ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่ 11) : ทีแบนจี้รัฐเลิกใช้แร่ใยหินกว่า 3 ปียังไม่คืบหน้า

สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่ 11) : ทีแบนจี้รัฐเลิกใช้แร่ใยหินกว่า 3 ปียังไม่คืบหน้า

16 เมษายน 2015


ทีแบนหรือเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (Thailand Ban Asbestos Network: T-Ban) รวมตัวกันหลังจากมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2554 “มาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหิน” เพื่อติดตามให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติตามมติ ครม. มาตั้งแต่ปี 2555 แต่ปัจจุบันผ่านมากว่า 3 ปีแล้วยังไม่มีความคืบหน้าว่ารัฐจะยกเลิกการใช้แร่ใยหินอย่างจริงจัง

เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย เป็นการรวมตัวกันของบุคคลและองค์กรเพื่อติดตามและขับเคลื่อนให้ประเทศไทยยกเลิกการใช้แร่ใยหินภายหลังมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554

บุคคลที่เข้าร่วมทีแบนนั้นมีทั้งนักวิชาการด้านแพทยศาสตร์ สาธารณสุข วิศวกรรมศาสตร์ ประชาชนทั่วไป และองค์กรต่างๆ เช่น เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายที่ประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ในทุกมิติเกี่ยวกับแร่ใยหินในปี 2555 เพื่อบูรณาการวิชาการสาขาต่างๆ ผู้บริโภค และผู้ใช้แรงงาน เข้าด้วยกัน แล้วแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องแร่ใยหินกับต่างประเทศอย่างชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินได้สำเร็จ

T-BAN ยื่นหนังสือเรื่องการยกเลิกการใช้แร่ใยหินของประเทศไทยถึงนายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2556 ที่มาภาพ : http://voicelabour.org
T-BAN ยื่นหนังสือเรื่องการยกเลิกการใช้แร่ใยหินของประเทศไทยถึงนายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2556 ที่มาภาพ: http://voicelabour.org

สำหรับการทำงานของทีแบนเป็นการทำงานขับเคลื่อนเชิงนโยบายผ่านกลไกของรัฐ รวมถึงเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะและชักชวนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายด้วย โดยมีสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยทำหน้าที่ประสานงานกับเครือข่ายต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน โดยการติดตามความคืบหน้าของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องปฏิบัติตามมติ ครม.

การติดตามมติ ครม. ของทีแบนนั้นเริ่มตั้งแต่ปี 2555 โดยเริ่มจากติดตามการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หลังจากแต่งตั้ง “คณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน” เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2555 เพื่อหาข้อสรุปว่าแร่ใยหินโดยเฉพาะไครโซไทล์เป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือไม่ ซึ่งทาง สธ. ใช้เวลาศึกษากว่า 1 ปี จึงมีข้อสรุปว่า แร่ใยหินอันตรายและเห็นด้วยว่าให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2557

อย่างไรก็ตาม “คณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน” ประชุม 5 ครั้งกว่าจะสรุปมติได้ ซึ่งการประชุมในแต่ละครั้งตัวแทนของทีแบนมีโอกาสเข้าร่วมประชุมด้วยเกือบทุกครั้ง โดยในการประชุม 4 ครั้งแรก คือ วันที่ 26 ธันวาคม 2555, วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556, วันที่ 17 เมษายน 2556 และวันที่ 29 กรกฎาคม 2556 ในที่ประชุมสรุปว่าแร่ใยหินไม่อันตราย

นางสมบุญ ศรีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยและตัวแทนของทีแบนกล่าวว่า การประชุมใน 4 ครั้งแรกรู้สึกผิดหวังกับการตัดสินใจของผู้บริหารประเทศมาก อีกทั้งในที่ประชุมโดย นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ยังปิดกั้นความคิดเห็นอื่นที่ว่า แร่ใยหินอันตราย และยืนยันให้มีมติว่าแร่ใยหินไม่อันตรายมาโดยตลอด

“หลังจากทีแบนยื่นหนังสือ ขับเคลื่อน กดดันโดยการรณรงค์มาโดยตลอด ท้ายที่สุด นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงมาเป็นประธานในที่ประชุมแทน และมีมติว่าแร่ใยหินอันตราย แต่กระนั้น รายงานในที่ประชุมก็ยังสรุปบิดเบือนไปจากมติ จนกระทั่งมีการท้วงติงและปรับแก้หลายครั้งจนรายงานออกมาตรงตามมติในที่ประชุมจริง” นางสมบุญกล่าว(อ่านเพิ่มเติมสรุปมติกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องแร่ใยหิน)

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า เมื่อผลการศึกษาของ สธ. มีข้อสรุปแล้ว จึงขอรายงานดังกล่าว 1 เล่ม เพื่อเป็นข้อมูลในการเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะและการขับเคลื่อนสังคมไทยไร้แร่ใยหินต่อไป แต่ทำหนังสือขอไปกี่ครั้งทาง สธ. ก็ไม่ยอมให้ จนกระทั่งขอโดยตรงไปยังปลัดกระทรวงสาธารณสุข ถึงได้มติดังกล่าวในเดือนพฤษภาคม 2557 หลังจากที่ สธ. มีมติแล้วกว่า 3 เดือน

หลังทีแบนติดตามการทำงานของ สธ. จนมีมติว่าแร่ใยหินอันตรายแล้ว จึงขับเคลื่อนต่อโดยการติดตามการทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรมให้ปฏิบัติตามมติมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน โดยประกาศให้ไครโซโทล์เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 นั่นคือ ห้ามนำเข้าและมีไว้ครอบครองหรือ “แบน” แร่ใยหินในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังติดตามการทำงานของกระทรวงแรงงานด้วย แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เพื่อให้มีนโยบายยกเลิกแร่ใยหินอย่างจริงจัง

ทีแบนได้ทำหนังสือขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 ซึ่งก็ได้คำตอบว่า เตรียมแผนการยกเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินภายใน 2 ปี และ 5 ปี ตามที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชศึกษาและเสนอแผนไว้ โดยการว่าจ้างของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ไม่ยอมรับมติของ สธ. ว่าแร่ใยหินอันตราย โดยได้ไปศึกษาใหม่อีกครั้งซึ่งข้อสรุปก็ตรงกับ สธ. ว่าแร่ใยหินอันตราย

ต่อมา ทีแบนได้ขอเข้าพบรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอีกหลายครั้ง เพื่อติดตามความคืบหน้าเรื่องการเลิกใช้แร่ใยหิน โดยขอเข้าพบปลัดกระทรวงแรงงานและเข้าทำเนียบในวันที่ 25 สิงหาคม 2557 แต่เรื่องก็ยังไม่คืบหน้า ดังนั้น ทางทีแบนจึงทำหนังสือขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2557 โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือตอบกลับมายังทีแบนลงวันที่ 16 ธันวาคม 2557 มอบหมายให้รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการต้อนรับแทน

ดังนั้น ทีแบนจึงได้เข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมในวันที่ 5 มกราคม 2558 ณ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยนายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีอุตสาหกรรม มาพบแทนและกล่าวในที่ประชุมว่า ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอการยกเลิกการใช้แร่ใยหินตามแผน 2 ปี 5 ปี ตามที่ได้ศึกษามา ซึ่งจะดำเนินการให้เร็วที่สุด อีกทั้งยังกล่าวว่า การทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้ยึดเยื้อ โดยหลังจากที่ ครม. มีมติในปี 2554 กระทรวงอุตสาหกรรมก็จ้างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชศึกษาผลกระทบ และเสนอแผนการยกเลิกตามผลการศึกษาในปี 2556 แต่เกิดเหตุการณ์ยุบสภาก่อนที่ ครม. จะได้พิจารณาแผน ทั้งนี้ยังไม่รับปากว่าจะยกเลิกแร่ใยหินในประเทศได้ในปี 2558 หรือไม่ และยืนยันว่าการดำเนินการปราศจากแรงกดดันจากประเทศที่ส่งออกแร่ใยหินอย่างที่ทีแบนเข้าใจ