ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่16): นักวิชาการชี้สินค้าที่ใช้แร่ใยหินประกอบทุกชนิดมีสารทดแทน

สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่16): นักวิชาการชี้สินค้าที่ใช้แร่ใยหินประกอบทุกชนิดมีสารทดแทน

5 พฤษภาคม 2015


เหตุผลสำคัญที่มักถูกอ้างในประเทศไทยเพื่อให้เห็นความสำคัญและความจำเป็นของการใช้แร่ใยหินต่อไปก็คือ “ยังไม่มีสารทดแทน” ทำให้การยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยยังไม่สำเร็จ แม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะมีมติเรื่องมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินไปเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 แล้วก็ตาม

ในประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบแร่ใยหินที่ผลิตในประเทศ 9 ชนิด ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมระบุไว้ ได้แก่ ผ้าเบรกและคลัตช์, กระเบื้องซีเมนต์ใยหินแผ่นเรียบ, กระเบื้องซีเมนต์ใยหินแผ่นลอนคู่, กระเบื้องซีเมนต์ใยหินแผ่นลอนลูกฟูก, ท่อซีเมนต์ใยหินชนิดทนความดัน, ข้อต่อซีเมนต์ใยหินชนิดทนความดัน, ท่อซีเมนต์ใยหินสำหรับงานระบายน้ำทั่วไป, ท่อซีเมนต์ใยหินสำหรับงานระบายน้ำภายในอาคาร และข้อต่อซีเมนต์ใยหินสำหรับงานระบายน้ำภายในอาคาร

ส่วนผลิตภัณฑ์แร่ใยหินที่ประเทศไทยนำเข้ามามีทั้งหมด 14 กลุ่ม ตามที่กรมศุลกากรระบุไว้ ได้แก่ สายไฟและสายที่มีใยหินประกอบ, วัสดุใยหินอัดแผ่น, ไฟเบอร์ใยหิน, ผ้าเบรก, กระเบื้องซีเมนต์ใยหิน, ซีเมนต์ใยหินอื่นๆ, เสื้อผ้าอุปกรณ์แต่งกายที่มีใยหินประกอบ, ผ้าที่ถักหรือทอจากเส้นใยหิน, ท่อซีเมนต์ใยหิน, กระดาษที่มีใยหินประกอบ, กระเบื้องใยหินสำหรับปูพื้น-บุผนัง, ด้ายและเส้นใยหิน, วัสดุเสียดทานสำหรับเบรกและคลัตช์ และผลิตภัณฑ์แร่ใยหินอื่นๆ

ผลิตภัณฑ์แร่ใยหิน

จากกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีข้อถกเถียงที่ว่าผลิตภัณฑ์บางชนิดยังไม่มีสารทดแทน จึงจำเป็นต้องใช้แร่ใยหินต่อไป เช่น ผ้าเบรกเครื่องบิน

ต่อประเด็นเรื่องนี้ ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันมีสารทดแทนแร่ใยหินหมดแล้วในทุกผลิตภัณฑ์ ซึ่งถ้าหากประเทศไทยจะยกเลิกการใช้แร่ใยหินจริงๆ ก็สามารถทำได้โดยไม่มีข้ออ้างว่ายังต้องใช้แร่ใยหินสำหรับผลิตภัณฑ์บางประเภท ไม่ว่าจะนำเข้าจากต่างประเทศหรือผลิตเองภายในประเทศก็ตาม

สำหรับผู้ประกอบที่ยังไม่เลิกใช้แร่ใยหิน อาจเพราะยังขาดต้นทุนความรู้ และยังไม่ได้ศึกษากระบวนการผลิตใหม่ๆ ซึ่งต้นทุนความรู้มีอยู่มากมายและไม่แพง เพราะมีการศึกษาไว้อยู่แล้วทั่วโลก ขึ้นอยู่กับว่าจะนำมาใช้หรือไม่ ส่วนต้นทุนทางเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน แต่อาจเพราะผู้ประกอบการมีส่วนได้ส่วนเสียจากแร่ใยหินจึงยากที่จะเลิกการใช้ อีกทั้งหน่วยงานรัฐของไทยเองอาจยังไม่เข้มแข้งพอที่จะปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2554 เรื่องมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน

“สารทดแทนแร่ใยหินที่ใช้กันทั่วโลกมี 22 ชนิด แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเซรามิก สำหรับใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทนความร้อนสูง กลุ่มโพลีเมอร์ สำหรับใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความแข็งแรง เช่น วัสดุก่อสร้าง ผ้าเบรก คลัตช์ และกลุ่มวัสดุธรรมชาติ สำหรับใช้ในกลุ่มวัสดุเชื่อมต่อ เบรก คลัตซ์ และเคมีภัณฑ์” ดร.ไพบูลย์กล่าว

สารทดแทนกลุ่มเซรามิกประกอบด้วย เส้นใยแก้วสำหรับการถักทอ, เส้นใยซิลิกา, เส้นใยคาร์บอน, เส้นใยแก้ว, เส้นใยเซรามิก, เส้นใยยิปซั่ม, โวลลาสโตไนต์ (Wollastonite), แอตตาพัลไจต์ (Attapulgite) และซีพิโอไลต์ (Sepiolite)

สารทดแทนกลุ่มโพลีเมอร์ประกอบด้วย โพลิอะคลิโลไนไทรล์ (Polyacrylonitrile-PAN), เทอร์มอล สเต็บบิไลท์เต็ด โพลีอะไคล์โลนิไทรล์ (Thermal Stabilized Polyacrylonitrile), ไวนิล (Vinyl), โพลีโพรพิลีน (Polypropylene-PP), โพลีเตตระฟลูโอโรไทลีน (Polytetrafluoroethylene (PTFE)

ขณะที่สารทดแทนกลุ่มวัสดุธรรมชาติประกอบด้วย ขนสัตว์, ฝ้าย, เส้นใยเซลลูโลส, ป่าน/ปอ กัญชง, ไมก้า (Mica), ทัลก์ (Talc), เบนโทไนท์ (Bentonite) และไดอะโทไมต์ (Diatomite)

“จากสารทดแทนแร่ใยหินทั้ง 22 ชนิด สามารถใช้ได้ครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังไม่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพ มีความแข็งแรงคงทนที่ได้มาตรฐาน ซึ่งมีคุณภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าเดิมด้วย ดังจะเห็นได้ว่าในยุโรปมีสภาพอากาศเลวร้ายกว่าประเทศไทยมาก แต่ก็ใช้วัสดุทดแทนใยหิน ฉะนั้น มาตรฐานคุณภาพและความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุทดแทนใยหินต้องสูงแน่นอน เช่น วัสดุกันกระแทกอย่างไวนิลหรือโพลีเมอร์ทั้งหลายก็จะมีความยืดหยุ่นดีกว่า เป็นต้น” ดร.ไพบูลย์กล่าว

ดร.ไพบูลย์กล่าวต่อว่า การตกลงร่วมกันยกเลิกการใช้แร่ใยหินของประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเหตุผลด้านสุขภาพที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับประชากรทั้งหมดโดยไม่แบ่งแยกประเทศ เพราะทุกๆ ประเทศอยู่ใกล้กันจึงจำเป็นต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกันเพื่อป้องกันความลักลั่นในการปฏิบัติ เนื่องจากทุกประเทศในสหภาพยุโรปจะต้องสามารถขนส่งสินค้าระหว่างกันได้

“ตัวอย่างเช่น ประเทศเยอรมัน หลังที่ประเทศเยอรมันเจอวิกฤติทางสุขภาพจากแร่ใยหินโดยมีผู้ป่วยปีละ 100,000 รายนั้น มีการประกาศมาตรการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ซึ่งทุกคนในประเทศก็ค่อยๆ เปลี่ยนและปฏิบัติตามโดยที่ไม่มีฝ่ายใดคัดค้าน เพราะประชาชนมีจิตสำนึกที่ดี ภาคประชาชนก็เฝ้าดูการทำงานของรัฐ หน่วยงานรัฐก็ทำหน้าที่อย่างจริงจังและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง ด้านผู้ประกอบการก็รวมตัวกันเป็นสมาคมผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างไร้แร่ใยหิน รวมถึงมีเว็บไซต์ให้ความรู้ประชาชนและติดตามเรื่องแร่ใยหินภายในประเทศด้วย ทำให้ชาวเยอรมันมีความรู้เรื่องแร่ใยหินเป็นอย่างดีจากการศึกษาในโรงเรียนและข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่ตลอดเวลา” ดร.ไพบูลย์กล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม หลังจากเยอรมันยกเลิกใช้แร่ใยหินแล้วก็ไม่พบว่าสารทดแทนก่อผลกระทบต่อสุขภาพ อีกทั้งราคาสินค้าก็ไม่สูงขึ้นเพราะผู้ประกอบการเปลี่ยนไปพร้อมๆ กันทั้งประเทศ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเปลี่ยนกระบวนการผลิตได้โดยใช้ต้นทุนที่ไม่สูงนัก และที่สำคัญคือประเทศเยอรมันให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพของประชาชนมาก ดังนั้น ถ้ามีสินค้าตัวไหนที่มีผลเสียต่อสุขภาพผู้ประกอบการก็พร้อมจะยกเลิกการใช้และพยายามหาวัสดุทดแทนอื่นๆ ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยไม่ต้องรอให้มีประกาศยกเลิกการใช้จากรัฐ นอกเสียจากว่าผู้ประกอบการดื้อดึงไม่ยอมเปลี่ยนรัฐจึงจะประกาศยกเลิกการใช้ออกมาบังคับใช้ซึ่งเป็นมาตรการสุดท้ายของประเทศ

สำหรับประเทศไทยนั้นพบว่ามีสารทดแทนแร่ใยหินอยู่บางชนิด ดังนี้ 1. เส้นใยยิปซั่ม ใช้แทนแร่ใยหินในผลิตภัณฑ์กลุ่มเคมีภัณฑ์และฉนวนความร้อน 2. เส้นใยเซลลูโลส ใช้แทนแร่ใยหินในผลิตภัณฑ์กลุ่มผ้าเบรก คลัตช์ และวัสดุก่อสร้างเป็นส่วนใหญ่ และ 3. วัสดุในกลุ่มโพลีเมอร์ทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตได้เองจากปิโตรเคมี สามารถนำมาใช้แทนแร่ใยหินในผลิตภัณฑ์กลุ่มวัสดุก่อสร้างและผ้าเบรก คลัตช์

Print

“ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเลือกใช้แร่ใยหินเนื่องจากมีราคาถูกกว่าและยังไม่ทราบว่าก่อให้เกิดมะเร็งได้ แต่ในปัจจุบันเมื่อมีความรู้แล้วก็ควรที่จะยกเลิกการใช้ ส่วนผู้ประกอบการที่อ้างว่าไม่ยกเลิกการใช้แร่ใยหินเพราะมีต้นทุนการเปลี่ยนกระบวนการผลิตสูงนั้น แสดงว่าต้องการใช้แร่ใยหินโดยไม่คิดปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเลย ซึ่งในความเป็นจริงมีสารทดแทนแล้ว และการเปลี่ยนกระบวนการผลิตก็ไม่ได้ใช้เงินมากขนาดนั้น เพราะเครื่องจักรก็เปลี่ยนแค่บางตัว เช่น ส่วนการผสม ในขณะที่เครื่องจักรอื่นๆ เช่น การขึ้นรูป ยังคงเหมือนเดิม ฉะนั้น หากยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยทันที อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างก็ไม่ล่ม ด้านคนงานของบริษัทนั้นๆ ก็ไม่ปัญหาที่สำคัญกลุ่มอุตสาหกรรมควรจะมีแนวความคิดที่นึกถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เนื่องจากกลไกตลาดมีผลิตภัณฑ์ทดแทนอื่นๆ หลายชนิด ในขณะที่อุตสาหกรรมที่ใช้แร่ใยหินเหลือเพียงไม่กี่แห่ง อีกทั้งเรื่องแรงงานว่างงานก็มีกฎหมายกำหนดเรื่องค่าชดเชยไว้อยู่แล้ว รวมถึงกระทรวงแรงงานสามารถจัดหางานได้แน่นอนเพราะคาดว่าจะมีแรงงานประมาณ 1,000 คนที่ต้องหางานใหม่และต้องย้ายที่อยู่อาศัย” ดร.ไพบูลย์กล่าว

พร้อมย้ำว่า “ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องย้ำให้ดังๆ ว่าผลิตภัณฑ์แร่ใยหินทุกชนิดมีสารทดแทน และสังคมไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการและผู้บริโภค ต้องร่วมกันผลักดันให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินโดยเร็ว”