประมงพื้นบ้านรับมอบปะการังเทียม จากนายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง และนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)

เป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญ เพราะการประสบความสำเร็จในด้านการสร้างความมั่งคั่งให้องค์กร ให้ประเทศ จะไร้ผลหากสังคมยังเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ และไม่เหลือทรัพยากรใดๆ ให้ใช้ประโยชน์ได้อีก และหนึ่งในวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่ไทยกำลังเผชิญคือ “ปลากำลังจะหมดทะเล” ซึ่งเกิดจากการทำประมงเกินศักยภาพ หรือ over fishing จนมีข้อสันนิษฐานว่าปลาหลายชนิด เช่น ปลาทูไทย อาจจะใกล้สูญพันธุ์ หรือถูกทดแทนด้วยสปีชีส์อื่นไปแล้ว

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 กรมประมง เครือเจริญโภคภัณฑ์ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมพิธีวาง “ปะการังเทียม” ฟื้นทะเล ชุมชนชีวิตคนชายฝั่ง ให้กับชุมชนชายฝั่งในพื้นที่ อ.สทิงพระ จ.สงขลา และ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ตามโครงการความร่วมมือการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน

นายศุภชัยกล่าวว่า แม้เราจะไม่ได้ทำธุรกิจประมงแต่ก็เป็นบริษัทใหญ่ในประเทศไทย ที่มีวัตถุดิบบางอย่างมาจากทะเล อาหารกุ้งที่เครือฯ ผลิตมีส่วนผสมของปลาป่น ซึ่งในเวลานั้นได้ประกาศนโยบายครั้งใหญ่ที่จะหยุดซื้อปลาป่นที่ได้จากลูกปลาตัวเล็กๆ แล้วหันมาซื้อเศษปลาจากโรงงานที่มีใบรับรองแทน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นหน้าที่ของภาคเอกชนที่จะเป็นผู้วางมาตรฐานที่เหมาะสม เป็นหน้าที่ร่วมกันที่จะรักษาสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงเรื่องของสิทธิมนุษยชนด้วย

สอดคล้องกับนโยบายด้านความยั่งยืนที่ที่นายศุภชัยได้ระบุไว้ในงาน Thailand SDGs Forum 2017#3: Positioning Thailand on SDG Map เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 ที่ผ่านมาในตอนหนึ่งได้ล่าวว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์เจอด้วยตัวเองในแง่ประเด็นที่เราถูกฟ้อง กรณีขายส่งออกกุ้งเข้าไปที่อเมริกา ข้อหาคือกุ้งของเราปนเปื้อนแรงงานทาส คงจำกันได้ในกรณีการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม หรือ ไอยูยู (Illegal, Unreported and Unregulated Finishing: IUU) หรือกรณีโรฮิงญา เหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกยกขึ้นในระดับสากล ซึ่งกุ้งของซีพีเอฟเลี้ยงโดยอาหารกุ้งซึ่งมีส่วนผสมโดยปลาป่นประมาณ 5% แต่ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน ซีพีเอฟก็เลิกซื้อปลาป่น แล้วมาซื้อเศษปลาจากโรงงานที่มีใบรับรองการนำเข้าเพื่อทำปลากระป๋อง

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่โลกมีความต้องการมากขึ้น โลกต้องการพัฒนา และต้องการสิ่งที่ยั่งยืนมากขึ้น แม้ว่าเราจะปรับตัวไปตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว แต่ก็ยังถูกฟ้อง ซึ่งตอนนี้เราชนะในขั้นตอนแรกไปแล้ว

ผมเรียนว่าถ้าเราแพ้ในการขายส่งออกกุ้งไปที่อเมริกาครั้งนี้ กุ้งทั้งหมดที่มาจากประเทศไทย คงจะเอาเข้าอเมริกาไม่ได้ จนกว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาเชื่อทั้งประเทศ

ดังนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นความต้องการใหม่ๆ ของโลก โลกต้องการเห็นว่าที่มาที่ไปทุกอย่างถูกต้องและให้ความยั่งยืน ถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชน ถูกต้องตามความสมดุลของสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างหนึ่งที่เราไปทำเป็นโครงการคือเรื่อง “ประการัง” เพราะบ้านเรา Overfishing เรืออวน เรือไฟ มีการซ้อนแห ฤดูกาลก็ไม่ได้ดู ไม่ทำตามระเบียบที่ถูต้อง มีการลากจนกระทั่งลูกปลาถูกเอาไปด้วย ทำให้จำนวนปลาที่จับได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนมีการลด Overfishing ตามที่ปรากฏเป็นข่าว

แต่สิ่งสำคัญคือทำยอย่างไรถึงจะมีที่ที่ทำให้ลูกปลามีโอกาสเติบโต ซึ่งการมีปะการัง แม้จะเป็นปะการังเทียมก็ตาม ทำให้เรืออวนลากเข้ามาไม่ถึง ลูกปลามีโอกาสเติบโต ประมงท้องที่ก็มีโอกาสทำมาหากินได้ต่อเนื่อง นี่เป็นยุทธวิธีหนึ่งที่เราส่งเสริมที่ภาคใต้ ดังนั้น โลกของเรามีความต้องการเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น

ด้านนายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นการดำเนินแบบประชารัฐอย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของกรมประมง ที่มุ่งมั่นสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ สร้างแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลให้ถูกต้องตามขั้นตอนและกฎหมายการเปลี่ยนแปลงที่จับสัตว์น้ำ เพื่อเพิ่มผลผลิตประมงและสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เป็นแหล่งอาศัย เลี้ยงตัว วางไข่ และหลบภัยของสัตว์น้ำ และช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งประมง ชาวประมงสามารถใช้ประโยชน์จากการทำประมงอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามมา

ปะการังเทียม กันชนประมงพาณิชย์

โครงการการวาง “ปะการังเทียม” มีเป้าหมายจะดำเนินการให้กับพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย 4 แห่งใน 3 จังหวัด ได้แก่ 1. ชุมชนชายฝั่งทะเลตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา 2. ชุมชนชายฝั่งทะเล ตำบลกระดังงา อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา 3. ชุมชนชายฝั่งทะเลตำบลปะนาเระ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี และ 4. ชุมชนชายฝั่งทะเลตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

การดำเนินการครั้งนี้เป็นโครงการระยะที่ 1 ใช้วัสดุแท่งคอนกรีตทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ขนาด 1.5×1.5×1.5 เมตร จำนวน 1,000 แท่ง วางเป็นปะการังเทียมที่ อ.สทิงพระ จ.สงขลา จำนวน 500 แท่ง และ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี จำนวน 500 แท่ง

นายอธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนภาคกิจกรรมสัมพันธ์และการศึกษา สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เล่าถึงโครงการนี้ว่า การริเริ่มโครงการที่นี่เกิดจากชุมชนประมงพื้นบ้านที่อยู่กระจัดกระจายตาม 22 จังหวัดติดทะเล โดยทางบริษัทได้จัดตั้งทีมชุมชนสัมพันธ์ขึ้นมา เพื่อเข้ามาทำความเข้าใจกับชาวบ้าน มารับทราบปัญหา ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทั้งทางตรงทางอ้อม แม้ไม่ใช่เรื่องที่มาจากเครือฯ เลยแต่เป็นการทำในเชิงอนุรักษ์ ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลือหลายเรื่อง และสิ่งหนึ่งที่เขาต้องการคือ การทำปะการังเทียม

“เลือก จ.สงขลา เป็นพื้นที่แรก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนประมงพื้นบ้านอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนปัตตานีและนราธิวาสก็เป็นอีกพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเปราะบาง การวางปะการังเทียมจะสร้างความมั่นคงด้านอาชีพ และความสมบูรณ์ในระบบนิเวศให้แก่พื้นที่ดังกล่าวได้ ซึ่ง 22 จังหวัดติดทะเล ต่างมีปัญหาที่แตกต่างกัน จุดแข็งก็เช่นกัน ถ้าดูฝั่งอันดามันจะวางได้ยากกว่า เพราะเป็นทะเลลึก หากไปวางก็จมหายไป เมื่อไปดูในพื้นที่นั้นชุมชนเขาอาจจะอยากได้ป่าชายเลนมากกว่า หรือว่าอยากให้ฟื้นฟูเรื่องขยะ เรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งปัญหาเฉพาะหน้าของแต่ละชุมชนนั้นไม่เหมือนกัน” นายอธิปกล่าว

ทั้งนี้ การทำปะการังเทียมมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อมาทดแทนแนวปะการังจริงให้เป็นที่อยู่อาศัยของปลา และสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งหลายคนสามารถใช้ประโยชน์จากปะการังเทียมได้ แต่เป็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง เมื่อกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน อ.สทิงพระ จ.สงขลา ได้ขอให้มีการวางปะการังเทียมเป็นแนวยาว เพื่อป้องกันเรืออวนลาก

โดยระยะวางปะการังของ อ.สทิงพระ จ.สงขลา มีรัศมีประมาณ 1 กิโลเมตร วางเป็นแนวกำแพง ขณะที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี จะทำการวางเป็นกลุ่มก้อน เนื่องจากไม่ได้เผชิญปัญหาการรุกพื้นที่จากเรือประมงอวนลากเช่นเดียวกับ จ.สงขลา

“เรือประมงพาณิชย์อาจย้ายแหล่งจับปลาออกไปไกลขึ้น ประมงพื้นบ้านเขาออกเรือไปไกลไม่ได้ ดังนั้น การที่เขาจะประทังชีพเขาต่อไปได้เขาก็คิดว่าการที่มีปะการังเทียมจะสามารถช่วยได้ แต่ในพื้นที่สงขลามี 2 วัตถุประสงค์เข้ามา คือการกันเรือใหญ่ด้วย แต่หากไม่จำเป็นต้องมีวัตถุประสงค์ที่ 2 แต่เป็นการวางเพื่อฟื้นฟูรูปแบบก็จะแตกต่าง ผลที่จะได้จากตรงนี้ก็อาจจะดีกว่า การต้องมาวางเพื่อกันภัยมนุษย์อีกทีหนึ่ง ซึ่งวัตถุประสงค์นี้ถ้าทุกฝ่ายมีจิตสำนึกก็ไม่จำเป็นต้องทำปะการังเทียมเป็นแนวเพื่อกันมนุษย์ด้วยกันเอง” นายอธิปกล่าว

จับมือ มอ.ปัตตานี วิจัยผลปะการังเทียมต่อระบบนิเวศ-ชุมชน

เมื่อ “ปะการังเทียม” ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดังนั้นไม่ใช่วัสดุทุกสิ่งจะสามารถเป็นปะการังเทียม เป็นที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์ทะเลได้ นอกจากความต้องการของคนในพื้นที่ สิ่งที่ผู้เข้ามาช่วยเหลือต้องตระหนักคือการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย และหลักการรักษาสภาพแวดล้อม

นางสาวอรดา วงศ์อำไพวิทย์ หัวหน้ากฎหมายมหภาค และผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมสัมพันธ์ และการศึกษา สำนักบริหารความยั่งยืน บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ระบุว่า การวางปะการังเทียมต้องปฏิบัติตามกฎหมาย มีการขอภาครัฐอย่างครบถ้วน มีการวิเคราะห์จากกรมทรัพยากรชายฝั่งด้วยว่าสิ่งที่วางลงไปจะไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม มีระยะการวางที่พอเหมาะ และไม่กีดขวางหรือเป็นอันตรายกับการเดินเรือและการทำประมงของประมงพาณิชย์ แต่เป็นประโยชน์ในการฟื้นฟู เพราะแม้จุดเริ่มต้นจากชุมชน แต่เมื่อดำเนินการจะต้องประสานประโยชน์จากหลายฝ่าย ทั้งเอกชนรายอื่น ชุมชน ภาคประชาสังคม รวมถึงภาครัฐด้วย

โดยการวางปะการังเทียมในครั้งนี้มีเงื่อนไขว่าจะไม่เกิน 3 ไมล์ทะเลตามกฎหมาย เป็นการวางแนวปะการังเทียมที่อยู่ในเขตประมงพื้นบ้าน และพื้นผิวบนสุดของปะการังเทียมถึงระดับผิวน้ำทะเลต้องไม่ต่ำกว่า 10 เมตร

นายอธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนภาคกิจกรรมสัมพันธ์และการศึกษา สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด นายนายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง (คนที่ 2 และ 3 จากซ้าย) ในพิธีส่งมอบปะการังเทียมแก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา

“การวางปะการังเทียมไม่ได้หมายถึงการไปกีดขวางการทำประมงพาณิชย์รายอื่น แต่เป็นการวางภายใต้ MOU กับกรมประมง ที่มีการลงนามไปประมาณเดือนสิงหาคม 2560 ซึ่งโครงการความร่วมมืออย่างแรกนี้คือการวางปะการังเทียม เมื่อมีการวางแล้วจะส่งมอบกรรมสิทธิ์ให้กรมประมง และกรมประมงจะส่งมอบให้ชุมชนเลย ไม่ได้มีการวางในเชิงพาณิชย์ใดๆ” นางสาวอรดากล่าว

ในระยะยาว เป้าหมาย SDGs ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ คือ การทำทุกอย่างอย่างยั่งยืน โครงการปะการังเทียมในครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่การวางปะการังแล้วเสร็จสิ้นภารกิจ แต่จะมีการวิจัย ความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ดูว่าสามารถทำให้คนในชุมชนจับปลาได้มากขึ้นจริงไหม และสิ่งที่ทำได้ส่งผลกระทบอะไรต่อระบบนิเวศหรือไม่ โดยได้จ้างทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้เป็นผู้วิจัย และติดตามผลการดำเนินงานดังกล่าว ซึ่งเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 ได้มีการลงสำรวจพื้นที่ เก็บสภาพน้ำ ถ่ายภาพใต้น้ำ ก่อนที่จะมีการวางปะการังเทียม

ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวจะมีระยะเวลาปีครึ่ง ซึ่งจะมีการดำน้ำเพื่อเก็บข้อมูลและสำรวจความเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในเดือนมีนาคม และเดือนสิงหาคม 2561 และจะมีรายงานสรุปผลการวิจัยทั้งหมด รวมทั้งเผยแพร่สู่สาธารณะในช่วงเดือนธันวาคม ของปี 2561

ด้านนายอธิปกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากปะการังเทียมอาจมีการต่อยอดในการนำปะการังจริงมาปลูกอยู่บนปะการังเทียม เพื่อที่ต่อไปแม้ปะการังเทียมจะย่อยสลายแล้วแต่ปะการังจริงก็ฟื้นฟูกลับขึ้นมา แต่สิ่งนี้ยังเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการศึกษา และอาจทำได้เฉพาะจุด ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็ยังไม่สามารถกู้สถานการณ์ให้ประเทศไทยกลับมามีปลาในปริมาณมากเท่าเดิมได้

“เพราะปะการังเทียมก็ยังเป็นของเทียม เราอาจต้องคิดกลับไปว่าทำไมต้องมีการทำปะการังเทียม แล้วสมัยก่อนนี้เป็นอย่างไรทำไมไม่ต้องมี เพราะสมัยก่อนใต้ทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ มีปะการังจริง และมีระบบนิเวศน์หลายอย่างที่ทำให้มันมีปลาอยู่ได้ แต่เมื่อตามข่าวโดยทั่วไปจะเห็นได้ว่ามันได้ถูกทำลายโดยมนุษย์ ไม่ว่าจะจากภาวะโลกร้อน ถึงแม้จะทำปะการังเทียมขึ้นมาก็ไม่สามารถทดแทนของจริงได้” นายอธิปกล่าว

ธนาคารปูบ้านเลค่าย ในวันที่ทะเลไม่เหมือนเดิม

นอกจากการโครงการปะการังเทียม เสียงสะท้อนจากชาวประมงพื้นบ้านทำให้ภาคเอกชนอย่างซีพี ได้เข้ามาช่วยสนับสนุน โครงการธนาคารปู นายนพพร นิลพงษ์ คณะกรรมการดำเนินกิจกรรมการบริหารจัดการประมงโดยชุมชน บ้านเลค่าย ต.ระวะ อ.ระโนด จ.สงขลา ระบุว่า ชาวประมงพื้นบ้านที่นี่กำลังประสบปัญหา เนื่องจากปูม้าที่เคยจับได้นับ 10 กิโลกรัมต่อวัน จากเมื่อ 10 ปีก่อน ลดลงเหลือเพียงไม่กี่กิโลกรัมต่อวันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อได้บอกเล่าปัญหากับทีมสัมพันธ์ชุมชนจากซีพี จึงได้เริ่มจัดทำโครงการธนาคารปูขึ้นเมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา


ซ้ง หรือบ้านปลาที่มาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน-ถูกนำมาวางเป็นแนว

“คนในพื้นที่ตระหนักว่าทรัพยากรที่เป็นแหล่งรายได้ แหล่งทำกิน กำลังหมดไปด้วยการทำประมงเกินศักยภาพ มีการปลูกจิตสำนึกชาวบ้านไปจนถึงเยาวชนด้วยว่าเราก็มีแค่น้ำกับทะเลตรงนี้ เราทำประมงกัน 162 วันเท่านั้น ที่ผ่านมาชาวบ้านมีการปล่อยปู สร้างบ้านปลา โดยใช้วัสดุธรรมชาติ คือ ทางมะพร้าว แต่ก็ยังขาดองค์ความรู้บางเรื่อง และเริ่มมีการทำประชาคมหมู่บ้าน กำหนดพื้นที่ห้ามทำประมงทุกชนิดในบางช่วงเดือน โดยเมื่อทางซีพีเข้ามา ทำให้มีการประสานกรมประมงทำเขตพื้นที่อนุรักษ์อย่างเป็นทางการ เป็นระเบียบที่ทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ต้องเคารพในกติกา” นายนพพรกล่าว

ลูกปูในระยะ 1-10 วัน (บนซ้าย) ปูไข่นอกกระดอง (บนขวา) อุปกรณ์ทำซ้ง หรือบ้านปลาของชาวบ้าน (ภาพล่าง)

“ปูไข่นอกกระดอง” เป็นสิ่งที่หลายคนมองข้ามความสำคัญ เมื่อชาวบ้านตระหนักถึงความสำคัญว่าไข่นอกกระดองที่เห็นนั้นสามารถให้กำเนิดลูกปูได้ถึง 300,000-2,000,000 ตัว ธนาคารปู ณ บ้านเลค่าย สร้างกติกาง่ายๆ คือ เมื่อออกเรือและจับปูไข่นอกกระดองขึ้นมาได้ก็จะนำมาพักไว้จนแม่ปูเขี่ยไข่ออกก่อน แล้วคืนแม่ปูแก่เจ้าของที่จับได้ ส่วนลูกปูเมื่อโตระยะหนึ่งก็นำไปปล่อยในพื้นที่ที่จับแม่ปูมาได้

ระยะเวลาเพียงครึ่งปี ชาวบ้านเริ่มเห็นผลโดยได้รับเสียงยืนยันหลายเสียงว่าสามารถจับปูได้เพิ่มขึ้น แม้ยังไม่ได้ปริมาณมากเท่า 10 ปีที่ผ่านมา แต่ก็มากกว่า 2-3 ปีก่อน และกำลังขยายการดำเนินการไปยังอีก 6 ตำบล ชายฝั่งทะเลของ อ.ระโนด

ด้านนายอธิปกล่าวว่า ธนาคารปูอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีจุดที่น่าสนใจคือ เป็นการให้ความรู้แก่ชาวบ้านถึงความสำคัญของปูไข่นอกกระดองเป็นการปลูกจิตสำนึกให้เขาด้วยว่ามนุษย์ไม่ใช่เป็นผู้ทำลาย แต่เป็นผู้ให้กลับมาด้วยได้ โดยได้ทำการสร้างผู้นำต่อผู้นำ ให้ชุมชนที่ดำเนินการสำเร็จแล้วมาถ่ายทอดความรู้ต่อ จนมีการร่วมมือกับกรมประมง ส่งประกวดได้รางวัลระดับภูมิภาค แล้วมีการส่งไปถึงระดับประเทศเป็นชุมชนตัวอย่างในการฟื้นฟูอนุรักษ์ โดยเริ่มจากตัวชาวบ้านเอง

“สิ่งที่จะต่อยอดจากนื้คือ การใช้นวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาช่วย เพราะธนาคารปูรูปแบบเดิมๆ เมื่อ 30 ปีที่แล้วก็เป็นแบบนี้ ตอนนี้เป็น Thailand 4.0 ธนาคารปูจะสามารถทำได้ดีกว่าที่อยู่ในถังพลาสติก และการให้ระบบออกซิเจน ซึ่งเราต้องดูตามความเหมาะสมของชาวบ้านด้วย โดยที่มีการวางแผนไว้คือการทำระบบสแกนจำนวนปูที่ฟักได้ เพื่อเป็นแรงจูงใจแก่ชาวบ้านว่าเขาสามารถคืนปูสู่ธรรมชาติได้จำนวนมาก และเรื่องของแอปพลิเคชันที่จะเข้ามาช่วยให้การทำงานของชาวบ้านง่ายขึ้น รวมไปถึงแนวคิดที่จะทำธนาคารปูดำ เนื่องจากมีมูลค่ามากกว่า แต่ยังมีปัญหาว่าปูดำตัวอ่อนจะกินกันเอง ตอนนี้เราก็พยายามไปศึกษาจากที่ต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จที่ตัวอ่อนไม่กินกันเอง ซึ่งถ้าทำได้ก็จะนำมาพัฒนาและขยายผลได้” นายอธิปกล่าว

ส่งเสริมอาชีพอย่างเข้าใจ วิถีประมงพื้นบ้าน

“เราทำประมงกันแค่ 162 วันเท่านั้น ช่วงเวลาที่เหลือไม่สามารถออกเรือได้ ก็ได้แต่รอ เพราะเราเป็นชาวประมงมีแค่น้ำกับทะเล เราไม่มีที่ดินให้ไปทำอย่างอื่น แต่เราก็ต้องการรายได้ที่มั่นคง เพราะอาชีพนี้ยังมีความไม่แน่นอน” หนึ่งคำบอกเล่าจากชาวประมงพื้นบ้าน บ้านเลค่าย

เป็นเรื่องที่หลายคนอาจตั้งถามถึงการดำรงชีพของชาวประมงพื้นบ้าน ณ ที่แห่งนี้ ซึ่งนางนายอธิประบุว่า การทำงานกับชุมชนนั้นทำตามความต้องการของชุมชนเป็นหลัก และโปรเจกต์นี้ทำให้ได้เรียนรู้ประเทศไทยมากขึ้น 22 จังหวัดติดทะเลหมด แต่มีความแตกต่างเยอะมาก ไม่ใช่แค่ศาสนา หรือภาษาที่พูด แต่วิธีการใช้ชีวิต ความเชื่อและวัฒนธรรมของประมงพื้นบ้านก็ต่างกันมาก

“หากลงมาใต้ลึกๆ ชุมชนประมงพื้นบ้านที่นี่จะมีการรักษาขนบธรรมเนียมของเขาไว้ คือ เขาจะเรียกประมงพื้นบ้านเป็นวิถีชีวิตไม่ใช่อาชีพ ซึ่งการทำประมงพื้นบ้านของเขาคือการออกไปหาปลาอย่างเดียว แต่ให้มาทำเกษตรนั่นไม่ใช่วิถีชีวิต ในบางฤดูกาลที่หาไม่ได้เขาจะใช้วิธีหยุดแล้วรอ แต่หากยิ่งใกล้กรุงเทพฯ มากขึ้นจะมีแนวคิดเชิงการค้า มีการเอามาแปรรูป เวลาว่างจากการทำประมงก็ไปทำการเกษตรอย่างอื่น หรือมีการเพาะเลี้ยงกุ้ง ซึ่งอันนี้เป็นวัฒนธรรมที่น่าสนใจ แม้พวกเขาก็จะเผชิญปัญหาเหมือนๆ กัน แต่สังคมเขาก็จะแตกต่างกัน ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญว่าจะส่งเสริมวิถีชีวิตของชุมชนอย่างไรให้เขาดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืน” นายอธิปกล่าว

โดยในพื้นที่ภาคใต้การเข้ามาส่งเสริมอาชีพ จะเจาะจงไปที่กลุ่มแม่บ้านที่อยู่กับบ้านไม่ได้ออกเรือ เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์ในชุมชน หรือการนำวัสดุ ผลิตภัณฑ์ ที่อาจจะมีแค่เฉพาะในชุมชน หรืออาจจะต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง เข้าสู่ supply chine ของเครือฯ นำสินค้าจากชุมชน ทั้งแบบสดและแบบที่แปรรูปไปขาย เริ่มต้นจากของสดที่เขาสามารถทำได้ คือ ปูและหอย

“เครือซึ่งกำลังส่งเสริมไม่ใช่เฉพาะชุมชนนี้แต่เป็นชุมชนประมงพื้นบ้านทั้งหมด 22 จังหวัดชายฝั่ง การส่งเสริมเขาอาจเหมือนง่าย แต่จริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป้าหมายของเราไม่ใช่แค่การซื้อมาขายไป แต่พยายามคืนประโยชน์ และกำไรให้ชุมชน ฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ พัฒนาทรัพยากรดังนั้นเมื่อดูแล้วเลือกผลิตภัณฑ์ต้องดูว่าเขาสามารถทำการตลาดได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ และต้องพัฒนาคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์ของเขา ซึ่งพอไปถึงมือผู้บริโภค สินค้าในเครือของเราจำเป็นต้องมีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน ตามกฎหมาย ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผ่านระบบมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งหากทำได้ก็เป็นการส่งเสริมอาชีพให้เขา บางพื้นที่ที่ทำได้ก็มีแล้ว เช่น ตราด จันทบุรี ที่มีการดำเนินการร่วมกับโครงการหลวง และชาวบ้านมีการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มแม่บ้านชุมชนประมงพื้นบ้าน ทำผลิตภัณฑ์ทั้งแปรรูปและแบบสด ก็จะใช้ตรงนั้นเป็นต้นแบบ” นายอธิปกล่าว